แรงบันดาลใจการเป็นครูจากครูตชด.
ด.ต. ชัยพิชิต จันทะคุณ หรือครูอี๊ด ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนาปอ บรรจุที่โรงเรียนนี้ตั้งแต่ปี 2552 หรือประมาณ 14 ปีที่แล้ว ครูอี๊ดเป็นศิษย์เก่ารุ่นแรก ๆ ของโรงเรียนตชด. บ้านนาปอ ที่กลับมาช่วยชุมชนโดยเริ่มต้นจากสอบบรรจุครูในโครงการคุรุทายาท และยังเป็นนักศึกษาทุนครูตชด. (เรียนครุศาสตร์) รุ่นแรกของ มรภ. อุดรธานี
เท้าความกลับไปครูอี๊ดเล่าให้ฟังว่าเกิดในครอบครัวยากจน เป็นชาวไร่ชาวนา เรียนประถมที่ตัวเมืองจังหวัดเลยเป็นโรงเรียนกินนอน มีความลำบาก เดินทางค่อนข้างไกลผู้ปกครองไม่มีเงิน ไหนจะค่าใช้จ่ายสูง พอในปี กรกฎาคม 2538 กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 ได้รับหนังสือจากกองบังคับการควบคุมศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง พื้นที่อำเภอนาแห้ว และได้รับหนังสือจากนายอำเภอนาแห้ว แจ้งว่าขอรับการสนับสนุนการจัดตั้งโรงเรียนในพื้นที่ โครงการก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างในปี 2538
พอในปี 2539 จัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนาปอเรียบร้อย ตอนนั้นครูอี๊ดเรียน ป.4 กำลังขึ้น ป.5 เลยขอย้ายจากโรงเรียนกินนอนในอำเภอมาเรียน ป.5 ที่บ้านนาปอ ยุคแรก ๆ เป็นโรงเรียนไม้ไผ่พอจบก็ไปเรียนต่อที่ตัวจังหวัด
พอเห็นว่าตัวเองได้รับโอกาสก็อยากส่งต่อให้รุ่นต่อ ๆ ไปด้วย อยากตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน อยากจะส่งต่อให้รุ่นน้องต่อ แต่ไม่ได้จบสายครูจบสายประชาสัมพันธ์ แล้วค่อยมาเรียนรู้ทักษะครูเพิ่มเติมทีหลัง
ครู 2 หน้าที่ ดูแลประเทศ ดูแลโรงเรียน
ครูมะนาว : “หน้าที่และบทบาทของครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนกับโรงเรียนทั่วไปแตกต่างกับอย่างไรครับ”
ครูอี๊ด : “เป็นความเหมือนที่ยังไม่เหมือน 100% ครูมีหน้าที่สอนเด็กอ่านออกเขียนคล่อง ฝึกให้มีวินัยในตัวเอง ให้เด็กมีชีวิตดีขึ้น ส่วนความต่างคือบริบทโรงเรียน ตชด. ใช้ครู ตชด. มาปฏิบัติภารกิจการสอน เรียกได้ว่าสวมหมวก 2 ใบ ใบแรกรักษาความสงบ ใบที่สองตำรวจที่จับปากกามาสอนเด็ก ๆ
ครู ตชด. ส่วนใหญ่ตอนนี้ไม่มีใบประกาศนียบัตรวิชาชีพ แต่มาสอนด้วยหัวใจ ที่ในพื้นที่ของ สพฐ. สปป. เข้าไม่ถึง อาจเป็นเพราะความลำบาก ห่างไกล งานนี้จึงให้ ตชด. ต้องรับหน้าที่ 2 อย่าง ทั้งปกป้องประเทศ และสอนหนังสือไปพร้อม ๆ กัน
อีกความต่างของ รร. พื้นที่ห่างไกล แต่ทำไมต้องมีพื้นที่ที่ต้องเป็น ครู ตชด. เพราะด้วยบริบทพื้นที่เป็นพื้นที่กันดารและในอดีตพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่อ่อนไหวเรื่องความมั่นคง เด็กต้องเดินทางลงไปเรียนข้างล่าง ทำให้ต้องเกิดการจัดตั้งโรงเรียน ให้ ตชด. มาเป็นครูที่ต้องทำหน้าที่ตรวจตราดูแลความสงบในพื้นที่ และ ดูแลระเบียบปฏิบัติประจำวัน (รบจ.) รายงานกับหน่วยอื่นและสอดส่องดูแลความสงบชายแดน”
