พลิกโฉมการศึกษา : เสริมทักษะนักการศึกษาเพื่ออนาคตที่พร้อมเปลี่ยนแปลง
ร่วมแลกเปลี่ยนบนเวทีโดย
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ.
รองศาสตราจารย์ธีรภัทธ กุโลภาส คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คุณดำรง มาตี๋ ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนพุทธิโศภณ
เมื่อเรามีทักษะแห่งอนาคตแล้ว เราจะทำอย่างไรให้สามารถรับมือและเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดของการทำงานได้ ร่วมหาคำตอบ “จะทำอย่างไรที่จะพัฒนานักการศึกษาให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การศึกษา” และ “นักการศึกษาควรมีทักษะด้านเทคโนโลยีในระดับใด”เพื่อให้เรามีทักษะแห่งอนาคต สามารถเตรียมความพร้อมรับมือเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ กับ 3 นักการศึกษาที่เป็นทั้ง ผู้อำนวยการและเป็นผู้ปลุกปั้นนักการศึกษา
คำถาม : จะทำอย่างไรที่จะพัฒนานักการศึกษาให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง คำถามตั้งต้นของการแลกเปลี่ยนบนเวที FutureEd Fest 2024 ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การศึกษา แล้วนักการศึกษาอย่างเราควรมีทักษะด้านเทคโนโลยีในระดับใด และเราจะส่งเสริมให้นักการศึกษาไทยทุกคนสามารถเข้าถึงและพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้อย่างไร บนเวทีนี้มีคำตอบที่น่าสนใจในหลายแง่มุม
เริ่มต้นวงแลกเปลี่ยนโดย รองศาสตราจารย์ธีรภัทธ กุโลภาส คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงประเด็นด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันว่า “หากมองจากครูรุ่นใหม่ เรามองเห็นว่าครูมีพัฒนาการในการนำเทคโนโลยีมาใช้สร้าง Engagement และประสบการณ์ให้กับผู้เรียน ซึ่งต้องยอมรับว่าครูรุ่นใหม่นั้นมีความสามารถเรื่องดิจิทัลต่าง ๆ ทั้งแง่การนำเสนอที่ค่อนข้างดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้ดีกันอยู่แล้ว” ซึ่ง รศ.ธีรภัทธ ได้แลกเปลี่ยนในสองประเด็นดังนี้
ประเด็นแรก คือ การนำเทคโนโลยีเพื่อไปพัฒนาประสิทธิภาพ (Efficiency) ในการทำงาน
ทักษะสำคัญสำหรับนักการศึกษาเพื่อให้รู้เท่าทันโลกเทคโนโลยีที่หมุนอย่างรวดเร็ว คือ ‘ทักษะที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) ในการทำงาน’ อย่างที่รู้กันว่า ‘ครู’ มีภาระงานด้านเอกสารอยู่มาก และสามารถนำเทคโนโลยีง่าย ๆ มาใช้ในการทำงานประจำวันได้ เช่น Microsoft Word Microsoft Excel ซึ่งความสามารถของเครื่องมือเหล่านี้ช่วยลดภาระงานได้ประมาณ 20-30% แต่หากสมมติว่าครูมีโอกาสไปเรียนรู้ความสามารถของเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้นก็หมายความว่างานอาจเสร็จเร็วยิ่งขึ้น ทำให้ครูนำเวลาที่เหลือไปดูแลและพัฒนาตนเองและผู้เรียนได้
ประเด็นสอง คำว่า ‘Citizenship ความเป็นพลเมือง’ เวลาที่เราพูดถึงคำนี้ มักจะเป็นประเด็นว่าเราจะทำอย่างไร ให้ผู้เรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเทคโนโลยี เป็นพลเมืองที่ดีในโลกของเทคโนโลยี คิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่นักการศึกษาต้องให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เช่นเรื่องประเด็นที่ได้ยินในสื่อบ่อยครั้งคือเรื่องของ Fake News ถ้าแค่ผ่านตาไม่ได้เกี่ยวข้องก็ไม่เป็นไร แต่สมมติว่า นักการศึกษาหรือว่าผู้เรียนตกเป็นเหยื่อของ Fake news เหล่านี้นั่นหมายถึงเป็นเรื่องที่นักการศึกษาต้องเข้ามาคอยดูแลแล้ว”
