ถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนปี 2564 ในพื้นที่จังหวัดตาก
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในจังหวัดตากตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเส้นทางการเดินทางที่ยากลำบาก นักเรียนส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวชาติพันธุ์ การพูด อ่าน เขียน ภาษาไทยได้เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเปิดโอกาสชีวิตในหลายด้าน
จุดเริ่มต้นโครงการ “ค้นหาความต้องการของโรงเรียน”
เริ่มจากนัดประชุมออนไลน์ในประเด็นการสำรวจสภาพปัญหาและความต้องการจำเป็นของครู กิจกรรมได้รับการตอบรับจาก โค้ช อาจารย์มหาวิทยาลัย โรงเรียน ผู้ปกครอง ครูใหญ่ ครู นักเรียน มาระดมความคิดกันว่าโรงเรียนอยากเห็นเด็กเติบโตและพัฒนาด้านไหน จนพบจุดร่วมในการพัฒนาร่วมกัน “คือให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ และพัฒนาการเรียนของนักเรียน”
เมื่อได้ข้อสรุปแล้วอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรก็เดินหน้าออกแบบนวัตกรรมการเรียนรู้ ภายใต้ 4 กรอบแนวคิด ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนา
- การพัฒนาคุณลักษณะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
- การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning
- การสร้างชุมชนการเรียนรู้มืออาชีพ
- ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
5 ขั้นตอนการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้
- ออกแบบนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ มีการประชุมทีม แบ่งทีมย่อยออกแบบ
- ผู้เชี่ยวชาญเสนอแนะแก้ไข มีผู้ทรงช่วยตรวจ ถึง 5 ท่าน
- แก้ไขนวัตกรรมการเรียนรู้ โรงเรียนตรวจดูตรงตามเป้าหมาย
- นำไปพัฒนาโรงเรียนเป้าหมาย นัดวันทำกิจกรรมกับโรงเรียน และนักเรียน
- สรุปผล และจัดทำ PLC
โรงเรียนได้นวัตกรรมการเรียนสำหรับใช้ในโรงเรียน เช่น ชุดฝึกภาษาไทย ชุดฝึกการอ่านออกเขียนได้ และชุดกิจกรรมประเมินคุณลักษณะตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากนั้นจึงจัดการอบรมครูเพื่อทำสื่อใช้ในกิจกรรมการสอน ผลลัพธ์คือครูจัดทำการเรียนการสอนได้ ได้มีแนวทางในการสอน ให้เด็กเรียนสนุกและเรียนรู้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นก็นำนวัตกรรมบูรณาการกับการเรียนรู้วิชาอื่น นำสิ่งที่นักเรียนทำมาสู่บทเรียนเน้นบูรณาการด้านภาษา ตัวอย่างเช่น พืชผักมาทำเป็นบัตรคำและทำกิจกรรมร่วมกันโดยการทำสื่อร่วมกัน โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน การอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กให้ดีขึ้น
Writer
- Admin I AM KRU.