โรงเรียนต้นแบบการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ | โรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา จ.เชียงราย

Share on

 3,182 

โรงเรียนต้นแบบการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ด้านการพัฒนาสมรรถนะด้านการคิดขั้นสูง การรวมพลังทำงานเป็นทีม และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รายวิชาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4  โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกแบบสะท้อนคิดแก้ปัญหา กับ Application Seesaw โรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา จังหวัดเชียงราย 

ตามปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ เอกลักษณ์และเป้าหมายการพัฒนาของโรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา ควรให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์/สังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรอง คิดอย่างมีวิจารณญาณ  และมีวิสัยทัศน์ ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องเร่งปรับปรุง ส่งเสริม พัฒนาและต่อยอด แต่โรงเรียนพบความท้าทายว่าผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ขาดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทั้งเรื่องของการคิด วิเคราะห์  การใฝ่เรียนรู้และแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรม 

ส่วนความท้าทายในด้านครูผู้สอนพบปัญหาการขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ ดังนั้น โรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาองค์กรให้มีความสามารถหรือสมรรถนะหลัก (Core Competency) 3 ประการสำคัญ คือ 

1. ความสามารถในการสร้างผลงานที่มีประสิทธิภาพสูง 

2. สมาชิกในองค์กรสามารถปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลง 

3. องค์กรสามารถรักษาบุคลากรที่มีความสามารถสูงและมีความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จ

  โรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา เน้นการพัฒนาครูผู้สอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ไปสู่การจัดกระบวนการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐาน พัฒนารูปแบบการสอนให้ผู้เรียนได้เกิดกระบวนการคิด การวิเคราะห์ และการเรียนที่สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม โดยใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ครูสามารถสร้างนวัตกรรมร่วมกับนักเรียน โดยทำให้ผู้เรียนมองเห็นปัญหา และเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาด้วยการมีส่วนร่วม โดยมีครูเป็นผู้ช่วยที่คอยให้คำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ 

การจัดการเรียนรู้เชิงรุกแบบสะท้อนคิดแก้ปัญหาโดยใช้ Application Seesaw นำมาประกอบการเรียนการสอน ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง และใช้ทักษะรวมถึงสมรรถนะด้านต่าง ๆ พัฒนาเป็นผลงานของตัวเอง 

ด้วยบริบทโรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยามีการเปิดรับสามเณรนักเรียนจากในหลายพื้นที่ ทำให้พบปัญหาการขาด ลา มาสาย และการส่งงาน ทางพระอาจารย์และครูในโรงเรียนจึงหาวิธีการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เข้าถึงการเรียนรู้ในทุก ๆ ที่ จึงเกิดการนำความรู้ลงสู่ Application เพื่อทำเป็นบทเรียนที่น่าสนใจให้สามเณรนักเรียนได้ศึกษาโดยปราศจากข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ ซึ่งนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกพื้นที่ เช่น โรงเรียน วัด/บ้าน เป็นต้น โดยการสังเกต การคิด การอ่าน การฟัง การพูด การตั้งคำถาม การค้นคว้า และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ลักษณะหน้าเว็บแอป Seesaw https://app.seesaw.me/#/login

การเข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม ฯ ทำให้โรงเรียนเกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการบรรยาย (Lecture-Based) เป็นเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ (Learner-Centered)  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาหลักสูตรตามแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) จึงถือเป็นแนวทางสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้ และกลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างทักษะและความเข้าใจในวิชาคณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งช่วยให้นักเรียนสามารถเชื่อมโยงแนวคิดทางคณิตศาสตร์กับการใช้งานจริง และเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นอย่างมีประสิทธิผล รวมถึงการบูรณาการข้ามสาระวิชา