ครูมะนาว : “พอมาเข้าทำงานแล้วความท้าทายของครู ตชด. ของครูอี๊ดคืออะไรครับ”
ครูอี๊ด : “ความท้าทายของครู ตชด. ค่อนข้างเยอะ อย่างแรกไม่เหมือนกับครูทั่วไป ครู ตชด. ต้องเป็นทุกอย่างของโรงเรียน เป็นเหมือนพ่อ-แม่ของเด็ก เป็นสารพัดช่าง ธุรการ ภารโรง ทำข่าวส่งหน่วย เรียกว่าเป็นอยู่อย่างของโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนดำเนินต่อไปได้ และหน้าที่หลักฐานะตำรวจต้องรายงานสถานการณ์กำลังพล ชายแดนงานและเอกสารของหน่วย ต้องทำ 2 หน้าที่ตอนช่วงแรก ๆ ก็วุ่นเลยครับ”
ครูมะนาว : “ช่วงแรกที่ครูเจออุปสรรค คิด-ถามยังไงกับตัวเองให้ไปต่อ ตอนนั้นมีความรู้สึกแบบนี้ไหมครับ”
ครูอี๊ด : “ตอนนั้นไม่มีความรู้สึกท้อเลยนะครับ ถือเป็นช่วงที่พยายามเรียนรู้ มีโอกาสมาตอบแทน รร. ที่เราเคยอยู่ ไม่มีความรู้สึกว่าท้อหรืออะไรเลยครับ”
ปัญหาครูจบไม่ตรงสาย
ครูมะนาว : “ทีนี้พอมาเป็นครู มีเวลาเตรียมตัวหรือพัฒนาตนเองอย่างไรก่อนหน้ามารับหน้าที่ครับ”
ครูอี๊ด : “จริง ๆ ตื่นเต้นมากครับ เพราะผมจบประชาสัมพันธ์ไม่ได้ตรงสายครู พอมาเป็นครูแต่ได้ทักษะวิชาประชาสัมพันธ์มีความรู้บางเรื่องเบื้องต้น ทางหน่วยส่งไปอบรมหลักสูตรเตรียมความพร้อมความเป็นครู ฉบับรวบรัดประมาณ 7-8 เดือน เปิดให้ครูจริง ๆ มาสอนเรื่องวิจัยชั้นเรียน เขียนแผนการสอน เหมือนเป็นนักศึกษาใหม่เลย ซึ่งก็ได้มาเพียงระดับหนึ่ง แต่ประสบการณ์การสอนเราไม่มีเลย พอมาสอนแล้วก็ต้องเตรียมตัวอาศัยสอบถามปรึกษารุ่นพี่ครูสายตรงที่มีประสบการณ์ เตรียมห้องเรียน เตรียมอุปกรณ์ อินเทอร์เน็ต และสื่อการสอน
ในช่วงแรกที่มาบรรจุโชคดีว่าใช้สื่อการสอน DLTV จากวังไกลกังวล โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ และวิชาภาษาอังกฤษ ที่ครูไม่ค่อยถนัด ดึงบางเนื้อหามาใช้ได้ หรือเนื้อหาที่คิดว่าเด็ก ๆ สนใจ ตอนแรกก็ค่อนข้างทุลักทุเลนิดหน่อย พยายามเตรียมให้พร้อมที่สุดเท่าที่พอจะมีได้”
ครูมะนาว : “แล้วในความเป็นพื้นที่ห่างไกล ครูอี๊ดคิดว่ามีผลต่อการเข้าถึงการศึกษาของนักเรียนไหมครับ”
ครูอี๊ด : “มีผลมากครับ โดยเฉพาะเรื่องระยะทาง ถึงแม้ตอนนี้เทคโนโลยีทันสมัยและครอบคลุม แต่ก็อยู่ในภูมิประเทศสดใหม่ไม่ค่อยเห็นโลกภายนอก ถึงแม้เด็กจะเห็นจากโทรศัพท์ก็จริงแต่ก็ไม่เคยได้เห็นของจริง และปัญหาเรื่องการจัดการศึกษาที่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย พื้นที่หมู่บ้านอยู่ปลายสาย ไฟเลยดับบ่อย บางทีก็ดับไปครึ่งวันทำให้การจัดการเรียนการสอนลำบาก แล้วก็คือความห่างไกล ครูก็น้อย ถึงจะครู ตชด. ที่เข้ามาให้มาบรรจุ แต่สุดท้ายก็ขอย้ายกลับไป แล้วไหนครูจะน้อยแล้วก็ไม่ตรงสาย เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไม่บรรลุเป้าประสงค์การเรียนรู้ครับ”
