ผลสำเร็จโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สู่ต้นแบบพื้นที่นำร่อง

Share on

 1,388 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน ด้วยมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเด็กทั้งระบบตามแผนการขับเคลื่อนกลยุทธ์ใหม่ที่เน้นการยกระดับคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนทุกสังกัดในประเทศไทย ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนามุ่งหวังเพิ่มขีดความสามารถของครูและผู้บริหารโรงเรียนให้สามารถบริหารจัดการและจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพ 

  โครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สู่ต้นแบบพื้นที่นำร่อง ครั้งนี้ได้ดำเนินงานโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป้าหมายของโครงการ เพื่อพัฒนาต้นแบบโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา โดยการพัฒนาครูผู้สอนให้มีทักษะ และสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) พัฒนาและสนับสนุนให้ผู้บริหารโรงเรียนเข้าใจ และสามารถดำเนินการสนับสนุน และพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ในระดับชั้นเรียน ส่งเสริมและพัฒนาสามเณรนักเรียน ให้เกิดทักษะและสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 สนับสนุนให้เกิดกลไกขับเคลื่อนคุณภาพโรงเรียนร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัด ตลอดจนสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ทั้งมิติการพัฒนาครู ผู้อำนวยการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนให้เป็นต้นแบบการพัฒนาและขยายผลในเชิงระบบสู่โรงเรียนในสังกัด 

และวันนี้ทาง I AM KRU. ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. จตุภูมิ เขตจัตุรัส หัวหน้าโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม ได้มาร่วมพูดคุยถึงการเข้าไปเปลี่ยนห้องเรียนด้วยกระบวนการ (Active Learning)

จุดเริ่มต้นการทำงานในโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สู่ต้นแบบพื้นที่นำร่อง

อ.จตุภูมิ : “บทบาทเริ่มต้นจากงานวิจัย ในปี พ.ศ.2565 ที่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยและถอดบทเรียนการพัฒนาโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา สู่ทักษะสัมมาชีพ ซึ่งเป็นโครงการของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ท่านอาจารย์ ดร.ผ่องพรรณ เอกอาวุธ ได้พัฒนาโรงเรียนพระปริยัติธรรม ณ ขณะนั้นมีโรงเรียน 5 จังหวัดภาคเหนือ เชียงราย น่าน แพร พะเยา และลำปาง เข้าร่วมโครงการประมาณ 50 โรงเรียน ซึ่งได้เห็นกระบวนการการทำงานของโรงเรียนพระปริยัติธรรม อุปสรรค ความเป็นไปได้ในการพัฒนาผ่านการวิจัยและถอดบทเรียน ระหว่างนี้มีการพัฒนาข้อเสนอของโครงการ และในปี พ.ศ. 2567 ได้มีโอกาสปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้าโครงการ โดยมีฐานการพัฒนาจากงานวิจัยและถอดบทเรียนที่ได้กล่าวไปข้างต้นเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนปริยัติธรรม  แผนกสามัญศึกษา สู่ต้นแบบพื้นที่นำร่อง”

งานวิจัยและถอดบทเรียนและเสริมด้วยการลงพื้นที่เพื่อเข้าใจถึงบริบทและความต้องการของแต่ละโรงเรียน

แม้จะมีการวิจัยและถอดบทเรียนมาแล้ว การลงพื้นที่เจาะลึกถึงบริบทและความต้องการของแต่ละโรงเรียนนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยให้เห็นภาพการทำงาน เพื่อพัฒนาบนฐานบริบทและความต้องการของแต่ละโรงเรียนมากยิ่งขึ้น ทีมทำงานนำโดย อ.จตุภูมิ ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สู่ต้นแบบพื้นที่นำร่อง อ.จตุภูมิ  “โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จำนวน 404 โรงเรียน เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนในกลุ่มเฉพาะที่เป็นสามเณรนักเรียน การเรียนรู้ของสามเณรในโรงเรียนปริยัติธรรมนั้นเรียนทั้งวิชาทางโลกธรรม เรียนวินัยของสงฆ์ เรียนบาลี และวิชาสามัญเหมือนโรงเรียนในสังกัดของ สพฐ.   ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะมีการจัดการออกแบบหลักสูตรให้สามเณรได้เรียนรู้ครบทุกหลักสูตร และทุกหมวดรายวิชา จึงอาจมีความแตกต่างออกไปตามบริบทนักเรียนและต้นทุนของโรงเรียนแต่ละแห่งที่มีไม่เท่ากัน เรียกว่าตามสภาพหรือตามมีตามเกิดได้เหมือนกันครับ”

การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาครูภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ด้วยกระบวนการ Active Learning 

อ. จตุภูมิ : “จากที่ได้ถอดบทเรียนของการทำงานและก่อนหน้าที่จะได้รับผิดชอบโครงการ ทางโรงเรียนก็มีส่งครูไปอบรมเรื่อง Active Learning อยู่แล้ว แต่วิธีการจะเป็นการรับแนวคิด แนวปฏิบัติ แต่ไม่มีการติดตามหรือการนิเทศให้เกิดกระบวนการของ Active Learning ในห้องเรียนจริง ๆ สิ่งสำคัญของโครงการที่ได้ปฏิบัติคือการให้ความรู้และการพัฒนาทีมทำงาน โดยมีการจัดอบรมให้กับครูโรงเรียนแกนนำในทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือ แบบ Intensive เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเรียนรู้เรื่องการพัฒนาแผน การพัฒนาร่วมกันผ่านวง PLC การเขียนแผน การวิเคราะห์แผน แล้วนำสิ่งที่ได้อบรมมาสู่การปฏิบัติในห้องเรียนเป็นเวลา 1 ภาคเรียน”

“สิ่งที่โรงเรียนได้ปรับเปลี่ยนที่เห็นได้ทันทีเลย นั้น คือ การวางแผนตั้งแต่คณะ PLC  การออกแบบและวางแผนการสอนร่วมกัน มีครูต้นแบบ (Model Teacher)  ครูร่วมพัฒนาแผนการสอน (Buddy Teacher) ครูเชี่ยวชาญ (Expert Teacher) และมีการนิเทศติดตามที่ได้ความร่วมมือจากศึกษานิเทศก์ในพื้นที่ นักวิชาการ สำนักงานเขตการศึกษาปริยัติธรรมเขต 1-14  ร่วมดำเนินงานในโครงการ ซึ่งเรามีแผนการพัฒนาจำนวน 6 แผน ผ่านกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบร่วมมือรวมพลัง (Collaborative Action Research) บูรณาการกับกระบวนการ PLC จำนวน 6 รอบวง แต่ละแผนจะมีวงรอบการดำเนินการซึ่งจะมีการลงพื้นที่ของทีมปริยัตินิเทศก์ ทีมนักวิจัย เพื่อไปจัดระบบและดูว่าการเรียนการสอนเป็นไปตามที่ได้ออกแบบกันมาหรือไม่ เมื่อเข้าใจกระบวนการตรงกันแล้ว ครั้งที่ 2 – 3 ก็ให้ดำเนินการเอง และครั้งที่ 4 ทีมงานส่วนกลาง ปริยัตินิเทศก์ และนักวิจัย จะลงพื้นที่เพื่อนิเทศติดตามให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือ และการจัดการของโรงเรียน ซึ่งเรานิเทศภาพรวมตั้งแต่ โรงเรียน ผู้บริหาร และครูที่ทีมจะเน้นการนิเทศการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ซึ่งจะมีปริยัตินิเทศก์ในพื้นที่สามารถให้คำแนะนำได้ทันท่วงที”  อ. จตุภูมิ กล่าวเสริม

จุดเด่นของการพัฒนาของโครงการนี้คือการออกแบบการนิเทศติดตามโดยการนำกระบวนการ PLC ที่เน้นการออกแบบเพื่อให้เกิดองค์ประกอบการทำงานที่สำคัญ ซึ่งผู้อ่านสามารถใช้เป็นแนวทางในการทำงานในสถานศึกษาของตนเองได้

  • การสร้างบรรทัดฐานและค่านิยมร่วมกัน
  • การปฏิบัติที่มีเป้าหมายร่วมกัน คือ การเรียนรู้ของผู้เรียน
  • การร่วมมือรวมพลังของสมาชิกชุมชนวิชาชีพ
  • การเปิดรับการชี้แนะการปฏิบัติ และการร่วมเรียนรู้ ณ บริบท จริง
  • การสนทนาที่มุ่งสะท้อนผลการปฏิบัติงาน 

