Panel Discussion พลิกโฉมการศึกษาเพื่ออนาคตที่พร้อมเปลี่ยนแปลง
ปัจจุบันเป็นยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การศึกษา โดยเฉพาะนักการศึกษาที่ต้องวางแผนการดำเนินงานให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างรวดเร็ว ทักษะจำเป็นนักการศึกษาควรมีนั้นควรมีทักษะด้านเทคโนโลยีในระดับใด และจะส่งเสริมให้นักการศึกษาไทยทุกคนสามารถเข้าถึงและพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้อย่างไร และเมื่อเรามีทักษะแห่งอนาคตแล้ว จะต้องออกแบบการพัฒนาทักษะอย่างไรให้สามารถรับมือเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดของการทำงานได้ โดยเวทีแลกเปลี่ยนนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ธีรภัทธ กุโลภาส คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. คุณดำรง มาตี๋ ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนพุทธิโศภณ นักการศึกษาที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการศึกษาร่วมแลกเปลี่ยนมีประเด็นที่น่าสนใจที่นักการศึกษาควรรู้และนำไปปรับใช้เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะให้เป็นนักการศึกษาที่เท่าทันโลกต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน

1. Technology Literacy ทักษะความ เข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขอหยิบคำว่า ‘ปัจจุบัน’ มาเกริ่นสักเล็กน้อย คำธรรมดาแต่เป็นคำที่มีความหมายที่น่าสนใจในตัว คำว่า ‘ปัจจุบัน’ นั้นหมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ขณะ เป็นคำที่มีดูไม่มีการเคลื่อนไหว แต่มีนัยของการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นกระแส เป็นพลวัต โดยในทางพุทธศาสนานั้น ‘ปัจจุบัน’ = ‘สติ’ ดังที่ ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. ได้กล่าวว่าครูนั้นต้องมี ‘สติ’ รู้ว่าเทคโนโลยีนั้นเป็นเครื่องมือจำเป็นในการจัดการเรียนรู้ให้กับลูกศิษย์ของตัวเอง ต้องรู้มากน้อยแค่ไหน ต้องใช้อะไรบ้าง นั่นหมายถึงการมีทักษะความเข้าใจเทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ตอบโจทย์การทำงานในด้านต่าง ๆ ซึ่งบนเวที ดร.อุดม ได้หยิบยกระบบ Q-Info ระบบสารสนเทศที่นำไปใช้พัฒนาห้องเรียน/โรงเรียน ที่เห็นผลสำเร็จจากการดำเนินงานโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง รองศาสตราจารย์ธีรภัทธ กุโลภาส คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอมุมมองด้าน Technology Literacy ในประเด็นแรก ว่า เทคโนโลยีนี้เป็นสิ่งที่ครูนำไปสร้างการเรียนรู้ในห้องเรียน สร้างประสิทธิภาพ (Efficiency) ในการทำงาน ลดเวลาและลดภาระงานได้ ประเด็นที่สอง เป็นเรื่อง Citizenship คือการสร้างให้ผู้เรียนมีความเข้าใจ มีทัศนคติที่ดีต่อการใช้เทคโนโลยีในการสร้างประโยชน์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาชีวิตในด้านต่าง ๆ

แล้วเทคโนโลยีที่มีอยู่ ณ ขณะนี้มากมายให้เลือกใช้แล้วควรเลือกใช้อย่างไร คุณดำรง มาตี๋ ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนพุทธิโศภณ มองในประเด็นด้าน การสร้าง Mindset ของคนในองค์กรเห็นว่าเทคโนโลยีนั้นมีความสำคัญจำเป็นในการใช้บริหารสถานศึกษา ทั้งทักษะทางด้านการใช้เทคโนโลยี ทักษะในการคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา และทักษะการมีความคิดสร้างสรรค์ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ หรือทักษะนวัตกร โดยการหยิบจับทักษะเหล่านี้มาพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพในอนาคต พัฒนาองค์กร และต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบท ความต้องการจำเป็นของแต่ละสถานศึกษาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
เมื่อมีทักษะในด้าน Hard Skill ติดตัวแล้วทักษะที่ต้องมีควบคู่กันเพื่อให้การใช้เครื่องมือด้านเทคโนโลยีเกิดประโยชน์สูงสุด คือทักษะ Soft Skill ซึ่งบนเวทีแลกเปลี่ยนได้กล่าวถึง Soft Skill ที่นักการศึกษาควรรู้มีคือทักษะ Critical Thinking
2. Critical Thinking การคิดวิพากษ์ หมายถึง กระบวนการคิดวิพากษ์โดยใช้วิจารณญาณหรือการตัดสินอย่างมีเหตุผลรอบด้าน โดยใช้เหตุผลในการวิเคราะห์ประเด็น รวมทั้งการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ รอบด้าน เป็นทักษะจำเป็นที่ควรได้รับการปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะปัญหาสำคัญที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี คืออาชญากรรมทางเทคโนโลยี ดังที่เราจะได้เห็นจากข่าวการหลอกลวง Fake News Romance Scam การหลอกลงทุนทางออนไลน์ประเภทต่าง ๆ โดย รองศาสตราจารย์ธีรภัทธ กุโลภาส นั้นในความสำคัญกับทักษะ Critical Thinking เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อ สามารถปกป้องคนรอบข้างให้รู้เท่าทันอาชญากรรมที่อยู่ใกล้ตัวได้
3. Lifelong Learning การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะชีวิตคือการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ดังนั้นการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็นของทุกคนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานในด้านการพัฒนาการศึกษา ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ได้หยิบโควทคำของ อ.วิจารณ์ พานิช ว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีสูตร 70:20:10
- 70 การเรียนรู้ในโรงเรียนทุกวัน เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน เรียนรู้จากนักเรียน เรียนรู้จากผู้อำนวยการ
- 20 การเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนระหว่างเพื่อนระหว่างโรงเรียน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน
- 10 การเรียนรู้จากเนื้อหา หรือ Formal Learning
คุณดำรง มาตี๋ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองในสัดส่วน 70:20:10 มี 2 นัย
- การมองผ่านเลนส์ของตนเองในฐานะนักการศึกษา ใน 70 เราต้องมองย้อนกลับมาดูว่า บนเครื่องมือที่เรามี มีจุดใดบ้างที่เราใช้ประโยชน์จากตรงนั้นในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรื่องใดที่จำเป็น หรือมีหนึ่งวิชาที่เหมาะสมกับผู้บริหาร จะมีวิชาใดบ้างที่อยู่ทั่วไปในโลก ที่ครูควรจะทราบ เช่น จิตวิทยาการสื่อสารระหว่างครูกับผู้ปกครอง จิตวิทยาระหว่างผู้บริหารกับผู้ปกครอง ไม่มีในบทเรียน แต่มีทุกพื้นที่ในอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนค้นหาได้
- การมองผ่านเลนส์ของคุณครู หรือผู้สอน หรือผู้ที่ให้องค์ความรู้แก่นักเรียน โดยครูจะต้องใช้เทคโนโลยีมา สร้างประโยชน์ โดยเฉพาะการนำมาใช้ให้เกิดภาพของการเรียนรู้ พัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพ เช่น Project-based Learning เป็นต้น แล้วสิ่งเหล่านี้จะไปพัฒนาเด็กให้สามารถเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

