นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น กับบทบาทเป็น Facilitator ให้เพื่อนครูรัก(ษ์)ถิ่น

Share on

 7,316 

Home Grown Teacher Workshop เป็นหนึ่งในกระบวนการผลิตและพัฒนานักศึกษาทุนครูรัก(ษ์) ที่ได้มีการปรับปรุงและนำเอานวัตกรรมที่ กสศ. ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ เช่น การจัดการเรียนการสอนโดยภาษาถิ่น การสอนคละชั้น และการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาตามบริบท และเงื่อนไขของโรงเรียนในท้องถิ่นต่าง ๆ พร้อมด้วยหน่วยสนับสนุนที่จะเป็นที่ปรึกษาระยะยาว เพื่อให้การทำงานของครูในโรงเรียนปลายทางเกิดความยั่งยืน วันนี้ I AM KRU. ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์เวิร์กช็อปและมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับน้องนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น น้องไข่เจียว อรัญญา มณีทองเจริญ และ น้องแจ็ค อดิศักดิ์  ทะจักร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ถึงการเรียนและประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมการบ่มเพาะที่เข้มข้นตลอด 4 วัน 

แรงบันดาลใจ ที่ทำให้เราทั้ง 2 คน อยากเป็นคุณครู 

ไข่เจียว : ตอนเด็ก ๆ แรกๆ หนูอยากเป็นหลายอย่างมากเลยค่ะ ด้วยฐานะที่บ้านไม่ได้ดีเลิศ เลยคิดมองหาและถามตัวเองว่าอาชีพที่มั่งคงกับตัวเราและครอบครัวเราเป็นอะไรได้บ้าง ทั้งอยากไปสอบเป็นตำรวจ ทหาร คือ ณ ตอนนั้นยังไม่ได้มีความฝันที่จะเป็นครูเลยค่ะ พอมาถึง ม.6 ที่ต้องตัดสินใจเลือกเส้นทางของตัวเอง โอกาสในเส้นทางของครูเกิดขึ้นตอนนั้นค่ะ

แจ็ค : สำหรับของผม “บ้านผมก็ไม่ค่อยมีเงินครับ ความสนใจอยากจะเรียนในสาย

อาชีพช่าง แต่ค่าใช้จ่ายสูง ผมต้องเลือกเรียนในสายสามัญแทนที่ค่าเทอมถูกกว่าและมีสวัสดิการอาหารเช้า-กลางวัน ให้ด้วย ช่วงที่ต้องเลือกเส้นทางเรียนต่อตัวเองว่าจะเรียนสายอะไร จึงเลือกเรียนสายสามัญ สาย วิทย์-คณิต ครับ

แล้วถ้าไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ในตอนนั้นตอนนี้เราจะเป็นอย่างไร 

ไข่เจียว : หนูมีทางเลือกไม่กี่ทางค่ะ ถ้าในตอนนั้นไม่ได้รับโอกาสจากโครงการนี้ 1.) ไม่ได้เรียนต่ออย่างที่ตั้งใจด้วยทุนของครอบครัว พ่อแม่ไม่น่าจะส่งเรียนได้ตลอดรอดฝั่ง 2.) ถ้าได้เรียนก็ต้องเรียนไปทำงานหาเงินเรียนไปด้วยแบบนั้นค่ะ อาจจะมีโอกาสได้งานสายราชการแต่คงไม่ใช่อาชีพครูหนูคิดว่าเป็นแบบนั้น 

แจ็ค : สายสามัญเรียนต่อมหาวิทยาลัยก็ใช้เงินมากเหมือนกันครับ พอมองกลับไปดูทางบ้านก็ไม่มีเงินอีกครับ ตอนนั้นคงนำความรู้จากวิชาสายวิทย์ที่เรียนมาไปต่อยอดวิชาชีพเป็นช่าง หรือไปสอบรับราชการตำรวจเป็นนายสิบครับ

