“ตลาดควนมีด” แนวทางสร้างรายได้ชุมชน เสริมทักษะนักเรียนไทย

สำรวจวิธีการของโรงเรียนชุมชนบ้านควนมีด ทำอย่างไรให้นักเรียนสามารถสร้างรายได้ จากการสอนแบบ "โครงงานฐานวิจัย"

Share on

 777 

“ตลาดควนมีด” แนวทางสร้างรายได้ชุมชน เสริมทักษะนักเรียนไทย

ปัญหาการศึกษามีอยู่หลากหลายมิติ หนึ่งในมิติเหล่านั้นคือเรื่องของ ‘ฐานะครอบครัวของนักเรียน’ ที่เป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน กระจายทั่วทุกภาคในประเทศ และประกอบกับวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้หลายโรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ อีกทั้งครอบครัวของนักเรียนหลายคนก็ไม่สามารถทำมาค้าขายได้ตามปกติ จากเดิมที่มีปัญหาอยู่แล้ว ก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก

ในฐานะหน่วยงานการศึกษา จะทำอย่างไรให้นักเรียนได้ความรู้ และครอบครัวของนักเรียนได้รับการเยียวยา? 

โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ในความดูแลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมแก้ไขปัญหาการศึกษา และปัญหาของครอบครัวนักเรียน ผ่านการวางโครงสร้างการเรียนรู้แบบใหม่ และการสนับสนุนให้โรงเรียนสร้างนวัตกรรม เพื่อช่วยเหลือนักเรียนและครอบครัว ในช่วงวิกฤต COVID-19 นี้ บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจกระบวนการของโครงการ TSQP และผลความสำเร็จของโครงการนี้ นั่นคือ “ตลาดควนมีด” ของโรงเรียนชุมชนวัดควนมีด จังหวัดสงขลา

กลไกแก้ปัญหาของโครงการ TSQP

โครงการ TSQP มุ่งเน้นให้โรงเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้ทั้งระบบ เพื่อให้โรงเรียนไม่ต้องพึ่งหน่วยงานส่วนกลาง โดยร่วมมือกับคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาท้องถิ่น จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้บริหารและครูของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ TSQP เพื่อให้ครูสามารถปรับวิธีการเรียนรู้ของเด็ก เสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง เน้นพานักเรียนออกมาสร้างองค์ความรู้ และชิ้นงานของตนเอง ซึ่งจะทำให้เขานำสิ่งเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน​ได้ ปัจจุบันโครงการนี้ดำเนินการมาแล้วกว่า 2 ปี กระจายไปในหลายท้องถิ่นทั่วประเทศ มุ่งเน้นพื้นที่ห่างไกล ให้นักเรียนในทุกท้องถิ่นได้รับคุณภาพการศึกษาที่ดียิ่งขึ้น

กรณีศึกษา ความสำเร็จของโรงเรียนชุมชนบ้านควนมีด

“โรงเรียนชุมชนบ้านควนมีด” ต.คลองเปียะ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นโรงเรียนหนึ่งในโครงการ TSQP ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

 

ผลกระทบนี้ไม่ได้เกิดแค่กับเรื่องกระบวนการการศึกษา แต่ด้วยผลจากการหดตัวของเศรษฐกิจไทย ทำให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านควนมีดต้องลำบากขึ้นกว่าเดิมจากสถานการณ์ยางพาราตกต่ำ จนรายได้แต่ละครอบครัวลดลงไปอย่างมาก และเมื่อรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ต่างคนต่างต้องอยู่กับบ้าน กระทบกับการเดินทางไปทำงาน ยิ่งทำให้สถานการณ์ของแต่ละครอบครัวย่ำแย่ลง  

 

สุพล บทจร ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดควนมีด เห็นปัญหาดังกล่าวนี้ จึงใช้องค์ความรู้ที่ได้จากโครงการ TSQP สร้างแนวคิดพัฒนาพื้นที่ซื้อขายออนไลน์ของชุมชน นั่นคือ “ตลาดควนมีด online” ให้เป็นที่รวมตัวของคนซื้อและคนขาย คนซื้อหาของได้ง่าย ครบ ในที่เดียว ส่วนคนขายก็สามารถประกาศขายได้อย่างสะดวกผ่านช่องทางออไลน์​ จากนั้นจึงได้ลองนำ “ผลิตภัณฑ์” ของนักเรียนที่มาจากโครงงานฐานวิจัย ​มาลองวางตลาดออนไลน์เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองที่มีแต่รายจ่ายในช่วงเวลาดังกล่าว

“ตลาดควนมีด Online” จึงเป็นทั้งพื้นที่ซื้อขายของชาวบ้านควนมีด และยังเป็นสนามฝึกปฏิบัติงานให้เด็ก ๆ ได้ลงมือเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านธุรกิจออนไลน์ได้โดยตรง ตั้งแต่การทำบัญชี ต้นทุน รายรับรายจ่าย ไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สอดรับกับความต้องการของลูกค้า

นักเรียนมีพื้นฐานที่ดีจากการ “คิดเป็น ทำเป็น”

ก่อนหน้านี้โรงเรียนชุมชนวัดควนมีดได้นำรูปแบบการเรียนการสอนแบบ “โครงงานฐานวิจัย” จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ร่วมมือกับโครงการ TSQP มาประยุกต์ใช้สอนนักเรียนร่วมกับหลักสูตรปกติ โดยหลักสำคัญของการใช้โครงงานฐานวิจัยคือการสอนให้นักเรียนรู้จักตั้งคำถาม ทดลอง ประดิษฐ์ และหาคำตอบด้วยตัวเอง

