จะช่วยครูแนะแนวอย่างไร เมื่อเด็ก ๆ คิดอยากตาย 

Share on

 1,827 

“ความท้าทายใหม่ของสังคม เมื่อโรงเรียนและครูต้องเผชิญการสูญเสีย เมื่อเด็ก ๆ ของเรารู้สึกเบื่อชีวิต เครียดจนไร้ทางออก รู้สึกโศกเศร้าแต่ผู้ปกครองไม่เข้าใจ แล้วใครเล่าจะช่วยหาทางออกจากเรื่องนี้ได้”

 “ไม่มีเด็กคนไหนอยากซึมเศร้า”

เป้าหมายในวงพูดคุยเป็นเรื่องของการแชร์ประสบการณ์ที่คุณครูหลายท่านเจอปัญหาว่านักเรียนในการดูแล / นักเรียนในโรงเรียนกำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้าในเด็กเพิ่มขึ้น การพูดคุยครั้งนี้เพื่อหาวิธีการเพื่อจัดการปัญหาและหาทางออกร่วมกันเพื่อลดและป้องกันการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น

คุณหมอป๊อป หมอด้านจิตเวช ได้เล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด – 19 พบว่าเด็กและวัยรุ่นประสบปัญหาเรื่องภาวะความเครียดและสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นมากขึ้น อีกสถานการณ์ที่น่ากังวล จากประสบการณ์ของอาจารย์หมอพนม จากที่เคยพบนักนักศึกษาแพทย์มักจะประสบปัญหาภาวะเครียดจะเป็นช่วงปีท้าย ๆ ของการเรียน แต่ช่วงหลังพบว่าจำนวนนักศึกษาที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตเริ่มตั้งแต่เข้าเรียนแพทย์

ภาวะซึมเศร้าในมุมหมอไม่ได้เกิดจากปัจจัยแวดล้อมภายนอกเพียงอย่างเดียว สามารถเกิดจากปัจจัยภายใน เช่นสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ทำหน้าที่ส่งสัญญาณประสาทระหว่างเซลล์ มีบทบาทในการควบคุมการทำงานของร่างกายเกิดความผิดปกติ ทำให้สภาวะอารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรืออาจเกิดจากเหตุที่มากระทบต่อความรู้สึกภายในอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดอาการจิตตกซึมเศร้า เป็นเรื่องที่ต้องการรักษา อาการเหล่านี้ถ้าสังเกตได้เร็วจะสามารถแก้ไขและรักษาได้ทันท่วงที แต่บางครั้งคนรอบข้างไม่เข้าใจภาวะของผู้ป่วยซึมเศร้าจนแสดงพฤติกรรมแย่ ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีการแย่ลง หากทุกฝ่ายพยายามเข้าใจปัญหาและตระหนักรู้ร่วมกันจะสามารถช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้

ครูสุใจ “พ่อแม่เป็นคนที่เราแคร์ แต่แชร์ไม่ได้”

“เรื่องแค่นี้” 

คนเรามองปัญหาไม่เท่ากัน เรื่องเล็กน้อยของอีกคนอาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับอีกคนก็ได้ ปัญหาเล็ก ๆ ของเด็กในมุมของผู้ใหญ่อาจดูเป็น เรื่องแค่นี้  คำสามคำนี้อาจบั่นทอนความรู้สึกเด็ก ปิดโอกาสให้เด็กไม่กล้าเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นของตัวเองให้ผู้ปกครอง ครู หรือใครสักคนที่พอจะรับฟังปัญหาได้

“เรื่องใกล้ตัว”

ผู้ปกครองบางคนยังไม่เข้าใจปัญหาสุขภาวะทางจิตของบุตรหลาน แทบไม่เคยสังเกตว่าเด็กบางคนเลือกวิธีสื่อสารปัญหาผ่านการแสดงออกทางพฤติกรรม เช่นเหม่อลอย พูดน้อยลง ขาดสมาธิในการเรียน ก้าวร้าว หากมองผิวเผินพฤติกรรมเหล่านี้ดูเป็นการเรียกร้องความสนใจ แต่รู้หรือไม่ว่าอาจเป็นสัญญาณบางอย่างที่เด็กกำลังสื่อสารแทนการพูดว่า สนใจหนูหน่อย พฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือทางอ้อม หากคนรอบจับปฏิกิริยาของเด็กผ่านพฤติกรรมเหล่านี้ได้ทัน พร้อมหันหน้ามาพูดคุยสอบถามพร้อมการรับฟังอย่างเปิดใจ ไม่ตัดสิน มาตระหนักรู้ร่วมกัน เป็นหนึ่งทางที่ช่วยลดปัญหาลดความสูญเสียได้อย่างทันท่วงที 

อีกปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือทัศนคติของผู้ปกครองที่มีต่อโรคซึมเศร้า บางครั้งครูและหมอพบว่าเด็กเริ่มมีอาการป่วย จึงรีบแจ้งผู้ปกครองเพื่อนำตัวเด็กไปรักษา แต่ตัวผู้ปกครองกลับตั้งคำถามว่า ป่วยได้ยังไง จะเป็นหรือ ไม่เชื่อ บางคนตัดสินจากมุมมองตัวเองว่าเด็กป่วยเพราะไปใช้สารเสพติดบ้างก็มี ผู้ปกครองบางรายก็ไม่ให้ความร่วมมือบ่ายเบี่ยงไม่ยอมพามารักษายิ่งทำให้ปัญหายิ่งแย่ลง

จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร

ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่โรงเรียนเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการแก้ปัญหาไม่อาจสำเร็จได้โดยครูเพียงลำพัง ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากบุคคลรอบข้างเด็ก โดยเฉพาะผู้ปกครองคือกุญแจสำคัญดอกแรกที่จะไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน เริ่มต้นต้องยอมรับเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างปราศจากอคติ พร้อมเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือกับครูที่ในบางครั้งก็ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองเด็ก จิตแพทย์ และโดยเฉพาะเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ปัญหานี้ลดลงได้

ติดอาวุธทางอารมณ์ให้เด็ก

ผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้เด็ก นอกจากการเรียนการสอนที่คุณครูต้องทำหน้าที่สำคัญแล้ว ยังมีอีกหน้าที่หนึ่งคือการสร้างความเข้มแข็งด้านจิตใจแก่เด็ก วิธีติดอาวุธที่ดีที่สุดคือให้เด็กเรียนรู้การจัดการอารมณ์ตัวเอง ให้เด็กเข้าใจว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนทัศนคติ หรือเปลี่ยนความรู้สึกของใครได้ แต่มีวิธีการจัดการที่ง่ายที่สุด คือ ‘เปลี่ยนที่ตัวเอง’ วิธีนี้นอกจากจะสร้างความเข้มแข็งด้านการจัดการทางอารมณ์แล้ว เด็กจะมีประสบการณ์ผ่านการเรียนรู้ความแตกต่าง ความหลากหลายของผู้คน เด็กมีความพร้อมต่อการเผชิญหน้ากับความท้าทายทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และความสัมพันธ์ เป็น soft skill ที่ติดตัวไปใช้ในอนาคตได้ และถ้าปัญหานั้นเกินกำลังที่จัดการได้ เด็ก ๆ ก็เชื่อมั่นได้ว่า ครู ครอบครัว เพื่อนหรือคนรอบข้างพร้อมยื่นมือเข้าช่วยเหลือ

ครูแก้ว “พลังที่ทำให้สู้เพื่อเด็ก ๆ คือรอยยิ้ม สีหน้า และแววตาของเด็ก ๆ ที่สบายใจและพ้นทุกข์ ”

ให้ความสำคัญกับครูแนะแนว พร้อมเพิ่มทักษะวิชาชีพครู

กระทรวง ฯ และสถานศึกษาต้องมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมทักษะครู จากปัญหาในวงสนทนาพบว่าบางโรงเรียนไม่มีครูแนะแนว เนื่องจากนโยบายจากส่วนกลาง ข้อจำกัดด้านงบประมาณ อัตรากำลังครูที่เพิ่มได้ยาก บางโรงเรียนภาระงานครูในคาบแนะแนวมีระยะเวลาลดลง พร้อมทั้งภาระทางวิชาการที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหาร ทำให้แทบไม่มีเวลาให้กับงานแนะแนวสำหรับนักเรียนได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับช่วงโควิด-19 ระบาดกลายตัวเร่งระยะห่างจากสังคมภายนอกและโรงเรียน ทำให้เด็กไม่ได้เรียนวิชาชีวิต เมื่อโควิด-19 คลี่คลายเด็กกลับมาโรงเรียนก็ขาดครูแนะแนวกำลังสำคัญที่คอยให้คำปรึกษายิ่งทำให้เด็กถูกผลักออกไปจมกับปัญหาเพียงลำพัง 

