เทคนิคการเรียนรู้ Active Learning Spectrum (ตอนที่ 1) เทคนิคแบบง่าย
ทำไมการเรียนรู้แบบ Active Learning จึงถูกบรรจุเป็นกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนและสถานศึกษา และมีการอบรมและพัฒนาครูในระดับชั้นต่าง ๆ ให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้เกิดประสิทธิภาพเพื่อเป้าหมายพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในด้านต่าง ๆ
บทความนี้จะเล่า 18 กระบวนการศึกษา Active Learning Spectrum และวิธีการปรับใช้ในแต่ละกระบวนการให้อย่างเห็นภาพมากขึ้น โดยจะแบ่งเป็นเทคนิคแบบง่ายกระบวนการไม่ซับซ้อนและเทคนิคแบบซับซ้อนที่ต้องอาศัยการเตรียมเนื้อหาและใช้เวลาการออกแบบกระบวนการ
เทคนิคแบบง่าย
1. วิธีหยุดคิดและไตร่ตรองปรับปรุง
Clarification Pauses/Pause for Reflection การใช้การหยุดชั่วคราวอย่างมีจุดประสงค์เพื่อเน้นประเด็นสำคัญและให้เวลาในการประมวลผลและตั้งคำถาม เมื่อครูทำการบรรยายในห้องเรียน ให้มีเวลาพัก และชวนเด็กคิด ทบทวนสิ่งที่เมื่อสักครู่ได้เรียนรู้ ให้เวลาเด็กจดว่าได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง เป็นประเด็นสั้น ๆ และหากมีเวลามากพออาจเสริมให้เด็กแชร์ สะท้อนกันในห้องเรียน ว่าสิ่งที่เขาเข้าใจนั้นถูกต้องหรือไม่ โดยครูสามารถเข้าไปดูแล และปรับปรุงเสริมเติมในประเด็นที่ยังขาดไป
การใช้วิธีหยุดคิดและไตร่ตรองปรับปรุงทำให้ได้รู้ว่าเพื่อนภายในห้องมีคิดเห็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเด็กจะได้รู้ว่าควรปรับปรุงของตัวเองต่อไปในแนวทางใด ถือเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่เอาไปทำได้ แถมยังใช้เวลาไม่นาน แม้จะไม่มีการเคลื่อนไหว แต่การที่เด็กได้คิดก็ถือเป็น active learning
2. วิธีค้นคว้าและสรุปรวบรัด (Writing Activities Munite Paper) เป็นวิธีที่เน้นเรื่องการเขียนแตกต่างจากวิธีแรกตรงที่เป็นการเขียนที่ยาวกว่าการเขียนแค่ keyword เป็นการเขียนข้อความสรุปความรู้ ผ่านคำถามที่ครูตั้ง โดยให้เด็กเขียนข้อความหลังการเรียนรู้ ให้เขียนว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง ซึ่งระยะเวลาที่เขียนอาจขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของตัวเนื้อหาที่เรียน
เทคนิคนี้สามารถนำการประเมินมาร่วมด้วยได้ โดยใช้วิธีให้เขียนก่อน แล้วหลังจากจบก็ให้เด็กเขียนอีกที เพื่อประเมินความแตกต่างระหว่างก่อน และหลังเรียน
วิธีค้นคว้าสรุปและรวบรัด เปิดโอกาสให้เด็กได้เขียน ได้คิด ได้เข้าใจ และเมื่อเวลาผ่านไป ก็สามารถย้อนมองได้ ทำให้เด็กได้ทบทวน และเข้าใจในเนื้อหามากขึ้นได้ วิธีนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำได้ง่าย ใช้เวลาไม่นาน เพียงแค่เตรียมคำถามเท่านั้น
นอกจากนี้เวลาใช้วิธีนี้ ครูก็มักจะได้รับคำถามแสดงความสงสัยที่น่าสนใจกว่าเดิม เนื่องจากเด็กได้เข้าใจในเนื้อหาลึกซึ้งขึ้น
3. วิธีประเมินตนเองและทำซ้ำ (Self-Assessment) เป็นวิธีการประเมินตนเอง การประเมินตัวเองทำให้นักเรียนนั้นรู้ว่าตัวเองชอบอะไรไม่ชอบอะไร สามารถนำไปตัดสินใจต่อในเรื่องอนาคต เช่น การเรียนต่อ ได้ทบทวน จุดเด่น จุดด้อย จุดที่ต้องแก้ไข รู้ว่าต้องพัฒนาตัวเองไปในแนวทางใด เป็นการประเมินที่ไม่ได้ออกมาในรูปของคะแนน แต่เป็นในเชิงระดับมากกว่า
อย่างไรก็ตามการประเมินตอนสุดท้ายอย่างเดียวอาจจะทำให้ไม่รู้ถึงการเปลี่ยนแปลง การประเมินก่อน-หลัง ทำให้รู้ว่าตัวเองพัฒนาจากจุดเดิมมามากแค่ไหน