ครูมะนาว : “นี่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่อยากให้แก้ไข”
ครูอี๊ด : “ใช่ครับ (ครูอี๊ดจบสาขาประชาสัมพันธ์) นี่คือเรื่องเร่งด่วนที่อยากให้แก้ปัญหาครู ตชด. ไม่ตรงสาย บางรุ่น บางท่าน ครุศาสตรบัณฑิต (คบ.) ก็มาสอนแล้วย้ายออกไป ทำให้การจัดการศึกษาไม่ตรงเป้าหมาย สอนเด็กได้แค่พออ่านออกเขียนได้ แต่ก็พยายามทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น ใช้เทคโนโลยีช่วยสอนได้บ้าง”
ครูมะนาว : “นอกจากไม่ตรงสาย คนนอกพื้นที่ที่เข้ามาก็อยากกลับเข้าไปในพื้นที่ของตัวเอง”
ครูอี๊ด : “ครับคนมาใหม่ก็อยากจะกลับเข้ามาสอนในพื้นที่ รร. บ้านของตัวเอง คนในพื้นที่ก็หาได้ยาก คือด้วยบทบาทและภาระหน้าที่ที่เราทำ พอน้อง ๆ ที่จบไปเขาก็เห็นว่ามันเป็นครูเหนื่อยจังเลย น้องก็ออกไปสายอาชีพอื่นกันเสียมากกว่ามาทำอาชีพครู”
ครูมะนาว : “คำว่า ‘มนุษย์หัวใจครู’ ในความหมายของครูอี๊ดเป็นแบบไหนครับ”
ครูอี๊ด : “มนุษย์หัวใจครู สำหรับผมคือเพื่อนมนุษย์ที่แนะนำให้ผู้อื่นมีชีวิตดีขึ้น ผมเชื่อว่าการให้การศึกษา การให้โอกาสเข้าถึงการศึกษาเป็นการยกระดับชีวิตของเพื่อนมนุษย์ ถึงแม้ผมไม่ได้จบครูแต่ก็มีสิ่งที่ตรงกับผมคือ ‘ความเป็นมนุษย์หัวใจครู’ ผู้ที่อยากสร้างโอกาสอยากให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะเมื่อมองสะท้อนถึงตนเองตอนที่ไม่มีโอกาสได้เรียน ก็ได้มีการศึกษาขึ้นมาจากโรงเรียน ตชด. ให้เราได้เข้าใจหัวใจของความเป็นครู อยากให้ลูกศิษย์ได้ดี เราต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้เขาเห็น ทั้งวิชาความรู้ติดตัว อ่านออกเขียนได้ อยู่ในสังคมได้ ที่สำคัญต้องทำให้เขามีนิสัยดี ก็จะมีชีวิตที่ดี ความรู้ต่าง ๆ จะเข้ามา
บทบาทความเป็นครู เป็นงานที่ชัดเจน ไม่มีงานไหนยิ่งใหญ่ไปกว่าครู เพราะว่าครูคือหัวใจของชีวิต การศึกษาช่วยให้เรียนรู้โลกได้ดีกว่าเดิม มีความสุข เป็นกำลังของครอบครัว ทำให้ชุมชนของพวกเขามีความสุขเจริญงอกงาม”
ใช้ฐานความรู้ของชุมชนช่วยกระตุ้นการศึกษา
ครูมะนาว : “ถ้ามองในมุมพื้นที่ เด็ก ๆ และผู้ปกครองในชุมชน เขามีความตื่นตัวด้านการศึกษาขนาดไหน สนใจเข้าส่งลูกหลานเข้ามาเรียนรู้”
ครูอี๊ด : “ก่อนที่จะเปิดภาคเรียน เราก็มีประชุมผู้ปกครองเพื่อชี้แจงแต่ละปีการศึกษาว่าจะจัดการเรียนรูปแบบนี้นะ เท่าที่ผ่านมาผู้ปกครองในบ้านนาปอไม่ค่อยรู้หนังสือเยอะ ความเข้าใจการศึกษายังมีค่อนข้างน้อย ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ถ้าแนะนำประสานให้การบ้านที่ให้เด็กไปช่วยสอน ช่วยฝึก แบ่งหน้าที่กันคนละส่วน แต่ด้วยความเข้าใจและการศึกษาที่มีแต่พ่อเฒ่าแม่แก่ที่ไม่ค่อยรู้หนังสือ ก็ต้องทำความเข้าใจอีกระดับหนึ่งให้เขาตื่นตัว”
ครูมะนาว : “อยากให้ครูยกตัวอย่างการทำความเข้าใจเรื่องการศึกษาชุมชนว่าครูอี๊ดทำอย่างไรบ้างครับ”
