เด็กหลายคนจะหลุดออกจากระบบการศึกษา แม้ว่ากฎหมายสามารถช่วยได้ แต่ใครบ้างที่พร้อมเข้ามาแก้ปัญหานี้ พอเรามาเป็นครูแนะแนวเราเห็นปัญหาซ้อนทับกัน ปัญหาเดิมที่เราเคยเจอมาเด็กก็ยังเจออยู่ เราพยายามแก้ไข ให้คำปรึกษา ทำให้เด็กเติบโต แต่สุดท้ายสังคมยังส่งต่อวัฒนธรรม ความคิดความเชื่อแบบเดิม ๆ เราเลยยังแก้ปัญหาในภาพใหญ่ไม่ได้
– ครูศิริพร ทุมสิงห์-
เนื่องในโอกาสที่เว็บไซต์และเพจ I AM KRU มีอายุครบ 1 ปีในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา I AM KRU. จึงขอ “ชวนคุย” ในหัวข้อ “เสียงจากครู” ถึง “ระบบการศึกษาไทย” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครูและนักการศึกษา โดยมีนักการศึกษาร่วมเสวนา 4 ท่าน ประกอบด้วย ครูสัญญา มัครินทร์ (ครูสอญอ) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง มหา’ลัยไทบ้าน อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น อดีตข้าราชการครู, ดร.วรวุฒิ สุภาพ (อาจารย์ปู) อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ดร.อรรฏชนม์ สัจจะพัฒนกุล (อาจารย์คะน้า) ประธานหลักสูตรสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม และผู้ดำเนินรายการ คือ ครูศิริพร ทุมสิงห์ (ครูแจง) ผู้ก่อตั้งเพจ “ก่อการสิทธิเด็ก” อดีตข้าราชการครู
การชวนคุยในครั้งนี้อยู่บนประเด็นหลักคือ “ภาระหน้าที่ของครูที่เกินกำลัง” ปัจจุบันครูไทยไม่ได้มีหน้าที่แค่สอนและพัฒนาศักยภาพของนักเรียน แต่ยังต้องแบกรับภาระงานอีกมากมาย เช่น งานพัสดุ งานบัญชี การจัดทำโครงการต่าง ๆ ตามที่ส่วนกลางกำหนด รวมถึงการเตรียมตัวเพื่อวัดประเมินคุณภาพของครูแบบที่ไม่ได้พิจารณาที่คุณภาพห้องเรียน จึงชวนทุกท่านร่วมกันหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดครูจึงต้องรับหน้าที่เหล่านี้ และทำไมปัญหาการศึกษายังไม่หมดไป ด้วยความหวังว่าเสียงเหล่านี้จะส่งไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่สามารถกำหนดทิศทางการศึกษา และให้ทุกคนในสังคมร่วมกันเป็นกระบอกเสียงเพื่อการศึกษาไทยที่ดีขึ้น
“ระบบคอขวด” จากส่วนกลาง
จำกัดความสามารถทั้งครูและนักเรียน
ประเด็นแรกที่นักการศึกษาทุกท่านเห็นตรงกันว่าเป็นปัญหาฝังรากลึก คือ นโยบายจากส่วนกลางและวัฒนธรรมที่ถูกส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่อดีต รัฐใช้โรงเรียนเป็นเครื่องมือสร้างพลเมืองในอุดมคติของรัฐผ่านกลไกที่รัฐออกแบบไว้แล้ว โดยที่ครูในโรงเรียนไม่สามารถตั้งคำถามกับกระบวนการสำเร็จรูป หรือทำสิ่งที่อยู่นอกกรอบของส่วนกลางได้ ครูจึงไม่สามารถสร้างสรรค์ห้องเรียนของตัวเองได้อย่างเต็มที่ หลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงว่าส่วนกลางไม่ไว้วางใจการทำงานของครู คือนโยบายการประเมินวิทยฐานะ ที่บังคับให้ครูต้องทำเอกสารจำนวนมาก และเรียนหลักสูตรเสริมตามที่กำหนดเพื่อเก็บเกียรติบัตรไว้เป็นหลักฐานว่าครูได้พัฒนาตัวเองในแบบที่รัฐต้องการ
