สอนให้รู้ อยู่ให้รอด | เทคนิคการจัดการเรียนรู้เพื่อรับมือกับภัยรอบตัว

Share on

 11,738 

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาสภาพแวดล้อมทั้งมลพิษทางอากาศ PM2.5 อุทกภัยที่เกิดในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น วาตภัยที่รุนแรงขึ้นทุกวัน และยังรวมไปถึงอุบัติเหตุรุนแรงที่ปรากฏในหน้าข่าว เราควรจัดการ กับปัญหานี้อย่างไร การป้องกันเหตุอาจทำได้เพียงส่วนหนึ่ง และหากเกิดเหตุแล้วเราจะให้เด็ก ๆ หรือลูกหลานของเรารับมือและเอาตัวรอดได้อย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

การจัดการเรียนรู้ด้านภัยพิบัติในโรงเรียนคือการเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยและความพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์ ผ่านการเรียนรู้ที่เป็นระบบและการฝึกซ้อมตอบสนองที่เข้มแข็ง สร้างพื้นฐานให้ทั้งนักเรียนและครูมีความรู้ ทักษะ และจิตสำนึกในการป้องกัน แก้ไข และรับมือกับปัญหาภัยพิบัติ เพื่อความปลอดภัยและความยั่งยืนของโรงเรียน/ชุมชน แล้วจะออกแบบการเรียนรู้อย่างไรให้เกิดการตระหนักรู้ถึงภัยพิบัติ และสามารถรับมือกับเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งช่วยเหลือผู้อื่นให้รอดชีวิตได้ ?

ดร.ชฏารัตน์ สุขสิริวรรณ อาจารย์เป็นประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ชฏารัตน์ให้ความสำคัญกับการเริ่มต้นเรียนรู้ในครอบครัวเพื่อปลูกฝังเป็นวัฒนธรรมในบ้าน 

“An ounce of prevention is worth a pound of cure.”

ป้องกัน 1 ออนซ์ ดีกว่าสูญเสีย 1 ปอนด์

=

กันไว้ดีกว่าแก้

เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุและเหตุที่เกิดจากภัยธรรมชาติทั้งหลาย  อาจารย์ชฎารัตน์ เน้นย้ำว่า การให้ความรู้ การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอุบัติเหตุอุบัติภัยต่าง ๆ  ต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ๆ อาจารย์ชฎารัตน์ได้หยิบยกสำนวนที่เห็นภาพของการทำงานเชิงป้องกันเหตุ ป้องกัน 1 ออนซ์ ดีกว่าสูญเสีย 1 ปอนด์ = กันไว้ดีกว่าแก้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ว่าอุบัติภัยหรืออุบัติเหตุทั้งหลายสามารถป้องกันได้ด้วยการให้การศึกษาเพื่อสร้างความตระหนัก แบบอย่างความปลอดภัย ด้วยการปลูกฝังตั้งแต่เนิ่น ๆ จากความรู้ความเข้าใจ “สร้างเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยในครอบครัว” มีการฝึกใช้อุปกรณ์พื้นฐาน เช่น ถังดับเพลิง เชื่อมโยงกับที่โรงเรียนมีการเรียนการสอนวิธีการรับมือ สอดแทรกอยู่ในบทเรียนกิจกรรม พร้อมสอนใช้เครื่องมือแบบต่าง ๆ  เมื่อเด็ก ๆ พบเหตุ เช่น เพลิงไหม้ เชื่อว่าเขาสามารถใช้อุปกรณ์เพื่อระงับเหตุเบื้องต้นไม่ให้ลุกลามจนเกิดความเสียหายแก่ชีวิตตนเอง คนรอบข้าง และสามารถควบคุมไม่ให้บานปลายได้ 

การใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างการเรียนรู้และประสบการณ์ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ ทางสถาบัน … ได้ออกแบบแอปพลิเคชัน / อินเตอร์แอคทีฟ โปรแกรม / วิดีทัศน์ หรือหนังสือนิทาน เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่กระตุ้นความเข้าใจและการ เรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กและสร้างความสนุกสนานในการเรียนรู้ที่เด็ก ๆ สามารถเข้าใจและจดจำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้  

ตัวอย่างโครงการรณรงค์สร้างการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางการจราจร

Road Safety Hero 


สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เน้นการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน และครอบครัว ทั้งในกระบวนการวิจัย พัฒนา และขับเคลื่อนองค์ความรู้ งานวิจัยบนพื้นฐานของสังคมไทย โดยสถาบันเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกท่านที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องอุบัติภัยภายใต้กิจกรรม

‘ภารกิจพิชิตจุดเสี่ยง : Safety Hunter’

