การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ในมุมของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
“การศึกษาต้องเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ไม่ใช่แค่การถ่ายทอดความรู้ แต่เป็นการสร้างความรู้ใส่ตัวเองด้วยการปฏิบัติ”
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กล่าว
คุณคิดว่าเพราะเหตุใดแต่ละโรงเรียนถึง “ดี” ไม่เท่ากัน?
ทำไมเด็กถึงไม่มีโอกาสเข้าถึงโรงเรียนที่ดี และครูที่มีคุณภาพ?
แล้วเราจะทำอย่างไรให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพที่ดีทัดเทียมกัน?
ทุกวันนี้นักเรียนไทยจำนวนมากอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ เนื่องจากต้องพยายามเข้าถึงสถาบันการศึกษาที่มีอันดับสูง มีคะแนน o-net ดี ได้รับการประเมินคุณภาพดีเยี่ยมจากกระทรวงศึกษาธิการ นักเรียนบางส่วนมาจากครอบครัวฐานะดี สามารถเดินทางไปเรียนไกลบ้าน หรือเรียนเสริมได้ จึงอาจไม่รู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำ แต่สำหรับนักเรียนที่มีฐานะยากจน พวกเขาไม่สามารถเดินทางไปเรียนไกลบ้านได้ และการเรียนในห้องเรียนที่ไม่พร้อม จึงไม่เกิดความสุขในห้องเรียน กลายเป็นช่องว่างทางการศึกษาขนาดใหญ่ระหว่างนักเรียนสองกลุ่มนี้
พันธกิจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงเป็นการทบทวนวิธีการเพื่อให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน นักเรียนทุกคนต้องได้เรียนอย่างมีคุณภาพและมีความสุข โดยไม่ขึ้นกับฐานะและที่อยู่อาศัยของนักเรียน ส่วนนักเรียนที่มีปัญหาความยากจน เข้าไม่ถึงทรัพยากรบางอย่าง ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทุกพื้นที่ในประเทศไทย
โรงเรียนลดความเหลื่อมล้ำได้ เมื่อยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง
‘โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง’ (Teachers & School Quality Program: TSQP) โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เกิดขึ้นจากปัญหาของระบบการศึกษาและห้องเรียน การศึกษาแบบไหนที่เราอยากเห็น เป้าหมายการศึกษาแบบไหนที่นักเรียนอยากไปให้ถึง ห้องเรียนแบบไหนที่ครูอยากสร้าง บรรยากาศแบบไหนที่จะสร้างความสุขแห่งการเรียนรู้ ซึ่งยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง จึงเป็นคำถามสำคัญของโครงการนี้
เป้าหมายของโครงการมี 6 ข้อ คือ
- หนึ่ง-ยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งแนวกว้างและลึก
- สอง-เป็น Learning Platform ของนักเรียน ครู ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้อง
- สาม-กระบวนทัศน์พัฒนา Growth Mindset
- สี่-เชื่อมโยงสู่การพัฒนาระบบการศึกษา
- ห้า-เปลี่ยนชุดความคิดว่าด้วยการเรียนรู้
- หก-เพิ่มศักดิ์ศรีครูและวงการการศึกษา
ทางโครงการได้รับความร่วมมือจาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางของโครงการ TSQP ในการบรรยายพิเศษ หัวข้อ ‘คุณค่าของโรงเรียนพัฒนาตนเอง’ ทั้งในแง่ของครู โรงเรียน ผู้บริหาร หลักสูตร และทุกคนที่มีส่วนในการเติบโตของนักเรียน ภายในงานประชุมเรื่อง ‘ยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ: ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน’ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา
“การตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ก็เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่จริงประเทศเรามีอะไรดีๆ อีกมาก แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายมากที่ประเทศเราทรุด และกำลังทรุดลงกว่าเดิมคือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ และความรู้”
“ผมมักคิดย้อนอดีตตลอดเวลาว่า ถ้าผมได้สมองและสติปัญญาที่ดีจากพ่อแม่ แล้วมาเกิดใหม่อีกครั้งในบ้านหลังเดิม ผมจะไม่ได้ดีเหมือนตอนนี้ เพราะผมโดนฤทธิ์ของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ทำให้ผมไม่มีโอกาสที่ดี”
