พระมหากิตตินนท์ กิตฺติวิญฺญู เลขานุการประธานกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

Share on

 8,583 

โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสามเณรให้มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เพื่อให้สามารถดำรงตนในสมณสารูปได้อย่างมั่นคง ขณะเดียวกันก็สามารถปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน พระมหากิตตินนท์ กิตฺติวิญฺญู ได้สะท้อนถึงความทุ่มเทในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพื่อนำความรู้มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาครู ผู้บริหาร และโครงสร้างการบริหารจัดการของโรงเรียนพระปริยัติธรรมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


พระคุณเจ้ามีโอกาสได้เข้ามาบวชเรียนได้อย่างไร 

อาตมาเป็นเด็กบ้านนอกต่างจังหวัด เกิดที่ศรีสะเกษ เป็นเด็กชายขอบติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน อาตมามีโอกาสได้บวชสามเณรภาคฤดูร้อนจากคำชักชวนของหลวงพ่อที่วัดในหมู่บ้าน บวชสัก 15 วัน ตามปกติของเด็กชนบทที่บวชภาคฤดูร้อนในช่วงปิดเทอม แต่ก็ได้บวชต่อเนื่องจนได้เข้าเรียนที่โรงเรียนที่อำเภอโนนคูณ บ้านเกิดที่ จ. ศรีสะเกษ และได้ย้ายมาเรียนต่อเนื่องที่วัดธาตุ พระอารามหลวง จังหวัดขอนแก่น ตอนที่อยู่วัดธาตุ ในปี พ.ศ.2557 ก็สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค

ปัจจุบันอาตมาอายุ 28 ปี แต่ชีวิตการทำงานของอาตมาเริ่มตั้งแต่อายุประมาณ 18 ปี ราว ๆ ม.5-6 เป็นช่วงที่เรียนในโรงเรียนพระปริยัติ การทำงานตอนนั้นเป็นในลักษณะพี่สอนน้อง ได้รับมอบหมายหน้าที่จากหลวงปู่พระเทพกิตติรังษี เจ้าอาวาสวัดธาตุ พระอารามหลวง เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ปัจจุบันพระคุณเจ้าได้ละสังขารในปี พ.ศ. 2561 สิริอายุ 88 ปี) หลวงพ่อพระครูศรีวิสุทธิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยาในสมัยนั้น ท่านได้แต่งตั้งให้อาตมาเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมในแผนกสามัญศึกษา และในแผนกนักธรรมบาลี วิชาที่อาตมาได้รับผิดชอบสอนหลัก ๆ คือวิชาพุทธประวัติ เนื่องด้วยเป็นวิชาที่อาตมามีความถนัด (พระมหากิตตินนท์ เล่าเสริมว่าสมัยที่ยังเป็นสามเณรได้เข้ารับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านพระพุทธศาสนา (B-Net) ได้คะแนนสูงสุดระดับประเทศในวิชาพุทธประวัติ) และสอนมาเรื่อย ๆ จนเรียนจบปริญญาตรี สาขาวิชาสังคมศึกษา ได้เกียรตินิยมอันดับ 2 ในด้านงานวิชาการอาตมาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา วัดธาตุพระอารามหลวง ในปี พ.ศ. 2563 ต่อมาในปี พ.ศ. 2566 ได้มีโอกาสถวายงานพระเดชพระคุณพระราชวัชราภรณ์ (สมณศักดิ์ของพระเทพพัชราภรณ์ในขณะนั้น) ประธานกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ทำหน้าที่โฆษกสำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เพื่อสื่อสารและประสานข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องครบถ้วน และยังได้รับความไว้วางใจให้สนองงานพระเดชพระคุณพระเทพพัชราภรณ์ ในตำแหน่งเลขานุการประธานกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา และยังทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติของสำนักงานของศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา อีกทางหนึ่ง 