จากโอกาสที่ได้รับทำให้ความคิดเปลี่ยนไป

ไข่เจียว :  ต้องขอบคุณครูสุรัตน์ ท่านเป็นคนแนะนำโอกาสการเป็นครูให้หนูค่ะ ทำให้หนูได้รับโอกาสนี้ พอเข้ามาเป็นครู ทำให้เปลี่ยนความคิดของตัวเองในหลายด้านมาก จากคนที่ไม่ค่อยมีระเบียบระบบทางความคิดของตัวเอง ได้มาเรียนรู้อะไรที่เยอะขึ้นกว่าเดิม ยิ่งทำให้นึกถึงครูสุรัตน์ที่คอยผลักดันสนับสนุนให้ได้เข้าร่วมโครงการ ยิ่งตอนที่ประกาศผลดีใจมาก จำได้ว่าตอนนั้นอยู่โรงเรียน กรี๊ด!!! ลั่นห้องเลย ดีใจมากค่า ว่าสอบติดมหาลัยเชียงใหม่ ตอนนั้นไม่รู้จะไปบอกพ่อบอกแม่ยังไง เขาจะเชื่อไหม พอไปบอกจริง ๆ พ่อกับแม่ยิ้มดีใจ แล้วก็บอกหนูว่าดีแล้วเป็นผู้นำของบ้านได้แล้ว จะคอยซัพพอร์ทอยู่ข้างหลังหนู ถ้าไม่มีโครงการนี้หนูคงไม่ได้เรียนครูแน่ ๆ  

แจ็ค : ผมอยากเป็นครูวิทยาศาสตร์ อยากเป็นเหมือนครูวิทย์ที่สอนผม ครูสอนสนุกมาก อยากมีโอกาสได้สอนนักเรียนแบบนั้น อยากสอนเด็กให้เรียนสนุกแบบที่ครูวิทย์เคยสอนผมครับ ที่สำคัญผมได้รับโอกาสจากโครงการทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งตอนนั้นลุ้นจริง ๆ ครับว่าจะได้รับการคัดเลือกกับเขาไหม วันที่จะสมัครสอบนายสิบโครงการก็ประกาศผล พ่อแม่ก็ดีใจมากเหมือนกัน ค่าเทอมก็ไม่ต้องเสีย มีเงินรายเดือนให้ด้วย และตัวผมดีใจมาก ๆ แต่ก็หนักใจมาก ๆ เหมือนกันครับ ว่าจะเลือกทางไหนดี ผมเลยนึกถึงประสบการณ์เรียนวิทย์ที่สนุกมาก ทำให้ผมเลือกเส้นทางอาชีพครูแทนการไปสอบตำรวจ

หลังจากที่น้องทั้งสองได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ก็ได้รับการประสิทธิ์ประสาทวิชาจากคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการและวิชาเสริมหลักสูตรที่น้องไข่เจียวและน้องแจ็คได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนรุ่นให้เป็น Facilitator ของกิจกรรม Workshop Home Grown Teacher หลักสูตรของ อ.พอล คอลลาร์ด (Paul Collard) ผู้ก่อตั้ง Creativity, Culture and Education (CCE) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต (Future Skill Foundation) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่จัดอบรมแบบจัดเต็มเข้มข้นให้น้อง ๆ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น Facilitator ประจำกลุ่มที่พร้อมที่จะนำกิจกรรมให้บรรลุการเรียนรู้ในทุก ๆ ฐาน

 วันนี้่ I AM KRU. มาร่วมสังเกตการณ์แลกเปลี่ยนในกิจกรรม กับโอกาสที่น้อง ๆ ได้รับจากโครงการกับอีกหนึ่งบทบาทของการเป็น Facilitator ให้เพื่อนร่วมรุ่น ใน  Home Grow Teacher Workshop สำหรับครูรัก(ษ์)ถิ่น กับทีมนักจัดการเรียนรู้ที่จะบ่มเพาะทักษะการออกแบบการจัดการเรียนรู้ Active Learning ที่จะเป็นเครื่องมือที่เพิ่มประสิทธิภาพห้องเรียน ที่น้อง ๆ นักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่ทุก ๆ รุ่นจะได้รับการอบรมอย่างเข้มข้น 4 วันต่อเนื่อง และจะมีส่วนหนึ่งที่ได้รับโอกาสฝึกทักษะการเป็นกระบวนกร (Facilitator) ซึ่งไข่เจียว และแจ็ค เป็น 2 ใน 6 คน ที่ได้มาฝึกทักษะสำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดการเรียนรู้ (Active Learning)  