กระบวนการโครงงานฐานวิจัย นอกจากจะเป็นการสอนแบบ Active Learning ที่ช่วยทำให้เด็กได้พัฒนาความคิดวิเคราะห์ แทนการท่องจำแบบเดิม ๆ แล้ว ผลลัพธ์อีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ​เด็ก ๆ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่คิดเอง และลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองจากวัสดุในท้องถิ่น

เปิดชมรมต่อยอดผลิตภัณฑ์ สร้างเสริมทักษะธุรกิจ

เพื่อเป็นการต่อยอดการดำเนินการของโครงการนี้ ทางโรงเรียนได้เปิดชุมนุมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สู่ตลาดออนไลน์  โดยนำผลิตภัณฑ์ของนักเรียนจากระดับชั้นต่าง ๆ มารวมกันและคิดค้นต่อยอดเพิ่มเติมเพื่อนำไปจำหน่ายในวงกว้าง  

“น้องออโต้ – วรวิทย์​ ทองไชย” นักเรียนชั้น ป.5 ในฐานะประธานชมรม เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันมีนักเรียนในชมรมกว่า 20 คน ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักเรียนชั้นต่าง ๆ ที่ชอบการเรียนในโครงงานฐานวิจัยที่นำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จากสิ่งที่ของที่มีอยุ่ในชุมชน เช่น สบู่ใบบัวบก สบู่อัญชัน ยาหม่องอัญชัน ​​ซึ่งทุกอย่างอยู่รอบตัว สามารถสืบค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต โดยมีคุณครูคอยให้คำปรึกษา

เด็ก ๆ จะลงไปสำรวจชุมชน สำรวจสภาพแวดล้อมทั่วไปเพื่อให้เกิดความคิดที่หลากหลายขึ้น แล้วนำมาคิดค้นพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งของกิน ของใช้ ต่อยอดจากของที่มีอยู่ในชุมชน เช่น บางคนสนใจ​เรื่องใบบัวบกที่มีอยู่ทั่วไปในท้องถิ่นก็ไปลองค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่านอกจากน้ำใบบัวบกแล้วยังทำอะไรได้อีกบ้าง

​เมื่อเห็นว่าใบบัวบกสามารถนำมาทำสบู่ได้​ เด็ก ๆ ก็จะนำมาพูดคุยวางแผนการทำงาน ว่าใช้วัสดุอะไร ขั้นตอนทำเป็นอย่างไร โดยมีครูประจำชั้นมีส่วนช่วยผลักดัน ให้ได้เด็กทดลองทำด้วยตัวเอง ครั้งแรกอาจยังไม่สำเร็จ ก็ต้องมาคุยว่ามีปัญหาตรงไหนบ้างและปรับแก้ สบู่ที่ทำครั้งแรกยังเหลวไม่เป็นก้อน ก็ต้องมาปรับส่วนผสม จนสุดท้ายออกมาเป็นสบู่ที่สวยงาม มีคนซื้อไปใช้แล้วบอกต่อกันว่าดี

ปัจจุบันมีสินค้าของนักเรียนที่พัฒนามาจากโครงงานฐานวิจัยและนำมาวางจำหน่ายที่ตลาดออนไลน์แห่งนี้ ​เช่น ยาหม่องอัญชัน ยาดมสมุนไพร สบู่อัญชัน สบู่ใบบัวบก ​น้ำยาเอนกประสงค์ (ทำมาจากน้ำหมักเศษผักผลไม้)​​ ไว้ล้างห้องน้ำ ล้างจาน สำหรับสินค้าที่ขายดีที่สุดคือยาหม่องอัญชันซึ่งขายไปแล้วเกือบ 300 ขวด

“ถามว่าทำยากไหม ก็ไม่ยาก เราได้ค้นหาด้วยตัวเอง ได้ทำงานเป็นกลุ่ม อย่าง​ยาหม่องอัญชัน ​เราเห็นว่าอัญชันมีสรรพคุณทำให้แก้เมื่อย ใช้ดมได้ เลยลองคิดนำมาทำเป็นยาหม่อง พอทำแล้ววางขายคนสนใจคนสั่งซื้อจำนวนมาก รายได้ที่ได้มาก็นำเอาไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติม”​​

น้องออโต้ กล่าว ผลิตภัณฑ์คุณภาพที่มีพื้นฐานมาจากโครงงานฐานวิจัย ทำให้นักเรียนพึงพอใจ ได้ทักษะติดตัวไปสำหรับสร้างสิ่งที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต ทำให้ครอบครัวของนักเรียนมีรายได้ เพื่อฟื้นฟูตนเองจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ อีกทั้งโรงเรียนยังได้สร้างโครงการที่ประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเป็นกรณีศึกษาสำคัญสำหรับโรงเรียนอื่น ๆ ว่าทุกโรงเรียนต่างก็เป็น “โรงเรียนพัฒนาตนเอง” ได้แบบไม่ยาก 

 778 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

Through 'Psycho-Education,' Children Learn to Think Boldly and Solve Problems Independently
In search of teachers of Kru Rak Thin to fill in the educational gap by bringing them home
Privacy Preferences

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save