Black Mirror ซีรีส์สัญชาติอังกฤษเป็นออริจินัลซีรีส์ของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง Netflix ที่ชวนคนไปดำดิ่งไปกับด้านมืดของมนุษย์ผ่านเทคโนโลยีและสื่อดิจิทัล เป็นเรื่องสั้นจบในตอน ที่ในเเต่ละตอนจะมีประเด็น เนื้อหาและคอนเซ็ปต์ของเทคโนโลยีแตกต่างกันไป นำเสนอเรื่องราวของเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนามนุษย์ อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันและเป็นเชื่อมโยงมนุษย์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน แต่กลับกันเทคโนโลยีก็เป็นเหมือนกระจกที่สะท้านด้านมืดของมนุษย์ เมื่อมนุษย์เลือกที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความเห็นแก่ตัวของตัวเอง
ซีรีส์ Black Mirror อาจไม่ใช่ซีรีส์สำหรับทุกคน แม้ในบางตอนที่มีเนื้อหาตลกขำขัน แต่ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหารุนแรง หดหู่ และชวนดำดิ่งไปกับการกระทำของตัวละครที่ผ่านการใช้เทคโนโลยี Black Mirror จะนำเสนอเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าแต่ก็ใกล้เคียงกับความเป็นจริงอย่าง การคัดลอกสมองไปเป็นปัญญาประดิษฐ์ ระบบวัดคะเเนนความดีบนโซเชียล หุ่นแอนดรอยด์มาแทนที่มนุษย์ที่ตายไป แต่สำหรับบางตอนก็นำเสนอภัยจากเทคโนโลยีและสื่อโซเชียลมีเดียที่ร่วมสมัย ยกตัวอย่าง “The National Anthem” จาก ซีซัน 1 ตอนที่ 1 ที่พูดถึงสื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อความคิดประชาชนมากจนเกินไป จนกลายเป็นอำนาจในการควบคุมความคิดให้ผู้คนตัดสินใจทำเรื่องที่เลวร้าย และอีกหนึ่งตอนที่สามารถเชื่อมโยงกับเหตุการณ์จริงได้อย่าง “Shut Up and Dance” จาก ซีซัน 3 ตอนที่ 3 มาในประเด็นของการใช้ดิจิทัลในทางที่ผิดเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง บางครั้งก็อาจทิ้งร่องรอยดิจิทัล (Digital footprint) หลงเหลืออยู่บนโลกออนไลน์และกลายเป็นภัยที่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองในสักวัน
มันง่ายที่เราจะใช้ปลายนิ้วสัมผัสส่งเสียงหรือแสดงความคิดเห็นบนโลกโซเชียลผ่านสมาร์ตโฟนของเรา เป็นเรื่องน่าสนใจที่เราจะได้รับฟังความคิดเห็นของคนในสังคมและเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อเปิดมุมมองของเราให้กว้างขึ้น แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่ใช่สื่อดิจิทัลเพื่อพัฒนาทักษะความคิดเพียงอย่างเดียว สื่อดิจิทัลก็สามารถกลายเป็นอาวุธที่ใช้ทำลายผู้คนได้เพียงปลายนิ้วเช่นกัน ย้อนกลับไปในวันที่ 23 ธ.ค.2557 ชายหนุ่มคนหนึ่งใส่รองเท้าที่มีรูขาดขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นโรคจิต เพราะถูกใครบางคนถ่ายภาพไปเผยแพร่ในสื่อโซเชียลพร้อมกล่าวหาว่า ติดกล้องไว้ที่รองเท้าเพื่อแอบถ่ายใต้กระโปรง ส่งผลให้ชายหนุ่มตกเป็นจำเลยสังคมและไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกต่อไป เหตุการณ์นี้เป็นกรณีตัวอย่างที่เเสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันของในการใช้โซเชียลมีเดียของประชาชนในขณะนั้นค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้หลงเชื่อ “ข่าวปลอม” (Fake News) ได้ง่าย
เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าการเเสดงความคิดเห็นของเรากำลังทำร้ายจิตใจใครบางคนอยู่หรือการที่เราลงคลิปสั้นๆ บนสื่อโซเชียลอาจก่อให้เกิดภัยอันตรายในแบบที่คาดไม่ถึง ดังนั้น ความฉลาดทางดิจิทัล (DQ: Digital Intelligence Quotient) ทักษะที่สำคัญในโลกยุคดิจิทัลที่ครูและนักเรียนขาดไม่ได้ ยกระดับเป็น “พลเมืองดิจิทัล” (Digital Citizenship) ที่สามารถใช้เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบและมีประสิทธิภาพ ตระหนักถึงภัยคุกคามจากสื่อดิจิทัล เช่น การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ต่อต้านสื่อผิดกฎหมาย ไม่เผยเเพร่ส่วนตัวของครูและนักเรียน เป็นต้น ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่พลเมืองทุกคนควรจะต้องมีติดตัว
แม้ว่าในโลกออนไลน์จะเต็มไปด้วยสื่อที่อันตรายต่อความคิดมากมายกระจายอยู่ทั่วแพลตฟอร์มออนไลน์ สิ่งที่เราควรทำอาจไม่ใช่การปิดกั้นไม่ให้นักเรียนเข้าถึงและทำเหมือนว่าสื่อเหล่านั้นไม่มีอยู่จริง เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าลับสายตาผู้ใหญ่ อัลกอริทึมของเเพลตฟอร์มต่างๆ กำลังโยนอะไรมาให้นักเรียนดูหรือนักเรียนจะเข้าถึงสื่อประเภทไหนบ้าง แต่การสอนให้นักเรียนตระหนักถึงความอันตรายเเละเสริมความฉลาดทางดิจิทัล จะสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้สื่อดิจิทัลที่ติดตัวนักเรียนอยู่ตลอดเวลา อาจจะช่วยลดจำนวนเหยื่อจากออนไลน์ในวัยเรียนได้มากขึ้น ปัจจุบันซีรีส์ Black Mirror มีทั้งหมด 6 ซีซัน สามารถรับชมได้บนเเพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง Netflix
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง :
Writer
- Admin I AM KRU.