กิจกรรมเพื่อฝึกทักษะการจัดการเรียนรู้แก่นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น
อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมหลักสูตรการออกแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)

เพราะอะไรถึงสนใจเข้าร่วม 

ไข่เจียว : หนูอยากมาลองเปิดประสบการณ์ แล้วก็อยากนั่งเครื่องบินค่า (หัวเราะ) ตอนแรก ๆ ทางโครงการก็มีการคัดเลือกเพื่อน ๆ หนูก็ได้เข้าร่วมบ้างแล้ว เขาก็ยังต้องการคนเพิ่มอยู่ พอดีได้อ่านเอกสารการอบรม ว่ากิจกรรมเป็นยังไง มีอะไรบ้าง อ่านแล้วน่าสนใจมาก ‘Haiku’ คืออะไร คิดในใจว่ามันจะเป็นยังไงนะ ก็เลยมาลงสมัครร่วมกับเพื่อนค่ะ

แจ็ค : อยากเปิดประสบการณ์ให้ตัวเองและการเดินทางไปที่ไกล ๆ บ้างครับ อยากเรียนรู้เรื่อง Active Learning ว่าเป็นอย่างไร พอมาถึงที่งานผมคิดว่าผมเป็นผู้เข้าร่วมอบรมกับเพื่อนๆ จากมหาวิทยาลัยอื่น แต่พอมาถึงผมได้อบรมเป็นการเป็นกระบวนกรเลยครับ ไม่คิดว่าจะต้องมาเป็น Facilitator เลยครับ (หัวเราะ) กลัวทำไม่ได้ เลยต้องเรียนรู้จากกิจกรรมการโค้ชจากพี่ ๆ และได้คำแนะนำจากคุณพอล ให้แยกสมองเป็น 2 ส่วน 1. เป็นทั้งผู้เข้าร่วม 2. ใช้เก็บประสบการณ์ให้คนที่เราจะสอนยังไงครับ ระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมก็คิด ๆ เรื่องนี้ตลอดว่าเราจะเอาไปใช้กับเพื่อนร่วมกิจกรรมอย่างไร ได้ประสบการณ์มากกว่าการไปนั่งฟังเฉย ๆ อีกครับ 

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอบรม

แจ็ค : ผมเข้าใจผิดว่าการลงมือปฏิบัติก็เป็น Active Learning แล้ว พอมาเรียนจากโครงการนี้คนละเรื่องเลยครับ Active Learning ไม่ใช่การให้เด็กเคลื่อนไหว แต่การนั่งเฉย ๆ แล้วกระบวนการคิดของเด็กเปลี่ยนแปลงไปสามารถเรียกว่าเป็น Active Learning ได้เหมือนกัน ยิ่งตอนเขียนแผนการสอนเราคิดว่าสิ่งที่ระบุในแผนเป็น Active Learning แล้ว แต่พอมาได้อบรมที่โครงการนี้มันแตกต่างกันมากครับ เช่น กิจกรรมความรู้สึกของการจมลงไป ที่ให้เด็ก ๆ ปั้นเรือดินน้ำมันและวางเหรียญในเรือ ดูง่าย ๆ ธรรมดา แต่ ให้เด็กเกิดการตั้งคำถาม วิเคราะห์ และสะท้อนผล เป็นกิจกรรมที่ซ่อนความเป็น Active Learning อย่างชัดเจน ที่พัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ และสติปัญญา ผ่านกิจกรรมง่าย ๆ นี้ (ร่างกาย มือปั้นติดน้ำมันกล้ามเนื้อมัดเล็กได้เคลื่อนไหว สังคม ได้ทำงานกลุ่มร่วมกับเพื่อน อารมณ์  เด็กมีอารมณ์สนุกสนาน สติปัญญา ได้คิดวิเคราะห์ และหาวิธีการแก้ไขปัญหาเรือที่จมลง)