มีแค่จุดเด่น ทั้ง  5 ด้านนั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้การบริหารประสบความสำเร็จได้ ทางทีมโครงการบูรณาการร่วมกับกระบวนการนิเทศภายในที่ออกแบบให้สอดคล้องไปกลับกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบร่วมมือรวมพลัง (Collaborative Action Research) ประกอบด้วย ขั้นวางแผน ขั้นปฏิบัติการ ขั้นสังเกต และขั้นสะท้อนผล  ส่งผลให้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูผู้สอนและการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบร่วมมือรวมพลัง ภายในโรงเรียนมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน 

ครู ห้องเรียนสามเณร และโรงเรียนนั้นมีการเรียนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร 

“ทีมทำงานในโครงการมีเข้าสังเกตการณ์ชั้นเรียน และมีแนวทางการแนะนำ หนุนเสริม ซึ่งตรงนี้เป็นการปรับบทบาทของคุณครูให้เปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน แล้วนำไปอภิปรายร่วมกัน บทบาทของครูเปลี่ยน การสะท้อนผลการทำงานของทีม PLC ว่าการสอนตามแผนที่ตั้งไว้ตอนต้น เป็นอย่างไร เกิดอะไร ซึ่งการสะท้อนผลนี้เป็นวัฒนธรรมการทำงานของทีมโครงการ ที่ช่วยปรับวัฒนธรรมการทำงาน การเรียนรู้ของครูไปด้วย 

การทำงานที่เกิดขึ้นเป็นการค่อย ๆ เปลี่ยน อาจไม่ได้สำเร็จ 100%  มีจุดที่ทีมศึกษานิเทศก์ที่มาทำหน้าที่ปริยัตินิเทศก์ได้มาทำงานร่วมกันว่าเพื่อดูว่าจะเปลี่ยนไปได้แค่ไหน เราก็เห็นการทำงานที่พยายามจะเปลี่ยนการเรียนการสอน ก็มีเสียงสะท้อนจากครูบางท่านอาจจะรู้สึกว่าค่อนข้างยากที่จะเปลี่ยนจากที่ครูสอนแบบท่องจำ คิด-ตอบให้เด็กเสร็จสรรพ เปลี่ยนเป็นให้ครูฟังเด็กนักเรียนมากขึ้น มีพื้นที่การพูดคุย ให้เด็กคิด ให้เด็กลงมือทำเพื่อหาคำตอบเองมากขึ้น โดยทางโครงการใช้กระบวนจัดการเรียนรู้แบบสะท้อนคิดแก้ปัญหา (Reflective Problem Solving) ที่  ผศ.ดร.สัมพันธ์ ถิ่นเวียงทอง นำมาใช้เพื่อปรับแนวทางการจัดการเรียนรู้เชิงรุก 5 ขั้นตอน มีตั้งแต่ 1) การนำเสนอปัญหา 2) การลงมือทำ 3) การแก้ปัญหา 4) การแลกเปลี่ยนแนวคิดสรุปบทเรียน และ 5) การสะท้อนคิด  เพื่อให้ครูค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการเปลี่ยนการสอนครับ” อ.จตุภูมิ กล่าว

ซึ่งการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกให้กับสามเณรนักเรียน ทั้งกิจกรรมการฝึกอบรม และกิจกรรมการเรียนรู้ของครูต้นแบบ ส่งผลให้สามเณรนักเรียนได้ฝึกการทำงานร่วมกันเป็นทีม เปิดพื้นที่ให้สามเณรนักเรียนได้คิดอย่างอิสระ สร้างสรรค์ ได้รับการพัฒนาทักษะการสื่อสาร ทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน ได้รับการพัฒนาภาวะผู้นำและเสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในการเป็นศาสนทายาทต่อไป

  ผลการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจของสามเณรนักเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาเกิดสมรรถนะใน 6 ด้าน ดังนี้ 

  สมรรถนะที่ 1 : การจัดการตนเอง 

  สมรรถนะที่ 2 : การคิดขั้นสูง 

  สมรรถนะที่ 3 : การสื่อสาร 

  สมรรถนะที่ 4 : การรวมพลังทำงานเป็นทีม 

  สมรรถนะที 5 : การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง 

  สมรรถนะที่ 6 : การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการ 

ส่วนการเปลี่ยนแปลงของครูที่น่าสนใจได้ค้นพบเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการออกแบบสถานการณ์ปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทของสามเณรนักเรียน การปรับเปลี่ยนครูที่เป็นนักฟัง นักเก็บรวบรวมข้อมูล นักวิเคราะห์และตีความเพื่อเอื้ออำนวยให้นักเรียนพัฒนากระบวนการคิด และการสื่อสารของแนวคิดของตนเองได้ ซึ่งค้บพบการเปลี่นแปลงใน 4 ด้าน ดังนี้ 