“กระบวนการแบบนี้มาจากการที่รัฐไม่ไว้วางใจในโรงเรียนและการออกแบบการสอนของครู จึงต้องมีตัวชี้วัดต่าง ๆ และมาตรวจสอบ ถ้ากระทรวงไว้วางใจ กระทรวงจะให้ครูอยู่กับห้องเรียนและสอนหนังสืออย่างเดียว หน้าที่ของครูมีแค่ส่งต่ออุดมการณ์ของรัฐโดยใช้แบบประเมิน ตัวชี้วัด การกำหนดหลักสูตรที่แข็งตัว และกรอบการใช้งบประมาณจากรัฐ” ดร.วรวุฒิกล่าว
ส่วนวัฒนธรรมที่ถูกส่งต่อในระบบการศึกษา เมื่อมองเป็นภาพใหญ่จะเห็นการรวมศูนย์อำนาจในการทางเมือง จะเห็นว่าการดำเนินการต่าง ๆ ต้องผ่านการตัดสินใจจากส่วนกลาง การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและคนอื่น ๆ เป็นเพียง “กระบวนการเชิงพิธีกรรม” มีการให้มาเจอกันเป็นครั้งคราวเท่านั้น ไม่สามารถร่วมสร้างสรรค์การเรียนรู้ของเด็กไปด้วยกันตั้งแต่จุดเริ่มต้น อีกทั้งผู้ปกครองที่สามารถสละเวลามาเข้าร่วมกับโรงเรียนจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มที่มีฐานะ ในขณะที่ผู้ปกครองกลุ่มที่ไม่มีฐานะไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้เพราะคุณภาพชีวิตไม่เอื้ออำนวย ไม่สามารถแบ่งเวลาทำงานเพื่อมาโรงเรียนได้ แสดงถึงความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นมิติทางการเมือง การศึกษาจึงเป็นภาพสะท้อนของการใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง
“การศึกษาไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างแรงงานให้บริษัทใหญ่ ๆ หรือนายทุน อย่างคำถามง่าย ๆ ที่สังคมเราพูดกัน จบมาทำอะไร? จบมาแล้วเรียนอะไรต่อ? ไม่เคยมีใครถามว่าจบมาแล้วได้ทำตามความฝันของตัวเองมั้ย เรียนแล้วได้มีความเป็นมนุษย์เต็มศักยภาพหรือไม่ เพราะคำถามเหล่านี้อยู่ในระบอบเสรีนิยม นักการศึกษาจึงต้องมีพลวัตทางความคิดที่มองเห็นประเด็นในเชิงการเมืองในการศึกษาด้วย
และในขณะเดียวกัน เราเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดถึงความจริงว่าการศึกษาเป็นเรื่องของการเมือง จะบอกว่ามันไม่มีการเมืองเป็นไปไม่ได้ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษามาจากพรรคการเมือง มีวิธีคิดทางการเมืองทุกคน ทุกครั้งที่ใส่นโยบายต่าง ๆ มาจากการมองแล้วว่าสุดท้ายปลายทางจะเกิดผลอะไร ทำไมครูไทยต้องถูกลดเวลาการสอน แล้วเอาเวลาไปทุ่มกับกระบวนการเชิงพิธีกรรมมากกว่าเรื่องวิชาการ ทั้งหมดเป็นเรื่องของนโยบาย” ดร.อรรฏชนม์ กล่าว
