รวิภัทร เหล่าคุ้ม | การทำงานบนเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพศึกษานิเทศก์

Share on

 232 

ภารกิจหน่วยศึกษานิเทศก์ที่อยู่ในการดูแลของทาง สพฐ. 

หน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. เป็นสำนักภายใน สำนักหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  ซึ่งภายในสพฐ. จะมีสำนักต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นมาตามภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพ เช่น สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) จะมีภารกิจในการพัฒนา เรื่องงานวิชาการ  หลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนรู้  เป็นต้น  หรือว่าสำนักทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) มีภารกิจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษา  สำหรับหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. มีภารกิจในการพัฒนางานด้านการนิเทศการศึกษาร่วมกับศึกษานิเทศก์ที่อยู่ในเขตพื้นที่การศึกษา  ความสำคัญของการนิเทศก็คือการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ แนะนำ เป็นพี่เลี้ยง ส่งเสริม สนับสนุนให้ครูให้จัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  รวมถึงการช่วยเหลือแนะนำงานดำเนินงานด้านอื่น ๆ ในโรงเรียน ให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรอื่น ๆ ที่อยู่ในโรงเรียน สถานศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษาต่าง ๆ  ศน. ศึกษานิเทศก์มีภารกิจสำคัญในการนิเทศช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา หนุนเสริม แนะนำ การดำเนินงานเพื่อพัฒนาผู้เรียนและขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติในพื้นที่ 

ในแง่การทำงานให้ความสนใจและให้ความสำคัญของงานศึกษานิเทศก์อย่างไร?

การทำงานตามภารกิจของหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. ที่อยู่ในส่วนกลาง ให้ความสำคัญต่องานในบทบาทของศึกษานิเทศก์เป็นอย่างยิ่ง เพราะตามภารกิจหลักของศึกษานิเทศก์ จะมีหน้าที่ และความรับผิดชอบหลักในการนิเทศการศึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา รวมถึงศึกษานิเทศก์จะช่วยขับเคลื่อนเชื่อมโยงนโยบายสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาและหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้อง 

ปัญหาและความต้องการของ ศน. ในแต่ละเขตพื้นที่ 

มุมมองของพี่ ศน. ในเขตพื้นที่ต่าง ๆ ในสังกัด สพฐ. มีประมาณ 2,800 คน นั้น  เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในการทำงานตามบทบาทภารกิจหน้าที่ ตามบริบท ตามธรรมชาติของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาอยู่แล้ว แต่ก็พบว่ามีบางส่วน มีปัญหาและความต้องการช่วยเหลือ สนับสนุน เช่น บางเขตพื้นที่การศึกษาไม่มีศน.เลย  หรือบางเขตมี ศน. น้อย หรือไม่ครบตามกรอบอัตรากำลัง  บางเขตพื้นที่ขาดศน.ที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์เฉพาะด้าน เนื่องจากเป็นศน.บรรจุใหม่ทั้งหมด

พอได้มาปฏิบัติงานในส่วนกลาง ก็พยายามหาวิธีการช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของ ศน.ด้วยวิธีการต่าง ๆ  เช่น เขตพื้นที่การศึกษาที่ไม่มี ศน. เช่น สพม.แม่ฮ่องสอน ก็จะสอบถาม พูดคุย และร่วมลงพื้นที่นิเทศในสถานศึกษา ไปจัดการอบรมให้ครูในประเด็นที่ต้องการพัฒนา  อีกส่วนหนึ่งที่ส่วนกลางสนับสนุนได้ คือทำโครงการพัฒนาสมรรถนะด้านการนิเทศ   การสร้างสื่อ รูปแบบ วิธีการนิเทศ  การสนับสนุนให้ใช้รูปแบบการนิเทศ วิธีการที่หลากหลาย ทั้งออนไลน์และออนไซต์ ใช้การส่งเอกสาร ศึกษาจากเว็บไซต์ สื่อออนไลน์ต่าง ๆ  การจัดประชุม จัดอบรม  ในบางครั้งใช้การนิเทศโดยตรงแบบพูด   คุยสื่อสารกับผู้รับการนิเทศตัวต่อตัว หรือใช้การสื่อสารออนไลน์ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว

เปลี่ยนอุปสรรคเป็นความท้าทายโครงการพัฒนานี้สามารถอุดรอยรั่วของปัญหาในพื้นที่ได้อย่างไรบ้าง

