เทคนิคการจัดการเรียนรู้ Active Learning | โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

Share on

 13,268 

เทคนิคการจัดการเรียนรู้ Active Learning ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา  รศ.ดร.สัมพันธ์ ถิ่นเวียงทอง อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้สามารถมองเห็นปัญหาและแนวทางแก้ไขได้อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะด้านกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนและผู้สอนมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.สัมพันธ์ ถิ่นเวียงทอง อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าหลักสูตรการออกแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สู่ต้นแบบพื้นที่นำร่อง ได้อาศัยประสบการณ์จากการดำเนินโครงการถอดบทเรียนของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ซึ่งเคยดำเนินโครงการโดยใช้แนวคิดโครงงานฐานวิจัย มาสู่การดำเนินโครงการครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่กระบวนการสำรวจปัญหา ศึกษาความต้องการของโรงเรียนผ่านการสัมภาษณ์ผู้บริหารและครูผู้สอน รวมถึงการสังเกตกระบวนการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และออกแบบวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม

กระบวนการดำเนินงานประกอบด้วยการออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของโรงเรียน การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการทั้งในรูปแบบเข้มข้น (Intensive Training) การโค้ชชิ่งออนไลน์ (Online Coaching) และการติดตามผลผ่านการนิเทศชั้นเรียน (Onsite Supervision) อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีคุณภาพและสอดรับกับบริบทของโรงเรียน 

การมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน ให้ความสำคัญกับแนวทางการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และการเปลี่ยนแปลงที่อาศัยฐานการวิจัย (Research – based Transformation) การมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการดำเนินงานช่วยให้สามารถมองเห็นปัญหาและความต้องการที่แท้จริง อันจะนำไปสู่การหาแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบกระบวนการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนพระปริยัติธรรม

ในระยะแรกของโครงการ ทีมวิจัยได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพปัญหาในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ศึกษาความต้องการจำเป็นโดยการสัมภาษณ์ผู้บริหารและครูผู้สอน รวมถึงการสังเกตกระบวนการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาหาแนวทางแก้ปัญหาที่ตอบสนองความต้องการจำเป็นและสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนพระปริยัติธรรม

จากนั้น ทีมวิจัยได้ร่วมกันประชุมปฏิบัติการเพื่อออกแบบ “Module การจัดการเรียนรู้ Active Learning” โดยพิจารณาจากปัญหาและแนวคิดที่ได้จากการสำรวจ พร้อมทั้งปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของโรงเรียนมากที่สุด กระบวนการออกแบบหลักสูตรนี้เน้นความเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เมื่อหลักสูตรได้รับการออกแบบแล้ว ได้มีการดำเนินกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการแบบเข้มข้น (Intensive Training) รวมถึงการให้คำแนะนำในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ (Online Coaching) และในพื้นที่ (Onsite Coaching) เพื่อนำแนวคิด Active Learning ไปใช้ในการปฏิบัติให้เห็นผล นอกจากนี้ ยังมีการนิเทศติดตามการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนของทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อช่วยหนุนเสริมให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้เชิงรุกได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทีมวิจัยได้ประเมินการดำเนินงานและสรุปผลโครงการร่วมกับคณาจารย์และผู้เกี่ยวข้อง ณ จังหวัดเพชรบูรณ์ ผลการประเมินสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหา การออกแบบหลักสูตร การฝึกอบรม จนถึงการติดตามผล เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนพระปริยัติธรรมเป็นไปอย่างมีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและผู้สอนอย่างแท้จริง

🟢 เกณฑ์การคัดเลือกครูต้นแบบ ครูร่วมพัฒนา ในโครงการ 

โรงเรียนพระปริยัติธรรมมีต้นทุนเดิมที่มีศักยภาพ มีการทำงานร่วมกันทั้งครูที่รับผิดชอบงานวิชาการ ผู้บริหารที่ดูแลงานวิชาการ เพื่อคัดเลือกครูต้นแบบ หรือ Model Teacher ที่เป็นบุคคลหลักในการเรียนการสอนของโรงเรียนและสามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในวิชานั้น ๆ ได้ ซึ่งครูต้นแบบของแต่ละโรงเรียนนั้นมีความมุ่งมั่นและต้องการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม พบช่องว่างเกี่ยวกับการปฏิบัติ กล่าวคือมีครูในบางโรงเรียนที่เคยได้รับการอบรมเรื่อง Active Learning มาก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้นำรูปแบบหรือวิธีการจากการอบรมมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ

🟢 การนำนวัตกรรมมาใช้ในการเรียนการสอน

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือแผนการสอนของคุณครูที่ยังเป็นแผนการสอนแบบ ‘บอกความรู้ให้กับนักเรียน’ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ไม่สอดคล้องกับทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ในด้านของนวัตกรรมที่นำมาใช้จะเลือกเป็นนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับในวงวิชาการ และในหลายประเทศที่มุ่งเน้นทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เช่นในประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลี  และใช้แนวทางการสะท้อนคิดแก้ปัญหา ที่สอดคล้องกับหลักอริยสัจ 4  ที่เป็นแนวทางขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แก่ ทุกข์ (สภาพปัญหา)  สมุทัย (แนวทางการแก้ปัญหา)  นิโรธ (ดำเนินการแล้วนำผลที่ได้มาวิเคราะห์) มรรค (การสรุปผลในชั้นเรียน) ซึ่งผู้เรียนพบปัญหา พบความทุกข์ แล้วพยายามแสวงหาความรู้เพื่อแก้ปัญหาด้วยตนเอง จึงนำมาเป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบสะท้อนคิดแก้ปัญหา (Reflective Problem – Solving Approach) ซึ่งมีฐานคิดมาจาก Reflective Thinking ของ John Dewey (1910; 1933) และแนวทางการสอนที่มีการปรับจาก Problem Solving Approach (Isoda, 2010) จาก 4 ขั้นตอนมาเป็น 5 ขั้นตอน 

🟢 แนวทางการจัดการเรียนรู้แบบสะท้อนคิดแก้ปัญหา (Reflective Problem – Solving Approach (RePA) *

🔳ขั้นนำเสนอปัญหา (Posing Problem) เป็นขั้นตอนที่ครูนำเสนอสถานการณ์ปัญหากับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนเกิดความสนใจ มีปัญหาและอยากแก้ปัญหา

🔳ขั้นลงมือแก้ปัญหา (Solving Problem) เป็นขั้นตอนที่นักเรียนลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเองอย่างอิสระโดยอาจเป็นแบบเดี่ยว หรือคู่ หรือกลุ่ม

🔳ขั้นแลกเปลี่ยนแนวคิด (Sharing Ideas) เป็นขั้นตอนที่นักเรียนนำแนวคิดจากการแก้ปัญหาไปนำเสนอหน้าชั้นเรียน เพื่อเปรียบเทียบแนวคิด และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

🔳ขั้นสรุปบทเรียน (Summarizing Lesson) เป็นขั้นตอนที่นักเรียนสรุปแนวคิดที่เป็นเป้าหมายของบทเรียน ซึ่งเป็นหลักการหรือความรู้ใหม่ที่ได้จากการแก้ปัญหาในคาบเรียน

🔳ขั้นสะท้อนคิด (Reflecting Lesson) เป็นขั้นตอนที่นักเรียนทบทวนการคิดและเขียนในประเด็นสำคัญ ได้แก่ แนวคิดของตนเอง แนวคิดของเพื่อน แนวคิดสำคัญที่ได้เรียนรู้ แนวคิดที่เป็นเป้าหมายของบทเรียน และความรู้สึกที่มีต่อบทเรียนหรือกิจกรรมการเรียนรู้ รวมทั้งส่งที่สงสัยและอยากค้นหาต่อไป 

* สังเคราะห์แนวทางการสอน “การสะท้อนคิดแก้ปัญหา” (สัมพันธ์ ถิ่นเวียงทอง, 2564; 2567)