รองศาสตราจารย์ธีรภัทธ ได้กล่าวเสริมในประเด็นการเรียนรู้ที่แต่ละคนมีขีดความสามารถที่ไม่เท่ากัน เกิดเป็นคำถามว่าจะทำอย่างไรที่ทำให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด จึงเกิดเป็นการออกแบบการเรียนรู้เฉพาะบุคคล (Personalized Learning) ครูจึงจำเป็นต้องสามารถจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน และสามารถให้ Feedback ผู้เรียนแต่ละคนเพื่อให้สามารถนำไปปรับและพัฒนาทักษะได้อย่างถูกจุด แต่ปัญหาคือ ห้องเรียนส่วนใหญ่มีนักเรียนเกินกว่าที่ครูหนึ่งคนจะดูแลได้ทั่วถึง ซึ่งตรงนี้รองศาสตราจารย์ธีรภัทธ มองว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยแก้ไขปัญหาในจุดนี้ได้ เช่น การใช้รูบิกอัตโนมัติ หรือแม้การใช้ AI มาช่วยเหลือครูในการอ่าน ตรวจ หรือสรุปงานได้
อีกหนึ่งความท้าทาย ภาระงานที่มากล้นทำให้ครูไม่มีเวลาไปศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาทักษะได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งเทคโนโลยีสามารถเข้ามาเสริมในจุดนี้ได้ โดยกระบวนการ
- สร้างกลไกให้ครู อยากมีความรู้ได้ด้วยตนเอง เป็นกลไกเชิงนโยบายที่ทาง ก.ค.ศ. สามารถออกแบบเพื่อให้ครูพัฒนาทักษะของตนเองเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพได้
- ผู้บริหารโรงเรียน มีส่วนสำคัญที่จะกระตุ้นและส่งเสริมให้ครูสนใจและอยากเรียนรู้วิชาการหรือทักษะอื่น ๆ ที่สามารถช่วยให้ครูมีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น
รองศาสตราจารย์ธีรภัทธ ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา โรงเรียน Alpha School เมืองออสติน มลรัฐเท็กซัส ได้ทดลองคิดโปรแกรมการเรียนรู้ผ่านระบบ AI ซึ่งในโรงเรียน ปราศจากครู ไม่มีการบ้าน เด็กเรียนรู้กับคอมพิวเตอร์โดยตรง ในแต่วันเรียนแค่ 2 ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลือเน้นการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เรียกว่าวิชาทักษะชีวิต (Life Skills) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเขียน การพูดในที่สาธารณะ ผลิตเฟอร์นิเจอร์ ทำอาหาร หรือทำงานบ้าน

ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า เมื่อไม่มีครูแล้ว ใครจะเป็นผู้ที่ดูแลเด็ก ซึ่งในโรงเรียนจะมีตำแหน่งโค้ช ซึ่งโค้ชในโรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้มีหน้าที่สอน เกิดประเด็นท้าทายระบบการศึกษา ที่น่าสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อผลดูว่า การใช้ AI สอนแทนคนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เป็นประเด็นทางเทคโนโลยีที่นักการศึกษาในปัจจุบันจะเดินทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาท่ามกลางยุคที่เทคโนโลยีนั้นเข้ามามีส่วนสำคัญในการจัดการเรียนรู้ท่ามกลาง ‘โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักการศึกษาก็ต้องเรียนรู้อย่างไม่มีวันสิ้นสุดเพื่อพร้อมรับมือการพลิกโฉมการศึกษาเพื่ออนาคตที่พร้อมเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราต้องเผชิญหน้ากับโลกของ AI หยิบใช้ด้วยระมัดระวัง และต้องมีสติ’

ที่มา : เวทีแลกเปลี่ยน FutureEd Fest 2024 | Panel Discussion พลิกโฉมการศึกษาเพื่ออนาคตที่พร้อมเปลี่ยนแปลง
3,361
Writer

- Admin I AM KRU.