ด้านที่ 1 : การวางแผนและการออกแบบแผนจัดการเรียนรู้

ด้านที่ 2 : การดำเนินการจัดการเรียนรู้ 

ด้านที่ 3 : บุคลิกภาพของความเป็นครู 

ด้านที่ 4 : การสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ของตนเอง 

“ทางทีมงานโครงการพยายามออกแบบให้เกิด The best model เพื่อให้การทำงานของทุก ๆ ภาคส่วน ทั้งภาคีเครือข่ายภายในครู ผู้บริหาร ต้องทำงานร่วมกัน  ทีมจากส่วนของพื้นที่ช่วยเหลือโรงเรียน และนักวิจัยที่ช่วยสนับสนุนโรงเรียนในด้านวิชาการ เราทำงานมาจนครบองค์สุดท้ายจนเกิดเป็นนิทรรศการในวันนี้ ภาพความสำเร็จของโครงการคือผู้บริหารขับเคลื่อนงานโรงเรียนจนบรรลุเป้าหมายที่ทางโรงเรียนวางไว้  แม้จะไม่สำเร็จ 100% ก็ตาม แต่เราได้เห็นภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่หนุนให้ครูเกิดการจัดการเรียนรู้ เปลี่ยนการเรียน เปลี่ยนการสอนให้สามเณรเกิดการเรียนรู้ที่เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการกำหนดไว้ เป็นความภาคภูมิใจของทีมงานโครงการ สุดท้ายนี้ผลงานการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จำนวน 20 แห่ง จะเปลี่ยนผ่านสู่ต้นแบบพื้นที่นำร่อง ที่ได้ผ่านกระบวนการการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบร่วมมือรวมพลังประสานไปพร้อมกับชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือการหนุนเสริมของผู้บริหารโรงเรียน ความร่วมมือของครูผู้สอนและสามเณรนักเรียน และการนิเทศติดตามสนับสนุนจากทีมปริยัตินิเทศก์ ทำให้เกิดผลงาน 1 โรงเรียน 1 ต้นแบบ ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.) ด้านการบริหารจัดการ 2.) ด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุก 3.) ด้านการพัฒนาทักษะและสมรรถนะของสามเณรนักเรียน 4.) ด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ 5.) ด้านการนิเทศภายในและชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่สามารถนำไปเป็นแนวปฏิบัติที่ดีให้กับโรงเรียนอื่นได้ศึกษาดูงานได้” 

ผลการพัฒนาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ที่ได้ดำเนินการพัฒนาผ่าน 3 ฐาน ได้แก่ 1.) การพัฒนาฐานกาย สู่ความเข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลง โดยเน้นการสื่อสาร เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative non violence communication) บูรณาการกระบวนการคิดตาม 2.) การพัฒนาฐานใจสู่การปรับกรอบความคิดเชิงเปลี่ยนแปลง โดยการสร้างอุดมการณ์ และแรงบันดาลใจ เพื่อการนำการเปลี่ยนแปลง (Transformative inspiration) ผ่านการตั้งคำถามตามแนวทางอิคิไก (IKIGAI) และ 3.) การพัฒนาฐานปัญญาสู่การปฏิบัติ เพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยการคิดเชิงออกแบบ เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative design thinking)

  

สรุป : การดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของการร่วมกันพัฒนาคุณภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา โดยภาคีเครือข่ายหลากหลายภาคส่วนครอบคลุมโครงการพัฒนาในทุกมิติของการจัดการศึกษา เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งโรงเรียนที่ว่าโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาเป็นสถานศึกษาที่มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อพัฒนาศาสนทายาทให้เกิดความเป็นเลิศที่เปี่ยมด้วยปัญญาพุทธธรรมมีความรู้ และความเข้าใจในคุณค่าแห่งหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นกำลังสำคัญ ในการสืบสานและรักษา พระพุทธศาสนา ซึ่งจะเป็นการสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ทุกท่านสามารถรับคลิปสรุปโครงการได้ที่ 

 1,389 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า