ครูอี๊ด : “การจัดค่ายในโรงเรียนให้ผู้ปกครองเข้ามาเรียนรู้ ให้เขามาฝึกอาชีพให้เด็กเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ รร. ได้มาเห็นว่าเด็กทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง เราก็นำภาพนี้ไปช่วยกระตุ้นให้ผู้ปกครองเรื่องการศึกษา และช่วงหลังได้รับการสนับสนุนจาก กสศ. ลงมาสนับสนุนให้ทุน ให้เด็กเกิดการเรียนรู้จริง ๆ ฝึกทักษะ เรื่องพัฒนาครู ฝึกหัดครู สอนหัดใช้สื่อ สอนให้มีวุฒิภาวะครู สอนให้มองตัวเอง นำบริบทที่มีอยู่ในทรัพยากรธรรมชาติ เปลี่ยนเป็นสื่อการเรียนการสอน ค้นหาปราชญ์ชาวบ้านมาช่วยสอน วัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นแม่ครัวทำอาหารให้ ผู้ปกครองได้เห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เมื่อเทียบกับแต่ก่อน เงียบ ผ่านเทอมก็จบ ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ตอนนี้เขาก็ตื่นตัวมากขึ้นกว่าเดิม
โรงเรียนหลังจากที่ได้รับคำแนะนำจาก กสศ. ก็เกิด alert เบิกบาน ทำให้เรามองเห็นประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ ไม้ผลไม้ดอกที่ปลูกได้ในพื้นที่สูงเช่น พลับ แมคคาเดเมีย ผักสวนครัวเมืองหนาว เป็นแหล่งเรียนรู้บูรณาการเข้ากับหลักสูตรโรงเรียน โดยที่เขาไม่ฝืนเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำอยู่แล้ว อย่างโครงการพระราชดำริ การเกษตร อาหารกลางวันที่ทำประจำอยู่แล้ว ปลูกผัก เลี้ยงปลา สหกรณ์ ทำบัญชี นำสิ่งที่ปฏิบัติอยู่มาสอนเด็ก
ความแตกต่างที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลยคือเด็กสนุก ได้เล่น ได้ action เหมือนกับว่าเขาไม่รู้ตัวว่าเป็นการเรียน เด็กสนุกและได้ความชำนาญ ได้ทักษะชีวิต เรื่องเกษตรพอเพียง บัญชีซื้อขาย แปรรูปผลิตภัณฑ์ในโรงเรียน การต่อพันธุ์พืช ยิ่งโควิดยิ่งเห็นผล เด็กนำสิ่งที่เรียนรู้ที่โรงเรียนไปใช้ที่บ้าน มีการปลูกผัก กินเอง ผู้ปกครอง เห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้น ครูก็สนุก และลดบทบาทไม่ต้องสอนหน้ากระดาน แต่เน้นการเรียนที่เกิดผลจริง แล้วเด็กได้กินได้เห็นผลงานของตัวเอง เด็กสนุก ครูมีความสุขผู้ปกครองเข้าใจโรงเรียนมากขึ้น”
ครูมะนาว : “อะไรที่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดของเด็ก ครูอี๊ดมีตัวอย่างเรื่องราวนักเรียนให้พวกเราฟังบ้างไหมครับ”ครูอี๊ด : “มีครับ ตัวอย่างง่ายเลย เด็ก ๆ มาโรงเรียนเร็วขึ้นครับ พออยากมาเร็วทำให้ครูต้องมาโรงเรียนแต่เช้าเพื่อมารอรับเด็ก เด็กอยากมา ครูก็อยากมาสอน เป็นความเปลี่ยนแปลงความสุขในการเรียนที่เกิดขึ้นครับ”
เมื่อวิชาการที่เรียนไปก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร
การเรียนทักษะชีวิตช่วยเด็กเห็นอนาคตวิชาชีพได้
