ศน. นงค์นุช บุตรสนาม | เติมเต็มความรู้เพื่อช่วยเพื่อนครูเติมเต็มห้องเรียน

Share on

 8,674 

ท่ามกลางกิจกรรมกลุ่มของนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่กำลังจับกลุ่มทำกิจกรรมเรียนรู้กระบวนการ Active Learning จากวิทยากรด้วยความตั้งใจและแฝงไปด้วยความสนุกสนาน หากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าแต่ละกลุ่มจะมีที่ปรึกษาประจำกลุ่มที่คอยดูแลกระบวนการของนักศึกษา วันนี้ I AM KRU. จะพาทุกคนไปรู้จักหนึ่งในนักกระบวนกร (Facilitator) ที่มีเรื่องราวการทำงานและประสบการณ์ที่น่าสนใจ

โยกย้าย เรียนรู้ เพื่อเติบโตทางความคิด 

ศึกษานิเทศก์ นงค์นุช บุตรสนาม นั้นเริ่มต้นการศึกษาในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นทุรกันดาร (คุรุทายาท) ณ สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์  (ชื่อเดิมของ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ในขณะนั้น) จังหวัดปทุมธานี  ตอนนั้นเลือกเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษ  พอหลังจากจบการศึกษาได้ถูกส่งตัวให้ไปเป็นครูอัตราจ้างที่โรงเรียนทัพราชวิทยา จังหวัดสระแก้วได้ประมาณ 3 เดือน และได้รับการบรรจุแต่งตั้งที่โรงเรียนท่าเกษมพิทยา สอนอยู่ได้ประมาณ 4-5 ปี จากนั้นก็ย้ายไปที่โรงเรียนอนุบาลวัดสระแก้ว ที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองสระแก้ว

ศน.นงค์นุช เปรียบตนเองว่า “คนเราเหมือนผึ้ง ความรู้การศึกษาเหมือนดอกไม้หลากหลายชนิดสายพันธุ์ ที่ผึ้งมีโอกาสบินไปเลือกตอมความหอมหวาน เลือกเก็บประสบการณ์ เก็บองค์ความรู้ที่เป็นดั่งหมู่มวลดอกไม้หอมชนิดต่าง ๆ แล้วสั่งสมเป็นน้ำผึ้งอันมีค่า เพื่อมาใช้ในการพัฒนาการศึกษา ด้านการปฏิบัติงานที่โยกย้ายในแต่ละหน่วยงานนั้นก็เพื่อที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เมื่อพิจารณาโอกาสการทำงานในสายงานครูนั้นสามารถต่อยอดไปในเส้นทางที่เติบโตขึ้นในทางไหนได้บ้าง ซึ่งก็มีการทั้งเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ส่วนสายงานวิชาการ มีอีกทางเลือกคือการเป็นศึกษานิเทศก์ วิชาชีพที่ยังอยู่ในแวดวงของการเป็นครูที่ยกระดับขึ้นไปอีก 1 ขั้น คือการเป็นครูของครู”

อาชีพศึกษานิเทศก์นั้นต้องเติมเต็มความรู้อยู่เสมอ 
จึงไม่หยุดที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ
เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเพื่อนครูเติมเต็มห้องเรียนได้ 