4.วิธีอภิปรายกลุ่มใหญ่ (Large – Group Discussion)
ผ่านการตั้งคำถาม เป็นวิธีการที่ทำให้เด็กแสดงความคิดเห็น ได้คิด ได้อภิปราย ได้แลกเปลี่ยน ทำให้เด็กมีส่วนร่วมกับเนื้อหาการสอนอย่างลึกซึ้ง ทำให้เข้าใจในเนื้อหามากยิ่งขึ้น มีส่วนร่วมกับห้องเรียน เข้าใจถึงความสำคัญของการสร้างความรู้ร่วมกัน ความรู้ผสมผสาน ต่อยอด ซึ่งเป็นปกติของการสร้างความรู้ในยุคปัจจุบัน
เป็นวิธีที่ค่อนข้างใช้เวลา เนื่องจากเป็นการอภิปราย และเป็นกลุ่มใหญ่ หากเวลาไม่พอแต่ละคนอาจได้แค่แสดงความคิดเห็น แต่ไม่มีเวลาพอสำหรับการสรุปในหัวข้อนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเผื่อเวลาไว้
ประเด็นที่จะต้องคิดถึงเมื่อใช้วิธีนี้
1. ความไม่แน่นอนของการสนทนา บางทีหลุดประเด็นจากเนื้อหา ครูก็จะต้องเตือน
2. เงียบ ไม่อยากแสดงความคิดเห็น แก้โดย เรื่องที่นำมาถกเถียง ต้องมั่นใจว่าคุ้นเคย และรู้จริง ทำให้ช่วยเคลียร์ประเด็นที่เด็กกำลังถกเถียง ช่วยนำการถกเถียงในกลุ่มได้ หรือในบางครั้งเป็นเรื่องที่ครูไม่รู้ ก็อาจกลายเป็นผู้อภิปรายร่วมด้วย
3. ต้องอธิบายกระบวนการอย่างชัดเจน ถ้ามีกระบวนการชัดเจน มันก็จะดำเนินการได้ง่ายขึ้น โดยอาจสร้าง powerpoint แล้วก็บอกเลยว่าในการอภิปรายต้องทำอะไรบ้าง มีเวลาเท่าไร
4. ต้องทำให้การแลกเปลี่ยนนั้นเป็นพื้นที่ปลอดภัย ตัวครูที่เป็นส่วนหนึ่งของวงต้องไม่ตัดสินเด็กว่าความคิดไหนถูกผิด แต่พยายามชี้ให้เห็นถึงความแตกต่าง พยายามให้เขาให้เหตุผลลงรายละเอียดมากที่สุด หรืออาจเรียกได้ว่าครูเป็นผู้ช่วยเหลือ ชี้แนะ แต่ไม่ชี้นำ ผิดได้ ถูกได้ เพิ่มเติมกันได้
เทคนิคที่ใช้ได้กับวิธีอภิปรายแบบกลุ่มใหญ่ และทุกวงสนทนา
- ฝึกการสนทนา – ต้องทำให้เด็กคิดเป็น พูดเป็น ก่อนที่จะมาใช้การถกเถียงกลุ่มใหญ่ มีการฝึกก่อนโดยเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ
- มอบหมาย FA ผู้ช่วย – ดึงจากเด็ก ๆ นัดหมายกันก่อน เป็น facilitator หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่อง เมื่อเป็นกลุ่มย่อย ก็ถามว่าเขาเก็บประเด็นได้แค่ไหน ก่อนที่จะสรุปประเด็นร่วมกันในครูและ facilitator จะได้ไม่หลุดประเด็น เก็บประเด็นได้ครบ ไม่มีความคิดเห็นไหนถูกละเลย
- เลือกประเด็นในการสนทนาที่มีความเกี่ยวข้องทำ DISCUSSION GUIDELINES – เป็นแนวทางพูดคุย อธิบายที่ชัดเจน การอภิปรายก็จะไม่มีปัญหา
- ใช้การนำเสนอแบบไม่เป็นทางการ – ไม่ใช่การยืนนำเสนออ่าน powerpoint เรียกนักศึกษาโดยใช้ชื่อ – ช่วยทำให้บรรยากาศในการอภิปรายดี รวมถึงเรียกนักเรียนอย่างให้เกียรติ
5. วิธีแลกเปลี่ยนเทียบผลงาน คิดทำซ้ำ (Think – Pair – Share)
เป็นวิธีที่เปลี่ยนให้เด็กจาก passive learner เป็น active learner มากขึ้น เพราะทุกขั้นตอนต้องคิด และต้องลงมือทำยังคงเป็นกระบวนการที่เริ่มต้นได้ง่าย
โดยจะมีประเด็นที่อยากให้เด็กได้เรียนรู้ ได้คิด หรืออาจเป็นเรื่องที่สอนอยู่ก็ได้ ให้เวลาเด็กคิด แล้วก็เขียน สำหรับเด็กที่ยังไม่ถนัดอาจใช้การ์ดเข้ามาช่วย เพื่อเป็นคำถามไกด์ให้เด็กได้คิด จากนั้นแลกเปลี่ยน โดยจับกลุ่ม 2 หรือ 3 คน ให้ได้แลกเปลี่ยน เปรียบเทียบกัน แล้วจึงมานำเสนอกับห้องใหญ่ขึ้น พื้นที่ใหญ่ขึ้น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครูคอยเก็บประเด็น หลังจากที่แลกเปลี่ยนแล้ว อาจถามเด็กในห้องเพิ่มเติมถึงส่วนที่เหมือน และแตกต่าง กับข้อค้นพบของตนเอง แล้วอยากเพิ่มเติมประเด็นอะไรอีกไหม