นอกจากนี้ ยังมีทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังและนำมาใช้ในการดำเนินงาน ได้แก่ Constructivism Theory ที่ยึดหลักการสร้างความรู้ด้วยตนเอง Social Constructivism Theory ยึดหลักการสร้างความรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์เชิงสังคม แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของนักการศึกษาที่มีข้อตกลงร่วมกันอย่างมั่นคงว่าจะแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง มีการร่วมกันวางแผน ร่วมกันดำเนินการ และร่วมกันสะท้อนคิด มีการลงไปเยี่ยมติดตามเพื่อเรียนรู้ร่วมกันที่หน้างานจริงจนกว่าจะเห็นผลของการปฏิบัติที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น หรือได้แนวปฏิบัติที่ดีที่ใช้ในการแก้ปัญหานั้น

🟢 ลักษณะการเรียนรู้ของน้องสามเณรนักเรียนกับ Active Learning เป็นอย่างไร ? 

การเรียนรู้อยู่บนฐานความเหมาะสมของสมณสารูปของสามเณรนักเรียน กิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกจะไม่ได้แสดงออกในเชิงกายภาพที่โลดโผน ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวที่ออกไปเชิงสนุกสนานเฮฮาแบบนักเรียนทั่วไป แต่การเรียนรู้จะเป็นกิจกรรมที่ให้สามเณรได้คิดด้วยตนเอง สะท้อนคิดกับสิ่งที่ทำ และนำเสนอแนวคิดที่ได้แลกเปลี่ยนกับครู เพื่อนร่วมชั้นและอาจมีตั้งคำถามพูดคุยสนุกที่อยู่บนความเหมาะสม 

ตัวอย่างของสถานการณ์ปัญหาที่น่าสนใจ เช่น บริบทของโรงเรียนที่อยู่ทางภาคเหนือซึ่งเป็นโรงเรียนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีชาวต่างชาติเดินทางมาเยี่ยมชมเป็นประจำ สามเณรมีปัญหาในการใช้ภาษาอังกฤษที่ยังไม่คล่องแคล่วพอที่จะแนะนำข้อมูลต่าง ๆ ในวัดหรือสถานที่สำคัญได้ จึงได้นำประเด็นนี้มาบูรณาการกับการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ โดยใช้วิธีสอน “การสะท้อนคิดแก้ปัญหา” ได้แก่ ขั้นที่ 1 นำเสนอปัญหา โดยนำเสนอสถานการณ์ที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมวัดและถามถึงสถานที่สำคัญในวัด สามเณรจะบอกนักท่องเที่ยวโดยใช้คำศัพท์และประโยคใดบ้าง ขั้นที่ 2 ลงมือแก้ปัญหา สามเณรร่วมกันคิดหาคำศัพท์และเขียนประโยคบอกสถานที่สำคัญให้ได้หลากหลายประโยค ได้เป็นคำศัพท์และประโยคภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ขั้นที่ 3 แลกเปลี่ยนแนวคิด สามเณรนำเสนอคำศัพท์และประโยคภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยวที่หลากหลาย เปรียบเทียบคำศัพท์และประโยคที่ตนเองเขียนกับเพื่อน ขั้นที่ 4 สรุปบทเรียน สามเณรสรุปคำศัพท์และประโยคสำคัญที่ได้เรียนรู้ ที่สามารถใช้แนะนำอาคารสถานที่ โบราณวัตถุ โบราณสถาน หรือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับนักท่องเที่ยวได้ ขั้นที่ 5 สะท้อนคิด สามเณรได้คิดทบทวนแนวคิดของตนเองและแนวคิดของเพื่อนเกี่ยวกับคำศัพท์และประโยคสำคัญสำหรับแนะนำนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เขียนแนวคิดของตนเอง แนวคิดของเพื่อน แนวคิดสำคัญที่ได้เรียนรู้ในคาบเรียน คำถามหรือข้อสงสัย และสิ่งที่อยากค้นหาต่อไป 