โดยกิจกรรมจะให้ความรู้เกี่ยวกับอุบัติเหตุ อุบัติภัย และความปลอดภัยในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ อาจได้พบเจอ เพื่อให้เขาสามารถจัดการตนเอง เอาตัวรอด และสามารถช่วยเหลือเพื่อน ๆ โดยสามารถนำตัวเองและเพื่อนให้รอดพ้นและปลอดภัยได้อย่างถูกวิธี

ข้อมูลการติดต่อสำหรับผู้ที่สนใจ : 

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล 

ตั้งอยู่ที่ 999 ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170 โทร. 0-2441-0601-8 โทรสาร. 0-2441-0167 email : [email protected] 

ครูเนย ณัฐสรวงกร คงจุฬากูล แม้โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติ แต่ไม่ควรประมาทเพราะไม่รู้ว่าภัยพิบัติจะมาช่วงไหน เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งสอดคล้องกับความจริงที่เกิดขึ้น ในปี พ.ศ. 2554 โรงเรียนได้รับผลกระทบน้ำท่วมครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง และปัจจุบันได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 การเรียนรู้เรื่องความตระหนักและการรับมือภัยพิบัติ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะติดตัวและสามารถนำไปใช้เอาตัวรอดได้หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้  ครูเนย ณัฐสรวงกร ได้เล่าถึงการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนเป็น ‘วิชาอยู่รอดปลอดภัย’

ภาพการจำลองการเรียนการสอนวิชา “อยู่รอดปลอดภัย” 

ขั้นตอนการเรียนรู้วิชา ‘อยู่รอดปลอดภัย’

  1. รับรู้ภัยพิบัติ เรียนรู้ว่า ‘ภัย’ ‘ภัยพิบัติ’ แต่ละประเภทมีอะไรบ้าง เพื่อสร้างความรู้และเข้าใจถึงภัยนั้น ๆ ว่าเกิดขึ้นอย่างไร เพื่อที่ประเมินสถานการณ์ว่าจะต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร โดยกิจกรรม เป็นการออกแบบให้ผู้เรียนได้ลงมือทำ 
  2. เรียนรู้สถานการณ์จำลอง ให้จำลองสถานการณ์ภัยต่าง ๆ ตามความสนใจ รวมถึงฝุ่น PM2.5 ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์จะรับมืออย่างไร คิดซีเนริโอ จำลองเป็นวิดีโอเหตุการณ์อาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยแต่เกิดขึ้นได้ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ว่าผู้เรียนจะออกแบบการรับมือได้อย่างไร 
  3. ออกแบบวิธีการรับมือภัยและภัยพิบัติ ให้เด็ก ๆ ได้ลองออกแบบดูว่าจะรับมือแบบใด ครูมีหน้าที่โค้ช/เป็นที่ปรึกษา โดยเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้เปิดมุมมองการรับมือภัยพิบัติที่หลากหลาย สามารถออกแบบวิธีการรับมือเป็นขั้นตอน 1 2 3 4 อย่างไร โดยผู้เรียนลงมือค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเองจากแหล่งต่าง ๆ รวมถึงการออกแบบวิธีการขอช่วยเหลือ ที่สามารถดูแลจัดการตนเอง ครอบครัว หรือสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย 

การเรียนรู้ในลักษณะนี้จะทำให้เด็ก ๆ ของเรามีชุดข้อมูล มีความรู้ติดตัวหากเกิดเหตุขึ้นในอนาคตพวกเขาจะสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้เป็นเครื่องมือป้องกัน สามารถนำไปปรับใช้สามารถเอาตัวรอดได้  พวกเขาจะตระหนักถึงสาเหตุของปัญหาว่ามีที่มาอย่างไรและเขาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม หรืออาจช่วยทุเลาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ 

คุณสมพงษ์ บุตรวัน รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 ผ่านประสบการณ์กับเหตุภัยพิบัติหลายครั้งจึงเล็งเห็นความสำคัญในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างทักษะการเอาตัวรอดให้กับผู้เรียนตามบริบทของพื้นที่ เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ศธ. และสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. ที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของครู บุคลากรทางการศึกษา อย่างต่อเนื่องมาหลายปี และทุกโรงเรียนก็มีการดำเนินงานในเรื่องนโยบาย โดย มีเป้าหมายเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน 

ทำงานร่วมกันในพื้นที่กับทุกภาคส่วน ให้ความรู้เรื่องภัยรอบตัวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และการวิเคราะห์หลักสูตรสถานศึกษาชี้ให้เห็นว่ามีการเนื้อหาวิชาสามารถนำไปบูรณาการร่วมกับเนื้อหาวิชาอื่น ๆ ได้เกิดเป็นกระบวนการพัฒนาเสริมหลักสูตรการป้องกันภัยพิบัติเฉพาะพื้นที่เพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ สพป.เชียงราย เขต 4 เพื่อให้เด็กมีทักษะชีวิตและสามารถเอาตัวรอดจากภัยต่าง ๆ


