“เราอยากให้สามเณรนักเรียนสามารถพัฒนาตัวเอง รักในวิชาชีพ แล้วถ้าสามเณรบางรูปที่เรียนไปจนจบ ม.3 หรือ ม.6 แล้วลาสิกขา มีความตั้งใจที่จะต่อชั้น ปวช. หรือ ปวส. กสศ. จะสนับสนุนทุนต่อ”
อาจารย์ผ่องพรรณ เอกอาวุธ หัวหน้าโครงการพระปริยัติธรรม
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส ให้มีโอกาสได้เรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ รับการฝึกอบรมอาชีพ รวมถึงเรียนรู้หลักธรรมคำสอนแห่งพุทธศาสนา หัวใจสำคัญที่จะทำให้ภิกษุสามเณรกลายไปเป็นพลเมืองที่ดีในอนาคต
โครงการพระปริยัติธรรม ในความดูแลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลกระบวนการเรียนรู้ และเส้นทางการศึกษาของพระภิกษุสามเณรในโรงเรียน สนับสนุนให้ภิกษุสามเณรได้มีคุณภาพการเรียนรู้ที่ดี และมีความรู้ในอาชีพที่สนใจ เพราะสามเณรนักเรียนมีโอกาสเติบโตไปได้ในหลายเส้นทาง โดยการปรับปรุงหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม เพิ่มคุณภาพทางวิชาการให้มากขึ้น นอกจากนั้นยังวางแนวทางการทำงานวิจัยร่วมกันเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเครื่องมือในการสนับสนุนความช่วยเหลือภิกษุสามเณรที่กำลังศึกษาอยู่ด้วย
ลดความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนพระปริยัติธรรม
อาจารย์ผ่องพรรณ เอกอาวุธ หัวหน้าโครงการพระปริยัติธรรม กล่าวว่า หน้าที่ของ กสศ. คือการให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และกลุ่มคนด้อยโอกาส โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความรู้และการพัฒนาตัวเอง ซึ่งก็ตรงกับกลุ่มสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรมเช่นกัน เพราะมาจากครอบครัวยากจน ทำให้การเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับในโรงเรียนทั่วไปกลายเป็นเรื่องยาก จึงเป็นเหตุผลที่ กสศ. เข้าร่วมพัฒนาและให้ความช่วยเหลือ โดยมีเป้าหมายพัฒนาการเรียนการสอนระดับชั้น ม.1-ม.6
“บางครอบครัวพ่อแม่ไม่มีเงิน เขาจะใช้วิธีให้ลูกบวชเรียนเพื่อศึกษาในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาการจัดการศึกษายังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน บางแห่งมีหลักสูตรที่หนักกว่าโรงเรียนสามัญทั่วไป เพราะสามเณรนักเรียนต้องเรียนวิชาใน 8 กลุ่มสาระเช่นโรงเรียนสามัญอื่น ๆ ทั้งยังต้องเรียนนักธรรม บาลี และพุทธศาสนาด้วย
เราต้องการพัฒนากลุ่มสามเณรนักเรียนซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนด้อยโอกาสเหล่านี้ ให้มีความรู้ด้านวิชาชีพ หรือจุดประกายให้สนใจการเรียนสายวิชาชีพที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคตได้”
เป้าหมายการศึกษาของโรงเรียนพระปริยัติธรรม
การพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ตั้งอยู่บนเป้าหมายสำคัญคือความต้องการให้สามเณรนักเรียนได้เรียนจบการศึกษาภาคบังคับ คือชั้น ม.3 และถ้าหากมีความสนใจในการเรียนต่อสายวิชาชีพหลังจากจบชั้น ม.3 แล้ว ทาง กสศ. ก็ได้เตรียมความพร้อมในการศึกษาระดับชั้น ปวช. และ ปวส. ไว้ให้แก่สามเณรนักเรียนด้วย
“เป้าหมายสุดท้ายจริง ๆ คือเราอยากให้สามเณรนักเรียนสามารถพัฒนาตัวเอง รักในวิชาชีพ แล้วถ้าสามเณรบางรูปที่เรียนไปจนจบ ม.3 หรือ ม.6 แล้วลาสิกขา มีความตั้งใจที่จะต่อชั้น ปวช. หรือ ปวส. กสศ. จะสนับสนุนทุนต่อ ส่วนกลุ่มที่ไม่ประสงค์จะบวชเรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ เมื่อเขากลับไปอยู่บ้านทำอาชีพของครอบครัว เขาก็จะมีวิชาความรู้ติดตัวที่ทำให้การทำเกษตรสามารถหาเลี้ยงชีพได้”