สิ่งที่สำคัญ คือ ครูที่สอนต้องอยู่ในกระบวน ต้องไปอยู่ตามกลุ่มต่าง ๆ เปิดหูฟัง ว่าเด็กพูดถึงเรื่องอะไร จับประเด็นที่เขาพูด และคอยเติมเต็มให้เด็ก เช่น อาจมีบางประเด็นที่หายไปตอนนำเสนอ แต่เคยมีตอนแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจใช้ facilitator ผู้ช่วย ให้ช่วยเก็บประเด็นก่อนที่จะพูดในห้องใหญ่ หรืออาจถามถึงประเด็นเพิ่มเติม
6. วิธีจับคู่หรือกลุ่ม 3 คน (Cooperative Groups in Class)
ใกล้เคียงกับวิธี think-pair-share แต่ในวิธีนี้จะเป็นวิธีการจับกลุ่มไปเลยตั้งแต่ กลุ่มหนึ่งได้ตั้งแต่ 3-7 คน แล้วแต่เนื้อหาที่สอน จากนั้นจึงให้โจทย์ซึ่งอาจเป็นงาน หรือว่าเป็นการถกเถียงในประเด็น แล้วก็เอาสิ่งที่ได้มานำเสนอ
7. วิธีอธิบายแบบเป็นกันเอง (Peer Review)
ให้ผลป้อนกลับ สะท้อนกับคนที่ทำงานนั้น ๆ เป็นเพื่อนแสดงความคิดเห็นกันเอง ถ้าเป็นนักเรียนต้องมีทั้งเพื่อนและครู/ทีมที่ปรึกษา ให้ผลป้อนกลับควบคู่ไปด้วย โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะทำให้ตัวงานนั้นพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ
การที่ให้เพื่อนเป็นคนรีวิว/ให้ความเห็นด้วยกันเองจะทำให้สารที่ส่งเข้าใจกับเพื่อนมากกว่า ทั้งเรื่องของระดับภาษา และความเป็นกันเอง แต่ทั้งนี้การมีครูด้วยเพื่อให้เป็นการเติมเต็มบางส่วนที่ขาดไป
ทั้งนี้ตัวเด็กต้องรู้ว่า การให้คำแนะนำอย่างสร้างสรรค์มีอย่างไร แบบไหนคือดี แบบไหนคือไม่ควร และการเสริมแรงบวกทำอย่างไร ต้องให้รู้ว่าวิธีการชมเพื่อน แต่ไม่มากเกินไป ไม่ใช้แค่ถ้อยคำที่ว่าอะไรถูกผิด แต่เน้นว่าส่วนใดยังพัฒนาได้อีก
ซึ่งฟีดแบคประกอบไปด้วย 3 ส่วน คำชื่นชม ในส่วนที่เพื่อนทำได้ดี คำแนะนำ และการแก้ไขในส่วนที่ยังสามารถปรับปรุงได้
ต้องมีทั้ง 3 ส่วน มีแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้
8. วิธีประเมินคุณค่าด้วยกลุ่ม (Group Evaluations)
ใกล้เคียงกับ peer review แต่เป็นกลุ่มแทน สามารถให้รีวิว สะท้อนกันเอง ซึ่งในประเด็นที่สะท้อนอาจเป็นการประเมินการทำงาน หรือการประเมินผลการทำงานกลุ่ม ซึ่งอาจจัดเป็นนิทรรศการ มีการจัดแสดงผลงาน แล้วให้กลุ่มประเมินผล ประเมินคุณค่า ของชิ้นงานของเพื่อนที่เกิดขึ้น
8 กระบวนท่า ที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าจะเน้นกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน เน้นความเป็นกันเอง ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยน การพูดคุย แสดงความคิดเห็น และการสะท้อน เบื้องต้น แต่ Active Learning Spectrum ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังคงมีอีก 10 กระบวนท่า ที่เพิ่มความซับซ้อนทั้งกระบวนการและการนำไปปรับใช้ โปรดติดตามในบทความหน้า
ที่มา:
“การเปรียบเทียบผลลัพธ์การจัดการเรียนรู้เชิงรุก 18 วิธีเพื่อวิเคราะห์ลีลาการเรียนรู้ของผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาตามแนวคิดของคอล์บ”, ธันวิช วิเชียรพันธ์, 2023
https://so04.tci-thaijo.org/index.php/ISCJ/article/view/263938
Active Learning, เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา, คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง, การญ์พิชชา กชกานน, 2024
8,918
Writer
- Admin I AM KRU.