ในช่วงนำร่องนั้นเริ่มจากเนื้อหาการเรียนการสอนของรายวิชาคณิตศาสตร์ที่สามเณรนักเรียนต้องเรียนรู้ด้วยการลงมือทำด้วยตนเองก่อน และค่อยขยายไปในรายวิชาอื่น ๆ โดยใช้อินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันประเภทต่าง ๆ ทั้ง Google Classroom, Youtube, Capcut, Canva ที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างบทเรียนออนไลน์เพื่อเผยแพร่ในแอปพลิเคชัน Seesaw แอปฯ สำหรับการเรียนออนไลน์แบบเปิด และทำงานร่วมกันระหว่างผู้เรียนและครูผู้สอนเพื่อให้เกิดการติดต่อสื่อสารกัน ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงความคิดเห็นอันจะส่งผลให้การเรียนการสอนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของรายวิชาได้อย่างสมบูรณ์ 

ภาพการนำเสนอโครงการของโรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา ณ กิจกรรมประชุมถอดบทเรียนความสำเร็จและนิทรรศการโรงเรียนต้นแบบพื้นที่นำร่อง ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สู่ต้นแบบพื้นที่นำร่อง จ.เพชรบูรณ์

ใช้คุณประโยชน์ของเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่โรงเรียนใช้แก้ปัญหาด้านการเรียนรู้ข้างต้น

ในยุคที่เด็กและเทคโนโลยีเป็นของคู่กัน จึงกลายเป็นช่องทางการเรียนรู้สำหรับครู พระอาจารย์ และสามเณรที่สามารถเรียนรู้ออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในการจัดการเรียนการสอนแต่ละคาบเรียน มุ่งเน้นเพื่อให้นักเรียนที่เรียนไม่ทัน มาเรียนไม่ได้ เข้าถึงการเรียนรู้หรือทำความเข้าใจเนื้อหาก่อนเข้าชั้นเรียนและหลังเรียนได้ ซึ่งเป็นการสร้างการเรียนรู้และปรับระดับการเรียนรู้ที่อยู่บนพื้นฐานความต้องการที่แตกต่างของแต่ละบุคคล โดยสามเณรนักเรียนในห้องจะแบ่งการทำเนื้อหาตามความสนใจและความถนัด ผ่านการอ่าน ทำความเข้าใจเนื้อหาแล้วจึงออกแบบสร้างบทเรียนของตนเอง  ทำให้สามารถเกิดการเรียนรู้และเข้าใจบทเรียนให้อยู่ในระดับเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันมากที่สุดและเป็นการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด สามเณรสามารถตกผลึกองค์ความรู้ของตัวเองได้ 

แล้วการเรียนการสอนผ่านแอปพลิเคชันจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร

พระอาจารย์ได้ให้คำตอบที่น่าสนใจว่า “จริง ๆ ขึ้นอยู่กับตัวผู้สอนว่าจะจัดการเรียนรู้อย่างไรมากกว่า เรานำปัญหาที่เห็นที่เป็นอยู่มาออกแบบการเรียนการสอน เราไม่ได้ใช้แอปพลิเคชันเพียงแค่ตัวเดียวในการสอน เพื่อกระตุ้นความสนใจผู้เรียน แต่เราสามารถใช้แอปฯ อื่น ๆ สร้างหรือกระตุ้นความสนใจ มีการถามความคิดเห็นเพื่อให้ผู้เรียนแสดงออก เห็นความเคลื่อนไหวของเพื่อนร่วมชั้นขึ้นออนไลน์ เห็นคะแนนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ผู้สอนใช้เครื่องมือต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจและอยากที่จะเรียนรู้ต่อ” 

SOAR Analysis หลักการใช้วิเคราะห์จุดแข็งและเป้าหมายของโรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา

การใช้กระบวนการ SOAR ช่วยพัฒนาเป้าหมายในเชิงกลยุทธ์ไปสู่ความเติบโตในอนาคตข้างหน้า โดยเน้นไปที่จุดแข็ง (Strengths) และวิสัยทัศน์ (Vision) เน้นไปที่การวิเคราะห์ในทุกระดับและระบบขององค์กร และเน้นไปที่การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของกลยุทธ์ (Strategy) และกลวิธี (Tactic) ที่โรงเรียนมีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น

ที่มาภาพและข้อมูล : ถอดบทเรียนความสำเร็จและนิทรรศการโรงเรียนต้นแบบพื้นที่นำร่อง ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สู่ต้นแบบพื้นที่นำร่อง โรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา จังหวัดเชียงราย 

 3,183 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า