รองศาสตราจารย์ธีรภัทธ มองว่าคุณครูต้องพัฒนาทักษะ Critical Thinking ของเทคโนโลยีเหล่านี้ให้กับผู้เรียนมากยิ่งขึ้น พยายามหาโจทย์ หาเคสมาพูดคุยกับผู้เรียนในทุกระดับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมด้วยเพื่อทำให้เขาสามารถอยู่ในโลกของดิจิทัลด้วยสุขภาวะที่ดี
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. ได้แลกเปลี่ยนในเรื่อง ‘ความจริง’ ของเทคโนโลยี “เพียงชั่วกะพริบตา เทคโนโลยีก็แทบไม่มีใครตามทัน” “เพียงแต่ว่าในบางจังหวะหลายคนอาจจะไม่แน่ใจว่าตกเป็นเหยื่อเทคโนโลยีอยู่หรือไม่ ในด้านความไวของเทคโนโลยี ยกตัวอย่างตอนนี้ iPhone 16 ออกใหม่ อีกไม่กี่เดือนก็มีรุ่นใหม่ผลิตออกมาแล้ว เราไม่สามารถวิ่งตามเทคโนโลยีทันได้ตลอดเวลา เพียงแต่นักการศึกษาโดยเฉพาะคุณครูต้องพิจารณาว่าเทคโนโลยีแบบใดเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ให้กับลูกศิษย์ของตัวเอง ต้องรู้ลึกในเทคโนโลยีนั้นได้มากน้อยแค่ไหน และสามารถนำมาช่วยงานในด้านใดได้บ้าง
ในภาคการทำงานของทาง กสศ. ได้ดำเนินงานร่วมกับกลุ่มเด็กที่ยากจนและด้อยโอกาสค่อนข้างมาก ไม่มีโอกาสที่จะซื้อโปรแกรมแพง ๆ กสศ. จึงได้มีการพัฒนาตัวระบบสารสนเทศที่ใช้ในโรงเรียนที่เรียกว่า Q-info ไปใช้ในการเช็คชื่อ-ติดตามข้อมูลเด็กในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการพัฒนาคนต้องมาพร้อมกับข้อมูลที่เที่ยงตรงและเชื่อถือได้ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ เทคโนโลยีสำหรับโรงเรียนที่เหมาะสมบางครั้งไม่จำเป็นต้องแพงจับต้องไม่ได้ นักการศึกษาต้องมีสติในการเลือกใช้เทคโนโลยีว่าจำเป็นต่อการเรียนรู้ขนาดไหน”
เทคโนโลยีที่เหมาะกับนักการศึกษาหรือระดับของตนเองอาจจะต้องดูบริบทกับหน้างานของตนเองว่าจะต้องใช้อะไรมากน้อยแค่ไหน
ไม่ต้องวิ่งตามจนขาขวิด
คำถามต่อไป เมื่อเรายิ่งวิ่งตามเทคโนโลยีมากเท่าไหร่ เทคโนโลยีก็จะออกห่างจากเราไปเรื่อย ๆ ดังนั้น เราควรประเมินตนเองก่อนว่าตัวเรา บริบทของเรา พื้นที่ของเรา นักเรียนของเรา เราควรเรียนรู้เทคโนโลยีอะไร ?
ในเซสชันของการแลกเปลี่ยนนี้ คุณดำรง มาตี๋ ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนพุทธิโศภณ ได้กล่าวว่า “โรงเรียนนั้นเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี รวมถึงผู้บริหาร ครู นักเรียน และอาจจะรวมถึงผู้ปกครองด้วยเช่นกัน ก่อนที่โรงเรียนจะมีการนำเทคโนโลยีไปใช้นั้น โรงเรียนจะต้องคัดกรองว่าตัวใดที่มีความจำเป็นจริง ๆ เพราะว่าเทคโนโลยีทุกตัวมีประโยชน์แต่ก็มีโทษมหันต์ สิ่งหนึ่งที่จำเป็นที่สุดคือเรื่อง Mindset ต่อเทคโนโลยีเพื่อให้ทุกคนในองค์กรมองเห็นว่าเทคโนโลยีคือสิ่งที่สำคัญและจำเป็น เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ในการบริหารและจัดการศึกษา ให้เทียบเคียงกับมาตรฐานของโลก
สิ่งที่จำเป็นที่คนในองค์กรควรมี คือ ทักษะทางด้านการใช้เทคโนโลยี ทักษะในการคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา และทักษะการมีความคิดสร้างสรรค์ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ หรือทักษะนวัตกร โดยการหยิบจับทักษะเหล่านี้มาพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพในอนาคต และพัฒนาองค์กร”
คุณอร อินทุประภา ได้เสริมถึงคีย์เวิร์ด “ทุกคนภายในองค์กรควรเห็นถึงความสำคัญในเรื่องเดียวกัน มีเป้าหมายที่เหมือนกัน ไปด้วยกันไปได้ไกล โดยให้ทุกคนมองเห็นร่วมกัน คือ การตั้ง ‘สติ’ กลับมาอยู่กับตัวเอง แล้วมองว่าเราควรที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในด้านใด ในบทบาทที่เราเป็นอยู่ คิดวิเคราะห์และการนำเทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพ”
การเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning เป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักการศึกษาในปัจจุบันอย่างมาก
มีข้อเสนออะไรในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องของนักการศึกษาไทย
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. มองว่าเทคโนโลยีควรใช้เพื่อพัฒนาสมรรถนะ ตั้งแต่ตัวของผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งตัวเด็กซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ “ไม่เพียงคุณครูหรือนักการศึกษาที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่มองว่าทุกคนเป็น User ทั้งหมด อย่างเช่น Q-info วันนี้โรงเรียนที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กและในพื้นที่ห่างไกล ผู้ปกครองตรวจสอบได้ว่าวันนี้ลูกมาถึงโรงเรียนหรือไม่ ครูเป็นผู้ป้อนข้อมูลเข้าระบบ แดชบอร์ดจะแสดงผลที่โทรศัพท์ ซึ่งเป็นฟังก์ชันการใช้งานที่ตรงกับความต้องการของผู้ปกครอง”
เรื่องของ ‘Lifelong Learning’ ดร.อุดม หยิบโค้ชคำของท่าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ได้กล่าวถึงสูตรของการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสูตรที่เรียกว่า 70:20:10 สูตรนี้มีส่วนผสมที่น่าสนใจ 70% เป็นการพัฒนาตนเองอยู่ที่หน้างาน เรียนรู้ผ่านการทำงานในโรงเรียน พบนักเรียน พบเพื่อนครู พบผู้อำนวยการ เป็นการเรียนรู้ทุกวัน มีวง PLC ที่หนุนเสริมการเรียนรู้ อีก 20 % เป็นการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน ๆ PLC ระหว่างโรงเรียนทำให้การเรียนรู้กว้างออกไป เป็นการเปิดโลกทัศน์ของตนเองด้วย เพราะคอนเทนต์ของแต่โรงเรียนนั้นมีบริบทแตกต่างกัน ส่วนอีก 10% คือ การเรียนรู้เนื้อหา หรือ Formal learning ซึ่ง Lifelong Learning ควรหาจังหวะไปเรียนรู้ เพราะบางทีเวลาเราทำงานไปสักประมาณ 4 ปี 5 ปี อาจต้องไปเรียนต่อ เป็นการเพิ่มความรู้ เพิ่มทักษะอื่น ๆ และในปัจจุบันการวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กก็เปลี่ยนไปแล้ว ทุกคนก็คงรู้ เราไม่ได้วัดแค่ K=Knowledge, S=Skills, A=Attribute เพียงอย่างเดียว แต่เราวัด V=Value ซึ่งเป็นสูตรที่ครูหรือนักการศึกษาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้”
คุณดำรง มาตี๋ ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนพุทธิโศภณ แลกเปลี่ยนเติมเต็มจากสูตร 70:20:10 โดยการมองผ่านมุมมอง 2 นัย ได้แก่
1.) การมองผ่านเลนส์ของตนเองในฐานะนักการศึกษา ใน 70 เราต้องมองย้อนกลับมาดูว่า บนเครื่องมือที่เรามี มีจุดใดบ้างที่เราใช้ประโยชน์จากตรงนั้นในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรื่องใดที่จำเป็น หรือมีหนึ่งวิชาที่เหมาะสมกับผู้บริหาร จะมีวิชาใดบ้างที่อยู่ทั่วไปในโลก ที่ครูควรจะทราบ เช่น จิตวิทยาการสื่อสารระหว่างครูกับผู้ปกครอง จิตวิทยาระหว่างผู้บริหารกับผู้ปกครอง ไม่มีในบทเรียน แต่มีทุกพื้นที่ในอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนค้นหาได้
2.) การมองผ่านเลนส์ของคุณครู หรือผู้สอน หรือผู้ที่ให้องค์ความรู้แก่นักเรียน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ตลอดชีวิต โดยครูจะต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการนำมาใช้ให้เกิดภาพของการเรียนรู้ พัฒนาผู้เรียน ให้เต็มตามศักยภาพ เช่น Project-based learning เป็นต้น แล้วสิ่งเหล่านี้จะไปพัฒนาเด็กให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้
