ยอมรับตัวตนข้ามผ่านความเจ็บปวด- Guardian of the Galaxy vol.3 (2023)

ทุกคนต่างมีพื้นที่ปลอดภัยในการเยียวยาจิตใจของตัวเอง

Share on

 363 

Guardian of the Galaxy Vol.3 (2023) เรื่องราวการผจญภัยของทีม ‘กลุ่มผู้พิทักษ์จักรวาล’ หลังจากที่พวกเขาได้ตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่กันที่อาณานิคม ‘Knowhere’ แต่ทั้งทีมกลับถูกจู่โจม โดยบุรุษปริศนานามว่า ‘อดัม วอร์ล็อก’ (วิลล์ พัลเตอร์) ส่งผลให้หนึ่งในสมาชิกทีมอย่าง ‘ร็อกเก็ต’ (แบรดลีย์ คูเปอร์) บาดเจ็บสาหัส จนไม่สามารถรักษาได้ ทำให้ทีมผู้พิทักษ์จักรวาลต้องออกเดินทางอีกครั้ง ในภารกิจสุดท้ายเพื่อช่วยเหลือสหายคนสำคัญ และนำไปสู่การไขปมอดีตของร็อกเก็ตที่ถูกเก็บซ่อนไว้ สามารถรับชมซีรีส์ Guardian of the Galaxy Vol.3 ได้ในโรงภาพยนตร์

Guardian of the Galaxy ภาคนี้ยังคงนำเสนอเรื่องราวการผจญภัยในห้วงอวกาศที่เต็มไปด้วยสีสัน ความสัมพันธ์ตัวละครที่วุ่นวาย และสถานการณ์ลุ้นระทึกที่สอดเเทรกมุขตลกไว้อยู่เสมอ แต่สิ่งที่ทำให้ภาคนี้พิเศษและแตกต่างจากภาคอื่น เพราะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่ ‘เจมส์ กันน์’ จะมารับหน้าที่กำกับภาพยนตร์ใน ‘MCU’ (Marvel Cinematic Univers) ทำให้ตัวละครอย่าง ‘ร็อกเก็ต’ หรือ ‘ร็อกเก็ต แร็กคูน’ (Rocket Raccoon) ตัวละครโปรดของเจมส์ กันน์ กลายมาเป็นตัวเอกในภาคนี้ ส่งผลให้ประเด็นในเรื่องการทารุณและการทดลองสัตว์ถูกหยิบมาเล่า ระหว่างทางภาพยนตร์จะค่อย ๆ เผยให้เห็นภาพความโหดของการทดลองกับสัตว์ เพื่อทำให้เราตระหนักรู้ได้ว่ายังมีเพื่อนร่วมโลกต่างสายพันธ์ุกำลังถูกทรมานอยู่ เพียงเพราะความเห็นแก่ตัวของมนุษย์

นอกจากประเด็นของ ‘การทารุณกรรมสัตว์’ แล้ว อีกประเด็นที่ถูกบอกเล่าผ่านภาพยนตร์คือ ‘เข้าใจตัวเอง’ (Self Empathy) การยอมรับในสิ่งที่ตัวเราเป็น ไม่นำอดีตที่สร้างความเจ็บปวดกลับมากล่าวโทษตัวเองให้หนักจนเกินไป แต่เลือกที่จะจดจำเพื่อทำความเข้าใจตัวเองได้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถก้าวต่อไปได้ เพราะสุดท้ายแล้วเราไม่สามารถย้อนกลับไปเปลี่ยนเรื่องราวในอดีตได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนตัวเองในปัจบันได้ นอกจาก ‘เข้าใจตัวเอง’แล้วย่อมต้อง ‘เข้าใจผู้อื่น’ ด้วย ทำให้ทักษะที่เราควรมีในการอยู่ร่วมกับคนหมู่มากคือ ‘ทักษะการเอาใจใส่’ (Empathy Skill) เอาใจใส่ความรู้สึกของผู้อื่น ทำความเข้าใจในมุมมองที่แตกต่างกัน เพื่อยอมรับข้อดีและข้อเสียของกันและกันให้ได้

แรกเริ่มทีม ‘Guardian of the Galaxy’ เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีปัญหา สูญเสียครอบครัว โดดเดี่ยว และไร้เป้าหมาย แต่การที่ได้มารวมตัวกันช่วยทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนสามารถเยียวยาบาดแผลและเเลกเปลี่ยนความรู้สึกร่วมกันได้ อีกทั้งยังช่วยกันค้นหาเป้าหมายในการดำเนินชีวิตต่อไป เราสามารถเปรียบได้เหมือนกับกลุ่มเด็ก ‘เด็กนอกระบบ’ ที่เกิดขึ้นจากสาเหตุที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น สถาบันครอบครัวที่พังทลาย สภาพสังคม ความยากจน ความรู้สึกไม่มีตัวตนในห้องเรียน ส่งผลให้เด็กเหล่านี้เดินไปสู่เส้นทางของความรุนแรง ยาเสพติด กลุ่มอาชญากรเป็นที่พึ่งสำหรับเด็กนอกระบบบางกลุ่ม เพราะความต้องการพื้นฐานของมนุษย์คือ ‘ได้รับการยอมรับ’ จากผู้อื่น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กนอกระบบเหล่านี้จะต้องสร้าง  ‘พื้นที่ปลอดภัย’ เพื่อเยียวยา และสนับสนุนให้เด็กได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง

แม้ว่า Guardian of the Galaxy Vol.3 จะมีหน้าฉากเป็นหนังซุปเปอร์ฮีโร่ในสไตล์ของภาพยนตร์ MCU ที่ขับเน้นเรื่องราวของการผจญภัย แต่กลับถ่ายทอดเรื่องราวของความสัมพันธ์ของครอบครัว มิตรภาพ การยอมรับ และเติบโต ผ่านตัวละครสมาชิกในทีมผู้พิทักษ์จักรวาลที่มักจะทะเลาะและประชดประชันกันอยู่เสมอ แต่ก็คอยช่วยเหลือกันตลอด แต่ทว่ายังคงมี ‘เด็กนอกระบบ’ อีกจำนวนมากที่อาจจะไม่ได้โชคดีเหมือนทีมผู้พิทักษ์จักรวาล ที่ได้เจอกับมิตรเเท้คอยค้ำจุนกัน แล้วใครจะเป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือเด็กเหล่านี้? คงจะดีกว่านี้ถ้าหากระบบการศึกษาจะหันมาให้ความสนใจเด็กนอกระบบมากขึ้น และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กนอกระบบเหล่านี้ได้พึ่งพิงและมีตัวตนในสังคมที่เหมาะสมกับเด็ก

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า