เด็กที่เป็น LGBTQ+ ต้องใช้เวลามาก ๆ ในการพิสูจน์ตัวเองให้คนรอบตัวยอมรับ เราในฐานะอาจารย์จึงต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้เขาเป็นตัวของตัวเองได้”
ดร.ณัฏฐนันธ์ เอื้อศิลป์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา
การสอนให้เด็กทำความเข้าใจและเปิดรับความแตกต่างหลากหลายในสังคม ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของครูยุคปัจจุบัน เป็นบทบาทที่ต้องอาศัยความเข้าใจและความพร้อมของครูผู้สอนอย่างมาก บทความนี้จึงชวนมองบทบาทของครูในการสร้างห้องเรียนเพื่อรองรับความแตกต่างทางเพศ กับ “ดร.ณัฏฐนันธ์ เอื้อศิลป์” อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อหาคำตอบร่วมกันว่า ครูจะเตรียมพร้อมและเข้าใจตัวเองอย่างไรเพื่อการดูแลเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพในสังคมที่มีความหลากหลายทางเพศ
จากประสบการณ์การสอนในมหาวิทยาลัย และเรื่องราวจากลูกศิษย์ที่เป็นครูในโรงเรียนแห่งหนึ่ง จึงทำให้ ดร.ณัฏฐนันธ์เห็นว่า ก่อนที่ครูจะสามารถสอนให้นักเรียนรู้จักถึงความแตกต่างทางเพศได้ ตัวของครูผู้สอนเองจะต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ตัวตน และการแสดงออกของนักเรียนที่แตกต่างกันออกไปได้ตามเพศสภาพ
โดยปกตินักเรียนในระดับชั้นเล็ก ๆ จะยังไม่รู้ว่าควรวางตัวหรือแสดงบุคลิกภาพตนเองอย่างไร หน้าที่สำคัญของครูคือการสนับสนุนตัวตนของนักเรียน และดูแลการแสดงออกของนักเรียนให้เหมาะสม โดยเฉพาะการดูแลนักเรียนที่เป็นเพศทางเลือก หรือ LGBTQ+ ครูจะต้องไม่ใส่สีหรือสร้างภาพลักษณ์ที่ทำให้นักเรียนแปลกแยกไปจากเพื่อน ไม่ใส่สีสัน ไม่ยัดเยียดความตลกขบขัน และไม่บังคับให้เด็กแสดงท่าทางหรือพฤติกรรมที่เด็กไม่ต้องการ
อีกสิ่งหนึ่งที่ครูต้องตระหนักคือ วัยเด็กคือวัยที่ยังไม่เข้าใจมิติเชิงลึกของสังคม ครูจึงมีหน้าที่ในการสร้างพื้นฐาน ให้นักเรียนเข้าใจว่า สังคมเรามีความแตกต่างทางเพศ และความแตกต่างเหล่านั้นเป็นเรื่องปกติ เพื่อให้เขาสามารถทำความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศได้เมื่อเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น
เด็กนักเรียนเล็ก ๆ ยังไม่รู้จักและเข้าใจเรื่องความเท่าเทียม เราในฐานะครู สามารถสอนให้เขาเข้าใจก่อนได้ว่าเพื่อนบางคนเขามีเพศที่แตกต่างกับเรา ครูต้องระวังอย่างมากการอธิบายความเป็นหญิงเป็นชาย การกำหนดกรอบพฤติกรรมให้เด็ก เพราะเด็กจะจดจำสิ่งที่ครูพูด” ดร.ณัฏฐนันธ์ กล่าว
ประเด็นต่อมาคือ ครูต้องพร้อมเสมอที่จะละทิ้งตัวตน และอคติเดิมที่ติดตัวมา เพื่อให้พร้อมทำความเข้าใจนักเรียน เนื่องจากบทบาทของครูไม่ได้มีเพียงแค่การสอนทฤษฎีให้นักเรียนเข้าใจ แต่ครูคือคนที่จะเป็นต้นแบบของความคิดและพฤติกรรมของเด็ก ครูจึงต้องมีความรู้ในด้านจิตวิทยาเบื้องต้น ละทิ้งการยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ ที่ตนเองเคยได้รับการปลูกฝังมา แล้ว “ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง” ดร.ณัฏฐนันธ์ให้มุมมองว่า การเข้าใจจิตวิทยาเบื้องต้นจะทำให้ครูสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียนได้อย่างไม่มีอคติ และรู้เท่าทันสังคม