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของระบบ ตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความเหลื่อมล้ำทางความรู้ของนักเรียน ความเหลื่อมล้ำทางศักยภาพของครู ไม่เว้นแม้แต่ในห้องเรียน ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำจากคำว่า ‘ความฉลาด’
“เด็กเขามีความฉลาดหลายแบบ การศึกษาในตอนนี้มีความเหลื่อมล้ำในการตีความเรื่องความฉลาด เพื่อนผมหลายคนเรียนหนังสือไม่ได้เรื่อง แต่มีหัวศิลปะ เป็นนักกีฬา ขณะที่ครูก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความถนัดของเขา ครูจึงต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ และหาทางทำให้สิ่งที่เขาถนัดเป็นตัวฉุดด้านอื่นๆ ที่เขาไม่ถนัดขึ้นไปด้วย”
ดังนั้น การที่จะบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาได้ มีตัวแปรสำคัญคือคุณภาพของการศึกษาที่เด็กทุกคนควรได้รับ และความตระหนักถึงพหุปัญญา (Multiple Intelligence) ของนักเรียนแต่ละคน
การพัฒนาศักยภาพ ที่มากกว่าความรู้
นอกจากการให้ความรู้แบบทฤษฎี โรงเรียนควรจะบ่มเพาะศักยภาพของนักเรียนในทุกด้าน โดย ศ.นพ.วิจารณ์ ได้ให้ความหมายของ ‘การพัฒนาเด็กในทุกด้าน’ ผ่าน 2 มิติหลัก คือ
“หนึ่ง-ด้านกว้าง หมายถึง การพัฒนาที่ไม่ได้หยุดที่วิชาความรู้เท่านั้น แต่นิสัยใจคอ การเคารพผู้อื่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และความมั่นใจตัวเอง มิติเหล่านี้ต้องรวมอยู่ด้วย ทั้งในภาพรวมและภาพย่อยของเด็กแต่ละคนที่มีวิธีการที่ต่างกัน”
“สอง-ด้านลึก คือการเรียนเพื่อให้เกิดการพัฒนาชีวิต มิใช่เรียนเพียงผิวเผิน มิใช่แค่ตอบข้อสอบครูได้ การเรียนนั้นต้องลึกเข้าไปในจิตใจ ลึกในอารมณ์ และออกมาเป็นพฤติกรรม ซึ่งที่ผ่านมาเราเรียกว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะ”
นักเรียนหนึ่งห้อง ประกอบด้วยมนุษย์ที่เติบโตมาบนฐานครอบครัวที่แตกต่าง นั่นทำให้สภาวะอารมณ์ ประสบการณ์ และวิธีการเรียนของเด็กนั้นมีความหลากหลาย ข้อนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ มองว่าเป็นความท้าทายของครูและทุกคนที่เกี่ยวข้อง ในการออกแบบการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์กระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลายของนักเรียน
ทำอย่างไรให้โรงเรียนเป็น ‘พื้นที่แห่งความสุข’
เมื่อพัฒนาหลักสูตรให้เข้มข้น มีคุณภาพขึ้น ก็ต้องไม่ลืมที่จะเพิ่มความสุขในห้องเรียน ซึ่งความสุขในห้องเรียน มาจากการที่ห้องเรียนตอบโจทย์ชีวิตของนักเรียนทุกคน แต่เด็กบางคนไม่รู้ว่าตนเองเรียนไปทำไม จึงไม่มีความสุข เมื่อไม่มีความสุข ก็เลยไม่ตั้งใจเรียน จนถูกครูและระบบการศึกษาทอดทิ้ง
“ครูมักเอาใจใส่เฉพาะเด็กที่ตั้งใจเรียน นี่คือเหตุของความเหลื่อมล้ำในห้องเรียนอย่างหนึ่งในอีกๆ หลายเหตุ ในบางครั้งเด็กหลังห้องถูกรังเกียจ แรงกว่านั้นคือถูกเกลียด”
“แต่ลองมองมุมกลับให้ดีเถอะครับ เด็กเหล่านั้นคือโอกาสที่ครูจะสร้างสรรค์ได้อย่างดีมาก เด็กเหล่านั้นจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่ทำให้ห้องเรียนมีชีวิตชีวา เพราะเขาเหล่านั้นมีพลังเยอะ”
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวเสริมว่า “มนุษย์เราต้องการความสุข เมื่อเรียนแล้วไม่มีความสุข เขาจึงต้องไปทำอย่างอื่นที่ให้ความสุขแก่เขา อาจจะไปติดยา ไปมั่วสุม ทั้งหมดนี้เป็นเพราะมนุษย์เราต่างแสวงหาความสุข นี่คือความท้าทายของคนในวงการศึกษาที่จะต้องสร้างสิ่งนี้แก่นักเรียนให้ได้”
ดังนั้น การจัดการศึกษาในโรงเรียนต้องตั้งโจทย์การเรียนรู้ที่หลากหลายและสอดคล้องกับบริบทชีวิตของเด็ก เด็กหลายคนอาจไม่ได้ต้องการความรู้ตามตำราเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการความรู้ในการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว และสร้างชีวิตที่ดี เมื่อพวกเขารู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร เชื่อมโยงตนเองเข้ากับการเรียนได้ ก็จะเกิดความสุข
