ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า  | ผู้ทรงคุณวุฒิที่มุ่งมั่นเพื่อการพัฒนาวิชาชีพศึกษานิเทศก์

Share on

 5,628 

ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้ทรงคุณวุฒิที่มุ่งมั่นเพื่อการพัฒนาวิชาชีพศึกษานิเทศก์

อีกหนึ่งผู้ทรงคุณวุฒิที่ทุกท่านสามารถพบท่านนี้ในเวทีสำคัญด้านการศึกษา ทั้งการทำงานกับหน่วยงานสำคัญที่กำหนดเป้าหมายการศึกษาพื้นฐานของประเทศ สพฐ. บทบาทหน้าที่ในมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กับการสนับสนุนส่งเสริมครูผู้อุทิศตนเพื่อศิษย์ มูลนิธิสยามกัมมาจล กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และเวทีวิชาการอีกมากมาย และวันนี้ทาง I AM KRU. ได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ที่มอบโอกาสให้ทางแอดมินได้สัมภาษณ์ระหว่างที่ ศน.เบญจลักษณ์ เข้าร่วมการอบรมโครงการพัฒนาศึกษานิเทศก์ ในหลักสูตรการนิเทศการจัดการเรียนรู้เชิงรุก และระบบนิเวศการเรียนรู้ สู่สมรรถนะของผู้เรียนที่มีศึกษานิเทศก์แกนนำจากหลายจังหวัดในภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และตะวันตก การอบรมแบบที่จัดเต็มทุกกระบวนการตลอดระยะเวลา 4 วัน 3 คืน เพื่อเป้าหมายของโครงการ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ กสศ มุ่งสนับสนุนให้เกิดขบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เป็นการทำงานร่วมกับต้นสังกัดในระดับพื้นที่ (จังหวัด) และเกิดกลไกความร่วมมือกับหน่วยงานภาคส่วนโดยในครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกับ สพฐ. และเขตพื้นที่การศึกษาที่เกิดเป็นโครงการอบรมเพื่อพัฒนาศึกษานิเทศก์แกนนำอย่างเข้มข้นในพื้นที่ 17 จังหวัด เพื่อนำความรู้และทักษะการนิเทศเพื่อเป้าหมายการเรียนรู้เชิงรุกในห้องเรียนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

ที่มาและความสำเร็จของโครงการ

อย่างแรกต้องขอบคุณ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กศส.) และ อาจารย์แจ็ค รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต ที่เปิดโอกาสให้ทีมศึกษานิเทศก์เข้ามามีส่วนร่วมและเข้าใจระบบการทำงาน เพราะการทำงานการศึกษานั้นต้องร่วมกับองค์กรหลักที่จะขับเคลื่อนการศึกษาให้เดินไปด้วยกัน โดยทีมนี้เป็นทีมที่พยายามทำกระบวนการ Active Learning และมีการปรับปรุงเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัยตลอดเวลา ข้อดีของโครงการนี้คือการที่อาจารย์แจ็คนำจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่าย มาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ศึกษานิเทศก์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันคิดช่วยกันออกแบบและเข้าใจวิถีและกระบวนการของ ศน. ตรงนี้จะทำเกิดการต่อยอดองค์ความรู้จากฐานที่มีอยู่และใช้กระบวนการให้เกิดผลดีที่สุดของการพัฒนา โดยรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 3 แล้ว 

