พัฒนาการเรียนรู้สู่ผลลัพธ์ในฝันด้วยเทคนิค “การประเมินผลตนเอง”

เพราะแว่นของครูไม่สามารถมองทะลุทุกมิติของนักเรียนทุกคน การให้นักเรียนสะท้อนตนเองจึงสำคัญต่อการเรียนรู้

Share on

 3,731 

พัฒนาการเรียนรู้สู่ผลลัพธ์ในฝันด้วยเทคนิค “การประเมินผลตนเอง”
“การที่เราจะพัฒนามนุษย์สักคนหนึ่ง​ซึ่งมนุษย์มีชีวิตจิตใจไม่สามารถใช้การประเมินแบบเป็นตัวเลขที่เป็นเกณฑ์เดียวมาตัดสิน เหมือนที่คนชอบล้อเลียนกันว่าจะวัดทักษะของปลาโดยให้ปลาปีนต้นไม้เหมือนลิง ซึ่งสะท้อนระบบการวัดผลปัจจุบัน”

รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม 

ปัจจุบันหลายประเทศเล็งเห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนระบบการประเมินผล (assessment) ในระบบการศึกษา เพราะการให้คะแนนแบบอิงตาม “กระดาษคำตอบ” และอิงตาม “เกณฑ์ในใจ” ของครูแต่ละคนไม่สามารถสะท้อนผลลัพธ์จริง ๆ ที่นักเรียนได้จากการศึกษา จึงเป็นที่น่าสนใจว่า วิธีใดที่จะใช้ประเมินผลนักเรียนได้แบบมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งความการปรับวิธีประเมินผล ทำให้ต้องปรับวิธีการเรียนการสอนให้สามารถสะท้อนความสามารถของเด็กออกมาระหว่างการเรียน ให้ครู เพื่อนในห้อง และตัวนักเรียนคนนั้นมองเห็นได้  

โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เห็นความสำคัญของการพัฒนาและสะท้อนความสามารถของเด็กที่สามารถไปได้ไกลกว่าเดิม จึงนำ “การเรียนรู้แบบกระบวนการ” จากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เข้ามาใช้ โดยมุ่งหวังว่า 75 โรงเรียนในโครงการนี้จะสามารถปั้นนักรียนของตนเองให้เป็นคนเก่งในแบบที่เขาอยากเป็น ไม่ใช่คนเก่งแบบเดิม ๆ 

การเรียนรู้แบบกระบวนการ สะท้อนความสามารถได้ดีกว่า

รูปแบบการสอนแบบกระบวนการ มีจุดประสงค์คือ ส่วนประกอบ ทักษะต่าง ๆ การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคนิคพิเศษคือประประเมินผลที่ “นักเรียน” จะเป็นคนให้ตัวเอง และมีส่วนในการประเมินผลเพื่อนร่วมชั้น ผลที่ออกมาจึงสะท้อนได้หลายมิติมากขึ้น ไม่ใช่แค่มุมที่ครูเห็นพวกเขาเพียงอย่างเดียว

รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ หนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาโรงเรียนเครือข่าย TSQP ​และผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม อธิบายให้ฟังว่า ตามปรัชญาการศึกษาที่ถูกต้องควรจะมีส่วนที่ให้นักเรียนประเมินตัวเอง แต่ที่ผ่านมาระบบการศึกษาไทย​ไม่ได้ใส่ใจกับการประเมินตนเอง เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องนามธรรม มีส่วนที่สะท้อนลึกถึงจิตใจของนักเรียน เมื่อส่วนนี้ไม่สามารถมองเห็นได้ในชีวิตจริงจึงถูกมองข้ามไป ทั้งที่สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์และมีคุณค่ากว่าการประเมินที่ออกมาเป็นเลขคะแนนหรือเกรดเท่านั้น 

“ธรรมชาติของมนุษย์ มักจะเอาง่ายเข้าว่า ชอบอะไรที่ชัดเจน ไม่ต้องตีความ ​แต่การที่เราจะพัฒนามนุษย์สักคนหนึ่ง​ซึ่งมนุษย์มีชีวิตจิตใจ ไม่สามารถใช้การประเมินแบบเป็นตัวเลขที่เป็นเกณฑ์เดียวมาตัดสิน เหมือนที่คนชอบล้อเลียนกันว่าจะวัดทักษะของปลาโดยให้ปลาปีนต้นไม้เหมือนลิง ซึ่งสะท้อนระบบการวัดผลปัจจุบัน”​

นักเรียนประเมินตนเองได้อย่างไรบ้าง

รศ.ดร.ธันยวิช เล่าให้ฟังคร่าว ๆ ถึงรูปแบบการประเมินตนเองที่โรงเรียนในโครงการ TSQP นำมาใช้ มี 3 รูปแบบ คือ