ครูมะนาว : “เท่าที่ฟังครูอี๊ดอยากสร้างทำความเข้าใจความตระหนักถึงการศึกษา โดยดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมกับทางโรงเรียน ผู้ปกครองรู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับความเป็นเจ้าของ หลังจากนั้นพอมีอะไรก็อยากเป็นผู้สนับสนุนโรงเรียนด้วย แล้วพอมาถึงวิธีการที่ กสศ. เข้ามาเสนอแนะว่าต้องมีบริบทของ โรงเรียนมาเป็นฐานในการจัดการเรียนรู้ ครูเห็นภาพที่ชัดเจนนอกกระดานดำเป็นความรู้ที่กินได้ และส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นมาด้วย พอเห็นอย่างนี้แล้ว ในมุมมองของครูรู้สึกว่ามันเป็นความหวังใหม่ของการศึกษาไทยไหมครับ”
ครูอี๊ด : “พอเห็นอย่างนี้แล้วเห็นเลยว่าเป็นของใหม่เลยนะครับ คือเดี๋ยวผมมีเคสเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่ง แต่ก็หลายปีแล้วนะครับเป็นเรื่องก่อนที่จะเปลี่ยนได้หลายด้าน แต่เดิมเรียนแบบหน้ากระดาน เปิดหนังสือเยอะ เรียนเต็มเวลา เด็กต้องเรียนเต็มหลักสูตร 8-9 วิชา เด็กนักเรียนคนนี้หาทางออกนอกห้องตลอด เลื้อยออกตามโต๊ะ บางทีก็บ่นปวดหัว ผมก็เลยให้ออกไปรดน้ำหน้าอาคาร นักเรียนคนนี้ก็วิ่งออกไปอย่างไว พอก่อนจบก็กระตุ้นเขาว่าให้ตั้งใจเรียนนะลูก จะได้ทำงานดี ๆ เลี้ยงตัวเองได้ เด็กนักเรียนก็ตอบกลับมาว่า ผมไม่ได้จริง ๆ ครับ เรียนไปก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เพราะผมจะออกไปทำงานกับพ่อ ไปกรีดยาง
ตัวครูเองขนาดประชุม 2 ชม. แค่เรื่องเดียวยังหนักเลย ก็เห็นปัญหามานาน จนมาเห็นภาพชัดเจนขึ้น เด็กคนนี้เขาไม่ชอบเรียนในห้องเรียน แต่ทักษะชีวิตเขาจะไวมาและมีความรับผิดชอบได้ ไม่ต้องพึ่งพาใคร ดำรงชีวิตด้วยตนเองได้ อีกคนหนึ่งก็เรียนค่อนข้างอ่อน ชื่อพี่ก่อ เป็นเรียนรู้ช้า แต่เป็นเด็กมีจุดเด่นคือเป็นช่างซ่อม เขาก็อาสาซ่อมหูฟังในห้องได้ ตอนนี้เขาจบแล้วไปเรียนเทคนิคตอนนี้เป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซต์ของหมู่บ้าน ยิ่งทำให้เห็นว่า การเรียนเมื่อไหร่จะเป็นเพื่อการเรียนเพื่อปากท้อง เพื่อความสุข เอามาตรฐานมาวัดว่าเด็กคนหนึ่งปึก*จังเลย ทำไมเรียนไม่ได้
แล้วเมื่อไหร่ที่การศึกษาจะทำให้ชีวิตดีขึ้นจริง ๆ เรียนเพื่อนำไปใช้ชีวิตจริง มากกว่าที่จะไปเรียนตามแบบที่ตั้งไว้ จบไปก็ไม่เป็นไปตามที่ผู้เรียนต้องการ”
*เป็นภาษาถิ่นหมายถึง ไม่ฉลาด
สิ่งที่ครูอี๊ดเล่าทำให้ยิ่งเห็นภาพสะท้อนที่ทำให้ครูยิ่งเชื่อมั่นว่าการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กค้นพบว่าลูกศิษย์ของครูอี๊ดที่ไปเรียนต่อหรือต่อยอดในเส้นทางเขาได้บ้าง
ครูอี๊ด : “ก็ตามที่ยกตัวอย่างไปครับที่เขาไปต่อยอดตามเส้นทางที่ตัวเองชอบ เป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซต์ แล้วก็มีไปสายสามัญ สายอาชีพ สายกีฬา”
ครูมะนาว : “เป็นนิมิตหมายที่ที่ดีที่เห็นว่าผู้ปกครองเริ่มให้ความสนใจกับการศึกษาให้ลูกหลานได้เรียนต่อไป สุดท้ายครับผมขอย้อนกลับมาที่ตัวครูอี๊ดในฐานะที่เป็นครู ตชด. ภาพฝันของครู ตชด. ที่มีต่อลูกศิษย์ที่ไปเป็นผู้ใหญ่ เราอยากเห็นลูกศิษย์ เติบโตไปในทิศทางใดที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ”
