‘สนามพลังบวก’ คือหนึ่งในแนวคิดที่เป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบ โดยถูกไม่กำหนดกรอบการเรียนรู้ให้อยู่แค่ภายในห้องเรียน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดและเด็กมีโอกาสแสวงหาความเข้าใจตนเอง ด้วยนวัตกรรม 3 อย่างคือ กระบวนการ ‘จิตศึกษา’ แนวทางการสอนผ่าน ‘การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน’ (Problem – based Learning : PBL) และ ‘ชุมชนแห่งการเรียนรู้ของครู’ (Professional Learning Community : PLC) โดยสิ่งเหล่านี้ควรทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง
คำบอกเล่าของผู้บุกเบิกเส้นทางการเรียนการสอนรูปแบบใหม่
“เราเริ่มต้นพัฒนาการเรียนการสอนในระบบนี้มาตั้งแต่ปี 2552 เริ่มต้นที่โรงเรียนลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ก่อนขยายผลไปยังโรงเรียนต้นแบบ โรงเรียนเครือข่าย ซึ่งการจะทำให้เกิดพลังการเปลี่ยนแปลงได้ต้องทำให้ได้ 400-500 โรงเรียนต้นแบบและขยายไปยังโรงเรียนลูกข่าย ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร”
อ.วิเชียร ไชยบัง กล่าวไว้
ปัจจุบันมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนากลายเป็น 1 ใน 5 หน่วยวิชาการสำคัญที่มาร่วมช่วยพัฒนาเติมความรู้ให้กับโรงเรียน ในพื้นที่เป้าหมาย 288 โรงเรียน ครอบคลุม 35 จังหวัด ผ่านการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา โดยกสศ.มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องทั้งระบบโรงเรียน และครูเกิดการเตรียมพร้อมให้แก่เด็กในศตวรรษที่ 21
โรงเรียนไร้กรอบทางความคิดและเสียงออด
การเรียนรู้ควรเกิดการออกแบบร่วมกัน นักเรียนมีโอกาสเป็นผู้เลือกเรียนรู้จากสิ่งที่ตนเองสนใจ โดยมีครูเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในชั้นเรียน และทุกคนมีความสุขจากการเป็นส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ PBL จึงมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนซึ่งได้ผลเป็นที่ยอมรับและกำลังถูกขยายผลต่อยอดไปสู่โรงเรียนแห่งอื่น ด้วยเป้าหมายเพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกันตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นจริง
จนกระทั่งที่นี่ถูกเรียกว่า ‘โรงเรียนนอกกะลา’ จากแนวคิดการไม่มีกรอบทางความคิด และมีความเชื่อว่า
“เราจะทำทุกอย่างไม่ให้เด็กรู้สึกว่าถูกบังคับ เราจะไม่มีเสียงออด เสียงระฆัง โดยสร้างวิถีที่เป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เด็กต้องกำกับตัวเองให้ได้ในแต่ละช่วงเวลา ว่าเวลานี้จะทำอะไร เวลานี้ต้องหยุด สร้างความสม่ำเสมอจนมีเซนส์เรื่องเวลา กำกับตัวเองโดยไม่ต้องมีใครมาบอกว่าใกล้เวลาเข้าแถว เข้าห้องเรียนแล้ว”
อ.วิเชียรกล่าว
และอาจารย์ยังพูดเสริมอีกว่า
“ตัวแปรที่สำคัญคือโรงเรียน ผู้บริหาร ระบบราชการที่มีวิธีคิดอีกแบบ ซึ่งเราต้องเข้าไปช่วยเขาพัฒนา ปลุกเขาให้ตื่น เพราะแต่ละคนใช้เวลาไม่เท่ากัน และเมื่อตื่นแล้วค่อยช่วยสร้างทักษะให้เขาเพื่อเปลี่ยนแปลงโรงเรียนอย่างสิ้นเชิง เกิดเป็นโรงเรียนที่ดี คาดว่าประมาณสองปีจะสามารถเห็นผลได้แบบหน้ามือเป็นหลังมือเลย”