รองศาสตราจารย์ธีรภัทธ กุโลภาส คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ตามที่ผอ.ดำรง มาตี๋ พูดถึงนั้นเป็นเรื่อง Personalized Learning เป็นการกระทำของครูที่ส่งผลต่อผู้เรียนมากที่สุด คือ การให้ Feedback ดังนั้น การที่จะให้ Feedback กับผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้เป็นสิ่งที่ครูควรทำ ปัญหาก็คือว่า ‘ห้องเรียนมีนักเรียนจำนวนมาก เราจะให้ Feedback กับผู้เรียนอย่างไร?’ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ อย่างเช่น รูบิคอัตโนมัติ หรือแม้กระทั่ง AI ก็สามารถที่จะเข้ามาช่วยครูในการอ่าน สรุปหรือตรวจได้”
เราจะทำให้ครูหรือนักการศึกษาสามารถที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างไร เวลาที่เราพูดถึง Lifelong Learning ส่วนหนึ่งมาจากแต่ละบุคคล โดยส่วนตัวของผม ล่าสุดไปลง “Coursera” (คอร์สเซร่า) แล้วเขาให้โค้ดมาเรียนฟรี ผมเรียนได้เพียง 3 ใน 5 ของการเรียนเท่านั้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “ครู” เป็นอาชีพที่ค่อนข้างยุ่งเราจะไม่ค่อยมีเวลามาเรียนรู้ด้วยตนเองตลอด ดังนั้น สิ่งที่เราจะออกแบบกลไกการเรียนรู้ให้ครูนั้นทำได้ 2 อย่าง ขอยกตัวอย่าง ก.ค.ศ. มานำเสนอ
1.) การสร้างกลไกให้ครู เพื่อที่จะให้ครูอยากที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ปัจจุบันโรงเรียนใดที่ใช้ Google for education มาได้สักระยะหนึ่ง เราจะรู้ว่ามี Cours ให้สามารถใช้ฟรีได้อยู่แล้ว อย่างของผมใช้ Google Classroom ลงเรียนหลักสูตรที่เป็น Teacher-centered ของ Google มา แล้วก็จะได้ Certificate ที่เรียกว่า Educator Certificate ของ Google ซึ่งมีหลาย Level เกิดความภูมิใจที่เราทำสำเร็จ สิ่งนี้มีประโยชน์อย่างไร ในเชิงนโยบาย ก.ค.ศ. สามารถที่จะสร้าง หรือตั้งกลไกเพื่อที่จะให้ครูเข้ามาสู่กระบวนการคัดกรอง หรือว่าคัดเลือก หรือเลื่อนตำแหน่งได้ในอนาคต
2.) ผู้บริหารโรงเรียน มีส่วนหนุนเสริมอย่างไรที่จะให้ครูสนใจและอยากที่จะเรียนโปรแกรมเหล่านี้ ที่จะไปช่วยครูให้มีประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสอนหรือการบริหาร ผู้บริหารต้องเป็น Role Model ที่ดีสำหรับคุณครู และนักเรียน เป็น ผอ. ที่เรียนรู้ และอัปเดตตนเองอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งพยายามที่จะ Motivate ครู ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการหรือไม่เป็นทางการก็ดี ทั้งในเรื่องการประเมินให้เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง จนกระทั่งการให้คำชื่นชมง่าย ๆ ที่ Empower ครู ผมคิดว่าในส่วนนี้จะอยู่ในสูตร 70% ตามที่ ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ได้กล่าวถึงที่ต้องใช้แรงของคนในโรงเรียนเช่น ผอ. ในการสนับสนุน
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. ได้ฝากทิ้งท้ายว่า
“เราปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้อยู่แล้ว ต้องรู้และต้องนำมาใช้อย่างมีสติ อย่าให้เทคโนโลยีทำให้เราไขว้เขว จงใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยงาน อีกมิติหนึ่งจากที่พบเจอประสบการณ์จากครูหนึ่งท่านที่อยู่ที่อุ้มผาง จังหวัดตาก บอกว่าไม่ได้สนใจที่จะวิ่งตามเทคโนโลยีมากมาย แต่ต้องเรียนรู้เพราะไม่อยากให้คนในโรงเรียนที่มีอยู่แค่ 4-5 คน ถูกใครหลอก ดังนั้นครูยังเป็นวิชาชีพที่เทคโนโลยีเข้ามาสั่นคลอนไม่ได้ในหลายมิติ เพราะว่าเรื่องของจิตใจระหว่างครูและเด็กเทคโนโลยีไม่สามารถที่จะช่วยได้ แม้ว่าจะมีการ Feedback โดยการใช้โปรแกรมก็ตาม แต่ครูก็ยังคงต้องใช้หัวใจในการทำงานเพื่อสัมผัสกับเด็กด้วยใจจริง”
