“ครูท้องถิ่น” แรงบันดาลใจเพื่อการเรียนรู้และกลับสู่บ้านเกิด

เรื่องราวของ ด.ต.หญิง วิไล หรือครูผึ้ง ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน ตชด. อยากกลับมาพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

Share on

 2,219 

“เมื่อเขาเห็นเรา เขาก็จะเห็นว่า เขาจะมีอนาคตที่ดีได้จากความตั้งใจเรียน ซึ่งโรงเรียน ตชด.ให้ได้ทั้งการศึกษา ให้ทักษะชีวิต”

ด.ต.หญิง วิไล ธนวิภาศรี (ครูผึ้ง) ครูใหญ่โรงเรียน ตชด. บ้านห้วยสลุง

“โรงเรียนท้องถิ่น” ที่ดี เป็นแบบไหน อะไรคือสิ่งที่บอกว่าโรงเรียนนี้ตอบความต้องการของท้องถิ่น

ตัวชี้วัดสำคัญคือสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุด ที่หลายคนอาจมองข้ามไป นั่นคือ นักเรียนมีอัตราการมาเรียนไม่เคยขาด มาเรียนแบบมีความสุข มีเป้าหมายในการเรียน โรงเรียนมีสวัสดิการที่ดีรองรับ เช่น อาหารกลางวัน อุปกรณ์การเรียน และมีทรัพยากรเพียงพอสำหรับนักเรียนทุกคน

การพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณสมบัติตรงตามตัวชี้วัดดังกล่าว เป็นสิ่งที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางศึกษา (กสศ.) กำลังดำเนินการกับโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งประสบความสำเร็จพอสมควร ตัวอย่างความสำเร็จที่เห็นได้เป็นรูปธรรมคือความก้าวหน้าของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) หลายแห่ง โรงเรียนเหล่านี้พัฒนาขึ้นอย่างมาก บทความนี้จึงพาทุกท่านมารู้จักกันว่าโครงการในความดูแลของ กสศ. ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาโรงเรียนทำงานอย่างไร และพูดคุยกับตัวแทนของครูที่ทำงานจริงเพื่อเรียนรู้ไปด้วยกัน 

รู้จักกระบวนการทำงานของโครงการในกสศ.

โครงการของกสศ.ที่เป็นที่รู้จักในแวดวงการศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป คือโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการคุรุทายาทของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการมานานแล้ว โดยดำเนินการคัดเลือกนักเรียนที่เรียนดี ความประพฤติดี ตั้งใจจะเรียนครูเพื่อกลับมาทำงานในท้องถิ่นเดิมของตนเอง เพื่อรับทุนการศึกษาในสาขาที่กำหนด และกลับมาบรรจุเป็นครูประจำโรงเรียนในท้องถิ่น 

ปัจจุบัน กสศ. ได้ดำเนินการอีกโครงการหนึ่งที่มีลักษณะเดียวกันนี้ คือโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง 6 หน่วยงานการศึกษา ประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษา รุ่นละ 300 ทุนทั้งหมด 5 รุ่น รวม 1,500 ทุน เป็นอัตราส่วนทุนที่มากกว่าโครงการคุรุทายาท สร้างโอกาสให้แก่นักเรียนที่มีความตั้งใจอยากประกอบอาชีพครู โดยคัดเลือกนักเรียนที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่สุดร้อยละ 20 แรกของประเทศ และมีภูมิลำเนาในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้เรียนครูจนจบปริญญาตรี และกลับมาประอบอาชีพครูในโรงเรียนท้องถิ่นของตน 

จุดประสงค์ของทั้งโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นใกล้เคียงกัน คือการพัฒนาความสามารถของครู เพื่อที่ครูจะได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้นักเรียนและชุมชน ซึ่งทั้งสองโครงการนี้ให้ประโยชน์แก่พื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน ที่มีนักเรียนจำนวนมากกำลังรอคอยโอกาสทางการศึกษา เมื่อโครงการนี้เข้าไปถึงพื้นที่ห่างไกลทั้งหลาย แต่ละโรงเรียนก็จะมีจำนวนครูเพียงพอ นักเรียนเรียนจบมาอย่างมีคุณภาพ และลดปัญหาการขาดแคลนครู โดยการเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อกลับมาเป็นครูในพื้นที่ของตนเองต่อไป 