ภาพการเรียนการสอนวิชาพุทธประวัติ และการสอนวิชาพระปริยัติธรรม

พระคุณเจ้านำคุณลักษณะ ‘ชอบเรียนรู้’ มาต่อยอดในการทำงานในพระพุทธศาสนาอย่างไร 

ที่อาตมา ‘รักในการเรียนรู้’ เพราะอาตมา ‘ให้คุณค่ากับการศึกษา’ เมื่อมองย้อนกลับไปตอนที่เป็นเด็ก บ้านอยู่ห่างไกลความเจริญ คนในหมู่บ้านก็แทบไม่มีใครได้เรียนจบชั้นปริญญา อาตมาเชื่อว่าการศึกษาเป็นบันไดที่จะทำให้ชีวิตเจริญ ก้าวหน้า ความเจริญก้าวหน้านั้นไม่ได้หมายความว่ามีเงินมีทองนะ ในความคิดของอาตมาหมายถึงการมีความรู้อยู่เท่าทันสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อาตมาจึงตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่ และเมื่อมองมาที่ทำงาน ความรู้บางอย่างที่เรียนในชั้นปริญญาตรีก็ยังไม่เพียงพอ ต้องหาความรู้มาเติมเต็ม จึงได้เรียนต่อระดับชั้นปริญญาโท สาขาวิชาการวัดและประเมินผลการศึกษา เพื่อมาใช้ในการบริหารและพัฒนาการวัดผลการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรมให้บรรลุเป้าประสงค์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงได้ไปขวนขวายเรียนด้านนิติศาสตร์เพื่อใช้กับการทำงานของสำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรมอีกทางหนึ่งและความรู้ทั้ง 3 ด้านนำมาต่อยอดและใช้บริหารขับเคลื่อนพัฒนาองค์กร สามารถมองปัญหาออกและแก้ปัญหาเป็น

และสิ่งที่อาตมาเรียนรู้จากการทำงาน ‘การทำงานกับคนนั้นสำคัญมาก’ การทำงานเพียงลำพังอาจเกิดผลได้ 10 ส่วน แต่หากการทำงานขับเคลื่อนได้ความร่วมมือจากหลาย ๆ ภาคส่วนแล้วงานสามารถเกิดผลได้เกิน 50 ส่วน ใช้ความรู้ทักษะของหลาย ๆ คนเข้ามามีส่วนร่วมให้งานเกิดสัมฤทธิผล 

ส่วนในด้านการทำงานอาตมาคิดว่า การที่เรามีความตั้งใจที่จะทำอะไรบางอย่างแล้ว เราต้องทุ่มเทให้คุณค่ากับสิ่งนั้น ไม่ละทิ้งจนกว่าจะสำเร็จ เพราะเรารักการเรียนรู้ รักในการทำงาน เห็นเป้าหมายการทำงาน ที่ทำงานเพื่อโรงเรียนพระปริยัติธรรมกว่า 400 แห่ง บุคลากรกว่า 3,500 รูป/คน ให้มีชีวิตการทำงานที่ดีขึ้นได้ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม สิ่งเหล่านี้คือเป้าหมายที่อาตมามองและตั้งเป้าไว้ 

การเชื่อมโยงการทำงานโรงเรียนพระปริยัติธรรมและมหาวิทยาลัยขอนแก่น

การทำงานนั้นมีสิ่งเชื่อมในการทำงานคือตัวพระอาจารย์ และรองศาสตราจารย์ ดร.จตุภูมิ เขตจตุรัส ท่านเป็นอาจารย์ที่สอนอาตมาตอนเรียนปริญญาโท และเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของอาตมาด้วย ความร่วมมือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมาทำวิจัยร่วมกับภาคีเครือข่ายเพียงเท่านั้น แต่มีการต่อยอดขยายผลการทำงานไปยังผู้บริหารโรงเรียน ทางอาตมาได้เรียนเชิญทีมวิจัย/ทีมทำงานของ อาจารย์จตุภูมิเป็นวิทยากรซึ่งทีมทำงานนี้มีข้อมูลที่เป็นฐานในการพัฒนาโรงเรียนพระปริยัติธรรมมาแล้ว เกิดเป็นโครงการการอบรมผู้บริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรม ผ่านหลักสูตรพัฒนาบุคลากรโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั่วประเทศ 500 รูป/คน จำนวน 5 รุ่น ซึ่งมีการอบรมอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 5 วัน เรียกได้ว่าไม่มีผู้บริหารท่านไหนไม่ผ่านการอบรมจากทีม อ.จตุภูมิ ซึ่งการทำงานในครั้งนี้เป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ได้ดำเนินการอบรมเสร็จสิ้นเรียบร้อย 

สังคมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนผ่านครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนกันอย่างไร

การจัดการเรียนการสอนของครูในโรงเรียนฯ ยังไม่เท่ากันอยู่ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นดังนี้ 

ประการที่หนึ่ง สังคมครูก่อนช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นสำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรมฯ ไม่มีหน่วยงานของต้นสังกัดที่รับผิดชอบโดยตรง  ครูต้องแสวงหาขวนขวายด้วยตนเอง มีอบรมที่ไหนครูสมัครไปเรียนรู้เพื่อกลับมาสอนเด็ก ประการที่สอง โรงเรียนที่แอคทีฟก็ไป โรงเรียนที่ไม่แอคทีฟก็ไม่ไป ประการที่สาม จากความรู้และทักษะของครูเกิดผลกระทบต่อเนื่องถึงนักเรียน เมื่อครูเปลี่ยนนักเรียนเปลี่ยน แต่ครูบางท่านยังจัดการเรียนการสอนในรูปแบบเดิม 

แต่หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนองค์กรเกิดเป็นสำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ซึ่งก่อตั้งได้ 2 ปี ตั้งเป้าสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเป็นลำดับขั้นตอน โดยมุ่งเป้าการพัฒนาผู้บริหารให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงก่อน และได้อบรมไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเป้าหมายที่มองต่อคือการอบรมพัฒนาครู อบรมฝ่ายสนับสนุนวิชาการของโรงเรียนในลำดับต่อไป

มุมมองการศึกษาไทยที่เปลี่ยนแปลงไปในมุมของสงฆ์เป็นอย่างไร 

อาตมาขอกล่าวถึงเป้าประสงค์สำคัญในการจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมในยุคแรก ‘เพื่อให้คณะสงฆ์มีความรู้ที่เท่าทันกับทางโลก’ ถ้ามองมาจนถึงปัจจุบันที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมดำเนินมา 53 ปี ถามว่าเป็นไปตามนั้นไหม เท่าทันโลกได้ทุกอย่างหรือเปล่า ถ้ามองให้ระดับสูงสุดตอนนี้อาจจะไม่ถึง แต่อยู่ในระดับการพัฒนาที่น่าพอใจ เห็นได้จากการที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมได้ออกไปกับโครงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วไป มีการส่งสามเณรไปแข่งขันทักษะวิชาการซึ่งปรากฏว่านักเรียนของเราก็อยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ 

ความเป็นพลวัตรทางการศึกษาได้เปลี่ยนไปเรื่อยแต่ยังมีบางอย่างในองค์กรที่ยังเปลี่ยนแปลงได้น้อย  จนเกิดมีคำพูดที่ว่า ‘เป็นเหมือนเดิมก็ดีอยู่แล้ว’ แต่แบบเดิมของตัวเรากับการเปลี่ยนแปลงของโลกยังไม่ทันกัน อาตมาเองทำงานให้สำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ก็พยายามนำเสนอแนวคิด พูดคุยกับผู้ใหญ่หลายฝ่ายให้เห็นชอบ ยกตัวอย่างให้เห็นคือ หลักสูตรการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม เมื่อกระทรวงศึกษาธิการ / สพฐ. เปลี่ยน ก็สามารถเปลี่ยนตามได้ไม่มีปัญหา สามารถจัดการศึกษาให้ทันโลก พร้อมรักษาหลักสูตรการศึกษาตามโบราณราชประเพณีเรื่องธรรมบาลีที่สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง และสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงได้ โดยจัดการเรียนให้ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน 