วิชาหนึ่งที่สะท้อนการเมืองได้ชัดเจนที่สุดคือ “วิชาแนะแนว” เนื่องจากเป็นวิชาที่เปิดให้นักเรียนตั้งคำถามกับตัวเอง การพูดคุยถึงตัวตน เพื่อส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน แต่ครูศิริพรเปิดเผยมุมมองในฐานะอดีตครูแนะแนวว่าการศึกษาปัจจุบันไม่สามารถสะท้อนความเป็นประชาธิปไตย
“ครูอยากทำให้เด็กเติบโต แต่ตัวครูเองยังเติบโตไม่มากพอ ครูจึงยังไม่รู้ว่าข้อจำกัดที่มีอยู่นั้นจะทลายได้อย่างไร เด็กหลายคนจะหลุดออกจากระบบการศึกษา แม้ว่ากฎหมายสามารถช่วยได้ แต่ใครบ้างที่พร้อมเข้ามาแก้ปัญหานี้ พอเรามาเป็นครูแนะแนวเราเห็นปัญหาซ้อนทับกัน ปัญหาเดิมที่เราเคยเจอมาเด็กก็ยังเจออยู่ เราพยายามแก้ไข ให้คำปรึกษา ทำให้เด็กเติบโต แต่สุดท้ายสังคมยังส่งต่อวัฒนธรรม ความคิดความเชื่อแบบเดิม ๆ เราเลยยังแก้ปัญหาในภาพใหญ่ไม่ได้” ครูศิริพรกล่าว
ร่วมกันสร้างเครือข่ายการเปลี่ยนแปลง
เมื่อพิจารณาต้นตอของปัญหาการศึกษาแล้ว จึงขอ “ชวนคุย” ว่าเราจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร ซึ่งสามารถสรุปประเด็นจากนักการศึกษาทุกท่านได้ว่า ไม่มีวิธีการที่จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว แต่ต้องทำไปอย่างเป็นขั้นตอน โดยที่ทุกคนต้องรู้หน้าที่ของตัวเองว่าจะสนับสนุนการศึกษาอย่างไร
นักการศึกษาชวนเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงด้วยการ “เปลี่ยนครู” ให้รู้จักมุมมองของตัวเอง ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และแสดงออกถึงความคิดความเชื่อของตัวเองให้ได้ เพราะมุมมองของครูเป็นหัวใจหลักที่จะเปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เมื่อมีครูเป็นตัวอย่าง
ครูสัญญากล่าวว่า “ครูต้องรู้จักตัวเองว่าเราถือคุณค่าและความเชื่ออะไรอยู่ ปรัชญาการศึกษาของเราคืออะไร เมื่อรู้แล้วเราจะเห็นแนวทางตัวเองชัดมากขึ้น เราจะไม่ประนีประนอมเมื่อเรามีความเชื่อ อีกข้อหนึ่งคือต้องลงมือทำจริง พอทำจริงแล้วจะได้ประโยชน์จากการทำ รู้ว่าอะไรเวิร์ค อะไรไม่เวิร์ค เกิดปัญญาจากการปฏิบัติ จากนั้นแบ่งปันสิ่งที่ทำแล้วเวิร์ค เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น”
ครูสัญญาเสนอประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ครูต้องเรียนรู้ใหม่อยู่เสมอ เพราะความสำเร็จเมื่อวานอาจนำมาใช้ในวันนี้ไม่ได้แล้ว ต้องรู้จักเรียนรู้ (learn) เรียนสิ่งเดิมด้วยมุมมองใหม่ (relearn) และไม่ยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ ที่เคยเรียนรู้มา (unlearn) เพื่อที่จะพัฒนาตัวเอง