ปัญหาของศึกษานิเทศก์ในเขตพื้นที่ ที่เราวิเคราะห์เพื่อทำโครงการพัฒนา หลักๆ มีอยู่ 2 ประเด็น อย่างแรก ศน. มีไม่เพียงพอ บางพื้นที่ไม่มี ศน. เลย อีกปัญหาคือ ศน. บรรจุใหม่ ต้องการพัฒนาเติมเต็มศักยภาพด้านการนิเทศให้ความช่วยเหลือแนะนำครู รวมถึงศึกษานิเทศก์เก่าก็ไม่ค่อยได้รับการพัฒนาด้านการนิเทศเท่าที่ควร จะดำเนินงานในภาพรวม ถ้าเขตไหนขาดแคลน จะหาวิธีการไปแก้ปัญหาเฉพาะจุด ซึ่งช่วยพอลดปัญหาได้บ้าง แต่ปัญหาในภาพรวมคือศึกษานิเทศก์ต้องการได้รับการพัฒนาสมรรถนะในด้านการนิเทศมาก จึงเป็นสิ่งที่หน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. นำมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำโครงการพัฒนาศึกษานิเทศก์  เพื่อจะส่งต่อให้ถึงความต้องการของ ศน. ในเขตพื้นที่ฯ 

แต่ด้วยหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. ที่อยู่ตรงกลางเป็นสำนักเล็ก ๆ มีความไม่พร้อมในเรื่องบุคลากรส่วนหนึ่ง งบประมาณก็อีกส่วนหนึ่ง เราก็ทำงานขับเคลื่อนการพัฒนางานนิเทศอย่างเต็มที่ตามบริบท เช่นในปีที่ผ่านมา เราพัฒนาหลักสูตรและจัดอบรมศึกษานิเทศก์  หลักสูตรการนิเทศการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning )  สู่สมรรถนะของผู้เรียน ให้กับศึกษานิเทศก์ จำนวน 2 รุ่น จำนวน 140 คน ซึ่งยังมีเสียงเรียกร้องขอให้มีการพัฒนาเพิ่มเติมสิ่งที่จะมาหนุนตรงนี้ได้เป็นเรื่องของความร่วมมือระหว่างเครือข่ายที่ทำงานด้านการศึกษา ด้วยกัน 

หน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. มีบุคลากรที่ปฏิบัติงานกันอยู่ ไม่ถึง 10 คน แต่เชื่อมโยงการทำงานกับศึกษานิเทศก์ที่ดูแล 245 เขตพื้นที่การศึกษา เราจะมีเครือข่ายการทำงานที่อยู่ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญ เป็นศึกษานิเทศก์ที่มีความเข้มแข็ง มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ มีการประสานการทำงานร่วมเป็นคณะทำงาน มาช่วยเสริมงานในส่วนกลาง พองานสำเร็จ สัมฤทธิผล เกิดการเผยแพร่ขยายผลไปสู่ภาพใหญ่ ก็กลับไปปฏิบัติงานที่เขตพื้นที่การศึกษาต้นสังกัด ตามเดิม

ทาง สพฐ. ได้มาผนวกความร่วมมือการทำงานกับ กศส. ได้อย่างไร? 

หน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. ติดตามการทำงาน กสศ. อยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยได้ร่วมงานกัน ได้รับรู้การทำงานของ กสศ. ที่ทำงานเพื่อพัฒนาการศึกษาในระดับพื้นที่ โดยมี ศน.ที่ได้รับทำงานในเขตพื้นที่ต่าง ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนถึงการได้ร่วมงานกับ กสศ. มาบ้าง 

การเข้าร่วมงานกับ กสศ.อย่างเป็นทางการครั้งนี้ เริ่มต้นที่ อ.แจ็ค รศ.ดร.ธันวิชย์ วิเชียรพันธ์ มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต ได้ประสานงานขอปรึกษาหารือร่วมกัน โดย อ.แจ็ค แจ้งมีความตั้งใจอยากจะพัฒนา ศน. ในพื้นที่ และทราบว่าทางหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. มีโครงการพัฒนา ศน. อยู่แล้ว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยหลักสูตรการนิเทศการจัดการเรียนรู้เชิงรุก และ ศน. ที่ผ่านการอบรมกับทางหน่วยศึกษานิเทศก์ ก็ชื่นชอบ ศน.บอกว่าได้ประโยชน์และเอาไปใช้ได้จริง

