ศึกษานิเทศก์ ไกรสิทธิ์ ศิริมาก ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ ปฏิบัติงานในสำนักเขตงานพื้นที่การศีกษาประถมศึกษาสุรินทร์เขต 1 มีโรงเรียนในสังกัด 291 โรงเรียน เป็นเขตพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็น ศน. มาแล้ว 4 ปี กำลังเข้าสู่ปีที่ 5 เริ่มต้นด้วยใจรักอาชีพครูจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร สาขาภาษาไทย ถ้าใครรู้จัก ศน. หงา ก็จะรู้ว่าเป็นคนหนึ่งที่มีใจรักในการพัฒนาความรู้ของตนเอง มีโอกาสฝึกทักษะความรู้ที่ใดก็มักจะเห็นรายชื่อของ ศน.หงา ด้วยเสมอ วันนี้ทีมงานจึงได้พบกับ ศน. หงา และด้วยแนวคิดการทำงานที่มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะเพื่อนร่วมวิชาชีพ จึงตัดสินใจก้าวเข้าเข้าสู่เส้นทางวิชาชีพศึกษานิเทศก์ ที่เต็มไปด้วยความท้าทายมากมาย วันนี้ I AM KRU. ขอหยิบเรื่องราวของ ศน. ไกรสิทธิ์ ศิริมาก เรื่องราวของศน.ตัวเล็ก ๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรักในวิชาชีพอย่างเต็มเปี่ยม
คิดว่าทำไมถึงเปลี่ยนจากครูมาเป็น ศน. ตัดสินใจอย่างไร?
1. เราเห็น ศน. ที่ไปนิเทศห้องเรียนเรา แล้วท่านก็มีวิธีการบางอย่างที่พูดแล้วเรารู้สึกเกิดความศรัทธา ศน.
2. เหตุผลที่ทำให้เปลี่ยนสายงานคือ เราเป็นวิทยากรในระดับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเขตพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นของส่วนกลาง ที่เราได้โอกาสจากพี่เขาให้ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เราเห็นว่าถ้าเป็นแบบนี้เด็ก ๆ เราจะขาดโอกาส เพราะเราออกมาจากห้องเรียนทั้ง ๆ ที่เราไม่อยากให้เขาขาดโอกาสที่จะเรียนรู้ ในอีกพาร์ทหนึ่งคือเรารู้สึกว่าสอนอย่างเต็มที่ เรามีห้องเรียนที่เด็กได้เรียนรู้ เราก็เลยอยากให้ห้องเรียนเหล่านี้กระจายออกไป แต่ถ้าเรายังอยู่ที่ห้องเรียนเรา เราก็ทำได้ห้องเรียนเดียว แล้วหน้าที่อะไรที่จะทำให้มันเกิดการขยายห้องเรียนแบบที่เราเคยทำออกไปได้ ‘ศึกษานิเทศก์’ น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด
แล้วความท้าทายของการเป็น ศน. ในมุมมอง ศน. หงา มีอะไรบ้าง
ความท้าทายของผมในแง่การทำงาน ศน. เป็นการอยู่ด้วยความรักและความศรัทธา ไม่ได้อยู่ด้วยอำนาจบารมี คำสั่ง ไม่ได้อยู่ด้วยสิ่งที่ส่งผลต่อผู้บริหารหรือครู แต่ผมต้องการอยู่เป็นเพื่อนของคุณครู ดังนั้นในวันที่ก้าวเข้ามาเป็น ศน. เราเพิ่งอายุ 35 ปี ไม่มีวิทยฐานะอะไรเลย ก่อนหน้านี้เราเป็นครูตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ดังนั้นความท้าทายของสิ่งที่ผมเจอ คือจะทำอย่างไรให้ผู้บริหารและเพื่อนครู เขารู้และเข้าใจว่าเรามาเพื่อช่วยเหลือเขาจริง ๆ แล้วจะพิสูจน์ตัวอย่างไรหล่ะ ที่จะทำให้ก้าวผ่านจุดที่เราไม่มีโปรไฟล์ใด ๆ มีแค่ความจริงใจที่มอบให้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราพิสูจน์มาตลอด ด้วยสิ่งที่เราทำงานกับความบริสุทธิ์ใจที่เรามี ให้ผู้บริหารและคุณครู ทำให้เรายืนอยู่ในตำแหน่งนี้ได้ มีคนรัก มีคนเชิญไปร่วมกิจกรรมที่โรงเรียน มีโอกาสมอบความรู้ให้ครูบ้าง ไปช่วยขยายผลในกิจกรรมต่าง ๆ แนะนำในเรื่องที่ยังเข้าใจไม่ชัดเจน