อาจารย์ผ่องพรรณกล่าว
เน้น “พัฒนาครู” เพื่อถ่ายทอดความรู้แบบมืออาชีพ
การพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับโครงการพระปริยัติธรรมนี้ จะเริ่มจากการ “พัฒนาครู” ทุกคนในโรงเรียนต้นแบบราว 50 แห่ง เพื่อให้ครูต้นแบบนำไปใช้สอนภิกษุสามเณรนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการพัฒนา 3 องค์ความรู้หลัก ได้แก่ 1. การพัฒนาทักษะอาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 2. การเรียนการสอนแบบ Active Learning คือการเรียนรู้แบบได้ลงมือทำ และได้ใช้กระบวนการคิดกับสิ่งที่ทำ และ 3. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบ PLC Professional Learning หรือชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ
“ตอนนี้เรามีโรงเรียนต้นแบบที่เป็นแม่ข่ายการพัฒนาในจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง และศรีสะเกษ มีกิจกรรมหลายอย่างตามหลักสูตรที่วางไว้ เช่นการลงนา ที่สามเณรนักเรียนจะได้เรียนวิชาชีพเกี่ยวกับการเกษตรแผนใหม่ ได้ลงมือปฏิบัติจริง แล้วบันทึกโครงงาน เก็บเกี่ยวองค์ความรู้จากทั้งงานวิจัยและภาคปฏิบัติ ซึ่งสามารถนำกลับไปใช้ประกอบอาชีพได้ หรืออีกตัวอย่างที่ตำบลเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย มีการทำกระเบื้องศิลาดล ทำเครื่องปั้นดินเผา มีการปลูกชา ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมในชุมชนที่เราเข้าไปช่วยพัฒนาให้มีการต่อยอดเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้”
อาจารย์ผ่องพรรณกล่าว
เพราะปัญหาใหญ่ของบรรดาสามเณรนักเรียนคือการเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับนักเรียนทั่วไปที่เรียนในโรงเรียนสามัญศึกษา อาจารย์ผ่องพรรณและทีมงานโครงการพระปริยัติธรรมจึงเร่งพัฒนาโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดหวังว่าการพัฒนานี้จะทำให้ภิกษุสามเณรผู้เป็นนักเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมได้พัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ให้เทียบเท่ากับนักเรียนในโรงเรียนทั่วไป และสำหรับสามเณรนักเรียนที่ต้องการเรียนด้านวิชาชีพต่อ ก็จะได้มีความรู้เทียบเท่าการศึกษาในวิทยาลัยอาชีวศึกษา โดยที่สามารถศึกษาด้านวิชาการและด้านพระธรรมควบคู่กันไปได้
อาจารย์ผ่องพรรณทิ้งท้ายไว้ว่า
“เราอยากให้เด็กที่เข้ามาบวชเรียนเพื่อหาความรู้มีกำลังใจ เพราะอย่างน้อยที่สุด เด็ก ๆ ในชนบทห่างไกล เมื่อเขาต้องมาเรียนแล้วถือครองสมณเพศ ต้องถือศีล 10 ไปด้วย เขาจะได้รับการกล่อมเกลาด้วยความดี ด้วยพุทธศาสนา ในทางหนึ่งก็เป็นการสร้างพลเมืองดีให้กับบ้านเมืองได้ตั้งแต่เขายังเยาว์วัยอยู่”
โครงการพระปริยัติธรรมเดินหน้ามาได้ด้วยการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้งในด้านการพัฒนาครู และการอำนวยความสะดวกในการฝึกวิชาชีพ ส่วนด้านการสร้างโอกาสทางการศึกษาเป็นรายบุคคล กสศ. มีทุนสนับสนุนให้ภิกษุสามเณรนักเรียนอยู่พอสมควร ถือว่าสามารถช่วยเติมในส่วนที่ขาดไปได้ เป็นการแบ่งเบาภาระของนักเรียนและครอบครัว แม้จะไม่สามารถอุดหนุนได้ 100% ทุกครัวเรือน แต่ก็เป็นการเริ่มต้นจุดประกายให้นักเรียนกลุ่มนี้คิดถึงการเรียนต่อ โดยเฉพาะสามเณรที่อาจเติบโตไปในเส้นทางอาชีพต่าง ๆ โครงการนี้ก็จะสร้างสนามฝึกฝนก่อนที่บรรดาสามเณรนักเรียนจะต้องเดินทางต่อไปด้วยตนเอง
2,030
Writer
- เอื้อการย์ โรจนจิรไพศาล (มะแม้ว)
- นักเขียนผู้หลงรักการผจญภัยในเมือง ปรัชญาในชีวิตจริง และการไป Cafe Hopping ทั่วทุกมุมเมือง