อ.แจ็ค ก็เข้ามาคุยแล้วบอกว่าสนใจหลักสูตรของเราและอยากเข้ามาทำงานด้วย โดยมีพูดคุยกันการทำงานในระดับพื้นที่ เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศทางการเรียนรู้ การศึกษา ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของเครือข่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  ผ่านโครงการ TSQP และ TSQM ในพื้นที่ 17 จังหวัด เป็นการนำโครงการที่ กสศ. ดำเนินงานอยู่ มา plug in หลักสูตรการพัฒนา ศน. ร่วมกัน สิ่งที่หน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. สนใจ คือเรื่องระบบนิเวศทางการศึกษา เพราะเห็นว่าเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาผ่านเครือข่ายความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาและพัฒนาในเชิงพื้นที่ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ จะเข้าใจสภาพปัญหาและวิธีการแก้ไขได้ง่ายและตรงจุดมากกว่า เป็นการพัฒนาความร่วมมือในภาพที่กว้างขึ้นจากในห้องเรียน หรือในโรงเรียน และศึกษานิเทศก์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในแต่ละพื้นที่ ก็จะเป็นผู้มีส่วนร่วม เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำการทำงานในระบบนิเวศทางการศึกษาในพื้นที่ได้ 

ครูยุคใหม่เรียนรู้และใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนอยู่แล้ว ศน.จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจและพัฒนาทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีไปพร้อม ๆ กับครู

ความยาก-ง่ายในเรื่องของการปรับหลักสูตรระหว่างสองหน่วยงานมีการปรับกันอย่างไร

เริ่มพูดคุยกับ อ.แจ็ค เรื่องปรับเป็นหลักสูตรใหม่ด้วยกัน แต่เดิมหลักสูตรของหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. มีอยู่  3 หน่วยค่ะ  ในส่วน อ.แจ็ค ก็นำหน่วยที่เกี่ยวกับเรื่องระบบนิเวศทางการศึกษา  มาเพิ่มเติม เชื่อมโยงกันไป เป็นหน่วยที่ 4  มีการประชุมปฏิบัติปรับปรุงหลักสูตรร่วมกัน ปรับระยะเวลา ปรับชื่อหลักสูตรเพิ่มเติม และเตรียมการพัฒนาศึกษานิเทศก์ร่วมกัน

          ส่วนเรื่องบริหารจัดการโครงการ   ก็กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นศึกษานิเทศก์ที่อยู่ในพื้นที่ตามโครงการของ กศส. 17 จังหวัดเป็นหลัก และมีแผนที่จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป นับว่าเป็นโครงการที่ช่วยมาเติมเต็มการพัฒนาที่กระจายลงไปยังเขตพื้นที่ฯ ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้มากขึ้น 

ความสำคัญและความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ศึกษานิเทศก์จะเข้าไปเติมเต็มทักษะครูได้อย่างไรบ้าง ? 

ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมีความสำคัญมาก ครูยุคใหม่เรียนรู้และใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนอยู่แล้ว ศน.จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจและพัฒนาทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีไปพร้อม ๆ กับครู หรือให้มากกว่าครู เพื่อนำมาใช้ในภารกิจการนิเทศ ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาด้านการจัดการเรียนรู้แก่ครู ซึ่งในกระบวนการนิเทศ ศน.จะเรียนรู้ว่าผู้รับการนิเทศ ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด หรือไม่ อย่างไร และปรับใช้ให้เหมาะสมกับผู้รับการนิเทศ  และบทบาทหน้าที่ของ ศน. คือการนำสิ่งใหม่ ๆ ที่ครูอาจจะยังไม่รู้ เช่น สื่อ เทคโนโลยี นวัตกรรม ความรู้ใหม่ ๆ ไปแนะนำให้กับครู เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต่อไป   

งานของศน. = ภาระเพิ่มให้ครู 

              เป็นข้อความที่ค่อนข้างหนักใจสำหรับศน.ค่ะ  ในมุมมองพี่นะ งานนิเทศ คือการไปให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือ เรื่องการจัดการเรียนการสอน ในสิ่งที่เป็นปัญหาของครู สิ่งที่ครูไม่เข้าใจ หรือครูทำไม่ได้  รวมถึงการไปเสริมพลัง ให้กำลังใจ ให้ความมั่นใจในการทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพของครูเพื่อพัฒนาผู้เรียน เช่น ศน. ไปร่วมนิเทศสังเกตชั้นเรียน ร่วมพัฒนา/ปรับปรุงแผนจัดการเรียนรู้  ร่วมออกแบบ/ปรับปรุงกิจกรรมการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล ฯลฯ  อันนี้ ถ้าผู้รับการนิเทศยังเห็นว่ามีความสำคัญและยินดีให้ศน.ไปช่วยเหลือ  ก็ไม่น่าจะเป็นการเพิ่มภาระ