การเปลี่ยนนโยบายเป็นความท้าทายสำคัญในการดำเนินงาน 

เมื่อมองย้อนกลับไปอาชีพศึกษานิเทศก์ส่วนใหญ่มาจากครูเก่งและอยากทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้เพื่อนครู เป็นผู้นำนโยบายจากส่วนกลางลงสู่การปฏิบัติทำงานกับโรงเรียน ช่วยแนะนำครูให้ห้องเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลง และมีความก้าวหน้ามีเส้นทางของการเติบโตในสายงานวิชาชีพของตนเองพอสมควร พอระบบการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงบ่อยตามนโยบายของผู้บริหาร และกอปรกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบันทึ่ใช้อยู่ (พ.ศ.2542) มีการยุบหน่วยศึกษานิเทศก์ส่วนกลาง ทำให้ศึกษานิเทศก์ลงพื้นที่การศึกษากันหมด จากเดิมที่คอยทำหน้าที่รับโจทย์เรื่องหลักสูตรจากกรมวิชาการนำมาขับเคลื่อน ไม่มีการดูแลการพัฒนาศึกษานิเทศก์ที่อยู่ในส่วนกลางทำให้มีคนไม่ค่อยเข้าใจบทบาทหน้าที่ของศึกษานิเทศก์ที่อยู่ในระบบส่วนกลาง 

บางเขตพื้นที่ไม่มีผู้สนใจสมัคร ศน. มีความเห็นอย่างไรบ้าง

เป็นเรื่องของชุดความคิดของแต่ละคน (mindset) อยู่ที่มุมมองในหน้าที่ของแต่ละคน การทำงานของครูก็เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่ทำงานใกล้ชิดกับนักเรียนเป็นการทำงานเพื่อการพัฒนานักเรียน แต่การเป็นศึกษานิเทศก์บทบาทคือการพัฒนาครู แค่ทำหน้าที่คนละฟังก์ชัน ซึ่งตัวพี่เองชอบที่จะทำงานร่วมกับครู ชอบวิชาชีพนี้ เลยมาเป็นศึกษานิเทศก์ 

แต่ทั้งสองอย่างมีเป้าหมายเดียวกันเพื่อการพัฒนานักเรียน และด้วยหน้าที่ของศึกษานิเทศก์เป็นมือเป็นไม้ เป็นกำลังสำคัญด้านวิชาการของ ผอ.เขตพื้นที่ ตามนโยบายที่ปรับเปลี่ยน ทั้งข้อมูลที่ส่วนกลางต้องการ ศน.จึงเป็นหน่วยขับเคลื่อนที่จะต้องไปขอข้อมูลกับครูในพื้นที่ ไหนจะต้องไปนิเทศเพื่อปรับเปลี่ยนห้องเรียน ซึ่งเป็นภาระงานที่ค่อนข้างหนัก ทำเกือบทุกอย่าง เสาร์ – อาทิตย์บางทีก็ไม่ได้หยุด และภาวะขาดครูก็มีส่วนที่ส่งผลต่อจำนวนคนสมัครสอบเป็นศึกษานิเทศก์ 

ศึกษานิเทศก์คือครูที่ไม่ชอบสอน ?

สมัยหนึ่งมีคนบอกว่า คนที่มาเป็น ศน. คือคนที่ไม่ชอบสอน แต่จริง ๆ ไม่ใช่ทั้งหมด นี่อาจจะเป็นมุมมองที่คนมองเห็นพฤติกรรมที่แสดงออกของ ศน. จากที่เขาเห็นหรือสัมผัสจากการทำงานร่วมกัน และการทำงานของศน. ก็เป็นสอนผ่านการเป็นพี่เลี้ยงที่คอยแนะนำและกระบวนการโค้ช 

การพัฒนาการเรียนการสอนไม่สามารถเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว 

การพัฒนาการเรียนการสอนต้องอาศัยใช้เวลา ใช้ความต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการทดลอง การลงมือทำ มีการสะท้อนคิด และ PLC 

ศึกษานิเทศก์ยังจำเป็นอยู่ไหมในยุคที่ครูหาทุกอย่างได้ในคอมพิวเตอร์

พระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานไว้ว่า “ไม่มีเทคโนโลยีใดแทนครูได้” อาชีพครูเป็นแรงบันดาลใจและกระตุ้นผู้เรียน ซึ่ง AI ไม่สามารถทำในส่วนนี้ได้ บทบาทหน้าที่ของ AI ช่วยให้เกิดความเร็วในการทำงาน แต่คนก็ยังจะต้องฝึกให้เกิดความคิด และใช้ AI ให้เป็นประโยชน์ เช่นเดียวกันกับอาชีพ ศน. ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีเราก็ยังต้องสะท้อนให้คนให้คิดให้ตระหนักรู้

