ถอดรหัสระบบผลิตและพัฒนาทักษะครู “มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล”

Share on

 398 

I AM KRU. ครั้งนี้จะพาทุกท่านบินลัดฟ้าไปไกลถึงเมืองนิวคาสเซิล (Newcastle) แห่งสหราชอาณาจักร (United Kingdom) เพื่อถอดรหัสระบบผลิตครูที่ “มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University)” เป็นหนึ่งในสถาบันผลิตครูที่มีชื่อเสียงของสหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยมีการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ผลิตงานวิจัยคุณภาพสูง และโครงการสนับสนุนส่งเสริมนักศึกษาด้านต่าง ๆ 

ซึ่งการเข้าเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของคณะศึกษาดูงานของทีม กสศ. ที่เมืองนิวคาสเซิลในครั้งนี้เน้นในด้านการศึกษาด้านการพัฒนาครูและสถานศึกษา เพื่อนำแนวทางการดำเนินงานมาประยุกต์ใช้กับบริบทเพื่อพัฒนาการศึกษาของไทย ‘มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล’ โดดเด่นเรื่องการผลิตและพัฒนาครู ความเป็นอิสระทางวิชาการและความคิดที่สร้างแนวคิดทางการศึกษาแก่คณาจารย์ในคณะครุศาสตร์ต้องมองให้ลึกไปถึงการพัฒนาเด็กและการพัฒนาศักยภาพครู 

นิวคาสเซิลอะพอนไทน์ (Newcastle upon Tyne) มักจะนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า นิวคาสเซิล (Newcastle) เป็นนครและเมืองในเทศมณฑลของไทน์แอนด์แวร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษริมฝั่งแม่น้ำไทน์ (Tyne)  ในอดีต ‘นิวคาสเซิล’ เป็นเมืองท่าศูนย์กลางการต่อเรือที่สำคัญของโลกแห่งหนึ่ง ทำให้พลเมืองจากทุกสารทิศเดินทางมาทำงานและประกอบธุรกิจ ทำให้เกิดการหลั่งไหลของภาษาและวัฒนธรรม ทำให้มีภาษาพูดถึง 40 ภาษา ปัจจุบันตัวเมืองได้กลายเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งลักษณะประชากรมีความคล้ายคลึงกับบางพื้นที่ของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางภาษาและชาติพันธุ์

เมืองนิวคาสเซิล มีเด็กกว่า 42% เป็นเด็กยากจน ภาครัฐจึงดำเนินยุทธศาสตร์ที่เน้นการขับเคลื่อนการศึกษาไปพร้อมกับเศรษฐกิจแบบองค์รวม  (Inclusive Economy) เป็นระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เน้นให้ทุกภาคส่วนให้สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง โดยกำหนดเป้าหมายความช่วยเหลือไปยังผู้ที่ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการจ้างงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม โดยส่งเสริมความเสมอภาคให้ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

 โดยบทบาทและหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นไปที่การผลิตและพัฒนาครูโดยใช้กระบวนการเสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ 

  1. สร้างผู้เรียนกระตือรือร้นกับการตั้งคำถาม และพยายามเรียนรู้ภาษาที่หลากหลายโดยเรียนรู้ผ่านภาษาแม่และภาษากลางร่วมกัน (Translanguaging) เป็นโมเดลการเรียนที่นำไปต่อยอดออกแบบและพัฒนาการเรียนการสอนแบบพหุภาษาของครู(รักษ์)ถิ่นได้ 
  2. การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning (PBL)) รูปแบบการเรียนรู้แบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) หนึ่งในทักษะสำคัญของศตวรรษที่ 21 เพื่อพัฒนากระบวนการคิดและทำงานกับชุมชน 
  3. หลักสูตรความร่วมมือ (Collaborative Curriculum) เพื่อการพัฒนาทักษะการสร้างความร่วมมือกับผู้อื่น ช่วยเสริมสร้างการทำงานร่วมกันในแต่ละหน่วยงานได้เป็นอย่างดี
  4. ผู้เรียนเข้าใจและสามารถจัดระบบการคิดของตน วางแผน ประเมิน และตรวจสอบการเรียนรู้ของตนเอง และ ‘สร้างแผนที่ทางความคิด’ (Metacognition & Thinking Maps) องค์ประกอบสําคัญของการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมกระบวนการคิด กระบวนการแก้ปัญหา และกระบวนการฝึกทักษะ
  5. เน้นการทำงานกับโรงเรียน และการบริการฝึกอบรมในด้านต่าง ๆ (Training for in-service) เป็นการทำงานแบบบูรณาการระหว่างสถาบันผลิตครูกับโรงเรียนในพื้นที่ ซึ่งสามารถต่อยอดระบบการทำงานระหว่างสถาบันผลิตครูและโรงเรียนปลายทางในโครงการครู(รักษ์)ถิ่น

