“เกิดเหตุคนตายมากมายนับไม่ถ้วน” เป็นประโยคที่ชาวอินเดียนแดงเผ่าโอเสจกล่าวกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กว่าจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ก็มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม…
.
Killer of The Flower Moon (2023) เรื่องราวในปี 1920 หลังจากชนเผ่าอินเดียนนาม ‘โอเสจ’ ผู้มั่งคั่งจากการค้นพบบ่อน้ำมันจากใต้ดิน ส่งให้ชนเผ่าโอเสจขึ้นแท่นเป็นชนพื้นเมืองที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แน่นอนว่ามีคนขาวบางกลุ่มได้หมายตาขุมสมบัตินี้ และพร้อมที่จะทำได้ทุกอย่างเพื่อฉกฉวยผลประโยชน์ให้มาเป็นของตัวเอง แม้ว่าจะต้องสังหารชาวโอเสจก็ตาม ซึ่งก่อให้เกิดคดีฆาตกรรมสุดเหี้ยมโหด และนำไปสู่การตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมที่เพิกเฉยและปล่อยให้ชาวเผ่าโอเสจ ต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดในดินแดนแห่งเสรีภาพของคนขาว สามารถรับชม Killer of The Flower Moon (2023) ได้ผ่านทาง Apple TV+
.
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้จำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวโอเสจซึ่งผ่านการตีความโดยผู้กำกับ ‘มาร์ติน สกอร์เซซี’ (Martin Scorsese) ซึ่งพาเรากลับไปดูภาพของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชนเผ่าโอเซจในตอนนั้น โดยมีเหตุผลมากจาก ‘เชื้อชาติ’ และ ‘ความโลภ’ ของคนขาวบางกลุ่มที่พยายามจะแย่งชิงสมบัติของเผ่าโอเสจมาเป็นของตัวเอง โดยใช้ตรรกะที่ผิดเพี้ยน ในการกล่าวว่าโอเสจเป็นเพียงเผ่าอินเดียนแดงไม่สมควรได้ครอบครองพื้นที่เขตสัมปทานน้ำมัน มาใช้เป็นเหตุผลอันชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงและสังหารชาวโอเสจ ซึ่งการเหยียดเชื้อชาติก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียม ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในยุคนั้น ที่ไม่ได้เห็นค่าความเป็นมนุษย์เท่ากัน นำไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลว
.
แม้สังคมปัจจุบันจะสนับสนุนสิทธิเท่าเทียมกันมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีคนบางส่วนที่ต้องเผชิญกับการถูกคุกคามและอคติ ที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ ซึ่งมีให้เราพบเห็นได้ทุกวัน ยังคงรายงานการก่อความรุนแรงที่มาจากความเกลียดด้านเชื้อชาติอย่างต่อเนื่อง บางทีแนวคิดที่เป็นพิษร้ายเหล่านี้อาจถูกฝังรากลึกอยู่ในสังคม ซึ่งเกิดมาจากความรู้สึกอคติแบบคนใน-คนนอก ทำให้นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ และแนวคิดเแบบนี้อาจมีจุดเริ่มต้นมาจากบนโต๊ะอาหาร ห้องนั่งเล่น ห้องนอน ที่มีผู้ปกครองกำลังปลูกฝังพิษร้ายทางความคิดให้กับเด็กโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเมื่อเด็กเติบโตออกไปแนวคิดอคติจะสร้างผลกระทบด้านลบให้กับผู้คนรอบข้างและตัวเด็กเองตามมา
.
แม้ว่าครอบครัวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะวัดว่าเด็กจะเกิดพัฒนาการทางความคิดไปในด้านใด แต่ห้องเรียนเองก็ถือได้ว่าเป็นจุดสตาร์ทที่ดี ในการสร้างแนวคิดเรื่องความเสมอภาคและการลดความอคติให้กับเด็ก ห้องเรียนแห่งหนึ่งในรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐฯ เองก็เช่นกัน ‘แดน กิลล์’ (Dan Gill) ครูวิชาสังคมวัย 75 ปี จากโรงเรียนมัธยมต้น ‘Glenfield’ ได้เกิดไอเดียทดลองนำ ‘เก้าอี้ว่าง’ มาวางไว้ในชั้นเรียน
แดนเล็งเห็นว่าการทำหน้าที่สอนหนังสือ ให้เด็กในชั้นเรียนอาจยังไม่เพียงพอในการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา เขาจึงใช้ ‘เก้าอี้ว่าง’ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า “ทุกคนเป็นที่ยอมรับไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใดก็ตาม”
.
สาเหตุที่แดนวาง ‘เก้าอี้ว่าง’ ไว้ในห้องเรียน เกิดมาจากเหตุการณ์ฝังใจในวัย 9 ขวบ แดนและเพื่อนสนิทของของเขาผู้เป็นคนผิวดำ ‘อาร์ชี ชอว์’ (Archie Shaw) ได้รับเชิญไปงานเลี้ยงวันเกิดของเพื่อนคนหนึ่งในนิวยอร์กซิตี้ เมื่อเดินทางมาถึงแดนมาถึงงาน แม่ของเพื่อนเจ้าของวันเกิดเชิญชวนแดนให้เข้าไปในงาน แต่ไม่ใช่กับชอว์ เขาไม่ได้รับการเชิญชวนให้เข้าไปในงานด้วยเหตุผลที่ว่า “เก้าอี้ไม่พอ” แดนรับรู้ได้ว่าเพื่อนของเขากำลังถูกเลือกปฏิบัติ เพราะสีผิว เหตุการณ์นี้ทำให้แดนนำ ‘เก้าอี้ว่าง’ มาวางไว้ในชั้นเรียนของเขาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เพื่อแสดงออกทางด้านเเนวคิดของการให้โอกาสและเคารพในทุกความแตกต่าง สะท้อนแนวคิดเรื่องการให้โอกาส โดยแดนคาดหวังนักเรียนของเขาจะเติบโตอย่างมีคุณภาพ และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมโดยเคารพทุกความแตกต่าง
.
Killer of The Flower Moon (2023) ได้เผยให้เห็นความโหดร้ายของมนุษย์ที่กระทำต่อกัน เมื่อไม่ได้มองเห็นว่าอีกฝ่ายเท่าเทียมกับตัวเอง และทำให้เราได้กลับมาคิดทบทวนตัวเองในบางครั้งเราเองก็อาจจะเคยคิดเข้าข้างตัวเอง สร้างความชอบธรรมในการกระทำสิ่งที่ผิดให้กับตัวเอง ซึ่งบางครั้งอาจเป็น “เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ” ที่เราไม่ได้เก็บไปใส่ใจ แต่หากลองนึกดูดี ๆ อาจจะมีคนเดือดร้อนจากการกระทำ “เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ” ของเราอยู่ก็ได้เช่นกัน
Writer
- Admin I AM KRU.