ทิศทางการศึกษาและการพัฒนาเพื่อเด็กโคราช 

Share on

 2,876 

เพื่อการพัฒนาห้องเรียนเพื่อการพัฒนาห้องเรียนสู่คุณภาพการศึกษาทั้งระบบ

“ถึงแม้การศึกษาจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่มนุษย์ยังคงต้องใช้ความสามารถในการคิดและแก้ปัญหา และการศึกษาเป็นเหมือนการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต” สิ่งที่ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ได้เน้นย้ำ ณ เวทีเสวนา ‘ทิศทางการศึกษาและการพัฒนาเพื่อเด็กโคราช’ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์การค้า เซ็นทรัล นครราชสีมา ที่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอภาพความสำเร็จของการจัดการศึกษา เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเองพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC ร่วมกิจกรรมพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามนโยบาย “เรียนดีมีความสุข” 

‘ผู้เรียน เรียนดีและมีความสุข’ สามารถเกิดขึ้นได้จริงหากครูผู้สอน ผู้อำนวยการสถานศึกษา เครือข่ายความร่วมมือ ชุมชน ผู้ปกครอง เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการศึกษาเพื่อเด็ก ๆ ที่เป็นอนาคตของพวกเรา ซึ่งครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ได้นำเสนอแนวทางการศึกษาแบบองค์รวมผ่านแนวคิด PLN (Professional Learning Network) จากโมเดลของฟินแลนด์ซึ่งเน้นความร่วมมือระหว่างโรงเรียน การพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวม การมอบหมายงานบนพื้นฐานของความเชื่อใจ และมุ่งสร้างความเสมอภาคของผลลัพธ์ แนวคิดนี้เริ่มต้นในปี 2005

โดยรัฐสภาและสภายุโรป ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะสำคัญ เช่น ทักษะการคิดและการแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์การคิดเชิงนวัตกรรม การทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร ความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง และการรู้เท่าทันเทคโนโลยี โดยครูใหญ่วิเชียรเน้นว่า ถึงแม้การศึกษาจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่มนุษย์ยังคงต้องใช้ความสามารถในการคิดและแก้ปัญหา และการศึกษาเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต จึงต้องมุ่งเน้นไปที่การฝึกฝนทักษะการคิดและเรียนรู้การแก้ปัญหาใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยมีนวัตกรรมแห่งการฝึก คิดและแก้ปัญหา ได้แก่ 

1. จิตศึกษา ที่เน้นการฝึกสติการตระหนักรู้และคิดไตร่ตรอง ใช้วิจารณญาณ เพื่อแก้ปัญหา 

2. หน่วยบูรณาการแบบ PBL (Problem-Based Learning) จากบริบทรอบตัวนักเรียน สู่โจทย์เพื่อให้นักเรียนร่วมมือกันคิด ร่วมมือกันแก้ปัญหา

3. ภาษาไทยวรรณกรรมเพื่อการคิดขั้นสูง จากตัวบท เรื่องราว มุ่งให้นักเรียนจับความ คิดตีความ และแก้ปัญหา 

4. คณิต Pro-Active จากบริบท สู่โจทย์เพื่อให้นักเรียนร่วมมือกันคิด แก้ปัญหาโดยใช้ความรู้ทักษะ และการให้เหตุผลทางคณิตฯ 

5. อนุบาลจิตศึกษา เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กอนุบาลใน 3 มิติ (Self, EF และพัฒนาการ 4 ด้าน) ผ่านงานชีวิตทั้ง 5 งาน (งานบ้าน งานสวน งานครัว งานสำรวจ งานเล่น) 

แต่… การเดินทางของครูใหญ่วิเชียรกว่าจะมาถึงจุดนี้นั้นไม่ง่าย 

แนวทางการดำเนินการของโรงเรียนนวัตกรรมที่อยู่ในเครือข่ายมูลนิธิลำปลายมาศนั้นมีจำนวน 470 โรงเรียน โดยมีโรงเรียนต้นแบบ (Node) การเรียนรู้ราว 70 โรงเรียน ที่ดำเนินการเป็นต้นหน่อด้านนวัตกรรม เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับโรงเรียนที่ทำงานร่วมกันในเครือข่าย และโรงเรียนที่ต้องการเข้าชมและสังเกตการณ์ดูงานว่ามีกระบวนการใช้นวัตกรรมในโรงเรียนเกิดผลลัพธ์กับผู้เรียนอย่างไร 

‘ทำแบบเดิมก็ได้ผลแบบเดิม’ 