นวัตกรรมแห่งการพัฒนา ‘ปัญญาภายใน’
สิ่งแรกที่เป็นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและครูคือ ‘จิตศึกษา’ โดยมุ่งเน้นการพัฒนา ‘ปัญญาภายใน’ ทำให้ผู้เรียนเข้าใจและเริ่มตั้งเป้าหมายของตัวเองได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กระบวนทัศน์ที่ต้องทำให้ครบโดยเริ่มจากการสร้าง ‘สนามพลังบวก’ ของครูให้แก่นักเรียนเป็นอันดับแรก เมื่อพวกเขารู้สึกปลอดภัย แล้วมีสภาพทางกายภาพที่ดีและสะอาด เป็นส่วนช่วยทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับลูกศิษย์ พร้อมเกิดความเคารพซึ่งกันและกัน
จากนั้นครูต้องใช้ ‘จิตวิทยาเชิงบวกกับเด็ก’ โดยการมองหาสิ่งที่ควรลดหรือไม่ทำ รวมทั้งสิ่งที่ควรทำเพิ่มบนพื้นฐานการเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันของเด็ก เช่น การเปรียบเทียบหรือจัดอันดับ การชื่นชม การไว้วางใจต่อเขา เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยเสริมให้สมองส่วนกลางของเด็กรู้สึกปลอดภัย เมื่อเขารู้สึกได้รับเกียรติและมีคุณค่าพอที่จะเรียนรู้ได้เทียบเท่ากับเพื่อนทุกคน
สุดท้ายคือการใช้ ‘กิจกรรมจิตศึกษา’ โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ภายใน 20 นาทีแรกก่อนเข้าเรียน เริ่มจากการสร้างสภาวะจิตให้แก่เด็กของครู เช่น บริหารสมอง (เบรน ยิม) หรืออะไรก็ตามเพื่อสร้างสติภายใน 2-5 นาที แล้วให้เด็กไตร่ตรองและสะท้อนมุมมองถึงสิ่งที่ได้สัมผัสไป เพื่อให้สมองส่วนหน้าได้คิดวิเคราะห์และตัดสินใจเลือกทำอะไรบางอย่าง จากนั้นปิดท้ายด้วยการสร้างเสริมพลังบวกให้แก่เด็ก ๆ
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวมุ่งไปสู่เป้าหมาย 3 ระดับคือ ฝึกให้เด็ก ‘เกิดความชำนาญ มีสติ และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง’ ตลอดเวลา แล้วยังช่วยให้เด็กความสามารถตัดสินใจเลือกเชิงจริยธรรมได้ เป็นแนวทางในการใช้ชีวิตและเป้าหมายระดับสูงคือการฝึกให้เด็กเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นจริงในแบบของสิ่งนั้นโดยไม่ถูกตัดสินถึงความดีเลวใด ๆ
“การฝึกอย่างนี้สัก 200 วัน โครงสร้างสมองย่อมเปลี่ยน มีภาวะการใคร่ครวญ สูงมาก เขาจะเลือกตัดสินใจอะไรด้วยความระมัดระวัง ดูผลกระทบ เขาจะพบตัวเอง เป้าหมายคือการทำให้เขาปฏิบัติต่อสิ่งที่เข้ากระทบตัวเองอย่างไร ดำเนินชีวิตอย่างไรให้ไม่เบียดเบียนคนอื่น คอนเซ็ปต์ทั้งหมดสามารถใช้ได้กับนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึง ม.3 แต่ก็จะแตกต่างไปในลักษณะกิจกรรมที่เป็นไปตามวัย”
อ.วิเชียร อธิบายผลลัพธ์
เมื่อทุกการเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก
การเสริมสร้าง ‘ปัญญาภายนอก’ ควรเป็นสิ่งที่ถูกใช้ควบคู่กับปัญญาภายใน และสิ่งนี้สามารถเพิ่มทักษะแก่นักเรียนได้จากการแก้ไขปัญหา เพราะฉะนั้น ‘PBL’ จึงเป็นกระบวนการที่เหมาะสมกับขั้นตอนนี้และใช้วิธีการแบบ Active Learning เข้ามาช่วยเน้นให้เด็กเกิดความเข้าใจโลก เข้าใจในศาสตร์ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตหรือเกิดทักษะสำหรับการทำงานในอนาคต
รวมถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ครูหรือ ‘PLC’ ก็ส่งผลต่อนักเรียนเช่นกัน ดังนั้น สิ่งนี้จึงถูกพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและใช้ได้ผลในโรงเรียน โดยมีปัจจัย 2 ส่วน ได้แก่ ปัจจัยเกื้อหนุนคือการมีสถานที่สะอาดปลอดภัย มีวิถีวัฒนธรรมใหม่ รวมถึงวิธีการทำให้คนเกิดปฏิสัมพันธ์ต่อกันและต่อสิ่งแวดล้อม ต่อมาเป็นปัจจัยเรียนรู้คือการมีกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกันหลากหลายแบบ ตั้งแต่การถอดบทเรียน Lesson study, Case study ไปจนถึงการทำ System study ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้จำเป็นต้องฝึกทักษะครูก่อนจึงจะสำเร็จได้ โดยเฉพาะด้านการรับรู้และกำกับตัวเองของครูผ่านด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น Deep Listening, Dialogue รวมไปถึงทักษะการเป็น กระบวนกร หรือ Facilitator หากครูสามารถเข้าใจเรื่องเหล่านี้จะช่วยทำให้ PLC ขับเคลื่อนครูให้เก่งและถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนได้ดียิ่งขึ้น
ประโยคที่กล่าวว่า ‘เมื่อครูเปลี่ยนเด็กก็เปลี่ยน’ ของอ.วิเชียร แสดงผลลัพธ์ทันทีหลังจากทดลองใช้นวัตกรรมทั้งหมดในโรงเรียน สามารถเห็นได้จากการที่เด็กขาดเรียนน้อยลง จนถึงขั้นไม่ขาดเรียน ต่อมาพวกเขาสนิทกับครู รักครู และเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น เริ่มกำกับตัวเองให้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่เรียน ทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเรียนของเด็กนั้นสูงขึ้น
“ถ้า PLC ได้ผลทุกอย่างจะเปลี่ยนหมดซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นการเปลี่ยนแปลง ครูเริ่มตื่นรู้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้นไม่ถูกกับเด็ก ไม่ถูกกับวิธีการจัดการเรียนรู้ของมนุษย์ หลังจากนั้นจะเห็นความพยายามเปลี่ยนวิธีการจัดการของตัวเองโดยใช้ PLC เป็นตัวช่วย เขาเริ่มมีความเป็นครูแบบ Active Learning และเข้าใจเด็กมากขึ้น เริ่มวางการสอนน้อยลง เปลี่ยนเป็นสร้างการเรียนรู้ที่มากขึ้น มองเห็นได้ชัดเจนจากที่ไปมาทุกโรงเรียนสัมผัสได้”
อ.วิเชียรกล่าว
ในอนาคตสิ่งที่ควรถูกเน้นย้ำอาจไม่ใช่แค่เรื่องผลการเรียนอีกต่อไป แต่เป็นทักษะการเรียนรู้ร่วมกันต่อเนื่อง เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้ใช้ตลอดชีวิต หากใครอยากวัดผลสัมฤทธิ์ด้านอื่น ๆ อีกก็ย่อมได้เช่นกันแต่ควรสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นก่อน เพราะถ้ามีทักษะเรียนรู้ร่วมกันตลอดเวลาทุกอย่างก็จะปรับได้ตามถานการณ์
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงด้วยการจัดการร่วมกันของทุกคนถือเป็นเรื่องสำคัญซึ่งช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดให้เกิดขึ้นได้ ดังคำกล่าวของอ.วิเชียร “เมื่อมนุษย์รักการเรียนรู้ร่วมกัน ก็จะเห็นความเข้าใจจริงต่อสิ่งต่าง ๆ ความเหลื่อมล้ำก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ตอนนี้มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้เท่าเทียมกันเพราะคุณภาพการจัดการเรียนรู้ไม่เท่ากัน”
1,633
Writer
- สโรชา เอิบโชคชัย (เมย์)
- นัก(อยาก)เขียนที่ชอบท่องโลกกว้างผ่านความจริงและตัวหนังสือ