แนวคิดหลักสูตรป้องกันภัยพิบัติเฉพาะพื้นที่เพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ

ด้านบนเป็นเนื้อหาเพียงบางส่วนผู้ที่สนใจสามารถรับชมเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่

กระบวนการพัฒนาเสริมหลักสูตรการป้องกันภัยพิบัติเฉพาะพื้นที่เพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ สพป.เชียงราย เขต 4

🔶 ขั้นตอนที่ 1 To Search (T1) ร่วมหาปัญหา สาเหตุ และความต้องการ ศึกษาสภาพปัญหาและกิจกรรมที่โรงเรียนกำลังดำเนินการ

🔶 ขั้นตอนที่ 2 To Target (T2) ร่วมกำหนดทางเลือกในการส่งเสริม หรือแก้ไขปัญหา เป็นขั้นเตรียมการนิเทศโดยศึกษาข้อมูลสารสนเทศตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. กำหนดจุดมุ่งหมายการนิเทศ > ทำแผนการนิเทศ > กำหนดเนื้อหาการนิเทศ > ออกแบบการนิเทศ –  สื่อนิเทศ > จัดเตรียมเครื่องมือการนิเทศ > กำหนดกรอบการประเมิน > วิธีการติดตาม > และการรายงานผลการนิเทศ 

🔶 ขั้นตอนที่ 3 To Plan (T3) ร่วมทำการวางแผนส่งเสริมและแก้ไขปัญหา โดยมีการจัดการประชุมผู้บริหาร คณะครูโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ คณะศึกษานิเทศก์เพื่อออกแบบกิจกรรมเสริมหลักสูตรและจัดทำคู่มือและแนวทาง

🔶 ขั้นตอนที่ 4 To Do (T4) ร่วมพัฒนาครูโรงเรียนในสังกัดในการใช้แนวทางกิจกรรมเสริมหลักสูตรและนิเทศติดตามการจัดการเรียนการสอน

🔶 ขั้นตอนที่ 5 To Recommend (T5) ร่วมแนะนำระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อช่วยเหลือแนะนำแนวทางการดำเนินงานตามภารกิจหรือเรื่องที่จะดำเนินการนิเทศ 

🔶 ขั้นตอนที่ 6 To Recommend (T6) ร่วมคิดทำการประเมินผล สะท้อนผล และสรุปผลการแก้ไขปัญหา โดยจัดประชุมการประเมินสะท้อนผลปัญหา อุปสรรค และเสนอแนวทางการพัฒนาต่อไป

🔶 ขั้นตอนที่ 7 To Reward (T7) ชื่นชมผลการทำงาน และเผยแพร่ผลงานเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานตามภารกิจหรือเรื่องที่จะดำเนินการนิเทศมีการจัดกิจกรรมนำเสนอผลงานที่มีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ มีการชื่นชมผลงาน และเผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไป

สรุปเนื้อหาสำคัญ 

  • การมีวิสัยทัศน์และการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอน 
  • การใช้แนวคิด “active learning” โดยส่งเสริมให้นักเรียนและครูมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้บริหารและครูช่วยผลักดันนวัตกรรมและพัฒนาคุณภาพการศึกษา
  • การเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมของโรงเรียนทั้งภายในและภายนอก
  • การประเมินผลและติดตามผลอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงและสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงาน
  • การเน้นย้ำความสำคัญของการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในโรงเรียน
  • การวางแผนและฝึกซ้อมเพื่อให้ครูและนักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ยั่งยืนผ่านการบูรณาการแนวทางการจัดการเรียนรู้ด้านภัยพิบัติเข้ากับกิจกรรมประจำวันในโรงเรียน
  • การเน้นบทบาทของผู้บริหารและครูในการนำความรู้ไปปรับใช้ในสถานการณ์จริง
  • การย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารและการประสานงานในทุกระดับภายในโรงเรียนเพื่อให้เกิดความพร้อมและลดผลกระทบจากภัยพิบัติ

ติดตามรับชม รายการ The Equity Classroom | ภัยรอบตัวไม่ต้องกลัวถ้ารับมือได้ 

รายการ Equity Classroom | ภัยรอบตัวไม่ต้องกลัวถ้ารับมือได้ EP.6 PART 1

รายการ Equity Classroom | ภัยรอบตัวไม่ต้องกลัวถ้ารับมือได้ EP.6 PART 2

ขอขอบคุณผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยน

🔸 ดร.ชฏารัตน์ สุขสิริวรรณ ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก มหาวิทยาลัยมหิดล

🔸 คุณสมพงษ์ บุตรวัน รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4

🔸 คุณณัฐสรวงกร คงจุฬากูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายกระบวนการเรียนรู้มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดำเนินการแลกเปลี่ยนโดย

🔸 คุณศุภวัจน์ พรมตัน ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนนครวิทยาคม จ. เชียงราย

 11,739 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า