การเรียนรู้จากศึกษานิเทศก์รุ่นพี่

ศน.นงค์นุช ได้เล่าให้ฟังว่า “ช่วงการเป็นศึกษานิเทศก์ก็ทำหน้าที่ตามปกติ แต่มีจุดเปลี่ยนในวิชาชีพที่สำคัญ คือการได้ไปร่วมงานกับท่าน ศน. มาลี พิณสาย ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผล สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสระแก้ว ซึ่งท่านเป็นศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญหนึ่งเดียวของจังหวัดสระแก้ว ท่านเป็นศึกษานิเทศก์ที่เน้นการทำงานส่งเสริมคุณภาพวิชาการ มากกว่าการเน้นการทำงานเพื่อได้ผลงานหรือรางวัลจากการประกวดแข่งขัน” ศน.นุช เล่าย้อนกลับไปด้วยความยิ้มแย้มว่า “ท่าน ศน.มาลี พิณสาย นั้นได้สอนทั้งเรื่องการทำงานเอกสาร การบริหารจัดการโครงการ การคิดสร้างสรรค์ จรรยาบรรณ วิสัยทัศน์ มารยาท และสิ่งที่ควรมีควรเป็นในคนที่ทำหน้าที่ศึกษานิเทศก์ ซึ่งสิ่งเหล่านีได้รับการบ่มเพาะจาก ศน.รุ่นพี่  ทำให้วิธีการทำงานของตัวเราดีขึ้น พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเองเพื่อให้เกิดการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดสระแก้วต่อไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2564 นั้นมีโอกาสได้รู้จักกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต ได้รับการชักชวนเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะของการเป็นศึกษานิเทศก์ ได้อบรมและเรียนรู้ในหลากหลายหลักสูตรที่ช่วยในการพัฒนางานตัวเองและเพื่อนครูได้ เช่น โครงงานนวัตกรรมเพื่อชุมชน  (Community Innovation Project หรือ CIP), การสอนเสวนา (Dialogic Teaching) การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) , Platform for Innovative Learning Assessments ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา:Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD และการเป็นโค้ช (Coaching) หลังจากนั้นนำความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับไปหนุนเสริมความรู้ให้กับตนเองและพัฒนาครูในจังหวัดสระแก้วไปแล้วจำนวนหลายรุ่น และวันนี้ได้มาเป็น Facilitator ช่วยคุณพอล คอนราด (Paul Collard) ผู้ก่อตั้ง CCE ที่มาอบรมทักษะสำหรับครูในด้านต่าง ๆ ให้กับน้อง ๆ นักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น รู้สึกเหมือนได้มาฝึกซ้อมทักษะตนเองให้ชำนาญขึ้นถือเป็นโอกาสที่ดียิ่งค่ะ”

ทักษะความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นเหมือนปริมาณเกสรที่ผึ้งได้ดอมดม
และการสะสมขยายขอบเขตทักษะความรู้กว้างขึ้นเรื่อย ๆ เปรียบเสมือนขุมทรัพย์น้ำผึ้งอันมีคุณค่า

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในห้องเรียน

แนวทางที่ ศน.นงค์นุช นำไปใช้ Coach คุณครูเริ่มจากโรงเรียนทั้งสังกัดภาครัฐและเอกชน โดยใช้วิธีการสอนแบบโครงงานนวัตกรรมเพื่อชุมชน (Community Innovation Project หรือ CIP)  ของ OECD เพื่อให้ครูเกิดนวัตกรรมในการสอน นักเรียนเกิดนวัตกรรมในการพัฒนาตนเองหรือชุมชน ซึ่งการอบรมให้ความรู้กับครูเป็นลักษณะงานที่ปฏิบัติตามมาตรฐานตำแหน่งศึกษานิเทศก์ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา และ ได้ค้นพบว่า สิ่งแรก ๆ ที่ครูส่วนใหญ่อยากได้เพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน คือ ทักษะ เทคนิคการสอนแบบต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อจัดการอบรมให้กับคุณครูจึงเน้นเรื่องทักษะ เทคนิค วิธีการนำไปใช้ เพื่อให้การสอนของครูมีพัฒนาการมากขึ้น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ที่สำคัญคือทันต่อวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกยุคปัจจุบัน และเพื่อส่งเสริมให้จังหวัดสระแก้วเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (SAKAEO INNOVATION SANDBOX) โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นนวัตกรสระแก้ว รักษ์สระแก้ว พัฒนาสระแก้ว โดยวิธีการสอนดังกล่าวสามารถนำไปใช้ได้กับโรงเรียนทุกระดับ แม้ในโรงเรียนที่สอนในระดับชั้นประถมศึกษาก็สามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งเป็นการช่วยให้ผู้เรียนเกิดความคิดแบบนวัตกร สามารถนำแนวทางไปปรับประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน  โดยคุณครูที่ได้รับการอบรมได้นำวิธีการนี้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน เช่น โรงเรียนท่าเกษมพิทยา เป็นโรงเรียนที่นำวิธีการสอนแบบโครงงานนวัตกรรมเพื่อชุมชน (CIP) ไปใช้ก่อให้เกิดนวัตกรรมจากผู้เรียนมากกว่า 10 ผลงาน ทำให้ผู้เรียนมีความภาคภูมิในการเป็นเจ้าของบทเรียน และเป็นหนึ่งในการพลิกโฉมการศึกษาสู่การเป็น ‘นวัตกรสระแก้ว’

