“เด็กมีความหลากหลาย การศึกษาก็ควรหลากหลายและยืดหยุ่นเพื่อตอบโจทย์เงื่อนไขชีวิตเด็กทุกคน”
คำว่าห้องเรียนไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องสี่เหลี่ยมเท่านั้น การจำกัดการเรียนรู้เพียงกรอบของการฟังครูสอน และการทำใบงาน นั้นเป็นกระบวนการที่อาจเข้าไม่ถึงตัวผู้เรียนทุกคน ตัวของห้องเรียน และบทเรียนจึงจำเป็นที่จะต้องถูกดัดแปลงให้มีความน่าสนใจ รวมถึงตอบโจทย์ชีวิตของตัวผู้เรียน ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีหลายโรงเรียนนำร่อง เป็นต้นแบบของห้องเรียนยืดหยุ่นนี้แล้ว
(1) โรงเรียนบ้านแม่คะ จ.เชียงใหม่
(2) โรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) จ.ขอนแก่น
(3) โรงเรียนบ้านกู้กู จ.ภูเก็ต
โรงเรียนบ้านแม่คะ จ.เชียงใหม่
นวัตกรรมจัดการเรียนรู้ STEAM Design Process
การจัดการแผน 5 ขั้นตอน ใช้กิจกรรมยืดหยุ่นและการบูรณาการกับท้องถิ่นด้วย STEAM Design Process ด้วยวิสัยทัศน์โรงเรียนมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ผู้เรียนได้มีความรู้ ควบคู่กับคุณธรรม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยภายในโรงเรียนได้มีการจัดกิจกรรมหลากหลายผ่านการให้เด็กได้ร่วมคิด ร่วมออกแบบการเรียนรู้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน สาระหลักและการบูรณาการ
กิจกรรมที่เกิดขึ้น ทั้งการทำเครื่องดื่มในคาเฟ่ การทำผ้าพิมพ์ลายใบไม้รักษ์โลก (Eco Print) การทำผ้าย้อมไม้แก่นฝาง การทำกระเป๋าสาน หรือการทำโคมล้านนา เชิญปราชญ์ชุมชน หรือผู้ปกครองที่มีความรู้เฉพาะทางได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ทำให้เด็กมีทักษะอาชีพ สามารถนำไปสร้างรายได้ อีกทั้งยังมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น
อุปกรณ์ / เครื่องมือหนุนเสริม
โรงเรียนมีอุปกรณ์พิเศษที่ชื่อว่า Learning Box อุปกรณ์กล่องเรียนรู้ที่บรรจุเครื่องมือ เครื่องเขียน ที่เด็ก ๆ สามารถนำไปเรียนรู้ได้ทุกที่ตามความต้องการ
ระบบ Q-INFO ที่นำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ สามารถช่วยประเมินความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ของนักเรียน และแก้ปัญหาได้ทันท่วงที แก้ปัญหาเด็กมาสาย ไม่มาโรงเรียน ได้ข้อมูลแบบ real time สามารถติดตามเพื่อดูปัญหาที่แท้จริงว่า เพราะอะไรเด็กถึงไม่มาโรงเรียน พร้อมหาทางร่วมมือแก้ไขปัญหา เด็กไม่เสียโอกาสทางการเรียน ทำให้นักเรียนจบการศึกษาภาคบังคับได้รับวุฒิการศึกษาไปเรียนต่อหรือไปประกอบอาชีพได้
ผลลัพธ์
ปราชญ์ชุมชน / ผู้ปกครอง มีความภาคภูมิใจในคุณค่าของตนเอง และองค์ความรู้ทางศิลปะ วิชาชีพต่าง ๆ ของในชุมชนไม่สูญหายไป
นักเรียน เด็ก ๆ ได้เรียนรู้การเรียนคิด อย่างสร้างสรรค์ คิดอย่างมีขั้นตอน สามารถสร้างทักษะด้านอาชีพ มีความสุขกับการเรียนมากขึ้นผ่านกิจกรรมที่ไม่เครียด สนุก ได้ความรู้และพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ด้านต่าง ๆ
ครู เปลี่ยนมายด์เซ็ตการเรียนการสอน การเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในตำราและห้องเรียน การเรียนด้วยการปฏิบัติเห็นภาพการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กได้ชัดเจนขึ้น เด็ก ๆ สนุกและชอบกิจกรรม ครูมีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เรียนการสอนระหว่างกันเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
โรงเรียน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างคุณค่าให้กับชุมชนแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง และสร้างมูลค่าเพิ่มทางความคิดและผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการเรียนการสอน
โรงเรียนบ้านทุ่มประชานุเคราะห์ จ.ขอนแก่น
นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ Open Approach และ Lesson Study
เป็นนวัตกรรมที่ได้รับความช่วยเหลือ coaching ดูแลจากคณะศึกษาศาตร์ ม.ขอนแก่น
ปัญหาปลายเปิดเพื่อเปิดโลกแห่งความคิดของผู้เรียน อิสระทางความคิดที่จะช่วยกระตุ้นจินตนาการและสร้างการมีส่วนร่วม และเข้าสู่การเรียนเป็นกระบวนการกลุ่มปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา สร้างทักษะการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือกัน
ในรายวิชาคณิตศาสตร์นั้นจะใช้ใบงาน แต่พอนำนวัตกรรมมาใช้มีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่การเรียนการสอนคือการทำใบงานก็เปลี่ยนเป็นการลงมือทำจริง ได้หยิบเอาหัวข้อเรื่อง “เศษส่วน” มาเป็นบทเรียนการทำ “หวานเย็น” และใช้เศษส่วนการวัดตวง ในการเรียนหัวข้อนี้ ซึ่งเมื่อเด็กได้ทำก็ต้องใช้วิธีการตวงวัดส่วนผสมกับภาชนะ คิดเป็นเศษส่วนเท่าไรของภาชนะดังกล่าว เมื่อทำแล้วไม่ได้รสที่พอใจ ก็ต้องจดเศษส่วนการใส่ส่วนผสม และปรับเปลี่ยนการทำในครั้งหน้า ถือเป็นการเอาวิชาคณิตศาสตร์อันเป็นยาขม ให้หอมหวานขึ้น จากเด็กที่ไม่ได้สนใจในคณิตศาสตร์ ก็กลายเป็นนักเรียนที่กระตือรือร้น
นอกจากนั้นยังขยายผลไปปรับใช้ในรายวิชาอื่น ๆ ทำให้ครูโรงเรียนบ้านทุ่มประชานุเคราะห์กว่า 31 คน มีทักษะการสอนแบบ Open Approach กันทุกคน
วิธีการใช้ Lesson Study หรือ PLC ที่มีการสะท้อนผล (reflection) เพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นการเรียนรู้ ข้อค้นพบ ข้อแนะนำจากเพื่อนครูที่สังเกตได้ระหว่างการสอนนำไปพัฒนา ปรับปรุงแผนการเรียนการสอนเพื่อนำไปใช้พัฒนาห้องเรียน/นักเรียนต่อได้
ผลลัพธ์
- นักเรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้
- เป็นเจ้าของการเรียนรู้ที่เด็ก ๆ เลือกหัวข้อเอง เกิดเป็นองค์ความรู้ติดตัว
- เด็ก ๆ เกิดความกล้ามากขึ้น กล้าพูด กล้าคิด กล้าลงมือทำ กล้านำเสนอ และได้แนวคิดของตนเอง ที่พาไปถึงจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ครูตั้งไว้
- เห็นคุณค่าของการลงมือทำ ได้ชิ้นงานแห่งความภาคภูมิใจ
โรงเรียนบ้านกู้กู จ.ภูเก็ต
นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ Open Approach + PLC Lesson Study
โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตดูแลและโค้ชให้กับโรงเรียน
การเยี่ยมบ้าน 100% ทำให้ได้ข้อมูลนักเรียนตามสภาพจริง รู้จักครอบครัว เห็นข้อจำกัด เห็นปัญหาเพื่อมาออกแบบรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน
Personalized Learning
การเรียนที่ดึงชุมชน ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมจัดการเรียนการสอน วิเคราะห์ฐานชุมชนเพื่อประเมินศักยภาพว่าสามารถนำองค์ความรู้ ที่มีอยู่ในชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมมาจัดการเรียนรู้อะไรได้บ้าง ครูเป็นผู้ช่วยโค้ชตั้งคำถามต่าง ๆ ซึ่งทางโรงเรียนจึงได้นำเรื่องของ “การปลูกผักบุ้ง” ไปขยายผลบูรณาการในหลากวิชา เปลี่ยน ‘ผักบุ้ง’ เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องพืชในฐานวิชาวิทยาศาสตร์ ต้องรู้และทำการสืบค้น เรื่องการวัดแร่ธาตุ NPK ในดิน จากวิชาการเกษตร ในวันที่ผักบุ้งโตพร้อมกัน มีการตั้งโต๊ะขายผลผลิตให้ทางโรงอาหาร ต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งข้องเกี่ยวกับวิชาคณิตศาสตร์ พอกลับบ้านเอาผักบุ้งไปทำอาหาร ก็ต้องออกแบบเมนูให้อาหารครบ 5 หมู่ ตามวิชาการงานอาชีพ และอีกหน่วยเรียนรู้ที่นักเรียนและชุมชนออกแบบร่วมกันคือหน่วยเรียนรู้เรื่อง ‘ขยะ’ ที่เกิดจากการตั้งคำถามว่า ‘จะทำให้ชุมชนของเราสะอาดได้อย่างไร’ เป็นการเรียนรู้ที่เด็ก ๆ ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมของพวกเขา ครูจึงมีหน้าที่เป็นนักตั้งคำถามเพื่อให้เด็กเชื่อมโยงกับชีวิตจริง ระหว่างการเรียนรู้นักเรียนคนไหนเก่งเรียนรู้ได้ไวกว่าเพื่อน ก็รับหน้าที่และคอยช่วยเหลือเพื่อนที่ยังไม่รู้ ซึ่งทั้งสองหน่วยนี้นอกจากเรื่องวิชาการที่ได้แล้วยังสอดแทรกทักษะการอยู่ร่วมกันช่วยเหลือผู้อื่น สำนึกรักและหวงแหนชุมชนไปในตัว
