8 ปัจจัยที่ส่งเสริมห้องเรียนประสิทธิภาพสูง (High Functioning Classroom) 

Share on

 4,681 

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นั้นเน้นไปที่กระบวนการการเรียนรู้ที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน โดยเน้นไปที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รูปแบบการเรียนรู้จะไม่ได้เรียนรู้เป็นรายวิชา แต่การเรียนรู้จะเป็นในลักษณะของโครงงานสหวิทยาการ  (Interdisciplinary projects) ซึ่งใช้ข้อมูลและทักษะการเรียนรู้ในหลากหลายสาขาวิชา 

ห้องเรียนประสิทธิภาพสูง (High Functioning Classroom) นั้นประกอบด้วย 12 องค์ประกอบ โดยมีแกนซ้าย-ขวา เพื่อเปรียบเทียบลักษณะห้องเรียนประสิทธิภาพต่ำ/ห้องเรียนประสิทธิภาพสูง แบ่งตามพฤติกรรมและกิจกรรมที่ใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกคนเป็นหลัก

จากตารางด้านบนจึงจะเห็นได้ว่าห้องเรียนประสิทธิภาพสูงนั้นเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในห้องเรียนที่เป็นศูนย์กลางของกระบวนการเรียน การสอน และการเรียนรู้ ที่เน้นทักษะการจัดการตนเองของผู้เรียน โดยบทบาทและหน้าที่ของครูจะไม่ได้เป็นลักษณะถ่ายทอดความรู้ในลักษณะตั้งรับ แต่เป็นการสอนในรูปแบบ Active Learning ครูไม่ใช่แค่ผู้บรรยายสาระความรู้ชุดต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว หน้าที่ครูในห้องเรียนประสิทธิภาพสูงจะมีลักษณะคล้ายผู้ฝึกสอน (โค้ช) ที่ให้ความรู้ด้านวิชาการ ความรู้เชิงปฏิบัติการ พร้อมให้คำแนะนำที่ช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้ที่ดีขึ้น โดยเน้นให้ผู้เรียนตั้งคำถาม หาคำตอบด้วยตัวเอง ส่วนครูมีหน้าที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ ทักษะของครูต้องมีความสามารถในการเรียนรู้แบบชี้นำตนเอง และสามารถขยายขอบเขตความรู้ไปในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง มีความสามารถประเมินผู้เรียนอย่างเป็นกลาง รู้จักแหล่งค้นคว้าใหม่ ๆ มาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งปัจจัยการจัดการเรียนให้กลายเป็นห้องเรียนประสิทธิภาพสูงประกอบด้วย 8 ปัจจัย ดังนี้

การบูรณาการเทคโนโลยี

เทคโนโลยียิ่งทันสมัยยิ่งเปิดโอกาสการเรียนรู้ได้มากขึ้น ครูสามารถออกแบบวิชาเรียนด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในมือเพื่อสร้างเครื่องมือการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่น กูเกิ้ลสวีต (Google Suite) หรือออกแบบการเรียนรู้ผ่านเกม (Games-based Learning) ที่อาจจะทำให้การเรียนรู้สนุกขึ้น

 

สร้างความรู้ความเข้าใจ

บรรยากาศการเรียนที่เต็มไปด้วยความเข้มงวดนั้นไม่ช่วยส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบแอคทีฟได้ผู้เรียนจะไม่รู้สึกผ่อนคลาย ความเครียดที่เกิดขึ้นอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านการเรียนรู้ ครูมีหน้าที่สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในเชิงบวกสำหรับผู้เรียน การนำจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) มาปรับใช้ในห้องเรียนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจการเรียนรู้ด้วยตนเองผู้เรียนจะมีความสุขสนุกกับการมาเรียนรู้มากขึ้น

ประเมินและติดตามผลอย่างใกล้ชิด

เพื่อพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ควรมีการตรวจสอบคุณภาพของผู้เรียน- ผู้สอน และกระบวนการสอนเป็นอย่างสม่ำเสมอ (formative evaluation) เพื่อพิจารณาและตรวจสอบว่าผู้เรียนได้รับความรู้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนที่กําหนดไว้หรือไม่ ส่วนการวัดและประเมินผลเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประเมินว่าการเรียนการสอนบรรลุผลหรือไม่ (summative evaluation) เพื่อประเมินให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นไป