  1. Formative Assessment หรือการประเมินผลเพื่อให้เกิดการพัฒนา สำหรับการประเมินรูปแบบนี้นักเรียนต้องสรุปการเรียนรู้ของตนเองในคาบ ในสัปดาห์ หรือในเทอมนั้น แต่ละคนจะได้ทบทวนตัวเองว่าสิ่งที่ได้ทำไปนั้น ดีตรงไหน ไม่ดีตรงไหน ตนเองชอบและไม่ชอบอะไร ซึ่งสุดท้ายจะทำให้นักเรียนรู้ว่าต้องแก้ไขปรับปรุงตรงไหน และรู้ว่าตัวเองถนัดตรงไหน จะได้พัฒนาตรงจุดนั้นมากขึ้น
  2. Authentic Assessment ​ หรือการประเมินตามสภาพจริง ใช้วัตถุประสงค์และพฤติกรรมที่คาดหวัง แต่ไม่ได้ประเมินแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น วันสอบ แต่จะให้นักเรียนประเมินตนเองระหว่างการทำกิจกรรมในชั้นเรียน ว่าตนเองได้พัฒนาทักษะขึ้นหรือไม่ ​ซึ่งดีกว่าการที่ครูประเมินนักเรียนเองทั้งหมด เพราะนักเรียนจะสะท้อนให้เราฟังในมุมที่เราอาจไม่ทันได้เห็นเขา เป็นการสะท้อนตัวเอง ครูที่มีประสบการณ์จะรู้ว่าเขาพูดจริง ​ไม่จริง และมีเพื่อน ๆ ในชั้นเป็นพยาน จึงไม่ต้องกังวลเรื่องความคลาดเคลื่อนของการประเมิน
  3. Curriculum Embedded Assessment คือ การประเมินในฐานะกิจกรรมหนึ่งของการพัฒนาและการเติบโตของนักเรียน เช่น นักเรียนจะต้องพูดถึงสิ่งที่เขาได้รับทั้งในแง่องค์ความรู้ สาระวิชาการ และพฤติกรรมที่เขาทำระหว่างเรียน การทบทวนสิ่งเหล่านี้คือการตกผลึกความรู้ บางครั้งถ้าครูกับนักเรียนไม่ได้มาตกผลึก หรือพูดคุยกัน สิ่งที่ควรจะได้ก็จะหายไป แต่ถ้ามีการพูดคุยกันแบบสม่ำเสมอ ก็จะทำให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น และไม่มีนักเรียนที่โดนทิ้งไว้ระหว่างทาง 

การประเมินตนเองใน 3 รูปแบบนี้ อาจถูกเรียกเป็นชื่อต่าง ๆ เช่น Reflection, After Action Review (AAR), Crystalize, ชวนแชร์ และอื่น ๆ ​แล้วแต่ครูจะตั้งชื่อเพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก และรศ.ดร.ธันยวิชเห็นว่า การประเมินตนเองทั้ง 3 รูปแบบนี้ควรจะใช้ควบคู่กันไปเนื่องจากแต่ละแบบมีจุดเด่นต่างกัน สามารถปรับตามเนื้อหาการเรียนรู้ได้ ไม่มีอะไรตายตัว อยู่ที่การออกแบบ ส่วนครูจะเป็นคนประเมินให้ความเห็นข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์

ผลของการประเมินตนเอง สร้างเด็กที่เก่งขึ้น

“ผลลัพธ์ที่ได้อาจเป็นคะแนนตัวเลขแต่ก็ไม่ใช่คะแนนที่จะไปตัดสินความดี ความชั่ว ความเก่ง ความอ่อนของผู้เรียน  แต่เป็นไปเพื่อดูพัฒนาการของแต่ละทักษะว่ามีขึ้นมีลงอย่างไร ​ในอนาคตจะมีหลักสูตรเป็นฐานสมรรถนะคือไม่ได้สอบวัดผลแต่จะเป็นการวัดว่าทำได้ไม่ได้ เหมือนสอบเลื่อนขั้นของเทควันโดจากสายเหลืองไปจนถึงสายดำ ที่จะต้องแสดงความสามารถที่แท้จริงออกมา การประเมินแบบนี้จะเข้ามามีบทบาท​ในการเรียนรู้ แบบฐานสมรรถนะมากขึ้น”

รศ.ดร.ธันยวิช เห็นว่า​​ สิ่งที่ออกมาจากกระบวนการประเมินตนเองของนักเรียน ไม่ใช่แค่คะแนนที่เป็นตัวเลข แต่เป็นพัฒนาการของผู้เรียนในเชิงคุณภาพ จากการทำงานด้านการศึกษาของ OECD ​ที่ทำมากว่า 20 ปี  ในปีแรก ๆ ของการทำงาน รศ.ดร.ธันยวิชเน้นไปที่เรื่องของการประเมินตัวเอง​เพราะเชื่อว่าจะส่งผลไปถึงทุกเรื่อง มุ่งเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้แบบดั้งเดิม ที่เน้นการบรรยาย หรือ แบบ passive​​ เพราะเด็กจะไม่ได้แสดงพฤติกรรมที่แท้จริงออกมา ครูมองไม่เห็นตัวตนและความสามารถที่แท้จริงของเด็ก และแม้แต่เด็กเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร เก่งแค่ไหนแล้ว ต่อมา OECD จึงมุ่งพัฒนาการเรียนรู้แบบ active learning ในโรงเรียนต่าง ๆ