เมื่อรู้จักและเข้าใจตัวเองแล้ว ต่อมาในขั้นตอนเริ่มต้นลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลง นักการศึกษามองว่า การลงมือทำคนเดียวไม่สามารถทำได้ในระยะยาว และอาจทำให้ครูขาดแรงใจ ขาดพลังบวกที่คอยผลักดันตัวเองให้ไปต่อ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งครูและคนอื่น ๆ ในสังคม ทุกโรงเรียนควรมีครูแบบนี้เพื่อกระตุ้นให้เด็กเห็นว่าตัวเองต้องคิดแบบนี้ให้ได้ และควรหากลุ่มคนที่จะมาร่วมแบ่งปันมุมมอง มีความเชื่อเหมือนกัน มาร่วมกันสร้างเครือข่ายการเปลี่ยนแปลง ระดมความคิดว่าจะออกแบบห้องเรียน วางระบบการเรียนรู้ และส่งต่อทัศนคติต่าง ๆ อย่างไรเพื่อยกระดับการศึกษาให้เป็นพื้นที่เพื่อครูและนักเรียนอย่างแท้จริง
“ทำไมเรายังอยู่ในระบบแบบนี้ได้ ก็เพราะว่าระบบยังต้องการคนแบบนี้ ถ้าเราทุกคนรู้สึกว่าระบบนี้ไม่ดี แล้วหนีไปหาพรรคพวกเดียวกัน ก็จะไม่มีใครชวนเด็กคิด การเปลี่ยนแปลงที่ดีไม่ได้เกิดขึ้นที่ตัวเราเพียงลำพัง แต่ต้องสร้างให้เกิดกับวิธีคิดของเด็กคนอื่น ๆ ต่อ
เราต้องมีแรงบันดาลใจ ถามตัวเองอยู่ตลอดว่าทำอะไรอยู่ เป้าหมายข้างหน้าของเราคืออะไร ถ้าเป้าหมายเรายิ่งใหญ่ เรายอมเจ็บตัวนิดหน่อยแต่เป้าหมายเรายังอยู่ คนอื่น ๆ ก็จะเห็นตัวอย่างว่าเรายังอยู่ได้ คนอื่นจะทำตาม และสิ่งที่สองคือคนกลุ่มนี้ต้องมาเจอกัน มาแชร์บางสิ่งบางอย่างกัน วันไหนที่บาดเจ็บก็มาฮีลใจกัน สร้างแรงใจให้กัน แล้วกลับไปอยู่ในสังคมเดิมให้ได้” ดร.วรวุฒิกล่าว
เปลี่ยนจากวัฒนธรรมเก่า สู่วัฒนธรรมใหม่
หากต้องการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้ดีขึ้น นักการศึกษาเห็นว่าเราต้องเปลี่ยนตั้งแต่ต้นตอ คือการเปลี่ยนจากวัฒนธรรมเดิม ๆ ไปสู่แนวคิดใหม่ ชวนกันเปลี่ยนนโยบายให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อไม่ให้เจอปัญหารูปแบบเก่า ๆ ไม่ต้องถอดบทเรียนในเรื่องเดิมซ้ำ ๆ เหมือนที่ผ่านมา
ดร.อรรฏชนม์ให้มุมมองว่า รัฐไทยควรออกจากกรอบแนวคิดปฏิฐานนิยม (positivism) รัฐให้แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์แบบนี้ตลอด หากย้อนกลับไปในเรื่องของการสะสมเกียรติบัตร เมื่อบุคลากรทางการศึกษาได้รับแนวคิดมาว่าเกียรติบัตรเป็นเครื่องมือในการแสดงความสามารถ จึงใช้วิธีเดียวกันในการประเมินนักเรียนเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย โดยให้นักเรียนยื่นแฟ้มสะสมเกียรติบัตร ซึ่งไม่เป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริงจากการเรียนการสอน กระบวนการในห้องเรียนจึงถูกปล่อยผ่าน แล้วมุ่งไปให้ความสำคัญกับอย่างอื่นมากกว่า
“สุดท้ายเราต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมให้เป็นวัฒนธรรมใหม่ เปลี่ยนเป็นการเรียนรู้แบบใหม่ ให้สอดคล้องไปกับโลกที่เปลี่ยนแปลง เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของอนาคต ไม่มีใครทำการศึกษาย้อนหลัง ทุกประเทศ ทุกสังคม มองไปถึงอนาคต ถ้ายังเอาวัฒนธรรมแบบเดิมมาจับการศึกษา ก็ไม่ไปถึงไหน ครูดี ๆ ก็พากันหมดไฟแล้วลาจากกันออกมา ชุมชนการเรียนรู้ของครูแตกสลายลง เพราะวัฒนธรรมแบบเดิม”
การเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมที่เป็นรากของการศึกษา จะต้องใช้เสียงที่มีพลังที่สุด แน่นอนว่าไม่มีใครรู้ปัญหาของครูได้ดีไปกว่าตัวครูที่ต้องเผชิญกับการถูกกดขี่มาโดยตลอด ดังนั้น นักการศึกษาจึงชวนครูให้ออกมาส่งเสียงถึงส่วนกลางว่าควรยกเลิกนโยบายใดบ้างเพื่อไม่ให้ครูอึดอัด และชวนให้ช่วยกันตรวจสอบการทำงานของส่วนกลาง มีความคิดเชิงวิพากษ์ ไม่อดทนอยู่ในวัฒนธรรมเก่า แทนที่จะให้คนนอกระบบ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ถูกกระทำจริง ๆ เป็นผู้ส่งเสียงแทนอย่างที่เคยเป็นมา
ดร.วรวุฒิฝากกำลังใจถึงครูรุ่นใหม่ “เราเห็นครูรุ่นใหม่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงเยอะในช่วง 4-5 ปีหลังมานี้ ครูรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาทำอะไรที่กินใจเด็ก ทำให้เด็กจดจำ และนำไปสู่ความคิด การตั้งคำถาม การเปลี่ยนแปลงตัวเอง ครูรุ่นใหม่เหล่านี้คือความหวัง พี่ต้องดูแลน้องให้สามารถเติบโต และเป็นเพื่อนร่วมทางในการเปลี่ยนแปลงการศึกษา จากกลุ่มเล็ก ๆ ขยายขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่าถอดใจไปก่อน กล้วยไม้ออกดอกช้าฉันใด การเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยต้องหวังต่อไปในอนาคต ให้เกิดขึ้นในมือของครูรุ่นใหม่”
และปิดท้ายด้วยคำแนะนำจาก ดร.อรรฏชนม์
“การศึกษาไม่ใช่เรื่องของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่เป็นวาระของทุกคน ต่อให้ไม่พร้อมก็ต้องช่วยกันส่งเสียง ถ้าผู้ปกครองอยากได้การศึกษาที่ดีก็ต้องส่งเสียงเหมือนกัน ต้องผลักดันประเด็นบางอย่างร่วมกัน ประเด็นสาธารณะไม่สามารถให้คนคนเดียวทำได้ การศึกษาต้องการเวทีใหญ่ ให้ครูในฐานะผู้ปฏิบัติการ ผู้ปกครอง และทุกคนร่วมกันส่งเสียง เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน”
I AM KRU. หวังว่าประเด็นการสนทนาในครั้งนี้จะสามารถจุดประกายความเปลี่ยนแปลงในตัวของครู และทำให้เกิดการส่งต่อมุมมองใหม่ ๆ ในวงกว้าง เพื่อสร้าง “เครือข่ายการเปลี่ยนแปลง” ให้เกิดขึ้น อย่างที่ I AM KRU ตั้งใจไว้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา
คุณครู นักการศึกษา และผู้ที่สนใจทุกท่านสามารถติดตามประเด็นอื่น ๆ ทางการศึกษาที่น่าสนใจ เช่น กิจกรรมสำหรับห้องเรียน รูปแบบการสอน และเรื่องราวของกลุ่มครูตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้จากเว็บไซต์และเพจ I AM KRU
2,605
Writer
- Admin I AM KRU.