การวางแผนบทเรียน

การวางแผนบทเรียนเป็นการวางโครงสร้างการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ เป็นการจัดระเบียบและเป็นเช็คลิสต์เนื้อหาที่ยังไม่ได้สอนหรือได้สอนไปแล้ว การวางแผนบทเรียนช่วยให้ครูไม่ออกนอกเนื้อหาวิชาหากเกิดการแตกประเด็นในชั้นเรียน แผนบทเรียนที่วางไว้จะช่วยให้ครูประเมินเนื้อหาว่าไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการประสิทธิภาพเนื้อหาการเรียนการสอนของครู 

การทำแผนที่หลักสูตร 

การทำแผนที่หลักสูตรล่วงหน้าช่วยให้เห็นเนื้อหาภาพรวมทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น การทำแผนที่หลักสูตรเป็นกระบวนการจัดทำดัชนีเนื้อหา สร้างแผนผังหลักสูตร เพื่อลดช่องว่าง ลดความซ้ำซ้อน ตัดเนื้อหาไม่ตรงกับหลักสูตร ทั้งนี้เพื่อจุดประสงค์ในการปรับปรุงการเชื่อมโยงโดยรวมของหลักสูตรการศึกษา การทำแผนที่หลักสูตรนี้จะย้อนกลับมาช่วยประเมินประสิทธิภาพในการสอนของครูได้อีกทางหนึ่ง 

ให้ทางเลือกแก่ผู้เรียน

ห้องเรียนประสิทธิภาพสูงนั้นเน้นการตั้งคำถามของผู้เรียน ส่วนครูเป็นผู้ที่ช่วยกำหนดเส้นทางการเรียนรู้ พร้อมขับเคลื่อนให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ครูจะเป็นผู้จัดการทรัพยากร เครื่องมือ อุปกรณ์ในห้องเรียนที่ตอบสนองทางเลือกต่าง ๆ ตามที่ผู้เรียนต้องการ และพร้อมสร้างบรรยากาศในการเรียนที่ส่งเสริมให้เกิดทักษะความรู้ ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเรียนอยากตั้งคำถาม โดยที่ครูสามารถแนะนำแหล่งค้นคว้า สื่อเทคโนโลยีการเรียนรู้ ต่อยอดหัวข้อที่น่าสนใจที่เปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถหาคำตอบได้ด้วยเอง

การจัดการชั้นเรียน

ครูและผู้เรียนต่างเป็นต้นแบบที่ดีของกันและกัน เน้นการส่งเสริมสภาพแวดล้อมในห้องเรียนเชิงบวกที่ทุกคนเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางชั้นเรียน สร้างกฎ กติกา ระเบียบที่เป็นแนวทางให้ทุกคนรับรู้และปฏิบัติร่วมกัน วิธีนี้เป็นการสร้างความสัมพันธ์ในห้องเรียนให้ราบรื่น แต่หากมีการปฏิบัติผิดกฎที่ตกลงไว้จะไม่มีการลงโทษ แต่จะเน้นเป็นพูดคุยเพื่อหาทางออกเพื่อลดพฤติกรรมเชิงลบ 

สนับสนุนผู้เรียน

เป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของครูที่ต้องพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความสามารถ ให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ผู้เรียนมีอิสระสามารถแลกเปลี่ยนความคิด (Think – Pair – Share) ผู้เรียนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ ซักถาม ถกเถียงในประเด็นที่สงสัยเกี่ยวกับวิชาความรู้หรือประเด็นที่กำหนดขึ้นเพื่อหาคำตอบ (Questioning-based Learning) โดยที่ครูเป็นผู้สะท้อนความคิด (Student’s Reflection) ชักชวนผู้เรียนมาอภิปรายเพื่อหาผลสรุป และพร้อมแนะนำชี้แนะแนวทางการแก้ไข 

ขอขอบคุณข้อมูล:

Commitment to the Role of Teacher as a Facilitator of Learning, (2007 )

32 Characteristics Of High-Performing Classrooms

 4,682 

Writer

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า