“ตลาดควนมีด” แนวทางสร้างรายได้ชุมชน เสริมทักษะนักเรียนไทย

สำรวจวิธีการของโรงเรียนชุมชนบ้านควนมีด ทำอย่างไรให้นักเรียนสามารถสร้างรายได้ จากการสอนแบบ "โครงงานฐานวิจัย"

Share on

 1,372 

“ตลาดควนมีด” แนวทางสร้างรายได้ชุมชน เสริมทักษะนักเรียนไทย

ปัญหาการศึกษามีอยู่หลากหลายมิติ หนึ่งในมิติเหล่านั้นคือเรื่องของ ‘ฐานะครอบครัวของนักเรียน’ ที่เป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน กระจายทั่วทุกภาคในประเทศ และประกอบกับวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้หลายโรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ อีกทั้งครอบครัวของนักเรียนหลายคนก็ไม่สามารถทำมาค้าขายได้ตามปกติ จากเดิมที่มีปัญหาอยู่แล้ว ก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก

ในฐานะหน่วยงานการศึกษา จะทำอย่างไรให้นักเรียนได้ความรู้ และครอบครัวของนักเรียนได้รับการเยียวยา? 

โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ในความดูแลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมแก้ไขปัญหาการศึกษา และปัญหาของครอบครัวนักเรียน ผ่านการวางโครงสร้างการเรียนรู้แบบใหม่ และการสนับสนุนให้โรงเรียนสร้างนวัตกรรม เพื่อช่วยเหลือนักเรียนและครอบครัว ในช่วงวิกฤต COVID-19 นี้ บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจกระบวนการของโครงการ TSQP และผลความสำเร็จของโครงการนี้ นั่นคือ “ตลาดควนมีด” ของโรงเรียนชุมชนวัดควนมีด จังหวัดสงขลา

กลไกแก้ปัญหาของโครงการ TSQP

โครงการ TSQP มุ่งเน้นให้โรงเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้ทั้งระบบ เพื่อให้โรงเรียนไม่ต้องพึ่งหน่วยงานส่วนกลาง โดยร่วมมือกับคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาท้องถิ่น จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้บริหารและครูของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ TSQP เพื่อให้ครูสามารถปรับวิธีการเรียนรู้ของเด็ก เสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง เน้นพานักเรียนออกมาสร้างองค์ความรู้ และชิ้นงานของตนเอง ซึ่งจะทำให้เขานำสิ่งเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน​ได้ ปัจจุบันโครงการนี้ดำเนินการมาแล้วกว่า 2 ปี กระจายไปในหลายท้องถิ่นทั่วประเทศ มุ่งเน้นพื้นที่ห่างไกล ให้นักเรียนในทุกท้องถิ่นได้รับคุณภาพการศึกษาที่ดียิ่งขึ้น

กรณีศึกษา ความสำเร็จของโรงเรียนชุมชนบ้านควนมีด

“โรงเรียนชุมชนบ้านควนมีด” ต.คลองเปียะ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นโรงเรียนหนึ่งในโครงการ TSQP ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

 

ผลกระทบนี้ไม่ได้เกิดแค่กับเรื่องกระบวนการการศึกษา แต่ด้วยผลจากการหดตัวของเศรษฐกิจไทย ทำให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านควนมีดต้องลำบากขึ้นกว่าเดิมจากสถานการณ์ยางพาราตกต่ำ จนรายได้แต่ละครอบครัวลดลงไปอย่างมาก และเมื่อรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ต่างคนต่างต้องอยู่กับบ้าน กระทบกับการเดินทางไปทำงาน ยิ่งทำให้สถานการณ์ของแต่ละครอบครัวย่ำแย่ลง  

 

สุพล บทจร ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดควนมีด เห็นปัญหาดังกล่าวนี้ จึงใช้องค์ความรู้ที่ได้จากโครงการ TSQP สร้างแนวคิดพัฒนาพื้นที่ซื้อขายออนไลน์ของชุมชน นั่นคือ “ตลาดควนมีด online” ให้เป็นที่รวมตัวของคนซื้อและคนขาย คนซื้อหาของได้ง่าย ครบ ในที่เดียว ส่วนคนขายก็สามารถประกาศขายได้อย่างสะดวกผ่านช่องทางออไลน์​ จากนั้นจึงได้ลองนำ “ผลิตภัณฑ์” ของนักเรียนที่มาจากโครงงานฐานวิจัย ​มาลองวางตลาดออนไลน์เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองที่มีแต่รายจ่ายในช่วงเวลาดังกล่าว

“ตลาดควนมีด Online” จึงเป็นทั้งพื้นที่ซื้อขายของชาวบ้านควนมีด และยังเป็นสนามฝึกปฏิบัติงานให้เด็ก ๆ ได้ลงมือเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านธุรกิจออนไลน์ได้โดยตรง ตั้งแต่การทำบัญชี ต้นทุน รายรับรายจ่าย ไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สอดรับกับความต้องการของลูกค้า

นักเรียนมีพื้นฐานที่ดีจากการ “คิดเป็น ทำเป็น”