ความแตกต่างของสามเณรในยุคนี้กับยุคที่พระอาจารย์เติบโต มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ด้วยความที่เด็กที่เข้ามาเรียนมีความหลากหลายทางสังคม ต้องยอมรับว่าความรู้ความสามารถของสามเณรนักเรียนนั้นมีความก้าวหน้า เท่าทันความเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนไป สิ่งที่อาตมาอยากได้รับการสนับสนุน 1. ทุนการศึกษาเพื่อเด็กที่มีศักยภาพทางวิชาการ ถ้าพูดถึงแวดวงวิชาการที่ให้สงฆ์ได้เรียนยังไม่ได้เปิดกว้างให้เลือกมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นวิชาพระพุทธศาสนา ภาษาไทย สังคม อังกฤษ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ถ้ามีทุนต่อเนื่องให้สามเณรสามารถได้เรียนจนจบปริญญาแบบไม่มีเงื่อนไขการครองสมณเพศก็จะช่วยให้สามเณรมีทางเลือกในการศึกษามากขึ้น ส่วนเด็กที่ไม่ได้ถนัดเรื่องวิชาการก็จะถนัดเรื่องการทำสัมมาอาชีพ เด็กเหล่านี้ทำงานกันเก่งมาก ถ้าได้มีโอกาสได้ทำ 2. การสนับสนุนส่งเสริมจากครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ถ้าได้รับโอกาสเรียนรู้ที่ลงลึกจะสามารถนำไปประกอบอาชีพหลังจบการศึกษาจากโรงเรียนพระปริยัติธรรมได้ แต่โรงเรียน ฯ ไม่ได้มีสอนในลักษณะนี้ทุกที่ ไม่ได้มีครูที่มีทักษะเฉพาะทาง 3. ค่าตอบแทนและสวัสดิการของครู โรงเรียนพระปริยัติธรรม ฯ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐเป็นค่าตอบแทน แต่ก็ยังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้วยทั้งงบประมาณที่จำกัดและปริมาณภาระงานที่ไม่ได้แตกต่างจากโรงเรียนปกติ 

สรุป

  1. พัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนรู้ให้ทันสมัย
    • ออกแบบหลักสูตรที่บูรณาการความรู้ทางธรรมและทางโลก เพื่อให้สามเณรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
    • ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Active Learning และ Problem-Based Learning ที่เน้นการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา
    • นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้กว้างขึ้น
  2. ยกระดับศักยภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา
    • พัฒนาทักษะของครูผ่านการอบรมและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้ครูสามารถใช้เทคนิคการสอนที่หลากหลายและทันสมัย
    • สร้างเครือข่ายครูพระปริยัติธรรมให้สามารถแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี และร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอน
    • ส่งเสริมให้ครูมีโอกาสศึกษาต่อหรือพัฒนาองค์ความรู้เฉพาะทาง เพื่อเพิ่มคุณภาพการจัดการศึกษา
  3. ส่งเสริมศักยภาพของสามเณรให้สอดคล้องกับบริบทสังคม
    • เปิดโอกาสให้สามเณรได้พัฒนาความสามารถในหลากหลายด้าน เช่น ทักษะการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหา
    • สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับสามเณรที่มีศักยภาพทางวิชาการและผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะวิชาชีพ
    • สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เปิดกว้างและเอื้อต่อการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21
  4. สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายการศึกษาและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
    • สานต่อความร่วมมือระหว่างโรงเรียนพระปริยัติธรรมและมหาวิทยาลัย รวมถึงภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาหลักสูตรและองค์ความรู้ใหม่
    • เชื่อมโยงการทำงานของสำนักงานโรงเรียนพระปริยัติธรรมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนในด้านทรัพยากรและโอกาสการพัฒนา
    • ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนพระปริยัติธรรม เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการพัฒนาการศึกษา
  5. ปรับปรุงโครงสร้างและระบบสนับสนุนทางการศึกษา
    • พัฒนาระบบบริหารจัดการโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสนับสนุน
    • ยกระดับสวัสดิการและค่าตอบแทนของครูเพื่อสร้างแรงจูงใจและความมั่นคงในการปฏิบัติหน้าที่
    • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียน เช่น อุปกรณ์การเรียนการสอน เทคโนโลยี และทรัพยากรต่าง ๆ ให้เพียงพอและเหมาะสมกับการเรียนรู้

แนวทางเหล่านี้จะช่วยให้โรงเรียนพระปริยัติธรรมสามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง พร้อมทั้งสร้างโอกาสให้สามเณรได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของสังคมและการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญในการสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างยั่งยืนในอนาคต

 8,584 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า