คุณดำรง มาตี๋ ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนพุทธิโศภณ “ขอยืนยันว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญและมีความจำเป็นมาก ในการจัดการศึกษา แล้วก็จำเป็นมากสำหรับนักการศึกษาด้วยแต่ขณะเดียวกันก็อยากให้ทุกคนได้เรียนรู้กับเทคโนโลยี สิ่งที่เป็นเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เกิดประโยชน์ตรงประเด็นใดบ้าง และขณะเดียวกันการใช้ AI ไม่ว่าจะเป็นครู นักการศึกษา หรือนักเรียนจะต้องได้รับการ Feedback”
“ซึ่ง AI เมื่อเราใช้ไปนาน ๆ ทำให้รู้สึกว่าจะคิดถูกต้องหรือไม่ ต้องเข้าใจด้วยว่ามีคุณอนันต์แล้วก็มีโทษมหันต์ด้วย จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าเราจะใช้ประโยชน์จาก AI อย่างไรให้มาก ถ้า’ติดกับดัก’ หมายความว่าก็จะพร้อมย้อนกลับมาทำลายเช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นนักการศึกษาหลาย ๆ คนที่เวลาให้ทำงานโดยไม่ต้องมีโน้ตบุก ไอแพด จะไม่สามารถเขียน Abstract บทคัดย่อได้ แสดงให้เห็นว่า ติดกับ AI มากเกินไป จึงไม่อยากให้ภาพเหล่านี้ติดกับตัวเรา ครู และนักเรียน เพราะฉะนั้น อยากให้ทุกคนใช้อย่างมีสติ ตรงจุดไหนที่ยังต้องอาศัยมันสมองของเราอยู่เพื่อเป็นการขัดเกลาทักษะความคิด เพื่อให้เซลล์สมองของเรายังคงพัฒนาทางด้านความคิด”
“ขอพูดถึงเคสในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นข่าวดังเมื่อประมาณ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา AI เข้ามาแทนครู โดยที่ไม่มีครูได้เกิดขึ้นแล้ว ที่ โรงเรียน Alpha School at Austin Tuition คิดโปรแกรมการเรียนด้วย AI และในโรงเรียนไม่มีครูแต่มีตำแหน่งที่เรียกว่าโค้ช (Coach) ตำแหน่งนี้ไม่ได้มีหน้าที่สอน เด็กเรียนกับคอมพิวเตอร์วันละ 2 ชั่วโมง ไม่มีการบ้าน ส่วนเวลาที่เหลือไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เรียกว่า Life Skills ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเขียน การพูดในที่สาธารณะ การทำเฟอร์นิเจอร์ ทำอาหาร หรือทำงานบ้าน แต่ยังอยู่ในช่วงทดลองซึ่งเป็นความท้าทายและน่าสนใจว่าโลกที่เลือกทำการสอนด้วย AI จะเป็นอย่างไรต่อไป และขอสนับสนุนความคิดเห็นของ ผอ.ดำรง มาตี๋ และ ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ที่ว่า AI จะมาช่วยเรา ครูเองจะต้องพัฒนาทักษะให้มีเพียงพอก่อนถึงจะเอา AI เข้ามาช่วย ทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะต้องคอยติดตามและอัปเดตอยู่เสมอ” รองศาสตราจารย์ธีรภัทธ กุโลภาส คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวทิ้งท้าย
วิ่งสู้ไปกับ AI อย่างระมัดระวัง และต้องมีสติ
อร อินทุประภา กล่าวสรุปว่า มนุษย์เราสามารถชนะ AI ได้ด้วยความใกล้ชิด การสะท้อนผล (Feed back) แบบตัวต่อตัว (One On One) ยังมีความสำคัญอยู่มาก เราไม่สามารถปฏิเสธ AI ได้ แต่เราจะใช้ประโยชน์จาก AI อย่างไรที่จะไม่ให้มาเป็นดาบทิ่มแทงเรา Key Word ที่สำคัญ คือ โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่เราก็ต้องเรียนรู้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด เราต้องวิ่งสู้ไปกับ AI อย่างระมัดระวัง และต้องมีสติ
บทความที่เกี่ยวข้อง
3 คำสำคัญ สำหรับนักการศึกษาที่พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง
1,337
Writer
- Admin I AM KRU.