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2551-2553 มีความฝันว่าถ้าสามารถขยายผลถ้าสามารถขยายผลโรงเรียน 1000 ให้เกิด Critical Mass โดยหากตั้งเป้าคำนวณว่าจากหนึ่งพันโรงเรียน มี 200 โรงเรียนที่เป็นเป้าหมายเกิดการเปลี่ยนแปลง หากภายใน 2 ปีแรกจะได้เป็น 400 โรงเรียน แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่เป็นไป อย่างที่ตั้งเป้า จากเป้าหลักร้อยเกิดผลเพียง 0 โรงเรียน ทำให้ต้องกลับไปทบทวนวิธีการดำเนินงานว่า เกิดช่องโหว่ตรงไหนแล้วจะหาวิธีอุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นอย่างไร ‘ทำแบบเดิมก็ได้ผลแบบเดิม’ เป็นสิ่งที่สกัดจากผลของการดำเนินงานที่สะท้อนออกมา เมื่อวิเคราะห์ปัญหา ความไม่สำเร็จที่เกิดขึ้นได้แล้ว ครูใหญ่วิเชียรก็เข้าสู่ขั้นเดินหน้าอย่างเข้าใจ ‘การจัดการโครงสร้างของโรงเรียนคือการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน’ โครงสร้างอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมครูและเด็ก โดยไปดำเนินการเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง 5 ด้านดังนี้ 

1. เปลี่ยนตารางเรียนรู้รายวิชาให้เกิดการเรียนรู้แบบบูรณาการ 

2. เปลี่ยนวิถีวัฒนธรรมการดำเนินการในโรงเรียน ให้เกิดการรับผิดชอบแบบไม่มีใครกำกับ 

3. เปลี่ยนให้เกิดวัฒนธรรมการเคารพซึ่งกันและกัน ยอมรับความแตกต่างทางความคิดเห็น 

4. เปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้ของครูที่ต่างคนต่างทำเป็นการร่วมมือกันปฏิบัติ 

5. เปลี่ยนระบบการเรียนและการจัดการแผนการสอนที่ทำเพื่อให้ตรวจสอบ เปลี่ยนเป็นการทำเพื่อสอนผู้เรียน

กิจกรรม CBL / PBL ช่วงปิดภาคเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

นอกจาก 5 เปลี่ยนแล้ว ครูยังต้องมีอีกหน้าที่สำคัญคือการเป็นนักสร้าง โดยครูใหญ่ได้นำเสนอบนเวทีแลกเปลี่ยน ครูนั้นต้องสามารถสร้างห้องเรียนให้เกิด 3 สิ่งดังนี้ 

1. สร้างการร่วมมือกันเรียนรู้ผ่าน PLC – PLN นำปัญญาปฏิบัติที่ค้นพบนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาร่วมกัน การใช้กระบวนการจิตศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญาภายใน เริ่มต้นจากการใช้จิตวิทยาเชิงบวกและการสร้างสนามพลังบวก เพื่อสร้างสภาวะ จิตใจที่พร้อมเรียนรู้เนื่องจากเมื่อเด็กอยู่ในสภาวะเครียด สมองส่วนที่ควบคุมสัญชาตญาณและอารมณ์จะถูกกระตุ้นให้ทำงาน เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าเป็นไปในทางบวกหรือลบ ซึ่งในสถานการณ์ที่รู้สึกเครียดหรือไม่ปลอดภัย สมองจะคาดการณ์ ถึงความรุนแรงของสถานการณ์สูง ทำให้เด็กมีความสามารถในการรับมือกับปัญหาลดลง 

กิจกรรม CoP : Community of Prop ผู้ปกครองชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

(Prop=เสาหลัก คือพ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย สถาบัน องค์กร)

2. สร้างบรรยากาศเชิงบวก ให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ส่งเสริมการคิดอย่างอิสระและปราศจากความกลัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ผ่านการกระตุ้นสมองส่วน Prefrontal Cortex ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ในการตัดสินใจและการคิดอย่างมีเหตุผล รวมถึงการพัฒนาทักษะสมอง EF ผ่านกระบวนการแก้ปัญหา การได้รับ Feedback และการทำ Reflection 

3. สร้างความยืดหยุ่นทางความคิดและความสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนได้มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เด็กคิดผ่านการสร้างบรรยากาศในห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้การยืดหยุ่นทั้งด้านความคิดและสร้างสรรค์สามารถฝึกฝนได้โดยครูมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เด็กคิดผ่านการสร้างบรรยากาศในห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ นอกจากนี้ครูยังต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก และปรับวิธีการสอนเพื่อส่งเสริมการคิดที่หลากหลายและสร้างสรรค์ซึ่งแต่ละท่านอาจมีวิธีการที่ แตกต่างกัน จึงควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

