นิตยา ฤทธิรณ (ครูนิต) ครูภาษาอังกฤษ ในวัย 46 ผ่านประสบการณ์สอนนักเรียนรุ่นต่อรุ่น ผ่านเทคนิคการสอนมาหลายรูปแบบ ในวันนี้ที่ครูนิตยาลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงห้องเรียนจากรูปแบบเดิม ๆ ผ่านกระบวนการ Active Learning ด้วย นวัตกรรมบอร์ดเกม เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ครูนิตได้เล่าให้ทางทีม I AM KRU. ถึงอุปสรรค วิธีการแก้ไข และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
บอร์ดเกมช่วยแก้ปัญหาในการเรียนของเด็กได้อย่างไรบ้าง
ครูมีโอกาสได้ไปอบรมท่านวิทยากรพูดสะกิดใจอยู่ประโยคหนึ่ง “เด็กยุคนี้ ครูยุคไหน” ทำให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้าจะเป็นครูยุคนี้ต้องพัฒนาและปรับรูปแบบการสอนในรายวิชาที่รับผิดชอบ จริงอย่างที่ว่าเด็กยุคนี้แค่เปิดโทรศัพท์มือถือเขาก็เรียนรู้ได้แล้ว ถ้าครูยังมาทำให้เขาจดทำแบบฝึกหัดตรวจถูกตรวจผิด ซึ่งตัวเด็กเองก็สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้นะ ครูต้องจัดห้องเรียนสร้างบรรยากาศ ในการเรียนรู้ให้เขาเพื่อกระตุ้นให้เขาอยากเรียน ครูต้องทำห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนที่เกิดการเรียนรู้
แต่ส่วนการเรียนภาษาอังกฤษสำหรับเด็ก ๆ โอ๊ย… (หัวเราะ) ต่อต้านมากค่ะ มีเด็กอยู่คนหนึ่งในห้องที่ไม่สนใจ ไม่ทำ ไม่จดอะไรเลย แอบหนีไปเตะบอลเฉยเลย พอเปลี่ยนรูปแบบสอนผ่านบอร์ดเกม เขากลับเป็นเด็กคนแรกที่หยิบกระดาษมาจดคำศัพท์ แล้วเด็กทุกคนก็ชอบเล่น ครูไม่ต้องไปเสียเวลากับการบ่นการว่าการตำหนิอะไรเด็กเลย เด็กเขาอยากเล่นแล้วเขาก็ได้เรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อย ไปค่ะ เด็กทุกที่ครูสอนเขามีความสุขกับการเล่น เล่นบอร์ดเกมที่จะสร้างขึ้นมากเลยค่ะก็เลยก็ตั้งใจที่จะขยายผลต่อไป
“ห้องเรียนแบบเดียว ตำราเดียว ไม่ได้ผลแล้วสำหรับการเรียนรู้ในยุคนี้”
งั้นหมายความว่าหลักสูตรในห้องเรียนที่มีรูปแบบเดียว ตำราเดียวไม่พอสำหรับการเรียนรู้ในยุคนี้
ไม่เพียงพอหรอกค่ะ เพราะว่าโลกเปลี่ยนไป ครูจะมานั่งบรรยายให้เด็กจดตามมันไม่เกิดผล ครูนิดเคยสอนมาทุกรูปแบบแล้ว เลยลองเปลี่ยนห้องเรียนตัวเองหลังจากการที่ได้อบรมมาจากโรงเรียนร่วมพัฒนาที่เราทำมา 1 ปีแล้ว ซึ่งเราก็ต้องมาออกแบบการเรียนรู้กิจกรรมเป็นห้องเรียน Active Learning ตอนนั้นก็ดีในระดับหนึ่งแต่ก็ยังแก้ปัญหาเด็กบางคนไม่ได้ เพราะคิดว่าเราทำดีแล้ว แต่ก็ยังแก้ไม่ได้ จนครูได้พบว่ามีอบรมบอร์ดเกมก็เลยอยากลองเรียนรู้ พอมีคนส่งมาให้ปุ๊บ ครูก็สมัครคนแรกไม่ได้กังวลหรือคิดอะไรมากเลย มันสอดคล้องกับวิทยฐานะ ตรงความต้องการนวัตกรรมการสอน เลยมีแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาต่อไปให้เกิดเป็นนวัตกรรมจากความคิดความสามารถ ที่ตัวครูเองก็ไม่ใช่คนที่เก่งศิลปะไม่ใช่คนที่เก่งในการสร้างสื่อ
จากนั้นก็สร้างเกมที่เป็นวิชาภาษาอังกฤษที่สอนอยู่ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่อิงจากตัวชี้วัดสิ่งที่เราต้องการได้จากผู้เรียน สร้างเกมที่ตรงกับจุดประสงค์ มีขั้นตอนการนำการสอน ขั้นการสรุป แล้วก็มีบันทึกในการทดสอบเครื่องมือ 3 – 4 ครั้ง พอนับถึงตอนนี้เรียกนับครั้งไม่ถ้วนแล้วค่ะ (หัวเราะ) พอทดลองแล้วเรา ก็มาปรับแล้ว ผู้บริหารที่มาดูงาน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้าเขาก็ให้คำแนะนำ ว่าควรเพิ่มตรงนี้ ปรับตัวอักษรใหญ่ขึ้นหน่อย พอเข้ามากลุ่ม LPC มีคนแนะนำให้เพิ่มการ์ดพลังพิเศษ ปรับวิธีการใช้การ์ดเพื่อดึงความสนใจของเด็ก ๆ ให้สนุกกับเกมมากขึ้น