             นอกจากนี้ ยังมีงานอีกส่วนหนึ่งที่ ศน.ในแต่ละเขตพื้นที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ และอาจจะถูกมองว่าเป็นงานที่เพิ่มภาระให้ครู เช่น งานสำรวจ ตอบแบบสอบถาม เก็บข้อมูล  งานโครงการพิเศษ โครงการเร่งด่วน  ซึ่งทำให้ ศน.ถูกมองว่า ไปเพิ่มภาระให้ครู /ไปเก็บข้อมูลมากมาย  ซ้ำซ้อน  ประเด็นนี้ ศน.ก็ต้องปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้ได้ข้อมูลกลับมาตอบให้ต้นเรื่องที่สอบถามมา  แต่ผลกระทบที่ศน.ได้รับ คือ ส่วนหนึ่งถูกมองว่าไปเพิ่มภาระให้ครู  โดยส่วนตัว คิดว่า งานทุกงานมีความสำคัญ แต่ละคนมีบทบาทหน้าที่ที่ต้องทำตามที่ได้รับมอบหมาย เราต่างก็ทำตามหน้าที่กันและกัน ถ้า ศน.ไม่ทำงานต่าง ๆเหล่านี้ ก็อาจจะไม่บรรลุเป้าหมาย จึงขอทำความเข้าใจร่วมกันด้วย

มีแผนการทำความเข้าใจปัญหานี้บ้างไหม

ในการปฏิบัติงานของ ศน. มันจะมีกรอบการทำงานอยู่ แต่ว่าในทุกปีเราจะสร้างความเข้าใจให้ ผอ.กลุ่มนิเทศ ในกลุ่มนิเทศจะมี ศน. ทำหน้าที่เป็น ผอ. กลุ่มนิเทศ ในทุกเขตอยู่ เราก็จะเชิญมาประชุม Workshop กัน รับทราบนโยบาย วางแผนกันพัฒนางานนิเทศในปีงบประมาณนี้ วางแผนขับเคลื่อนนโยบายลงไปสู่การปฏิบัติเราทำทุกปี เราก็ทำความเข้าใจในระดับ ศน. แต่ระดับที่พี่เข้าใจว่าก็ยังมีมุมมองว่า ศน. ไปแล้วเอางานไปให้ ไปเพิ่มภาระ ก็เป็นมุมมองจากผู้ที่รับปฏิบัติในโรงเรียนในห้องเรียนก็เข้าใจเขาได้ เพราะมันก็เหมือนเพิ่มงานจริง ๆ ไปตามข้อมูล ไปขอให้กรอกข้อมูล ไปขอให้ทำเอกสารบ้าง เป็นภาระงานเกี่ยวกับชั้นเรียนและเป็นสิ่งที่ครูกับนักเรียนได้รับประโยชน์ บางหัวข้อเป็นการขอข้อมูลด้านการบริหารจัดการ หรือจะเป็นนโยบายที่เป็นคำสั่งจากส่วนกลาง ความไม่เข้าใจระหว่างกันตรงนี้ก็ต้องอาศัยเวลาและพยายามทำความเข้าใจกันไป

แนวคิดที่เกิดเป็นประเด็นในโลกออนไลน์ ว่า ป.โท และ ป.เอก เป็น ศน. ได้จะอุดหรือแก้ปัญหาได้อย่างไร?

             ที่ผ่านมา จากการเปิดรับสมัครครูเข้ามาเป็นศน.ครั้งล่าสุด มีผู้สมัครน้อย หรือบางเขตก็ไม่มีเลย หลายเขตที่เปิดรับสมัครก็เสียดาย ประกอบกับมีข่าว ประเด็น “เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ผู้ที่จบ ป.โท หรือ ป.เอก ที่ไม่ได้เป็นครูมาก่อน แต่มีความเชี่ยวชาญทางการสอน มาเป็น ศน.ได้” 

แรก ๆ ก็แอบกังวล ที่กังวลเพราะเรารู้ว่าถ้าเป็น ศน. แล้วไม่เคยสอนในห้องเรียนมาก่อน จะไม่รู้ว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนเป็นอย่างไร น่าจะยากมาก ๆ ในการไปนิเทศ ช่วยเหลือ พัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้กับครูผู้สอน แต่ถ้าจะมาไปเป็น ศน. เพื่อช่วยเหลือแนะนำครูเรื่องอื่นๆ เช่น นิเทศโครงการ นิเทศกิจกรรม ที่ไม่ต้องลงลึกไปเรื่องการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนก็อาจจะได้ในภารกิจนั้น ๆ  