🟢 ปัญหาการนำไปปรับใช้ในโรงเรียน ครูสะท้อนผลมาอย่างไรบ้าง 

ประการแรก
หลังจากที่ครูในโครงการได้รับการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะและเครื่องมือการออกแบบการจัดการเรียนรู้ไปออกแบบการเรียนการสอน ก็พบความท้าทาย กล่าวคือ ‘ครูยังคุ้นเคยกับการเรียนการสอนแบบบอกกล่าวและยกตัวอย่างให้นักเรียนในขั้นตอนที่ 2 (ลงมือแก้ปัญหา)’ ทางทีมจึงได้ลงไปโค้ชเพื่อให้ครูเข้าใจกระบวนการว่า ‘ผู้เรียนต้องลงมือทำและแก้ปัญหาด้วยตนเอง’ เมื่อเราได้ลงไปหน้างานทำความเข้าใจในกระบวนการสอนด้วยเหตุผลเชิงวิชาการ และในแง่ของการพัฒนาผู้เรียนที่ต้องเติบโตไปเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ซึ่งคุณครูต้องฝึกให้พวกเขาสามารถคิดและแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง เนื่องจากในอนาคตสามเณรนั้นอาจจะศึกษาต่อในด้านพระธรรม หรือลาสิกขาบทเป็นธรรมทายาทที่มีคุณภาพต่อสังคมซึ่งคุณครูก็เข้าใจและรับฟัง

ประการที่สอง 

ปัญหาที่เป็นความท้าทายคือการหาสถานการณ์ปัญหาที่จะทำให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้และได้คอนเซ็ปต์หลักในเรื่องที่ต้องการสอนด้วยตนเอง ซึ่ง Model Teacher / Buddy Teacher และทีมศึกษานิเทศก์ที่เข้าไปหนุนเสริมในพื้นที่ต้องใช้เวลาร่วมกันในการพิจารณาหาสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันและประสบการณ์ของสามเณร โดยให้พวกเขารู้สึกว่าเรื่องที่เรียนรู้เกี่ยวข้องกับตัวเขา เป็นประโยชน์กับตัวเขาที่เขาจะแก้ปัญหานี้ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการพัฒนาทักษะครูผู้สอนให้ครูคิดออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้และจัดการเรียนรู้โดยไม่ใช้แผนการสอนแบบสำเร็จรูป ซึ่งจุดนี้คุณครูในโรงเรียนพระปริยัติธรรมมองเห็นถึงความท้าทาย ก็ค่อย ๆ ลองทำไป ทางทีมงานนั้นก็คอยให้กำลังใจสนับสนุนให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นแนวทางที่โรงเรียนในประเทศญี่ปุ่น ฟินแลนด์ เกาหลี ใช้พัฒนาครู และใช้กระบวนการ PLC แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อใช้พัฒนาความเชี่ยวชาญในวิชาชีพของตนเอง 

🟢 การ PLC และการ Coaching Online นั้นมีส่วนสร้างสำเร็จอย่างไร ?

คุณครูในโรงเรียนปริยัติธรรมที่เริ่มการเปลี่ยนแปลงการสอน จะสามารถเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากอยู่เหมือนกัน เราเข้าใจและส่งเสริมกำลังใจในการทำงาน เราอาศัยพื้นที่ของการทำ PLC เป็นกระบวนการที่ช่วยให้ทุกฝ่ายเกิดการพัฒนาและการเรียนรู้ไปพร้อมกัน ความสำเร็จนั้นเกิดจากการทำ PLC อย่างต่อเนื่อง ค่อย ๆ พัฒนาความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ 

การ Coaching Online ผ่านระบบ Zoom นั้น เราให้ครูนำเสนอแผนการจัดการเรียนรู้โดยที่ครูในโรงเรียนอื่นได้เข้าร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน ร่วมกันพิจารณาสถานการณ์ปัญหา ร่วมกันพิจารณาแนวคิดในการแก้ปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ครูที่เข้าร่วมนำแนวทางไปปรับใช้ในโรงเรียนของตนเอง 

🟢 สิ่งที่คุณครูได้สะท้อนให้ทางทีมโครงการทราบมีเรื่องอะไรบ้าง ?