ครูต้องสังเกตและคุยกับเด็ก ดูว่าเด็กเป็นคนยังไง มีลักษณะนิสัยพิเศษอย่างไรบ้าง ครูต้องยั้งตัวเองเป็น ต้องมีศาสตร์และศิลป์ในการแก้ปัญหา ไม่ยึดติดกับภาพลักษณ์แบบเดิม ๆ เช่น ถ้าครูมีภาพลักษณ์ว่าเด็กที่ดีคือ เด็กต้องเงียบ เชื่อฟังครูเสมอ ถ้าตัวครูเองยังมีภาพจำแบบนี้ จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ยาก
ครูต้องใฝ่รู้ หาความรู้เพิ่มเติมและเสริมประสบการณ์ให้ตัวเองเสมอ ถ้าครูไม่เก่งพอ มีประสบการณ์ไม่มากพอ จะเปลี่ยนห้องเรียนไม่ได้”
อีกหนึ่งบทบาทที่ครูต้องเตรียมพร้อม จากมุมมองของดร.ณัฏฐนันธ์คือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก ทำห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนได้เป็นตัวของตัวเอง สามารถแสดงตัวตนแบบที่ตนเองอยากจะเป็น สร้างความมั่นใจให้นักเรียนทุกคน และดึงศักยภาพของเขาออกมา และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนเคารพความแตกต่างซึ่งกันและกัน
“เด็กที่เป็น LGBTQ+ ต้องใช้เวลามาก ๆ ในการพิสูจน์ตัวเองให้คนรอบตัวยอมรับ เราในฐานะอาจารย์จึงต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้เขาเป็นตัวของตัวเองได้
เราอยากเห็นเด็กทุกคนยืนอยู่ในสังคมนี้อย่างเข้าใจ pride & proud (ภาคภูมิใจ) ในตัวเอง เหมือนเวลาไฟในโรงละครดับลงแล้วมีเสียงปรบมือ ขอแค่นี้ให้กับนักเรียนของเรา ที่เหลือให้เขาไปสร้างด้วยตัวเอง”
อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนประเด็นทางสังคม ดร.ณัฏฐนันธ์เห็นว่าต้องพิจารณาความพร้อมในการเรียนรู้ของเด็ก รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ในการเรียนรู้ว่าพร้อมสำหรับประเด็นเหล่านี้แล้วหรือไม่เช่น กรณีการสอนเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นประเด็นที่ซับซ้อน เราต้องย่อยองค์ความรู้ให้เหมาะสมกับเด็ก พร้อมทั้งทบทวนรายวิชา หลักสูตร และองค์ประกอบอื่น ๆ ว่ามีความพร้อมมากน้อยเพียงใด
“ถ้าเป็นเด็กในช่วงวัยประถม จะต้องเกิดคำถาม เพราะโลกของเขามีพ่อกับแม่ที่เป็น straight แต่การย่อยความรู้ให้เขาเห็นว่าในสังคมนั้นประกอบด้วยเพศที่เป็นเชิงชีววิทยา กับเพศในมุมอื่น ถ้าเด็กรู้จักสิ่งนี้ สร้างกิจกรรมในโรงเรียนจะดี หัวหน้าสถานศึกษาต้องเป็นคนสร้างกิจกรรม ประสบการณ์นี้ให้เด็ก แต่ปัจจุบันผู้ใหญ่ยังคงมองประเด็นต่าง ๆ ได้ไม่ลึกซึ้งเพียงพอ หลักสูตรหลายวิชายังเป็นการโปรแกรมเด็กให้เป็นคนดี ให้เด็กท่องจำว่าดีคือแบบนี้ ถ้าไม่ใช่แบบนี้คือไม่ดี มีรายละเอียดหลายอย่างหายไป สรุปคือ ถ้าจะเอาสมรสเท่าเทียมไปสอน ยังไม่ควรยัดเยียดความรู้จำนวนมากให้เขา เพราะเนื้อหาในวิชาสังคมที่เขาเรียนอยู่มันยังไม่ได้เปิดกว้างมากนัก” ดร.ณัฏฐนันธ์กล่าว
การจัดการกับการเรียนรู้เรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเพศไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับครูผู้สอน แต่ถ้าครูทุกคนใฝ่รู้ ตั้งใจเปลี่ยนแปลงตนเอง และเปิดมุมมองเรื่องเพศของตนเองให้กว้าง ก็จะสามารถผลักดันห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ที่นักเรียนสามารถเป็นตัวของตัวเองอย่างภาคภูมิใจ และเข้าใจในอัตลักษณ์ทางเพศของเพื่อน เพื่อให้นักเรียนพร้อมที่จะอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายนี้อย่างดี
6,008
Writer
- เอื้อการย์ โรจนจิรไพศาล (มะแม้ว)