Active learning for Active Citizen
เรียนรู้เชิงรุกสู่พัฒนาคุณธรรม
‘
เด็กไทยต้องฝึกอบรมธรรมจริยาให้สมบูรณ์พร้อมในตนเอง
จักได้เป็นคนดีมีคุณ มีประโยชน์ และสามารถรักษาตัว รักษาชาติบ้านเมือง
ให้ดำรงอยู่ด้วยความเจริญมั่นคงต่อไปได้
’
พระบรมราโชวาท
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ปี 2534
Active Learning เพื่อพัฒนาคุณธรรม
ปัจจุบันความรู้สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ แต่ความดีงามและคุณธรรมเป็นเรื่องนามธรรม ที่ต้องใช้เวลาในการปลูกฝังและพัฒนา เมื่อการเรียนรู้ในห้องเรียนไม่เพียงพอ และผู้เรียนมองว่าวิชาจริยธรรมเป็นวิชาที่น่าเบื่อหน่ายที่ครูเน้นพาเข้าวัดหรือไปนั่งวิปัสสนา
เมื่อการศึกษาก็สำคัญ คุณธรรมก็ต้องมี แล้วเราจะจัดกิจกรรมหรือออกแบบการเรียนการสอนที่มาพร้อมทั้งวิชาการและเกิดกระบวนการขับเคลื่อนด้านคุณธรรมสำหรับนักเรียนอย่างไร
“
เก่งได้และต้องดีด้วย
ผ่านกระบวนการออกแบบความรู้คู่คุณธรรม
”
เป้าหมายในการพัฒนาคนเพื่อให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศนั้น เก่งอย่างเดียวคงไม่พอ ที่จะเข้ามาพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้ คนที่จะเข้ามาต้องมีความสมบูรณ์พร้อมทั้งในด้านวิชาการความรู้ คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีด้วย ซึ่งคุณธรรมที่กล่าวมานั้นไม่ได้ดีแค่ต่อผู้ปฏิบัติแต่จะดีต่อบ้านเมืองด้วย
การนำคุณธรรมไปสอนโดยตรง = เด็กไม่เรียน
การนำคุณธรรมไปสอนโดยตรง = เด็กไม่เรียน การเรียนรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม ไม่ควรนำไปสั่งสอนเด็กโดยตรง ว่าควรทำสิ่งนี้ หรือไม่ควรทำสิ่งนั้น แต่การเรียนการสอนคุณธรรมจริยธรรมต้องแทรกซึมอยู่ในทุกกระบวนการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรม ที่ออกแบบเพื่อสอดแทรกพร้อมปลูกฝังด้านพฤติกรรมของผู้เรียน การพัฒนาคุณธรรมเด็กนั้นต้องให้พวกเขาได้เรียนรู้และค้นพบด้วยตนเอง โดยครูนั้นถือว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้เรียนสามารถซึมซับพฤติกรรมไปในตัว
การเรียนรู้แบบสร้างความรู้ สร้างความเข้าใจ สร้างสมรรถนะ
=
Active Learning
ลักษณะของการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณธรรม
การเรียนรู้นั้นต้องไม่เป็นการสั่งสอน หรือถ่ายทอดความรู้แบบเปิดอ่านตามตำราเรียน แต่เป็นการเรียนรู้แบบ Active Learning = Reflective Learning เรียนรู้จากการสะท้อนคิด ที่ผู้เรียนรู้มีประสบการณ์ผ่านมาก่อนและนำมาประสบการณ์นั้นมาตีความว่ามีนัยสำคัญอะไร มีความหมายว่าอะไร หรือตอบหลักการอะไร มาสะท้อนคิดใส่ตนอยู่ตลอดเวลาให้สมองของผู้เรียนมีการ Active อยู่ตลอดเวลา
ลักษณะของกิจกรรมการเรียนการสอน
ครูมีบทบาทที่จะออกแบบกิจกรรมของผู้เรียนเพื่อให้เกิด Active Learning อาจจะเป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนสามารถเกิดการ Active เพียงลำพัง หรือ กิจกรรมกลุ่มที่มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ เกิดการสะท้อนคิดเพื่อพัฒนาไปสู่การเรียนรู้ที่ซับซ้อน มีมิติ คิดในหลาย Layer ได้มากกว่าเดิม เพราะในความเป็นจริงคุณธรรมและจริยธรรมนั้นมีหลายระดับ ซับซ้อน หลายมิติ ซึ่งไม่สามารถจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีโดยตรงได้
