ครูรัก(ษ์)ถิ่นชายแดนใต้ เพื่อเป้าหมาย “อนาคตการศึกษาไทยที่ดีกว่า”

เส้นทางความร่วมมือของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และหลักสูตร Extra Time ที่น่าจับตามอง

Share on

 1,821 

“ครูและโรงเรียนไม่ได้มีหน้าที่ในการสอนหนังสืออย่างเดียว แต่ต้องเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นด้วย”

ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (มรย.)

พื้นที่ชายแดนใต้ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมสูง นักเรียนในแต่ละห้องเรียนจึงมีความหลากหลาย สำหรับการสอนในโรงเรียนชายแดนใต้จึงต้องการครูที่เป็นคนท้องถิ่น เข้าใจความแตกต่างและหลากหลายของผู้คนในพื้นที่ มากกว่าครูที่มาจากพื้นที่อื่น แต่เนื่องจากโอกาสทางการศึกษาด้านครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ในพื้นที่ชายแดนไม่ได้สูงนัก และคนในพื้นที่เองยังต้องการการเสริมศักยภาพเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ของตน จึงเป็นโจทย์ปัญหาใหญ่ของวงการการศึกษาไทย

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เห็นว่าปัญหาที่ต้องแก้อย่างเร่งด่วนคือการเพิ่มจำนวนครูให้พอ และเสริมความรู้เพิ่มเติมให้กับครูด้วย จึงวางเป้าหมายในการสร้างครูคุณภาพที่จะช่วยยกระดับการศึกษาและพัฒนาชุมชนในระยะยาว ซึ่งในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา กสศ.ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งด้านการพัฒนาครู และรับครูที่เป็นผลผลิตจากโครงการของ กสศ. เข้าบรรจุระยะยาว ด้วยวิสัยทัศน์ที่ดีและความร่วมมือที่แข็งแกร่ง ทำให้ภาพการศึกษาของพื้นที่ชายแดนใต้น่าจับตามอง

ครูรัก(ษ์)ถิ่น กับเป้าหมายเพิ่มครู พัฒนาชุมชน

โครงการ “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” คือโครงการที่ช่วยเพิ่มจำนวนครูในแต่ละพื้นที่ให้เพียงพอกับความต้องการ และสร้างครูที่จะอยู่ในพื้นที่นั้นได้ระยะยาว โครงการนี้จะเลือกปั้นครูจากนักเรียนชั้น ม.6 ที่อยากเป็นครูในชุมชนของตนเอง โดยการมอบทุนการศึกษาด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จนจบหลักสูตร พร้อมกิจกรรมพัฒนานักศึกษา จบมาเป็นครูที่มีคุณภาพ กลับไปบรรจุในพื้นที่บ้านเกิด

แวยอรี ลาเตะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านด่าน หนึ่งในโรงเรียนปลายทางรองรับนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น เห็นว่าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเข้ามาช่วยตอบโจทย์ปัญหาขาดแคลนครูในชั้นเรียนและการเรียนรู้ที่ไม่ต่อเนื่อง เพราะครูที่เข้ามาบรรจุในโรงเรียนจะอยู่ระยะยาว ไม่ย้ายออกไปพื้นที่อื่น ชุมชนจึงเชื่อมั่นได้ว่าลูกหลานจะได้รับการศึกษาที่ดีต่อเนื่องและเต็มที่ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระยะยาวจึงยินดีอย่างยิ่งที่จะรับครูจากโครงการนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโรงเรียน 

การที่นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นไม่ได้ถูกเลือกโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เปิดโอกาสให้โรงเรียนและชุมชนที่จะเป็นปลายทางรองรับ ได้บอกความต้องการ ได้ร่วมค้นหา ทำให้ชุมชนเชื่อมั่นได้ว่าจะได้ครูที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของท้องถิ่น ตรงนี้นอกจากการเข้ามาช่วยพัฒนาหรือแก้ปัญหาต่างๆ ยังมีผลพลอยได้ในการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชนได้อีกด้วย

“และด้วยวิธีสร้างคนในพื้นที่ขึ้นมาเป็นครูของชุมชน ทำให้เราพอจะมองเห็นทิศทางอนาคต ว่าปัญหาครูโยกย้ายออกจากพื้นที่จะดีขึ้น นอกจากนี้ครูที่เป็นคนในพื้นที่เขาจะมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน และสร้างความเชื่อมั่นในฐานะกระบอกเสียงทั้งในมุมของโรงเรียนและของชุมชนไปได้พร้อมๆ กัน” 

สร้างความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา(มรย.)

หนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ร่วมมือกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา(มรย.) นำโดย ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เริ่มดำเนินการร่วมกันตั้งแต่รุ่น 1ในปี 2562 ต่อเนื่องถึงรุ่น 2 ในปี 2563 ทางมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายในการผลิตครูที่จะช่วยพัฒนาชุมชน และการศึกษาที่เหมาะสมกับพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ กสศ. จึงตัดสินใจร่วมมือกับ กสศ. ในการรับสมัครนักศึกษาเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น และอบรมจนจบหลักสูตร

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้รับมอบหมายให้ดูแลนักศึกษาครูในสาขาปฐมวัย และประถมศึกษา ตั้งแต่การประสานงานกับโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อรับสมัครนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้ารับทุน วางหลักสูตรศึกษาศาสตร์ และสร้างสรรค์กิจกรรมเพิ่มเติมให้นักศึกษาในโครงการได้เข้าร่วม

“ส่วนที่ดีที่สุดคือ ทางสถาบันได้ดำเนินงานมาแล้วในระยะเวลาหนึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องยากในการเดินต่อไปด้วยกันกับ กสศ. โดยเฉพาะเมื่อ มรย. และ กสศ. เชื่อตรงกันว่าการผลิตครูด้วยแนวทางนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ตรงจุดและชัดเจนขึ้น เพราะเราร่วมกันออกแบบโครงการจากพื้นฐานของปัญหาจริง ๆ” 

เปลี่ยนบทบาทมหาวิทยาลัย จากผู้รอ สู่ผู้ค้นหา

การดำเนินการที่ดีที่สุดคือ ไม่ใช่แค่รอให้นักศึกษาเข้ามา แต่ต้องเดินหน้าค้นหาเพชรเม็ดงาม

หลังจากที่มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาได้ให้ความร่วมมือกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงสำหรับมหาวิทยาลัยคือ บทบาทหน้าที่ในการรับสมัคร จากเดิมที่เป็นฝ่ายรอรับนักศึกษา ปัจจุบันต้องลงพื้นที่แต่ละโรงเรียนในชุมชนใกล้เคียง เพื่อเฟ้นหานักศึกษาครู ผ่านดุลยพินิจของอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญในคณะครุศาสตร์ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคนในชุมชนที่อยากเห็นเด็ก ๆ ได้รับการศึกษาที่ดีทัดเทียมพื้นที่อื่น ๆ ความร่วมมือครั้งสำคัญที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจึง ‘เป็นไปได้’

การลงพื้นที่คัดกรองนักศึกษาร่วมกับ กสศ. ชุมชน และโรงเรียนปลายทางที่จะรองรับนักศึกษาของเรา ถือว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่เราจะมาทำร่วมกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดซึ่งมีความซับซ้อนเปราะบางด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ต้องยอมรับว่า ณ จุดเริ่มต้นมันมีความเสี่ยง เพราะบางแห่งที่ต้องเข้าไปเยี่ยมบ้านเด็ก ๆ เป็นพื้นที่สีแดง แต่เราถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ เป็นหมุดหมายที่บอกได้ว่าทุกฝ่ายทั้งมหาวิทยาลัย ชุมชน และโรงเรียนในพื้นที่พร้อมที่จะทำงานร่วมกัน ในการดูแลเด็ก ๆ ในชุมชนเพื่อพัฒนาให้เขาเติบโตขึ้นเป็นทรัพยากรบุคคลที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้

“สำหรับมหาวิทยาลัย เรามองว่าการลงพื้นที่ค้นหาเด็กจะทำให้เราพบคนที่เขามีหัวใจของความเป็นครู ก่อนนำมาพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อ ซึ่งทำได้ง่ายกว่า เพราะชุมชนและโรงเรียนในพื้นที่จะช่วยให้เราเห็นมุมมองด้านต่าง ๆ ของนักศึกษา ข้อมูลที่ได้จึงทำให้เราเชื่อมั่นได้มากกว่าการสอบหรือการสัมภาษณ์ที่ใช้เวลาเพียงสั้น ๆ ตรงนี้ เราในฐานะฝ่ายผลิตจึงต้องเสียสละ ทุ่มเทเวลาส่วนนี้ลงไปร่วมกับชุมชน กับภาคีทุกฝ่าย เพื่อให้ได้ครูนักพัฒนาที่ใช่จริง ๆ”

เตรียมความพร้อมให้นักศึกษาด้วยการพัฒนานอกหลักสูตร

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการค้นหาและคัดเลือกนักศึกษา ช่วงเวลาอีก 4 ปีหลังจากนั้น นักศึกษาจะได้เข้าเรียนในหลักสูตรวิชาการที่เข้มข้น และได้รับการปลูกฝังความเป็น “ครูนักพัฒนา” โดยต้องมีกิจกรรมร่วมกับชุมชนและโรงเรียนปลายทางที่ “ว่าที่คุณครู” ทุกคนจะเข้าบรรจุหลังจบการศึกษา