โลกจะเปลี่ยนแปลงไปแต่ครูของครูนั้นยังจำเป็น

ศน.นงค์นุช ได้ให้ความคิดเห็นว่า “พี่มองว่าการหาความรู้ใหม่ของครูในโลกเทคโนโลยีที่ตอบสนองความรู้ได้อย่างรวดเร็วเป็นเรื่องดีทำให้เราเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ส่วนคำถามที่ว่า หน้าที่ศึกษานิเทศก์ยังจำเป็นอยู่ไหม ?  มุมมองของพี่ หน้าที่ศึกษานิเทศก์ยังจำเป็นอยู่มาก และต้องเป็นบทบาทหน้าที่ตามมาตรฐานตำแหน่งของศึกษานิเทศก์ คือ การนิเทศการศึกษา การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา และการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ ที่จะต้องยึดถือในการปฏิบัติงาน เพราะบทบาทของศึกษานิเทศก์นั้นไม่ใช่การไปควบคุมครู หรือทำให้ครูอึดอัดใจ หน้าที่ของศึกษานิเทศก์คือการเข้าไปช่วยส่งเสริม สนับสนุนครู เป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่ใจของครู หากครูต้องการความช่วยเหลือตรงไหน อยากได้เทคนิคอย่างไร เรามีหน้าที่หนุนเสริมครูในส่วนที่ครูต้องการ  ก่อนที่พี่จะมาเป็นศึกษานิเทศก์ก็เคยเป็นครูมาก่อน ทำให้เข้าใจบริบทและความต้องการของครู วางตัวเองให้เป็นเพื่อนที่ให้ความช่วยเหลือครูได้ ซึ่งเป็นบทบาทที่พี่นุชได้ปฏิบัติมาตลอด” ศน.นงค์นุชเล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม 

“หลังจากที่ได้สัมผัสการทำงานของศึกษานิเทศก์ 4-5 ปี ที่ผ่านมาได้เรียนรู้ว่า ศึกษานิเทศก์เป็นครูของครูที่ยังต้องฝึกฝนทักษะ แสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ต้องไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองพร้อมช่วยครูทั้งในด้านทักษะ  เทคนิคการจัดการเรียนการสอน และองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริม สนับสนุนครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เติมเต็มความรู้และสมรรถนะให้กับนักเรียนได้” 

เห็น ศน.นงค์นุช ทำงานเยอะขนาดนี้ก็อดถามไม่ได้ว่า ศน.ทำงานเยอะขนาดนี้เหนื่อยบ้างไหม ศน.นงค์นุช บอกกับ I AM KRU. ว่า เท่าที่ผ่านการเป็นครูก็ไม่รู้จักว่าคำเหนื่อยว่าสะกดอย่างไร และเมื่อได้มาทำหน้าที่ศึกษานิเทศก์นั้นก็ยังไม่รู้สึกถึงคำว่าเหนื่อยเข้ามาในชีวิต 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

ติดตามความเคลื่อนไหวโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น 

https://www.facebook.com/Krurakthin.org

ประมวลภาพงานมหกรรมการศึกษา “SAKAEO INNOVATION SANDBOX- SHOW SHARE SYNCHRONIZE” นวัตกรรมการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาจังหวัดสระแก้ว สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (โชว์ แชร์ เชื่อม) ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสระแก้ว

https://www.facebook.com/eef.TSQM/posts/pfbid021TMeDa65AYdUrCQre9t6fxMyAbV5wQ24MLJpVVF3uRAH4Xr5vtX2HocVcL813RfNl

 8,675 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า