ทำไมถึงต้องแก้ปัญหาโรงเรียนในพื้นที่ชายแดน

หนึ่งในโรงเรียนที่ร่วมมือกับโครงการของกสศ. คือโรงเรียน ตชด. บ้านห้วยสลุง ครู นักเรียน ผู้ปกครองและทุก ๆ คนของโรงเรียนแห่งนี้ ร่วมกันสร้างโรงเรียนในฝันให้เป็นจริงเพื่อเด็ก ๆ ในชุมชน เน้นการเรียนอย่างมีความสุข และพัฒนาตนเองในทุก ๆ วัน แต่สิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นยากถ้าขาดหัวเรือหลักอย่าง ด.ต.หญิง วิไล ธนวิภาศรี ครูใหญ่โรงเรียน ตชด. บ้านห้วยสลุง คอยกำกับทิศทาง

ด.ต.หญิง วิไล หรือ ‘ครูผึ้ง’ ครูใหญ่แห่งโรงเรียนตชด.บ้านห้วยสลุง เล่าให้ฟังว่า ตนเองสามารถทำงานได้อย่างเข้าใจธรรมชาติของเด็กในพื้นที่และชุมชนนั้นเป็นเพราะตนเองเป็นคนในพื้นที่ เป็นครูตชด.ที่ได้กลับมาทำงานในบ้านเกิดตัวเอง โดยตอนที่ด.ต.วิไลเรียนจบชั้น ม.6 ได้ทราบจากข่าวประชาสัมพันธ์เรื่องโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งประกาศรับศิษย์เก่าที่จบชั้นสูงสุดจากโรงเรียน ตชด. ตนเองจึงลองไปสอบแข่งขันเป็นตำรวจชั้นประทวน เมื่อสอบได้ตามที่ประกาศ ก็เข้าเรียนและฝึกภาคสนามของ ตชด. 3 เดือน จากนั้นก็เข้ารับการฝึกความสามารถครูอีก 6 เดือน จนได้บรรจุเป็นครูตชด. แล้วกลับมาสอนที่บ้านเกิดของตนเอง 

“สมัยก่อนที่บ้านและที่โรงเรียนเป็นพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร ไม่มีหน่วยจัดการศึกษาที่ไหนเข้าไปจัดให้ มีแต่โรงเรียน ตชด. เข้ามาจัดการศึกษาให้ มีห้องเรียน ป.1 ถึง ป.4 เรียนถึงชั้นสูงสุดของโรงเรียน คือจบ ป.4 ก็ไปเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นโรงเรียนในสังกัดของสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อเรียนต่อ ป.5 ป.6”

เมื่อถามถึงรูปแบบการศึกษาสมัยก่อนว่าโรงเรียน ตชด. สอนอะไรบ้าง การเรียนมีลักษณะอย่างไร และครูผึ้งคิดว่ามีปัญหาใดที่ต้องแก้ไข ครูผึ้งได้เล่าประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

“การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ตชด.ในสมัยนั้น เป็นการจัดตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ มีครู ตชด. เข้ามาเป้นผู้สอน สมัยนั้น ทั้งโรงเรียนมีครูประมาณ 4 คน การเรียนการสอน เน้นให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้เป็นส่วนใหญ่ ไม่มีวิชาการ หรือการสอบประเมินมากมายเหมือนสมัยนี้ สมัยก่อนโครงการอาหารกลางวันก็ไม่มี เมื่อก่อนนาน ๆ ก็จะมีคนเขามาเลี้ยงสักทีหนึ่ง เพราะเมื่อก่อนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนจะเน้นให้นักเรียนได้อ่านออกเขียนได้อย่างเดียว ไม่มีอะไรประเมินมากมายเหมือนสมัยนี้
สมัยนั้นยังไม่มีโครงการอาหารกลางวัน นักเรียนต้องเดินกลับไปทานข้าวที่บ้านเอง หรือห่อใบไม้ใส่กล่องมากิน ส่วนใหญ่เป็นอาหารง่ายๆ ข้าวกับน้ำพริก แต่บางอาทิตย์ หรือบางเดือนจะมีคณะผู้ใหญ่ใจดีเดินทางจากในเมืองเข้ามาเลี้ยงอาหารกลางวัน ได้กินอาหารดี ๆ หรือบางครั้ง ครูก็ทำอาหารกลางวันเลี้ยงพวกเรา”