ครูต้องเชื่อใน Growth Mindset
ต่อมาคือเรื่อง Growth Mindset (กรอบความคิดเติบโต) หรือวิธีคิดที่เชื่อว่า มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งความฉลาด ทักษะ ความสามารถ และบุคลิกภาพ ผ่านการเรียนรู้ ฝึกฝน และมุมานะ Growth Mindset ส่งผลให้คนคนนั้นแสวงหาโอกาสในการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ทดลองและมองหาการเรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่กลัวที่จะล้มเหลว
ศ.นพ.วิจารณ์ ระบุว่า การพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับการศึกษา ต้องมี Growth Mindset เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ไม่ยึดติดกับวิธีการที่ตายตัวดังเช่นที่ผ่านมา
“หากโรงเรียนมี Fixed Mindset (กรอบคิดที่จำกัด) ก็จะมองว่า พ่อแม่ให้ความฉลาดมาเท่านี้แหละ ซึ่งไม่จริง ความฉลาดเกิดขึ้นใหม่ได้จากความพากเพียร โรงเรียน ครู พ่อแม่ ช่วยเพิ่มไอคิวให้เด็กได้
Growth Mindset ไม่ได้มีเพียงในตัวบุคคล แต่เป็นเรื่องของโรงเรียน ของวงการศึกษา สังคม ครู และผู้อำนวยการ ที่จะต้องสมาทาน Growth Mindset เพื่อสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพให้ได้”
เพราะโลกไม่หยุดอยู่กับที่ สังคมเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความรู้ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ นักเรียน ครู โรงเรียน และเครือข่ายผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องมีวิธีคิดแบบ Growth Mindset เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่การศึกษาที่ดีกว่า
การเรียนรู้ต้องลึกและเชื่อมโยงได้
“โรงเรียนพัฒนาตัวเอง คือ ต้องหาวิธีการที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ของตัวเองในมิติที่ลึกยิ่งกว่าลึก การเรียนรู้แบบลึก (Deep Learning) คือการเรียนรู้ที่เราไม่อยากให้หยุดอยู่แค่ผิว (superficial) ไม่ใช่แค่ตอบข้อสอบได้ เกรดดี แต่เอาไปใช้ไม่เป็น”
เป้าหมายข้อที่ 5 เป็นเรื่องการเรียนรู้แบบเชื่อมโยง เพราะการเรียนรู้ในระดับการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ อาจยังไม่เพียงพอต่อโลกยุคนี้ ที่กำลังเรียกร้องให้นักเรียนสามารถเชื่อมความรู้ในห้องเรียนไปสู่สถานการณ์อื่น บริบทอื่น หรือไปสู่สิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย จนกลายเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง
“การศึกษาต้องเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ไม่ใช่แค่การถ่ายทอดความรู้ แต่เป็นการสร้างความรู้ใส่ตัวเองด้วยการปฏิบัติ (Active Learning) โดยครูคือผู้ที่ช่วยให้ Active Learning นั้นย้อนกลับมาตีความทางทฤษฎี และมีการเรียนรู้ในระดับเชื่อมโยงไปสู่สถานการณ์ใหม่ บริบทใหม่ได้”
“ถ้าเราทำได้ นี่คือการยกระดับศักดิ์ศรีครู และศักดิ์ศรีของวงการการศึกษาไทย”
ศ.นพ.วิจารณ์กล่าว ซึ่งนี่ถือเป็นเป้าหมายสุดท้ายของโครงการ TSQP
ปัจจุบันโรงเรียนขนาดกลาง 733 แห่ง ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนฯ กำลังเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการในการจัดการเรียนรู้ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความสุขในโรงเรียน และกระบวนการเรียนการสอนที่ไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ลำพัง ซึ่งในอนาคต โครงการนี้จะมุ่งขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆอีกหลายร้อยแห่ง เพื่อให้นักเรียนทุกคนห่างไกลจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
2,689
Writer
- เอื้อการย์ โรจนจิรไพศาล (มะแม้ว)
- นักเขียนผู้หลงรักการผจญภัยในเมือง ปรัชญาในชีวิตจริง และการไป Cafe Hopping ทั่วทุกมุมเมือง