บทบาทของคุณครูในห้องเรียน ครูจำเป็นต้องสร้างให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- ไม่ดุด่า ว่ากล่าว ผู้เรียน
- เน้นการชวนสะท้อนคิด ตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ ตั้งคำถามด้วยท่าทีเชิงบวก เป็นมิตร
- เอื้ออำนวยความสะดวกในห้องเรียนและกิจกรรมการเรียนการสอนแบบต่าง ๆ
- สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ดี มีความสัมพันธ์แนวราบ ทุกคนเสมอภาคที่จะเรียนรู้ร่วมกัน ด้วยความจริงใจ และเปิดใจ
- ไม่มีคำตอบ ความคิดเห็นใด เป็นเรื่องที่ผิด
- ครูตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการสะท้อนคิดได้อย่างรอบด้าน และสะท้อนคิดเชิงลึก
- ครูต้องปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดี พูดอย่างไร ปฏิบัติอย่างนั้น
‘
การเรียนเรียนรู้เชิงคุณธรรมที่เป็นการเรียนรู้อยู่ในวิถีชีวิตในเชิงปฏิบัติ
ถามตนเองเป็น
ถามเพื่อนเป็น
ตั้งคำถามไปสู่การบูรณาการ ในทุกด้าน ทุกย่างก้าวของชีวิต
V a l u e s ค่านิยม
A t t i t u d e เจตคติ
S k i l l ทักษะ
K n o w l e d g e ความรู้
’
วิธีการการสะท้อนคิดนั้นต้องใช้คำถามเป็นตัวกระตุ้นผู้เรียน โดยครูเป็นผู้ฝึกให้ตัวผู้เรียนเป็นนักตั้งคำถาม กล้าตั้งประเด็นแม้แต่ประเด็นที่อ่อนไหวหรือท้าทาย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่อยู่บนฐานของการเคารพซึ่งกันและกันและเป็นการเปิดโอกาสให้การตั้งคำถามได้สร้างความเข้าใจ และสำรวจความเป็นมนุษย์ของคนที่มีความเห็นตรงข้าม ซึ่งช่วยให้รู้จักตัวตนกันมากขึ้น
การเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณธรรมต้องบูรณาการอยู่ในทุกการเรียนรู้
นอกจากที่โรงเรียนแล้ว ภาคีเครือข่ายก็มีส่วนสำคัญในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เนื่องจากการที่โรงเรียนจะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือกับชุมชนโดยรอบ ซึ่งเป็น service learning ที่การเรียนรู้ได้คืนกลับคืนสู่สังคมและชุมชน โดยการทำงานของครูและโรงเรียนจำเป็นต้องสร้างสัมพันธ์แบบแนวราบที่ทุกคนเสมอภาค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และการพัฒนา สามารถสะท้อนคิดให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาทักษะที่จะติดตัวผู้เรียนให้สามารถประยุกต์ใช้และต่อยอดในการดำเนินชีวิตได้
การเรียนรู้ที่แท้ คือการเรียนรู้จากประสบการณ์
เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
⇓
ตกผลึกหลักการ
⇓
เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง
⇓
นำไปทดลองซ้ำ
⇓
เกิดเป็นเกลียวยกระดับความรู้ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด
การเรียนรู้ต้องเป็นการเรียนรู้ที่สนับสนุนให้ผู้เรียนมีทั้งความฉลาดรู้ มีทักษะวิชาการ ทักษะการใช้ชีวิต และที่สำคัญคือการเป็นคนดีมีคุณธรรม รู้ผิดชอบ ชั่วดี เพราะเก่งอย่างเดียวคงไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด ครูจำเป็นต้องออกแบบการเรียนรู้ที่ปลูกฝังทั้งทักษะของความรู้คู่คุณธรรมจริยธรรม เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไปบนฐานของความเจริญและคุณธรรมที่ดีงาม
7,622
Writer
- Admin I AM KRU.