อย่าหยุดการเรียนรู้ เพราะว่าการเรียนรู้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น
ครูอี๊ด : “ผมสอนเด็ก ๆ ของผมเสมอครับ ว่าจบไปอย่าหยุดการเรียนรู้ เพราะว่าการเรียนรู้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ถ้าเราหยุดชีวิตเราจะไม่ก้าวหน้า ความมุ่งหวังของผมจะสอนให้เด็กมีนิสัยดี ให้คุณค่ากับการมีนิสัยดี มีคุณธรรมมากกว่าเกรดสูง ขอให้มีจิตสาธารณะ มีความกตัญญู รู้บุญคุณพ่อแม่ อย่าเอาเปรียบสังคม ผมบอกเด็ก ๆ ว่า “ป่าเป็นวิชาชีวิต” เวลาไปเรียนให้ตั้งใจเอานิสัยที่ฝึกที่โรงเรียนไปใช้ ทำตัวเองให้มีคุณค่าต่อสังคม ถึงจบไปแล้วมีอะไรก็ปรึกษาครูได้ ยังเป็นศิษย์เป็นครูกันเหมือนเดิม ให้นำความรู้หรือทักษะชีวิตไปใช้
ใครจะว่าโรงเรียน ตชด. ไม่เก่งเท่าเด็กในเมืองก็ช่างเขา อย่าไปสนใจ เราดีในแบบของเราตามแบบที่เรามี มาช่วยคุณครู มาช่วยน้อง ๆ มาช่วยบ้านเรา ดูแลตัวเองได้ ไม่ลืมครอบครัว ไม่ลืมบ้านเกิด กตัญญูต่อพ่อแม่ เด็ก ๆ ก็ชอบแซวผมว่าเท่อีกแล้ว (หัวเราะ)
เราเป็นครูที่สร้างชีวิตคนให้ได้มากกว่าบวกเลข อ่านออกเขียนได้ แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือ เด็กต้องมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง มีคุณธรรม และตั้งใจทำหน้าที่ให้ตัวเองดีที่สุด”
ครูมะนาว : “คำถามที่ว่าการเป็นมนุษย์หัวใจครูคืออะไร ผมในฐานะครูคนหนึ่งตลอดการสัมภาษณ์สัมผัสได้จากครูอี๊ดชัดเจนที่ว่า
‘ครูต้องสร้างโอกาสให้ผู้เรียน’ ให้พวกเขาดูแลตัวเอง รับผิดชอบตัวเอง ครูจะเป็นต้นแบบที่ดีให้กับนักเรียน และสุดท้ายในตอนจบเด็กจะกลับมาทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ชุมชน ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนตั้งแต่ครูอี๊ดเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่อยากกลับมาพัฒนาที่นี่ ในฐานะที่เป็นครูเหมือนกัน ผมรู้สึกชื่นชมเป็นอย่างมาก ที่สำคัญสิ่งที่ครูอี๊ดพูดสอดคล้องและต่อเนื่องเป็นเป้าหมายเดียวคือเพื่อพัฒนาชุมชนบ้านเกิดโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนาปอ”
บริบทโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนาปอ มีนักเรียน 27 คน ม. นาปอ มีประชากร 200 กว่าคน อยู่ในหุบเขาสูง ป่าดิบชื้น เป็นแอ่งกระทะ ใช้ภาษาไทยเลย ครู 6 คน มีอาสามาช่วยอีก 2 คน จบครูโดยตรงแค่ 2 คน ปีนี้มีการสอนประจำวิชาสลับช่วงชั้นเพื่อให้เด็กไม่จำเจ
ติดตาม “มนุษย์หัวใจครู” ผู้อุทิศตนเองเพื่อการเปลี่ยนแปลงนักเรียน ห้องเรียน และการศึกษา ที่จะบอกเล่าเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานได้ที่ I AM KRU. สังคมสร้างสรรค์ของคนสอน
Writer
- Admin I AM KRU.