ครูใหญ่โรงเรียนบ้านห้วยสลุงเล่าย้อนถึงช่วงชีวิตวัยเรียนของตัวเอง 

พัฒนาชุมชนให้ดี เป็นปัจจัยแรกที่ต้องทำ

โรงเรียนที่ครูผึ้งได้รับมอบหมายให้มาปฏิบัติหน้าที่เป็นครูใหญ่ เป็นโรงเรียนที่สร้างขึ้นจากความต้องการของคนในชุมชน ประชาชนในพื้นที่บ้านห้วยสลุง หมู่ 8 ต.พระธาตุ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอที่อพยพมาจากพื้นที่ดอยสูง มาตั้งรกรากในพื้นที่ยึดอาชีพรับจ้าง มีฐานะยากจน ลูกหลานในพื้นที่ไม่มีโรงเรียน

เดิมนักเรียนในหมู่บ้านต้องเดินทางไปเรียน ที่โรงเรียนบ้านทุ่งมะขามป้อม ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 4.2 กิโลเมตร ชาวชุมชนบ้านห้วยสลุงจึงดำเนินการขอจัดตั้งโรงเรียนในชุมชน ไปยังกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 34 ให้จัดตั้งศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยสลุง เปิดทำการเรียนการสอนเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 โดยในส่วนของอาคารเรียนที่เห็นในปัจจุบัน มาจากการขอความอนุเคราะห์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรีจนได้รับการจัดสรรงบประมาณให้และใช้แรงงานก่อสร้างจากนักศึกษาจิตอาสาช่วยเหลือสังคมจาก 3 สถาบัน คือ มทร.ธัญบุรี มทร.ล้านนา และมทร.สุวรรณภูมิ ใช้เวลาสร้างอาคารหลักของโรงเรียน 3 หลัง ประกอบด้วย อาคารราชมงคลเฉลิมพระเกียรติหลังที่ 47, 48, 49 ทั้งหมด ในเวลา 35 วัน 

หลังจากโรงเรียนสร้างเสร็จสมบูรณ์ และครูผึ้งเข้ามารับตำแหน่งครูใหญ่ที่โรงเรียนแห่งนี้แล้ว ก็ได้ร่วมกับบุคลากรของโรงเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชน เพื่อพัฒนาโรงเรียนและชุมชนให้แข็งแรงขึ้น การพัฒนาชุมชนก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะเมื่อมีปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตพร้อม เด็กก็จะพร้อมรับความรู้จากห้องเรียนอย่างเต็มที่

“สภาพของชุมชนและโรงเรียนในปัจจุบันดีขึ้นกว่าเมื่อสมัยก่อน เพราะว่าการคมนาคมสะดวก มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น โรงเรียนใช้รูปแบบการบริหารจัดการแบบ โรงเรียน ตชด. ให้เด็กได้ศึกษาทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เราเน้นให้เด็กได้ลงมือทำ ปลูกผักกิน เลี้ยงไก่ หมู ปลา ตามโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ส่วนหนึ่งที่เด็กมาโรงเรียนเกือบ 100% ก็เนื่องจากผู้ปกครองรุ่นปัจจุบันเริ่มมีการศึกษา เห็นความสำคัญของการเรียน คนสมัยก่อนไม่ได้เรียนหนังสือ ด้วยคุณภาพชีวิต ด้วยความยากจน เขาอาจจะต้องพาเด็ก ๆ ไปช่วยทำไร่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว” 