และสิ่งที่ AI ทำไม่ได้ คือความมีชีวิต ที่จะไปเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้พี่มองว่าวิชาชีพ ศน. ยังมีความจำเป็น ดังนั้น มี AI ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายง่ายขึ้น เรื่องของการหมุนกลไกก็ยังต้องใช้คนเป็น ๆ เข้าไปเป็นพี่เลี้ยง ไปเป็นโค้ช 

AI แทนมนุษย์ได้ในมิติที่ไม่ต้องใช้ความรู้สึก การตระหนักรู้ การความนึกคิด ถ้าในอนาคตถ้ามีหุ่นยนต์มายกตัวพี่จากเก้าอี้ ก็น่าจะง่ายกว่าไปตามใครมาช่วยยก เป็นการทำงานโดยที่ไม่ใช้ความรู้สึก แต่พี่ไม่กล้าฟันธงได้ว่า AI จะทำแทนได้หรือไม่ แต่ในปัจจุบันต้องใช้การไตร่ตรอง การเผชิญหน้า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่สมควร การทำงานกับคนในบางวิชาชีพยังต้องการคนเป็น ๆ ธรรมชาติเด็กประถม เด็กเล็ก ๆ ต้องการมานั่งตักครู มาวิ่งเล่น คอยให้ครูบอก ซึ่งตรงนี้ AI ทำไม่ได้ในด้านของความรู้ แต่ในด้านของเครื่องมือ ความเที่ยงตรง ความแม่นยำ มนุษย์เรายังสู้ AI ไม่ได้

ความสำคัญบทบาทของศึกษานิเทศก์และการศึกษาในยุคปัจจุบัน

ขอตัวอย่างตอนที่พี่เรียนหนังสืออยู่ พี่เป็นศึกษานิเทศก์และเพื่อนเป็นครู เรียนเหมือนกัน คลาสเหมือนกัน คุยเหมือนกัน แต่มายเซ็ทของการรับฟังข้อมูลนำไปสู่งานของตัวเองต่างกัน ครูมองเห็นไปถึงห้องเรียนและเด็กนักเรียน แต่ ศน. มองไปถึงว่า แล้วเราจะปรับโรงเรียน ช่วยโรงเรียนอย่างไร ศน. เป็นอาชีพที่เป็นตัวกลางระหว่างนโยบายและศูนย์ปฏิบัติ โดยเฉพาะการศึกษา ไปประเทศไหนก็จะดูว่ามีศึกษานิเทศก์ไหม ? ซึ่งวิชาชีพนี้มีทุกประเทศที่มีการจัดการด้านการศึกษา เพียงแต่ว่าเขาจะจำกัดความว่าอะไร บางแห่งเป็น School Consultant  บางแห่งเป็น School Advisor เพราะว่าเมื่อนโยบายจากส่วนกลางออกมา ซึ่งโรงเรียนและครูไม่ได้มีหน้าที่ตรงนี้ ด้วยความที่ครูมีหน้าที่อยู่กับเด็ก แต่รัฐต้องการคนที่เชื่อมโยงนโยบายลงสู่โรงเรียน ต้องมีวิชาชีพที่เรียกว่าศึกษานิเทศก์ ที่ต้องลงไปนั่งทำงานร่วมกับครู ทำหน้าที่เป็นสายตาอีกคู่หนึ่งที่สะท้อนคุณครู สะท้อนโรงเรียน พี่รู้สึกว่าวิชาชีพนี้ยังมีความสำคัญมากกับระบบการศึกษา 

 5,629 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า