ไข่เจียว : กิจกรรมที่หนูชอบ คือ หันหลังชนกัน วาดภาพเดียวกัน กิจกรรมนี้ได้เรียนรู้การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การแปลงสาร ก่อนจะวาดอะไรลงไปต้องถามให้ชัดเจนว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร คนวาดก็ต้องตีความข้อความที่ได้รับมาเพื่อวาดเป็นภาพให้ใกล้เคียงคำบอกเล่ามากที่สุด เป็นกิจกรรมที่ตอบโจทย์ทั้ง 4 ด้าน (ร่างกาย สังคม อารมณ์ สติปัญญา)  

กิจกรรมเพื่อฝึกทักษะการจัดการเรียนรู้แก่นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น
อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมหลักสูตรการออกแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)

เมื่อลองเทียบกับการเรียนรู้แบบเดิมรู้สึกอย่างไร

ไข่เจียว : เห็นภาพตนเองที่กำลังสอนด้วยเทคนิคในอนาคตที่สอนให้เด็กเรียนรู้มากกว่าใบงาน 

แจ็ค : การเรียนจากตำราเรียนฟังครูบอกเล่า ผมยังง่วงเลยครับ แต่การเรียนรู้ที่ได้รับการอบรมทั้งจากทางมหาวิทยาลัยและโครงการทำให้ผมเห็นภาพของเรียนที่ active ทั้งครูและนักเรียน

ประสบการณ์ที่ได้รับและได้เรียนรู้อะไร 

ไข่เจียว : ประสบการณ์ที่ได้คือเยอะมากกกก (เน้นเสียง) โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับพี่ ๆ ทีมวิทยากรและศึกษานิเทศก์ที่มีความรู้แน่นมาก ๆ ค่ะ  เริ่มต้นจากเป็นผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปก่อน 4 วันแรก เคลียร์หัวให้โล่ง ๆ เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด และหลังจากนั้นก็มาอบรมการเป็นกระบวนกรเพิ่มเติมอีกเพื่อเป็นกระบวนกรให้เพื่อน ๆ  ที่ต้องจดลงแบบละเอียดในแต่ละวันเพื่อเตรียมความพร้อมกับแจ็คว่าต้องพูดอย่างไรเป็นลำดับขั้นเลยค่ะ พี่ปุ๊ก (ดร.กาญร์พิชชา กชกานนท์) ได้แนะนำว่า คำพูดที่จะใช้ต้องสั้นกระชับเข้าใจง่าย เพื่อให้เพื่อนเข้าใจได้ตรงประเด็น และก็มีพี่อ็อด ศน. ธีรวุฒิ ชุมทองโด ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ มาเติมเต็มทั้งเรื่องประสบการณ์การทำงานของพี่ ๆ เขาด้วย ได้เรียนรู้เยอะมากจากกิจกรรมนี้ 

แจ็ค : ประสบการณ์ของผม ได้เทคนิคการสอนเยอะมากจากวง AAR (การทบทวนหลังปฏิบัติงาน (After Action Review : AAR) หลังเลิกกิจกรรมในแต่ละวันมีการสะท้อนคิดสิ่งที่ได้เรียนรู้ สิ่งที่ผมชอบมาก ๆ คือ การทำตัวให้เท่าผู้เรียนจะทำให้เราเข้าถึงพวกเขาได้มากขึ้น เป็นเทคนิคที่ดูไม่สำคัญแต่สำคัญมากกับการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี เมื่อเด็ก ๆ ไม่มองเราเป็นผู้มีอำนาจจะทำให้เขาเปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้  และการแต่งกายก็มีส่วนสำคัญต่อความรู้สึกและบรรยากาศของการเรียนรู้ด้วยครับ

ความแตกต่างของการเป็นผู้เข้าร่วมและการเป็นกระบวนกร (Facilitator) 