           คงต้องรอความชัดเจนค่ะ ความเห็นส่วนตัวในขณะนี้ หากผู้สนใจสมัครเป็น ศน. ไม่ได้เป็นครูในสังกัด สพฐ. แต่เป็นครูในสังกัดอื่น ๆ หรือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือถ้าจะมีคำอธิบายขยายตามความให้เราเข้าใจว่าไม่ได้เป็นครู สพฐ. มาก่อนแต่เป็นครูสังกัดอื่น ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญทางการสอนมาแล้ว ก็น่าจะทำหน้าที่ศน. ได้  ถือเป็นแนวคิดการพัฒนาบุคลากรกลุ่มนี้ให้กว้างขึ้น เปิดโอกาสให้มีผู้สนใจเข้าสู่สายงานศึกษานิเทศก์ได้มากขึ้น   

มีอะไรจะฝากถึงคนที่จะเข้ามาเป็น ศน. และที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบันบ้าง?

สำหรับท่านที่จะเข้ามาเป็น ศน.ใหม่ ก่อนอื่นก็ต้องขอบคุณและก็ยินดีต้อนรับเข้าสู่วิชาชีพศึกษานิเทศก์ จริง ๆ ศน. เป็นอาชีพที่เสียสละมาก ๆ เพราะว่าภารกิจของ ศน. ถ้าดูตามบทบาทหน้าที่อาจจะมีไม่กี่ข้อ แต่ภารกิจหน้างาน ที่ต้องปฏิบัติจริงๆ ในเขตพื้นที่การศึกษา จะเยอะมาก งานวิชาการทั้งหมดจะลงไปที่กลุ่มนิเทศ และยังมีงานที่ได้รับมอบหมายอื่น ๆ ด้วยถือว่าน้อง ๆ ที่เข้ามาเป็นศึกษานิเทศก์ เป็นผู้ที่มีใจให้กับงานนิเทศ  เคยได้ยินน้อง ๆ บางคนพูดว่าเลื่อมใสศรัทธาใน ศน. จากการที่เขาเห็นตัวอย่างของพี่ ๆ ศน. เขาเห็นวิธีการทำงาน รูปแบบการทำงานของศึกษานิเทศก์ที่ช่วยเหลือครูจริง ๆ เป็นสิ่งที่ต้องขอบคุณน้อง ๆ ที่มาสานต่อวิชาชีพของเรา

ส่วนท่านที่มีความสนใจ ที่ยังไม่เข้ามาในสู่ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ถ้าอยากจะเชิญชวนให้ลองใช้ความรู้ความสามารถ ปรับเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านพัฒนาการศึกษา และมีใจรักในตำแหน่งศึกษานิเทศก์อย่างจริงจัง ก็อยากจะเชิญชวนค่ะ  แต่ขอทำความเข้าใจในบริบทและความเปลี่ยนแปลงจากครูผู้สอน จะเปลี่ยนวิถีมาเป็น ศน. ที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการทำงาน  สถานที่ทำงาน  รูปแบบการทำงาน ผู้ร่วมงาน ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนรู้ไปด้วยกัน  

อีกส่วนหนึ่ง ที่อยากจะเชิญชวนก็คือ ท่านที่มีความรู้ความสามารถด้านวิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพงานวิชาการ เรื่องการเรียนการสอน การบริหารจัดการ ผ่านการวิเคราะห์ วิจัย เพราะในบทบาทหน้าที่ของ ศน. ต้องมีการวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนาสื่อนวัตกรรมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ถ้าท่านใดที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการวิเคราะห์ วิจัย  ต้องการพัฒนาความรู้ความสามารถให้กว้างมากยิ่งขึ้น สามารถพัฒนาได้ในตำแหน่ง ศน. ก็อยากจะเชิญชวนให้มาร่วมวิชาชีพศึกษานิเทศก์ด้วยกัน ศน.รวิภัทร เหล่าคุ้ม กล่าวทิ้งท้ายก่อนที่จะกลับเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ดูแลการอบรมศึกษานิเทศก์แกนนำ ที่กำลังเรียนรู้ด้วยความมุ่งมั่นในหลักสูตรการนิเทศ การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning ) และระบบนิเวศทางการศึกษาสู่สมรรถนะของผู้เรียน ตามความร่วมมือของ กสศ.และหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. ที่จัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 3 ของในปีนี้และจะจัดต่อเนื่องไปในรุ่นที่ 4  ณ จังหวัดเพชรบูรณ์ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม…

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า