จุดประสงค์ที่เข้าร่วมเป็น ศน. แกนนำ
จุดประสงค์ที่เลือกเข้ามาเป็นวิทยากรแกนนำ เนื่องจากหน่วยศึกษานิเทศก์และพี่ ๆ ศน. ให้โอกาส ที่อาจมองเห็นว่าเราน่าจะมาช่วยขับเคลื่อนได้ เลยได้รับการคัดเลือกเข้ามาเป็นวิทยากรแกนนำ เพราะว่างานที่ผมรับผิดชอบอยู่เป็นเรื่องการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Lerning) อยู่แล้ว อย่างที่สอง เรื่องงานหลักสูตร อย่างที่สาม เป็นเรื่องของการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทย และทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เราดูแลอยู่ นี่อาจจะเป็นโปรไฟล์ที่ ศน. รุ่นพี่มองเห็น และด้วยตัวผมไม่เคยปฏิเสธโอกาสดี ๆ ในด้านการพัฒนาวิชาชีพ เมื่อรุ่นพี่อยากให้ช่วยเราก็มา แล้วก็เข้ามาที่ สพฐ. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลุ่มกระบวนการจัดการเรียนรู้ ที่ได้โอกาสเข้ามาเรียนรู้กับพี่ ๆ เรื่องของสถาบันภาษาไทย (ศน. ไกรสิทธิ์ จบเอกภาษาไทย) ก็ได้เข้ามาช่วยเหลือกิจกรรม ทั้งยังเคยได้ร่วมกับ กศส. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น นี่คงเป็นสิ่งที่รุ่นพี่ได้มองเห็นเรา จึงได้รับเลือกเข้ามาเป็น ศน. แกนนำในโครงการ
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการขาดแคลน ศน. หงา มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง
1. ด้วยสังคมที่มันเปลี่ยนไป มุมมองของคนที่มองวิชาชีพศึกษานิเทศก์ก็เปลี่ยนไปด้วย เราไม่มั่นใจว่าบุคลากรทางการศึกษาที่มีอยู่เข้าใจในบทบาท ศน. มากน้อยแค่ไหน พอการสื่อสารตรงนี้ไม่ชัดเจน อาจเป็นส่วนที่ทำให้ครูหลายคนตัดสินใจไม่เดินสู่วิชาชีพศึกษานิเทศก์
2. ถ้าเราพูดกันตรง ๆ อย่างที่เคยบอก ศึกษานิเทศก์เป็นวิชาชีพที่เกิดจากความรักความศรัทธา ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ใครจะก้าวเข้ามาเป็น ศน. ได้ ขั้นแรกเลย ต้องรักในวิชาชีพ ขั้นที่สองคือทำให้คนรักและศรัทธาในตัวเรา ถ้าใครมีสองสิ่งนี้ผมเห็นว่าเป็นการดีที่จะมีคนเข้าสู่วิชาชีพศึกษานิเทศก์จากความรักและศรัทธาจริง ๆ ไม่ใช่ใครก็ได้แข่งขันกันเข้ามา หรือมองอีกมุมหนึ่งบุคลากรเหล่านั้นอาจยังไม่พร้อมที่จะมาเป็น ศน. ก็เป็นได้ครับ
แต่ในเขตพื้นที่เองบางพื้นที่ที่ไม่มี ศน. อาจเพราะเขามีความมุ่งหวังที่จะไปในการเป็นวิชาชีพอื่น ๆ ทางด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสายบริหาร ซึ่งอาจจะทำอะไรมากกว่าทางสายวิชาการ ส่วนตัวผมมองว่าอย่างนั้นนะ
ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาทำงานแทนคนและความรู้สามารถหาเมื่อไหร่ก็ได้ คิดว่า ศน. ยังจำเป็นหรือไม่?
