การขาดแคลนทรัพยากรบุคคลเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนตชด. มาช้านานแล้ว ในพื้นที่ห่างไกล หากว่าไม่มีใจรักในการให้ความรู้ คงไม่มีใครที่อยากจะต้องเดินทางมาสอนโรงเรียนที่ห่างไกลอยู่ทุกวัน การมีครูไม่เพียงพอต่อจำนวนชั้นเรียนในโรงเรียน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนตชด. อยู่เนือง ๆ เพื่อแก้ปัญหานี้ จึงเกิดการรวมห้องของเด็กในสองช่วงชั้นเพื่อให้เกิดการเรียนการสอนที่เรียกว่า ‘ห้องเรียนแบบคละชั้น’
ทางทีม I AM KRU ได้ฟังคำของ นางสาวสุปราณี คำใบ ผู้มีหน้าที่สอนอยู่โรงเรียน ตชด. บ้านนาชมภู ณ จังหวัดอุดรธานี โดยครูสุปราณีได้สอนวิชาคณิตศาสตร์ และภาษาไทย สำหรับเด็กชั้น ป.1 และห้องเรียนแบบคละชั้น ป.1-ป.2 แม้ว่าจะเพิ่งเริ่มต้นการเป็นครูเพียงแค่ 3 เดือน ถือว่าประสบการณ์ยังไม่มาก แต่ก็ไม่ด้อยเลยในด้านการให้ความรู้กับเด็กนักเรียน
ห้องเรียนใหญ่ขึ้น ภาระครูลดลง
ในห้องเรียนปกติแล้วของโรงเรียน ตชด. บ้านนาชมภูจะมีนักเรียนไม่ถึง 10 คนในแต่ละชั้น เป็นห้องเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่าห้องเรียนโดยทั่วไป เมื่อเกิดการรวมห้องเรียน 2 ช่วงชั้น และกลายเป็นห้องเรียนแบบคละชั้น ห้องเรียนจึงมีนักเรียนถึง 10-20 คน ที่เป็นจำนวนพอเหมาะสำหรับการเรียนรู้ ในด้านการสอนของครู จากห้องเรียนแบบเดิมที่เป็นห้องเรียนแยกชั้น ครูคนหนึ่งจะต้องสอนถึงสองห้อง แต่เมื่อเกิดห้องเรียนแบบคละชั้น ก็เหลือเพียงหนึ่งห้องที่ต้องสอน ระยะเวลาที่ใช้ในการสอนก็ลดลงเหลือแค่ครึ่งเดียว
“ส่วนมากครู ตชด. จะไม่ค่อยอยู่เท่าไร บางวันเหลือกันแค่ 2 คน ก็จะมีครูที่ไม่ใช่ ตชด. เลย จะอยู่ประจำ เราก็ได้เอาเด็กมารวมกัน นำแผนมาสอนกับเด็ก”
ครู ตชด. นั้นมักมีเหตุ หรือภาระให้ต้องไปทำอย่างอื่นซึ่งทำให้ไม่สามารถที่จะเข้าไปสอนในวันนั้นได้ ครูในโรงเรียนไม่เพียงพอต่อชั้นเรียนที่มีอยู่ในโรงเรียน หากเป็นแต่เดิมก่อนที่จะมีการเรียนการสอนห้องเรียนแบบคละชั้น ห้องเรียนที่ไม่มีครูประจำชั้นอยู่ก็จะกลายเป็นว่าปล่อยเด็กให้ว่างไปทันที เด็กที่สบโอกาสก็วิ่งเล่นกัน ไม่ทำให้เกิดการเรียนการสอนของเด็กในห้องนั้น แต่เมื่อมีการเรียนการสอนห้องเรียนแบบคละชั้นขึ้นมา ครูที่ยังอยู่ในโรงเรียนก็สามารถปรับแผนการเรียนการสอนได้ และรับเด็กห้องที่ว่างเข้ามาในห้องเรียนที่ยังมีครูประจำอยู่ ทำให้เด็กในวันนั้นยังได้รับการเรียนการสอนตามปกติ กระบวนการเรียนการสอนห้องเรียนแบบคละชั้น จึงถือเป็นตัวช่วยชั้นเยี่ยมที่ลดภาระของครูในการสอน
เป็นมากกว่าแค่การรวมห้องเรียน
เริ่มต้นครูสุปราณี ทั้งต้องปรับแผนการเรียนการสอน และต้องปรับแบบฝึกหัดให้เกิดความท้าทายทั้งกับเด็กโตและเด็กเล็กภายในห้อง หากสอนแบบเดิมเลยเด็กที่โตกว่าก็จะขาดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้เนื่องจากเป็นเนื้อหาที่เคยได้เรียนมาแล้ว และยังมีปัญหาอื่นที่ติดพ่วงมาด้วยคือการที่แต่เดิมนั้นครูสุปราณีนั้นเป็นครูประจำชั้นของเด็กชั้นป.1 การที่ต้องมาสอนเด็กชั้นป.2 ร่วมด้วย เด็กกลุ่มป.2 ก็เกิดอาการดื้อ ไม่ฟังที่ครูสอน เป็นเรื่องยากสำหรับครูสุปราณีที่มาเริ่มใช้ห้องเรียนแบบคละชั้น