ส่วนใหญ่เป็นการสะท้อนในแง่ว่าก่อนหน้านี้มีโครงการอื่น ๆ เข้ามา จะไม่มีนักวิจัย ไม่มีผู้ดำเนินโครงการที่ลงมาหน้างานช่วยเหลือคุณครูแบบที่โครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรมดำเนินงานอยู่ การทำงานของเรานั้นไปเพื่อนคู่คิด ใช้เวลาทำแผนการจัดการเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยไกด์สถานการณ์ ช่วยคาดการณ์แนวคิดของผู้เรียนว่าจะตอบสนองอย่างไร เพื่อให้เข้าใกล้แผนที่เราคาดหวังมากที่สุด และยังไปทำการช่วยสังเกตการณ์ในห้องเรียนจริง นี่เป็นโครงการแรกที่พวกเขาเห็นทีมนักวิจัย ศึกษานิเทศก์ พระปริยัตินิเทศก์ เข้าไปทำงานร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ เขาพวกดีใจและภูมิใจมาก

🟢 ผลลัพธ์ที่สะท้อนว่าครูเข้าใจและสามารถออกแบบกระบวน Active Learning ได้ในมุมของ อ. สัมพันธ์ 

ตอนนี้ผลอาจจะยังไม่ได้เต็มร้อย และยังดำเนินอยู่ในเส้นทางการพัฒนาที่เห็นทางไปสู่ประสิทธิภาพ สิ่งที่สะท้อนผลลัพธ์คือครูได้หลักคิดนำไปสู่การปฏิบัติได้’ ครูสรุปผลการเรียนรู้โดยใช้แนวคิดของผู้เรียนเป็นหลัก ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ยกตัวอย่าง คุณครูที่ จ.ศรีสะเกษ ที่อาจารย์ได้ไปสังเกตชั้นเรียนช่วงต้น ๆ ตอนแรกที่ได้ไปสังเกตการเรียนการสอนนั้นยังไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง แต่หลังจากที่เกิดการพัฒนาและเรียนรู้ร่วมกัน คุณครูมีความเข้าใจการจัดการเรียนรู้เชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะการที่เราเน้นย้ำ ‘ให้ผู้เรียนคิดและแก้ปัญหาด้วยตนเอง’ และประเด็นที่คุณครูต้องคิดสถานการณ์ปัญหาที่จะช่วยให้สามเณรบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ที่มุ่งหวังได้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ การพัฒนา การเปลี่ยนแปลงการสอนในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

อาจารย์เชื่อในเรื่องของการให้โอกาส หากเราให้โอกาสกับสามเณรนักเรียนได้คิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง แม้ตอนแรกเขาอาจจะยังไม่มั่นใจว่าวิธีที่คิดแก้ปัญหาถูกต้องหรือไม่ คิดแบบนี้ได้หรือไม่ เมื่อผ่านไปจนครบ 6 วงจรการทำงาน ในช่วงท้าย ๆ เราค้นพบว่าสามเณรนักเรียนเรียนรู้ด้วยความมั่นใจมากขึ้น มีความคิดในการแก้ปัญหาที่อยากนำเสนอ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

และจากวันที่มีการสรุปผลโครงการ ฯ ที่จัดขึ้นที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในช่วงกิจกรรมเปิดห้องเรียนโดยครูต้นแบบ สามเณรนักเรียนได้คิด ได้เรียนรู้ ได้ตอบสนองปัญหา และมีการคิดที่มาจากตัวเขาเอง ซึ่งในแง่นี้สะท้อนได้ว่า สามเณรนักเรียนมีศักยภาพ มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ เพียงแค่ครูเปลี่ยนเพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถอย่างสม่ำเสมอ และการเรียนรู้ทั้ง 5 ขั้นตอนจะช่วยให้พวกเขามีสมรรถนะที่จำเป็น เช่น สมรรถนะการสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดขั้นสูง ที่จะเป็นทักษะการเรียนรู้ที่ติดตัวสามเณรไปตลอด

 13,269 

Writer

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า