“ในหลักสูตรนี้ นักศึกษาต้องสื่อสารและทำกิจกรรมกับชุมชนเพื่อซึมทราบความเคลื่อนไหวตลอดเวลา โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีผู้อำนวยการและครูโรงเรียนปลายทางเป็นเสมือนพี่เลี้ยงของเขา เราจะให้เขาค่อย ๆ มองเห็นปัญหาหรือแผนงานพัฒนาชุมชนเชิงลึกที่เขาจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในวันข้างหน้า ขั้นตอนนี้มิได้เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้เขาอย่างเดียว แต่จะทำให้เขารู้ว่าอะไรคือความต้องการของท้องถิ่น แล้วการที่เขาไม่มีระยะห่างจากชุมชน ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เรียนปี 1 จนจบการศึกษา เราเชื่อว่าในที่สุดเขาจะสามารถค้นพบนวัตกรรมสักอย่างที่นำมาใช้พัฒนาท้องถิ่นของเขาได้”

ผศ.ดร.สมบัติกล่าว

สำหรับการพัฒนานักศึกษาครูด้วยกิจกรรมนอกหลักสูตร ทางมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาได้ดำเนินการโครงการ ‘Extra Time’ มาแล้วกว่า 7 ปี ก่อนที่จะมาร่วมมือกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งผศ.ดร.สมบัติ อธิบายเกี่ยวกับโครงการ Extra Time ว่าเป็นหลักสูตรพิเศษที่แสดงถึงความคิดตั้งต้นที่เป็นไปในทางเดียวกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เพราะหลักสูตรนี้มุ่งตอบคำถามหลักคือ “จะทำอย่างไรให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีคุณภาพการศึกษาสูงขึ้น?”

“ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ผลิตครู เราต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อการแก้ไขปัญหานี้ เราพบว่าปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องที่สุด คือการผลิตครูของเราอาจมีคุณภาพ แต่ยังไม่เพียงพอหรือสอดรับกับความต้องการของพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตร Extra Time โดยทดลองให้นักศึกษาครูสาขาประถมศึกษา 30 คนเข้ามาอยู่รวมกันในหอพัก แล้วเพิ่มช่วงเวลาพิเศษในการเสริมความรู้เฉพาะทาง สร้างจิตวิญญาณความเป็นครู และพัฒนาศักยภาพทุกด้านอย่างเต็มที่”

สำหรับพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีความพิเศษ หลากหลายด้วยวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา รวมถึงมุมมองด้านปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน ครูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องได้รับการเสริมสร้างมุมมองความคิด และแนวทางที่เหมาะสม เพื่อรับมือกับปัญหาเรื้อรังเหล่านี้ และจะได้สอนนักเรียนให้เข้าใจปัญหาเหล่านี้ไปด้วยกัน

หลักสูตร Extra Time จะดำเนินการในช่วง 19:00 – 21:00 น. ในวันธรรมดา วันเสาร์อาทิตย์บางเวลา และในช่วงเวลาปิดเทอม เมื่อนักศึกษาเข้าร่วมจนจบหลักสูตร นักศึกษาทุกคนจะมีเวลาเรียนรู้เพิ่มขึ้นคนละ 1,800 ชั่วโมง

“เวลาที่เพิ่มขึ้นมา เราจะเสริมความรู้เกี่ยวกับบริบทพื้นที่ หรือการสอนศาสนาอิสลามเบื้องต้น(ตาดีกา) ส่วนนักศึกษาที่เป็นพุทธเราก็เสริมด้านศาสนาพุทธ คำนึงถึงความสอดคล้องของพื้นเพเขา ทั้งยังมีการอบรมเทคนิคการสอนที่ลึกในบริบทชุมชนมากกว่าหลักสูตรครูทั่วไป ด้วยหลักสูตรพัฒนาชุมชน เสริมเรื่องทวิภาษา พหุวัฒนธรรม เนื่องจากชุมชนส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูถิ่น (ยาวี) เป็นหลักในการสื่อสาร เราจึงต้องสอนเพิ่มเติม โดยวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องการจัดการเรียนการสอนชั้นประถมศึกษาในท้องถิ่นที่ใช้ภาษาที่แตกต่างโดยเฉพาะ ที่สำคัญนักศึกษาครูต้องรู้ว่าครูและโรงเรียนไม่ได้มีหน้าที่ในการสอนหนังสืออย่างเดียว แต่ต้องเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นด้วย นี่คือหัวใจของหลักสูตร Extra Time”

การที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาดำเนินการหลักสูตรพิเศษนี้มาเป็นเวลานาน ทำให้มหาวิทยาลัยมีความพร้อมที่จะบ่มเพาะนักศึกษาในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ให้มีความเข้าใจด้านพหุวัฒนธรรมมากขึ้น เพราะถึงแม้นักศึกษาโครงการนี้จะเป็นคนในพื้นที่ แต่ก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเพื่อให้รู้ลึกรู้จริง และด้วยความพร้อมของสถานที่ หลักสูตร และบุคลากร ในอนาคตเราคงจะได้เห็น “ครู” ที่เป็นผลผลิตจากโครงการที่เข้มข้นนี้ ได้ทำงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงเรียนและชุมชนบ้านเกิดของตนเองต่อไป

 1,822 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า