หัวใจสำคัญของการเรียน คือความสุข

ครูผึ้งเชื่อว่าการพัฒนาทุกด้าน จะทำให้เด็กมีความสุข และความสุขเป็นพื้นฐานของชีวิตที่ดี ความสุขตรงนี้เกิดจากการเห็นประโยชน์ของการเรียนวิชาการ การได้เรียนรู้ทักษะชีวิต และความเป็นอยู่พื้นฐานที่ดี ถ้าโรงเรียนมอบปัจจัยเหล่านี้ครบ นักเรียนจะไม่หนีไปไหน จะตั้งใจเรียนเพื่ออนาคตที่ดีของตนเอง

“เมื่อเขาเห็นเรา เขาก็จะเห็นว่า เขาจะมีอนาคตที่ดีได้จากความตั้งใจเรียน ซึ่งโรงเรียน ตชด.ให้ได้ทั้งการศึกษา ให้ทักษะชีวิต ที่ผ่านมา เคยไปติดตามนักเรียนที่ขาดเรียนถึงบ้าน ว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมขาดเรียน ส่วนมากเด็กที่ไม่มาเรียน จะเกิดจากปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วย ไม่สบาย เท่านั้น พวกที่โดดเรียนไม่มาเรียนเลย ที่นี่ไม่มีค่ะ เด็กมาเรียนเพราะมาแล้วมีความสุข”

ครูผึ้งกล่าว

แบบอย่างการกลับมาเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่น

ครูผึ้งเล่าปิดท้ายเกี่ยวกับความภาคภูมิใจของตนเองว่า ความสำเร็จของตัวเองเป็นแบบอย่างให้กับนักเรียนหลาย ๆ คนที่นี่ เพราะครูผึ้งเป็นนักเรียนที่จบจากโรงเรียน ตชด. ไปเรียนต่อในเมืองจนจบการศึกษา แล้วได้รับโอกาสให้กลับมาเป็นครูที่บ้านเกิด เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่มีส่วนช่วยชักจูงจิตใจให้เด็ก ๆ อยากมาเรียนที่โรงเรียน เรียนให้ได้เกรดดี ๆ จะได้มีโอกาสเรียนในระดับสูง แล้วกลับมาช่วยพัฒนาชุมชนของตัวเอง แบบที่ครูผึ้งทำ

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่าอยากให้ครูรุ่นใหม่ตามโครงการของเรา ในลักษณะเช่นเดียวกับ ด.ต.หญิง วิไล เพราะว่าปัญหาบางอย่าง ที่ครูผึ้งเคยเจอ เคยแก้ไขจนสำเร็จ หรือเทคนิคการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในบางเรื่องได้มาจากประสบการณ์ของคนที่มีทักษะการรู้จักธรรมชาติ ลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น และเป็นเรื่องที่การสอนทฤษฏีตอบโจทย์ไม่ได้ ผู้ที่จะมาเป็นครูรุ่นใหม่ ควรได้เรียนรู้จากครูท่านนี้ เป็นวิธีที่คิดที่ได้จากความรู้พื้นฐานในท้องถิ่นมาช่วยผลักดันให้เกิดองค์ความรู้จากฐานความรู้ที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ เด็กชาติพันธุ์ ประเพณีวัฒนธรรมแตกต่าง แต่ละที่ย่อมมีบริบทการเรียนบางเรื่องต่างกัน

จากนี้ต่อไป โครงการต่าง ๆ ของกสศ. โดยเฉพาะโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นที่มุ่งแก้ปัญหาชุมชนแบบตรงจุด จึงตั้งเป้าหมายที่จะเติมเต็มเรื่องนี้ให้เด็ก ให้นักเรียนทุนของโครงการได้ตระหนักว่า การได้อยู่ในพื้นที่จริง ได้ทำอะไรในเชิงปฏิบัติ นำไปสู่การมีโอกาสในการศึกษาเรื่องต่างๆ เพิ่มจากตำราในมุมของตัวเอง สร้างองค์ความรู้ท้องถิ่น และกลับมาเป็นครูในบ้านเกิดตัวเอง กลับมาถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่นๆ มองเห็นความสำคัญของการช่วยกันดูแล และร่วมพัฒนาความเป็นอยู่ของท้องถิ่นให้ยั่งยืน

 2,220 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า