โรงเรียนใช้ Lesson Study เยี่ยมชมห้องเรียนระหว่างกันเพื่อสังเกตวิธีการสอนครูและปฏิกิริยาของนักเรียน เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการสอนระหว่างกัน เกิดการตั้งคำถามเพื่อเรียนรู้และร่วมพัฒนา
อุปกรณ์ / เครื่องมือหนุนเสริม
Q-INFO เครื่องมือประเมินความเสี่ยงของนักเรียน ที่คุณครูทุกระดับใช้ โดยเฉพาะผู้อำนวยการโรงเรียน ใช้ประเมินพฤติกรรมนักเรียน ขาด ลา มาสาย นั่นหมายความว่าเด็กกำลังเกิดปัญหา จนส่งผลต่อการมาเรียน จึงสั่งการให้ครูประจำชั้นเข้าไปดูแล
ผลลัพธ์
- ผู้ปกครอง ชุมชน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบการเรียนรู้ เกิดความภาคภูมิใจในวิถีชุมชน เกิดความหวงแหนทรัพยากรชุมชน
- เกิดการเรียนรู้แบบพี่สู่พี่ พี่สู่น้อง ปราชญ์ชาวบ้านสู่นักเรียน
- เกิดการทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- นักเรียนสังเกตจุดแข็ง และทักษะของตนเอง และเรียนรู้จุดเด่นและทักษะของเพื่อนร่วมชั้น
- การตั้งคำถามส่งผลให้เด็กกล้าพูด กล้าคิด กล้าจินตนาการ
- PLC ช่วยให้ครูเกิดการตั้งคำถามที่จะพัฒนาการเรียนการสอนให้ดีขึ้น
ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ๆ ของการยึดถือผู้เรียนเป็นสำคัญ แม้ว่าการเรียนในรูปแบบเดิมยังทำให้ผู้เรียนมีความรู้ได้ แต่การเรียนในห้องเรียนยืดหยุ่นนอกจากความรู้ที่ได้ยังตอบโจทย์ความสนใจ รวมทั้งชีวิตของผู้เรียนอีกด้วย
สรุปไอเดียสำคัญจาก Solutions Café & Mini Workshop วงจับเข่าคุยเพื่อขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program : TSQP) ว่าด้วย Anywhere Anytime ห้องเรียนยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต 📱 ที่จัดขึ้นภายในงาน ‘Schools That matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อน โรงเรียนพัฒนาตนเอง : โรงเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567
สามารถรับชม Solutions Café & Mini Workshop – Anywhere Anytime ห้องเรียนยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต ได้ที่ : https://fb.watch/rxOispCAyA/
รวม Solution จากเวที
Schools That Matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อนพัฒนาตนเอง
Solutions Cafe & Mini Worrkshop
Schools That Matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อนพัฒนาตนเอง – Solutions Cafe & Mini Workshop
สรุปไอเดียสำคัญจาก Solutions Café & Mini Workshop 5 ห้อง 5 วง ล้อมวงแลกเปลี่ยนเพื่อขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program : TSQP) ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้นภายในงาน ‘Schools That Matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อน โรงเรียนพัฒนาตนเอง : โรงเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567
โดยทั้ง 5 ห้อง ประกอบไปด้วย
1️⃣ ห้องเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง https://fb.watch/rxO7pHosrF/
2️⃣ Super Connection นักประสานสิบทิศ https://fb.watch/rxOb4Dmklz/
3️⃣ ครูกู้ใจ เติมทักษะอารมณ์และสังคม https://fb.watch/rxOeZSPw_g/
4️⃣ Anywhere Anytime ห้องเรียนยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต https://fb.watch/rxOispCAyA/
5️⃣ อ่านออก เขียนได้ ฐานสำคัญสร้างนักเรียนรู้ตลอดชีวิต https://fb.watch/rxOmmVHbrW/
Writer
- Admin I AM KRU.