จากปัญหาที่เกิดนี้ ‘ครูสุใจ’ ได้เสนอแนวแทางการดึงนักจิตวิทยาคืนสู่เยาวชน ให้ครูแนะแนวเป็นครูแนะแนวที่มีทักษะด้านจิตวิทยาการปรึกษา (counseling psychology) เป็นเครื่องมือช่วยเหลือเด็ก ทักษะวิชานี้เป็นทักษะลุ่มลึกที่ช่วยให้ครูสื่อสารพร้อมให้คำปรึกษากับนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ครูเข้าใจฉัน (เด็ก) ในวันที่ซึมเศร้า 

คนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักกันมาช่วยชีวิตกัน

มีหลายเคสที่คนแปลกหน้ากลายเป็นผู้ช่วยชีวิตเด็กที่กำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้ารุนแรงจนเกิดความคิดอยากตาย คนแปลกหน้าเหล่านี้กลายเป็นฮีโร่ช่วยชีวิตเด็ก ๆ เหล่านั้นได้อย่างไร มีตัวอย่างที่น่าสนใจที่ในวงเสวนาได้ยกตัวที่เกิดขึ้น

‘ครูโบว์’ ได้เล่าประสบการณ์ตรงที่คนนอกครอบครัวของเด็กยื่นมือเข้าช่วยเหลือ มีอยู่วันหนึ่งครูแก้วเห็นนักเรียนโพสต์สเตตัสบอกลาทุกคนบนเฟสบุ๊ก ในฐานะครูประจำชั้นพยายามติดต่อพูดคุยเพื่อให้เด็กใจเย็น ให้พูดคุยกับครูได้ และให้เด็กรับรู้ว่ามีครูอีกคนที่พร้อมช่วยแก้ไขปัญหา แต่ตัวครูโบว์ไม่รู้จะไปติดตามเด็กที่ไหน แต่ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองในกรุ๊ปไลน์อาสาขับรถไปดูให้ จนช่วยเหลือเด็กให้กลับสู่อ้อมกอดผู้ปกครองได้อย่างปลอดภัย จากเหตุการณ์นี้จะเห็นได้ว่าการใส่ใจและการสังเกต เป็นวีธีง่าย ๆ ที่สามารถช่วยชีวิตคนหนึ่งคนได้อย่างทันท่วงที

นอกเหนือจากปัญหาหน้างานที่คุณครูต้องแก้ไขแล้วปัญหาที่สำคัญ คือปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาเชิงวัฒนธรรมที่ไม่สามารถแก้ไขได้ฉันพลัน วงเสวนานี้อยากให้ครูได้เป็นกระบอกเสียงสะท้อนปัญหาให้เกิดการแก้ไข ในมุมมองครูอยากแก้ปัญหาหรือเปลี่ยนแปลงในทิศทางไหน นโยบายที่มาสนับสนุนการทำงานของครู ที่สามารถขับเคลื่อนพลังครูให้ไปได้ไกลมากขึ้น เวทีนี้ต้องการสะท้อนและส่งต่อให้เกิดนโยบายที่ช่วยครูทำงานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ครูต้องไม่แก้ปัญหาเพียงลำพังยังมีอีกหลายพลังที่พร้อมจะจับมือร่วมกันแก้ไขปัญหาไปด้วยกันอย่างยั่งยืน 

คุณครู นักการศึกษา และผู้ที่สนใจทุกท่านสามารถติดตามประเด็นอื่น ๆ ทางการศึกษาที่น่าสนใจ เช่น กิจกรรมสำหรับห้องเรียน รูปแบบการสอน และเรื่องราวของกลุ่มครูตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้จากเว็บไซต์และเพจ I AM KRU

 1,828 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า