ไข่เจียว : ความแตกต่างหนูมองเห็นว่าในมุมของผู้เข้าร่วมจะโฟกัสเรื่องการตอบคำถามระหว่างกิจกรรมว่าต้องตอบอะไร พอได้มาทำหน้าที่ Facilitator ต้องโฟกัสไปที่คำถามที่เขาตอบกลับมา และการที่เราต้องเอาคำตอบทั้งหมดมาสรุปเป็นองค์ความรู้ที่เกิดขึ้น สิ่งนี้ทำให้ความคิดของหนูแตกต่างไปจากเดิม ไม่ได้โฟกัสแค่คำตอบแต่ต้องมองอย่างครอบคลุมในหลาย ๆ ด้านว่าเกิดอะไรขึ้นและส่งผลอย่างไรค่ะ

แจ็ค : มีส่วนที่เหมือนไข่เจียวครับ และผมขอเสริมอย่างตอนที่เราเป็นผู้เข้าร่วม สิ่งที่สนใจจะเป็นคำตอบของตัวเอง ของเพื่อน พอมาเป็น Facilitator รัศมีการมองต้องมองไปขยายไปที่ทุกคนในห้องอย่างรอบด้านว่าแต่ละคนหลุดไปไหม ทำกิจกรรมไปตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ไหม อีกเรื่องคือด้านสภาพแวดล้อมในห้องเรียนเป็นอย่างไร บรรยากาศดรอปลงไหม หรือบรรยากาศในห้อง Active เกินไปไหม ต้องดูองค์รวมเรื่องสภาพแวดล้อมควบคู่กับตัวกิจกรรมไปด้วยครับ 

ปีหน้าต้องไปฝึกสอนที่โรงเรียนปลายทาง เริ่มมีการวางแผนไว้หรือยัง

ไข่เจียว : มีค่ะ จะนำกิจกรรมที่เรียนรู้ไปปรับใช้ในห้องเรียน กิจกรรม Snow Ball ปั้นก้อนหิมะแห่งความรู้สึก เป็นกิจกรรมที่หนูได้นำในเวิร์กช็อปที่ผ่านมาค่ะ จะนำไปใช้กับนักเรียนในห้องเรียนในคาบแรกที่เข้าไปสอน ในกิจกรรมนี้เด็ก ๆ จะต้องเรียนความรู้สึกของตนเองตอนนั้น แล้วครูจะร่วมเขียนด้วย กิจกรรมนี้ในฐานะครูจะได้รู้ว่าเด็ก ๆ แต่ละคนรู้สึกอย่างไร ใครรู้สึกอะไรบ้าง เพื่อนำความรู้สึกของเด็ก ๆ มาปรับ เช่น เด็กรู้สึกกดดันหรือกลัว เราต้องเปลี่ยน mood การสอน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้แบบปราศจากอารมณ์ที่ขุ่นมัว รู้สึกสนุกสนานในการเรียนค่ะ 

แจ็ค : จะนำโครงการออกแบบกิจกรรมให้เป็นแบบ Active Learning มาใช้ในการออกแบบการเรียนการ สอนให้เด็ก ๆ เกิดพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ให้เกิดประโยชน์ที่สุดครับ 

โครงการทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการสนับสนุนนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อรับทุนการศึกษาตลอด 4 ปีในมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนได้โอกาสบรรจุเป็นราชการครูในโรงเรียนบ้านเกิดของตนเอง เพื่อแก้ปัญหาการโยกย้ายครูออกจากพื้นที เริ่มจากรุ่นแรกในปีการศึกษา 2563 ปัจจุบัน ผู้รับทุนรุ่นแรกจำนวน 327 คน สำเร็จการศึกษาในปี 2567 โดยเป็นผู้ที่จบในสาขาที่ขาดแคลน เช่น สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย และสาขาวิชาประถมศึกษา ในอนาคต จะมีครูจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นบรรจุเป็นครูผู้ช่วยครบ 1,500 คน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเด็กและชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ทั้งนี้ ครูเหล่านี้จะต้องอยู่ประจำในพื้นที่อย่างน้อย 6 ปี ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนของพวกเขาอย่างยั่งยืน 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

https://www.eef.or.th

ติดตามความเคลื่อนไหวนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นได้ที่ 

https://www.facebook.com/Krurakthin.org

 7,317 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า