ก่อนหน้านี้โรงเรียนชุมชนวัดควนมีดได้นำรูปแบบการเรียนการสอนแบบ “โครงงานฐานวิจัย” จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ร่วมมือกับโครงการ TSQP มาประยุกต์ใช้สอนนักเรียนร่วมกับหลักสูตรปกติ โดยหลักสำคัญของการใช้โครงงานฐานวิจัยคือการสอนให้นักเรียนรู้จักตั้งคำถาม ทดลอง ประดิษฐ์ และหาคำตอบด้วยตัวเอง

กระบวนการโครงงานฐานวิจัย นอกจากจะเป็นการสอนแบบ Active Learning ที่ช่วยทำให้เด็กได้พัฒนาความคิดวิเคราะห์ แทนการท่องจำแบบเดิม ๆ แล้ว ผลลัพธ์อีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ​เด็ก ๆ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่คิดเอง และลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองจากวัสดุในท้องถิ่น

เปิดชมรมต่อยอดผลิตภัณฑ์ สร้างเสริมทักษะธุรกิจ

เพื่อเป็นการต่อยอดการดำเนินการของโครงการนี้ ทางโรงเรียนได้เปิดชุมนุมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สู่ตลาดออนไลน์  โดยนำผลิตภัณฑ์ของนักเรียนจากระดับชั้นต่าง ๆ มารวมกันและคิดค้นต่อยอดเพิ่มเติมเพื่อนำไปจำหน่ายในวงกว้าง  

“น้องออโต้ – วรวิทย์​ ทองไชย” นักเรียนชั้น ป.5 ในฐานะประธานชมรม เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันมีนักเรียนในชมรมกว่า 20 คน ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักเรียนชั้นต่าง ๆ ที่ชอบการเรียนในโครงงานฐานวิจัยที่นำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จากสิ่งที่ของที่มีอยุ่ในชุมชน เช่น สบู่ใบบัวบก สบู่อัญชัน ยาหม่องอัญชัน ​​ซึ่งทุกอย่างอยู่รอบตัว สามารถสืบค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต โดยมีคุณครูคอยให้คำปรึกษา

เด็ก ๆ จะลงไปสำรวจชุมชน สำรวจสภาพแวดล้อมทั่วไปเพื่อให้เกิดความคิดที่หลากหลายขึ้น แล้วนำมาคิดค้นพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งของกิน ของใช้ ต่อยอดจากของที่มีอยู่ในชุมชน เช่น บางคนสนใจ​เรื่องใบบัวบกที่มีอยู่ทั่วไปในท้องถิ่นก็ไปลองค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่านอกจากน้ำใบบัวบกแล้วยังทำอะไรได้อีกบ้าง

​เมื่อเห็นว่าใบบัวบกสามารถนำมาทำสบู่ได้​ เด็ก ๆ ก็จะนำมาพูดคุยวางแผนการทำงาน ว่าใช้วัสดุอะไร ขั้นตอนทำเป็นอย่างไร โดยมีครูประจำชั้นมีส่วนช่วยผลักดัน ให้ได้เด็กทดลองทำด้วยตัวเอง ครั้งแรกอาจยังไม่สำเร็จ ก็ต้องมาคุยว่ามีปัญหาตรงไหนบ้างและปรับแก้ สบู่ที่ทำครั้งแรกยังเหลวไม่เป็นก้อน ก็ต้องมาปรับส่วนผสม จนสุดท้ายออกมาเป็นสบู่ที่สวยงาม มีคนซื้อไปใช้แล้วบอกต่อกันว่าดี

ปัจจุบันมีสินค้าของนักเรียนที่พัฒนามาจากโครงงานฐานวิจัยและนำมาวางจำหน่ายที่ตลาดออนไลน์แห่งนี้ ​เช่น ยาหม่องอัญชัน ยาดมสมุนไพร สบู่อัญชัน สบู่ใบบัวบก ​น้ำยาเอนกประสงค์ (ทำมาจากน้ำหมักเศษผักผลไม้)​​ ไว้ล้างห้องน้ำ ล้างจาน สำหรับสินค้าที่ขายดีที่สุดคือยาหม่องอัญชันซึ่งขายไปแล้วเกือบ 300 ขวด

“ถามว่าทำยากไหม ก็ไม่ยาก เราได้ค้นหาด้วยตัวเอง ได้ทำงานเป็นกลุ่ม อย่าง​ยาหม่องอัญชัน ​เราเห็นว่าอัญชันมีสรรพคุณทำให้แก้เมื่อย ใช้ดมได้ เลยลองคิดนำมาทำเป็นยาหม่อง พอทำแล้ววางขายคนสนใจคนสั่งซื้อจำนวนมาก รายได้ที่ได้มาก็นำเอาไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติม”​​

น้องออโต้ กล่าว ผลิตภัณฑ์คุณภาพที่มีพื้นฐานมาจากโครงงานฐานวิจัย ทำให้นักเรียนพึงพอใจ ได้ทักษะติดตัวไปสำหรับสร้างสิ่งที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต ทำให้ครอบครัวของนักเรียนมีรายได้ เพื่อฟื้นฟูตนเองจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ อีกทั้งโรงเรียนยังได้สร้างโครงการที่ประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเป็นกรณีศึกษาสำคัญสำหรับโรงเรียนอื่น ๆ ว่าทุกโรงเรียนต่างก็เป็น “โรงเรียนพัฒนาตนเอง” ได้แบบไม่ยาก 

 1,373 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า