อย่างที่ผมบอกไปตั้งแต่ตอนต้นสำหรับผม ศึกษานิเทศก์ คือวิชาชีพแห่งความรักและศรัทธา ศึกษานิเทศก์คือเพื่อนของครู ถ้าเราขาดเพื่อนไปสักคนที่จะอยู่คู่การศึกษาก็คงว้าเหว่เหมือนกัน ในความมุ่งหวังก็คือทุกพื้นที่ก็ควรมี ศน. ที่จะช่วยคุณครู บางทีคุณครูมีความรู้จริง หาข้อมูลได้จริง แล้วใครล่ะที่จะไปยืนยันความรู้ให้ครู หรือไปซัพพอร์ตคุณครูถ้าไม่ใช่ ศน. สมมติถ้าเราเป็นครูคนหนึ่งที่ไม่มี ศน. ไปนิเทศห้องเรียน
อาจจะเป็นมุมมองว่าไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไปแค่ไหนบุคลากรที่เป็นมนุษย์ยังมีความสำคัญอยู่
ผมก็ยังมองว่าเป็นเช่นนั้น เราอาจจะไม่ได้ช่วยให้เขาเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด แต่เราสามารถไปช่วยยืนยันในแนวคิด หรือ วิธีการ กระบวนที่เขาใช้ว่ามันถูกต้องแล้ว แค่เสริมกำลังใจ ในโรงเรียนหนึ่งอาจมีคุณครูที่อยากเปลี่ยน แต่เพื่อนร่วมโรงเรียนไม่อยากเปลี่ยน แต่ ศน. เข้าไปบอกเขาว่าสิ่งที่คุณครูทำใช่แล้ว เป้าหมายเพื่อลูก ๆ นักเรียน เขาทำต่อจนประสบความสำเร็จ จนเป็นต้นแบบ สิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่คุณครูมั่นใจในสิ่งที่เลือกครับ
อยากฝากถึงครูที่กำลังจะเปลี่ยนมาเป็น ศน. บ้าง?
อยากให้มั่นใจในสิ่งตัวเองกำลังตัดสินใจเลือก และอยากให้ศึกษาว่าบทบาทของ ศน. คืออะไร คนที่ก้าวเข้ามาเป็น ศน. สิ่งที่สำคัญที่สุดของหัวใจที่อยากจะพัฒนาการศึกษา เป้าหมายสูงสุดคือผู้เรียน อยู่เป็นเพื่อนคุณครู ยืนยันความคิดคุณครูว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งไหนไม่ถูกต้องร่วมกันปรับเปลี่ยน เพราะ ศน. ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้ทั้งหมด คุณครูเองก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้ทั้งหมด ผู้บริหารเองก็เปลี่ยนไม่ได้ แต่ถ้าทุกคนร่วมกันแล้วมีเป้าหมายเดียวกันคือผู้เรียน ผมเชื่อว่าการศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงได้
คิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับแนวคิดที่ให้คนที่ จบ ป.โท ป.เอก สามารถเข้ามาเป็น ศน. ได้เลย มันจะมีข้อดีข้อเสียในการอุดรอยรั่ว ศน. ได้อย่างไร?
ต้องถามก่อนว่าคนที่มามี รักและศรัทธา ในวิชาชีพศึกษานิเทศก์แล้วหรือยัง มาเพื่ออะไร อย่างที่พูดไปเป้าหมายสูงสุดคืออยากให้ลูก ๆ นักเรียน ได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ อย่างมีคุณภาพ ถ้ามาเป็นเพื่อน ๆ คุณครู แล้วส่งผลให้นักเรียนของเราได้เรียนรู้ ผมว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ามาด้วยจุดประสงค์อื่น เพื่อความมั่นคงทางวิชาชีพ เพื่อการเปลี่ยนตนเอง ยึดตัวเองเป็นหลัก ไม่ว่าอาชีพไหนก็ตาม ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ก่อนที่จะตัดสินใจมาก็อยากให้รู้ว่าวิชาชีพนี้อยู่ได้ด้วยความรักและศรัทธาจริง ๆ
ศน. หงามองว่าแม้ไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่ถ้ามีสองคำนี้ก็สามารถทุ่มเทกับงานและพัฒนานักเรียนได้
เมื่อรักและศรัทธา เราก็พร้อมที่จะเรียนรู้ เราก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง เราพร้อมจะพัฒนาตนเองไปสู่มาตรฐานวิชาชีพที่เราดำรงอยู่ แต่ถ้าเราเข้ามาไม่มีความรักและศรัทธาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเป็นครูเองที่ขึ้นมาถ้ายังขาดคำนี้ก็เป็น ศน. ไม่ได้
เป็นคำตอบที่สามารถที่อุดรอยรั่วของคำว่าไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นครูมาก่อนได้เพราะมันคือประเด็นสำคัญที่สุด การที่เราจะเป็นใครมาก็ตาม เป้าหมายต้องชัดเจนว่าเราเข้ามาเพื่ออะไร อันที่สองต้องเข้าใจว่าตัว ศน. เองอยู่ด้วยความรัก ความรักจากเพื่อนครู ความรักจากผู้บริหาร แล้วเราจึงจะสร้างความศรัทธาให้เขาได้ ศน. หงา กล่าวทิ้งท้าย
3,337
Writer
- Admin I AM KRU.