แนวทางการพัฒนาครูใหม่ของนักศึกษาครูของ “มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล” 

ในช่วงระยะ 1-2 ปี แรก นั้นเป็นการปูพื้นฐานพัฒนานักศึกษาครู สร้างกระบวนการที่ทำให้เกิดการตระหนักรู้และความมั่นใจในตนเอง กำหนดกรอบวิธีการเพื่อสร้างมาตรฐานครูเมื่อจบจากมหาวิทยาลัยแล้ว มีคุณภาพและทักษะที่ได้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน นอกจากนั้นแล้วการสร้างการปฏิสัมพันธ์กับเครือข่าย ทั้งภายนอกภายในทำให้เกิดความร่วมมือการพัฒนาได้จากทุกภาคส่วน

กุญแจความสำเร็จ (Key of Success) ที่ทำให้มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลบ่มเพาะคุณภาพครูที่จบออกไปปฏิบัติงานในโรงเรียนได้อย่างตรงความต้องการตามบริบทของแต่ละพื้นที่ 

  1. การสร้างความร่วมมือ มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถ พัฒนาตนเองและผู้อื่นเพื่อให้ได้ผลงานระดับสูง แสดงให้เห็นถึงแนวทางเชิงบวกในการพัฒนาทักษะและประสิทธิภาพการทำงานเป็นทีม สร้างและขยายความสัมพันธ์ทั่วทั้งองค์กร โดยให้ความสำคัญกับทักษะ ความเชี่ยวชาญ และความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เข้าใจผู้อื่น เข้าใจเพื่อนร่วมงาน นักเรียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง
  1. ตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ขององค์กร สร้างระบบควบคุมการจัดการองค์ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมในการวางแผนทรัพยากรขององค์กร กำหนดบทบาทและความรับผิดชอบที่ชัดเจนสำหรับตนเองและผู้อื่น รักษาความยืดหยุ่นในแผนการทำงานเพื่อรองรับสถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงได้ 
  1. พัฒนางานสอนเพื่อพัฒนานักเรียน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการพัฒนางานสอนที่มีประสิทธิภาพ ที่ขับเคลื่อนความเป็นเลิศขององค์กรพัฒนาวัตถุประสงค์ และ KPI เพื่อให้แน่ใจว่าบรรลุเป้าหมายหลักของพื้นที่และมหาวิทยาลัยในทุกด้าน บทบาทหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการสอน โดยใช้มาตรการและเทคนิคการปรับปรุงคุณภาพผ่านแผนงาน งบประมาณ และพัฒนาวัฒนธรรมการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิผลสูงสุด
  1. การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งในประเทศจนถึงระดับโลก และอาสาสมัคร มอบเงินทุน เครือข่ายการสนับสนุนแก่ชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมความสัมพันธ์กับกลุ่มอาสาสมัคร และกิจการเพื่อสังคมเพื่อกระตุ้นการเติบโตระดับภูมิภาค ความยั่งยืน และการเคลื่อนไหวทางสังคม

ในตอนต่อไปพบกับโรงเรียนประถมศึกษาแครกไซด์ (Cragside Primary School) กับบริบทโรงเรียน “โรงเรียน จนเมือง” ที่ให้บริการแก่ชุมชนที่มีความหลายหลายทางภาษาและวัฒนธรรมสูง 

ขอขอบคุณข้อมูล: 

การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ในโรงเรียน 

ระหว่างวันที่ 23-28 เมษายน 2566 ณ เมืองนิวคาสเซิลและเมืองเบอร์มิงแฮม ณ สหราชอาณาจักร

การศึกษาเพื่อการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภายใน กสศ. ประกอบด้วย

– สำนักหลักประกันโอกาสทางการศึกษา

– สำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา

– สำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา

– สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า