ผมมีความฝัน

แต่ผมสิ้นหวังจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย 

ความฝันของครูใหญ่ วิเชียร อยากเห็นการศึกษาของไทยพัฒนาและก้าวหน้า แต่ในความเป็นจริงกลับดูสิ้นหวังที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย ปัญหาการเมือง ปัญหาสังคม ปัญหาต่าง ๆ ที่ยึดโยงกับระบบการศึกษาต่างเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาของประเทศ 

แล้วอะไรเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้ครูใหญ่วิเชียรยังอุทิศตนเพื่อการศึกษา 

การลงมือทำด้วยความตั้งใจจากที่เห็น ‘ครูเพียงคนเดียวเกิดการเปลี่ยนแปลง’ นั่นหมายความว่าเด็กในห้องเรียนของครูคนนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เมื่อเด็กจบรุ่นต่อรุ่นนั้นหมายความว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นทวีคูณ เป็นการส่งต่ออย่างไม่สิ้นสุด (ทำให้ผู้เขียน นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Pay it Forward ที่การให้ขยายวงกว้างออกไปเป็นลูกโซ่) นี่อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่หล่อเลี้ยงความฝันของครูใหญ่ วิเชียร ให้ยังคงปฏิบัติตนอุทิศเพื่อการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง 

อีกประเด็นที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นระหว่างการสนทนา อะไรทำให้การศึกษาไทยยังไม่ไปไหน ? คำตอบที่ครูใหญ่วิเชียรมองเห็นคือ ระบบการศึกษาไทยมีการประเมินคุณภาพโรงเรียนทั้งภายในและภายนอก แต่ระบบการศึกษาไทยยังไม่มีการรับรองคุณภาพโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนที่ได้รับการรับรองคุณภาพโรงเรียนในประเทศไทยจะเป็นโรงเรียนเอกชนบางแห่งและโรงเรียนนานาชาติที่มีการรับรองคุณภาพว่าได้ตามมาตรฐานตามระบบอเมริกัน อังกฤษ ฯ เหตุนี้ทำให้โรงเรียนต่าง ๆ ในระบบการศึกษาไทยมีความแตกต่างแบบสิ้นเชิง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทางการศึกษา ครูใหญ่วิเชียรเห็นว่าโรงเรียนในระบบการศึกษาไทยควรได้รับการรับรองดูแลเสมอเท่าเทียมกัน เพื่อให้พ่อแม่สามารถส่งลูกหลานเข้าเรียนที่ไหน ก็จะได้รับคุณภาพการศึกษาไม่ต่างกัน

‘กระบวนการ PLC

เป็นส่วนสำคัญในการเกิดการรับรองคุณภาพภายใน’ 

กระบวนการ PLC เป็นส่วนสำคัญในการเกิดการรับรองคุณภาพภายใน การ PLC ในแต่ละครั้งจะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง จะค้นพบวิธีการใหม่เสมอในการแก้ไขปัญหาให้เด็ก ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาให้เด็กสามารถตอบได้ว่าวิธีการแบบนี้ได้ผลรายคน อย่างไร PLC สามารถแก้ปัญหาในเชิงระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพให้ดีขึ้น แก้พฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก ผู้ปกครองที่เข้ามาเรียนรู้กับโรงเรียนต้องเข้าใจใน 3 เรื่อง 1) เข้าใจว่าบุตรหลานของตนเองเป็นอย่างไร 2) เข้าใจว่าโรงเรียนกำลังให้การเรียนรู้อะไร 3) เข้าใจตนเองว่า สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนอย่างไรบ้าง เมื่อผู้ปกครองเห็นระบบที่มีคุณภาพแล้ว ผู้ปกครองจะเลือกส่งลูกหลานมาเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน โดยไม่ต้องเดินทางไปเรียนไกลถึงโรงเรียนใหญ่ในตัวเมือง ซึ่งแนวคิดนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนั้นต้องใช้ระยะเวลาเนิ่นนานอาจจะเป็นผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นช้านาน หรืออาจจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่ ‘การรอ’ ก็เป็นหนึ่งกระบวนการทำงานของครูใหญ่วิเชียร ‘การรอ’ เป็นหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ครูวิเชียร ได้เล่าให้ทาง I AM KRU. ฟังว่า ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องอาศัยระยะเวลา ไม่สามารถลงมือทำแล้วเกิดผลได้ปุบปับ ‘การรอ’ จึงเป็นส่วนสำคัญในการพิสูจน์ว่าสิ่งที่ได้ลงมือปฏิบัตินั้นเกิดเป็นผลงอกงามในปี พ.ศ. 2555 เป็นเมล็ดพันธุ์การเรียนรู้ที่เติบโต งอกงาม ขยายกิ่งก้าน เป็นต้นไม้ใหญ่ที่มั่นคง ร่มเย็น เกือบ 20 ปีที่ผ่านมาและจะขยายรากและเมล็ดพันธุ์ไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

 2,877 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า