สิ่งสะท้อนทำให้เกมพัฒนาขึ้นคือเด็ก ๆ
ตอนแรกหลังจากที่ทำบอร์ดเสร็จ ครูทดลองให้เด็ก 4 คนในห้องเรียนลองมานั่งเล่น แล้วก็ให้เขาสะท้อนว่า รู้สึกยังไง เกมสนุกไหม เด็กก็บอกว่าสนุกมากเลย แต่ว่าการ์ดด้านหลังค่อนข้างดูยากเพราะว่าตาลายแล้ว เวลาจะหยิบได้การ์ดแต่ละใบต้องใช้เวลา เด็กแนะนำให้ครูไปปรับการ์ดกับตรงบอร์ดให้เหมือนกันว่าจะได้หยิบง่ายขึ้น แล้วตัวเงินในเกมก็ให้แค่เปลี่ยนเพราะว่ามันกระดาษ A4 มันหยิบยาก หรือว่ารูปแบบเกมตอนนี้ยังไม่ค่อยตื่นเต้น เด็กบอกว่าอยากให้มีติดคุกอะไรประมาณ ก็บอกไปว่าคำว่า jail (ติดคุก) มันน่าจะแรงไป เลยกลับมาคิดว่าจะใช้คำว่าอะไรดีก็เลยเป็น rest (พักผ่อน) หรือ stop one game (หยุดเล่น 1 ตา) ก็ได้การสะท้อนของเด็ก ๆ ในแต่ละครั้งที่ทดลองไปพัฒนาให้ดีขึ้น หลังจากนั้นก็พัฒนาเป็นครั้งที่ 3 แล้วจึงนำไปทดลองให้เด็กทุกคนในห้องเรียนได้ใช้ในห้องเรียนซึ่งมีประมาณ 74 คน
ต้องทำปริมาณขนาดนี้ ครูนิดมีตัวช่วยทำบอร์ดเกมยังไงบ้าง
ครูมีเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ทำเองคนเดียวไม่เสร็จแน่นอนค่ะ (ยิ้ม) ไหนจะภาระสอน ภาระงาน ครู ต้องเร่งเวลาให้ทันกับที่เด็กจะปิดเทอม มีน้องบิว ลูกสาวเป็นผู้ช่วย เขาเป็นเด็กที่ชอบงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เรามีไอเดียอยู่ในหัวว่าเกมจะเป็นแบบนี้ ใช้เทคนิค กลไก ครูก็วาดแผนที่คิดในหัวลงกระดาษ A4 1 น้องบิวก็เสนอว่าแม่ทำแบบนี้ดีไหม แบบนี้น่าสนใจไหม เขาอยู่เป็นเพื่อน มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ บางวันก็ช่วยกันถึงห้าทุ่ม เที่ยงคืน พอนำเกมมาทดลองเขาก็มาช่วยในชั้นเรียน เพื่อสังเกตดูว่าพฤติกรรมเด็กในห้องเรียน เด็กก็สะท้อนตัวเกม แล้วนำสิ่งที่เด็กสะท้อนไปพัฒนาเกมต่อด้วยกัน
หลังจากเอาบอร์ดเกมไว้ใช้สอน ครูนิตเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กในแง่ไหนบ้าง
นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ได้ฝึกฝนบ่อย ๆ ตอนสอนไวยากรณ์เรื่อง Do Don’t Does Doesn’t แล้วก็ Subject pronoun (คำสรรพนามที่ทำหน้าที่เป็นประธานในประโยค) ที่ใช้คู่กับดู Do Don’t Does Doesn’t ถ้าสอนแบบปกติ พรุ่งนี้เด็กบางคนก็ลืมแล้ว แต่พอเปลี่ยนรูปแบบ เด็กสนุกและจำได้ ถามปุ๊บตอบได้ปั๊บ
นอกจากนั้นแล้วก็เห็นการช่วยเหลือกันเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเพื่อนที่เขารู้เรื่องกับคนที่เขาไม่ค่อยรู้เรื่อง พวกเขาค่อย ๆ เรียนรู้แล้วช่วยกันทบทวน แล้วเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กบางคนจากที่ซนมาก ชอบรื้อ แต่พอเขาได้เล่นบอร์ดเกมตัวนี้เขาสนุก เกมชุดนี้กลายเป็นของรักของหวง เขาจะเก็บรักษาใส่ซองแยกไว้เป็นระเบียบ
บอร์ดเกมชุดนี้จะเดินทางไปไหนต่อ
ตอนนี้มีนำไปเสนอโครงการกับมูลนิธิใจกระทิง ซึ่งโรงเรียนร่วมพัฒนาโรงเรียนของเราอยู่ในโครงการ เขามีงบประมาณให้ ก็จะเอาตรงนี้มาสร้างบอร์ดเกมให้สำหรับชั้นเรียนอื่น ๆ เพราะว่าอยากจะให้เด็กมีความสุขกับการเรียน
ครูนิตยา ฤทธิรณ (ครูนิต)
กลุ่มสาระวิชาภาษาต่างประเทศ
โรงเรียนบางมูลนาก (ราษฎร์อุทิศ) จังหวัดพิจิตร
Writer
- Admin I AM KRU.