ทั้งนี้ ​หากยังจัดการเรียนแบบ​ lecture-based, passive learning หรือแบบ traditional  ซี่งเป็น fixed mindset ไม่ใช่ growth mindset รศ.ดร.ธันยวิชเห็นว่าไม่มีโอกาสที่จะเห็นพฤติกรรมของผู้เรียนที่แท้จริง จึงไม่สามารถเปิดช่องในการประเมินตนเองแบบ Formative Assessment, Authentic Assessment และ Curriculum Embedded Assessment ​ได้​

โรงเรียนวัดกู่คำ กรณีศึกษาของการประเมินผลตนเอง

ตัวอย่างโรงเรียนในเครือข่าย TSQP ที่ใช้รูปแบบการประเมินตนเองสอดแทรกในการเรียนรู้แบบกระบวนการ คือโรงเรียนวัดกู่คำ (เมธาวิสัยคณาทร) บุคลากรในโรงเรียนนี้เข้าใจถึงการดึงความสามารถและความรู้สึกของนักเรียนออกมาผ่านวิธีการต่าง ๆ โดยวิธีการเหล่านั้นเน้นให้เกิดสีสันห้องเรียน ทำให้นักเรียนสบายใจ และเปิดใจสะท้อนตัวเองออกมาตรง ๆ   ​

การประเมินตนเองไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบการจับเข่าคุยกับครูเท่านั้น เพราะโรงเรียนวัดกู่คำใช้กิจกรรมการประเมินตนเองที่มีลูกเล่นน่าสนใจ ตัวอย่างเช่น ครูจะนำขวดพลาสติกบรรจุ “น้ำสี” จำนวน  10 ใบ ไล่เรียงปริมาณตั้งแต่ติดก้นขวดเล็กน้อย ไปจนถึงเต็มขวด แทนระดับคะแนน 1-10 มาจัดวางหน้าชั้นเรียน​ เพื่อเป็นอุปกรณ์การประเมินผลให้คะแนนนักเรียน เมื่อเสร็จกิจกรรมในชั้นเรียนนวัตกรรม เด็กแต่ละคนจะไปยืนอยู่หน้า “ขวด” ที่คิดว่าสะท้อนคะแนนตัวเองที่จะได้รับ เช่น เด็กที่คิดว่าตัวเองควรจะได้คะแนนเต็ม 10 ก็จะไปยืนอยู่หน้าขวดที่บรรจุน้ำสีเต็มขวด  ส่วนคนที่คิดว่าตัวเองควรจะได้ 5 คะแนนก็จะไปยืนอยู่หน้าขวดที่บรรจุน้ำสีครึ่งขวด จากนั้นคุณครูจะเปิดให้เด็ก ๆ ได้สะท้อนเหตุผลของพวกเขาว่าทำไมตัวเขาเองถึงควรได้คะแนนเท่านี้ ​ก่อนจะเปิดให้มีการประเมินกลุ่ม โดยให้เพื่อน ๆ ช่วยให้ความเห็น และปิดท้ายด้วยการสรุปผลคะแนนและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ของคุณครูผู้ดูแลกิจกรรม

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการประเมินอื่น ๆ ที่โรงเรียนวัดกู่คำใช้ เช่น แบบเชิงเส้น (linear) ​ครูตั้งคำถามประเมินเชิงสภาพจิตใจ โดยมีคำตอบว่าเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ไม่แน่ใจ แบ่งพื้นที่หน้าห้อง กลางห้อง หลังห้องแทนแต่ละคำตอบ หากเด็กรู้สึกอย่างไรก็ให้เดินไปอยู่พื้นที่นั้น ข้อดีคือเด็กคิดอะไรครูจะรู้ได้ทันที และการประเมินอีกแบบหนึ่งคือการใช้กราฟใยแมงมุม (spidergram) ให้ผู้เรียนประเมินตัวเองในแต่ละแกนการประเมินว่าตัวเองอยู่ระดับไหน จากนั้นจะให้รวมกลุ่มและนำกราฟใยแมงมุมที่ได้มาแปะรวมกันเพื่อให้เพื่อนในกลุ่มช่วยสะท้อนการประเมินของแต่ละคน นักเรียนก็จะได้รับฟังมุมมองของเพื่อน ๆ ด้วย 

สำหรับวิธีจัดกิจกรรมการประเมินตนเองไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกรายวิชา หรือทุกสถาบัน 75 โรงเรียนอาจจะมี 75 วิธีการประเมินก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเน้นความบันเทิง หรือสร้างสรรค์สุดโต่งจนลืมแก่นแท้ของการประเมิน เพราะสิ่งสำคัญหรือแก่นของการประเมินตนเอง คือ “กระบวนการ” ที่ครูจะต้องโน้มน้าวให้นักเรียนได้พูด ได้คิด ได้วิเคราะห์ตนเองตามสภาพความเป็นจริง​

 3,732 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า