ในขณะที่เด็กภายในห้องเรียนก็ต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมการเรียนที่เปลี่ยน มีการกีดกันระหว่างช่วงชั้นที่แตกต่างกัน เด็กที่โตกว่าไม่ให้เด็กที่อายุน้อยกว่านั้นเข้าร่วมกลุ่ม จากความคิดที่ว่า ฉันโตกว่า ฉันเก่งกว่า ฉันทำงานได้ดีกว่า ส่วนเด็กเล็กนั้นก็ร้องไห้จากการถูกกีดกัน ซึ่งเป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนภายในห้องที่ต้องเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
“พี่เขาได้ทบทวน แต่ว่าน้องยังไม่รู้ เขียนคำนี้ยังไม่เป็น พี่ก็จะคอยบอก” คือคำบอกเล่าของครูสุปราณีเมื่อห้องเรียนแบบคละชั้นนั้นเข้ารูปเข้ารอย เด็กชั้นป.1 เองก็ถามเด็กโตกว่าในคำศัพท์ที่ไม่รู้และหัดสะกดคำนั้น ในขณะที่เด็กชั้นป.2 ในบางคำศัพท์ที่ยังไม่แน่ใจในความหมายก็ยังคงพยายามที่จะหาคำตอบเพื่อบอกกับเด็กชั้นป.1 เป็นปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบที่เรียกว่า ‘น้องถามพี่ พี่ช่วยน้อง’ ในห้องเรียน ทำให้พี่ได้ทบทวนเข้าใจในเนื้อหาที่ต้องเรียนอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ส่วนน้องก็ได้เรียนเกินหลักสูตรที่ควรจะเป็น หรืออย่างในวิชาคณิตศาสตร์เมื่อมีงานที่ต้องจับกลุ่ม เด็กชั้นป.2 ที่สามารถเขียนได้ก็จะเป็นคนทำในส่วนนั้น ส่วนเด็กชั้นป.1 จะเป็นคนคอยวาดรูปให้ บางส่วนก็จะระบายสีช่วยกัน แบ่งงานกันไปตามความสามารถแต่ละคน ทำให้เด็กได้ฝึกการทำงานในกลุ่มที่มีความแตกต่าง หรือในบางกรณีก็จะมีเด็กระดับชั้นป.5 หรือป.6 เข้ามาสอนแทนครูในโรงเรียนเลย เนื่องจากว่ามันเป็นเนื้อหาบทเรียนที่เคยเรียนแล้ว แล้วเด็กป.5-ป.6 ก็สามารถที่จะจัดการห้องเรียน คุมให้เด็กที่เล็กกว่านั้นฟังอย่างเรียบร้อย
“ในหลักสูตรจะเป็นแบบตายตัว แต่ในแผนจะให้เด็กคิดเอาเอง” หากเป็นตามปกติในการเรียนวิชาภาษาไทย การเรียนคำศัพท์สระโอ ก็จะใช้คำ เช่น ใหญ่โต เป็นต้น การสั่งให้เด็กหาคำมาเองที่มีความหมาย เป็นการให้เด็กเรียนรู้แบบที่ให้เด็กค้นคว้าด้วยตัวเอง เด็กก็จะหาคำมามากมายมานำเสนอ บางคำศัพท์ที่ครูไม่รู้ เด็กก็สามารถหามาเสอนในชั้นเรียนได้ ครูเองก็ได้เรียนรู้พร้อมกับเด็กด้วย
นอกจากนี้ทีม I AM KRU ยังได้สังเกตการณ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในห้องเรียนแบบคละชั้นระดับป.1-ป.2 ซึ่งก็พบสิ่งเดียวกันกับที่จากคำบอกเล่าของครูสุปราณี ห้องเรียนคณิตศาสตร์ที่เด็กในสองช่วงชั้นสามารถเรียนรู้ด้วยกันได้ รับฟังคำพูดที่ครูสอนอย่างเรียบร้อย ทำงานเกี่ยวกับวิธีการลบเลข ก่อนที่จะนำผลลัพธ์ที่ตัวเองได้มานำเสนอหน้าห้องเรียนให้ทุกคนในห้องได้ฟัง เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนนั้นไม่ได้แค่รับฟัง เนื้อหาภายในห้องเท่านั้น แต่ผู้เรียนยังได้ลงมือทำ และยังได้ทำหน้าที่นำเสนอแบ่งปัน ข้อค้นพบของตัวเองให้เพื่อนได้รับรู้
ห้องเรียนแบบคละชั้นจึงไม่เพียงแค่เป็นการรวมให้ห้องเรียนมีขนาดใหญ่ขึ้น และลดภาระของครูในโรงเรียนตชด. เพียงเท่านั้น ตัวของห้องเรียนยังทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อการศึกษาภายในห้อง เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายในห้องเรียน
#iamkru #กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา #กสศ #โรงเรียนบ้านนาชมภู
3,231
Writer
- Admin I AM KRU.