เพิ่มคุณภาพการเรียนรู้ เริ่มต้นที่พัฒนาครู ตชด.

เผยวิธีการเพิ่มคุณภาพการเรียนของโรงเรียน ตชด. นำร่อง ด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะครูในพื้นที่ห่างไกล

Share on

 1,869 

“จากการจัดกิจกรรมพัฒนาสมรรถนะครู เพื่อให้ครูไปจัดกระบวนการเรียนรู้สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน พบว่า ในหลายโรงเรียนสามารถเห็นผลความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน”
ดร.จิตติมา เจือไทย ผู้จัดการโครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร

เป็นไปได้ไหม ที่นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลจะเก่งภาษาจนสื่อสารได้จริง?

“คุณภาพการศึกษา” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เด็ก ๆ ทุกคนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอยากได้เป็นของขวัญ ไม่แพ้ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น และของเล่น แต่ปัญหาและข้อจำกัดที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนคือ บุคลากรที่มาทำหน้าที่ครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน หลายคนไม่ได้จบครูมาโดยตรง และมีภารกิจหลายด้านที่ต้องรับผิดชอบ อีกทั้งครอบครัวนักเรียนโรงเรียน ตชด. ก็ไม่ได้มีฐานะดีมากนัก จึงเกิดคำถามสำคัญต่อหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คือ เราจะเพิ่มคุณภาพการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เหล่านี้อย่างไร ให้ทัดเทียมกับโรงเรียนอื่น ๆ

สร้างการเรียนรู้ที่ดีให้แก่ 50 โรงเรียนใน 15 จังหวัดชายแดนห่างไกล 

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา  ในกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จัดทำ “โครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร” ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนำร่อง 50 โรงเรียน ในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เลย อุดรธานี บึงกาฬ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก สงขลา ตรัง สตูล และพัทลุง 

“ที่ผ่านมาการทำงานในระดับพื้นที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 3 ฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรมและลงตัวจนเป็นโมเดลการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้อีกรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ทีมโค้ชในพื้นที่ และนายตำรวจนิเทศ ตชด. โดยได้เข้าไปสำรวจความต้องการจำเป็นของครูใหญ่ ครูผู้สอน นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ในโรงเรียน ตชด. นำร่อง ทั้ง 50 โรงเรียน ว่ามีความต้องการพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ของผู้เรียนในเรื่องใด จากนั้นจึงนำโจทย์การพัฒนาผู้เรียนที่เกิดขึ้นจากความต้องการของทุกฝ่าย ไปสู่การออกแบบกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียน ตชด. โดยเน้นการพัฒนาสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการจากภาระงานที่ปฏิบัติโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน” 

ในระยะต้นนี้จะมีคุณครูได้รับการพัฒนา รวม 485 คน และมีนักเรียนได้รับประโยชน์ทั้งหมด 5,335 คน ใน 50 โรงเรียน โครงการนี้เริ่มดำเนินงานในปีการศึกษา 2563 และจะสามารถขยายผลไปยังนักเรียนรุ่นอื่น ๆ ได้ต่อไป

ทำความเข้าใจปัญหา พัฒนาด้วยการลงพื้นที่จริง

การดำเนินงานในโรงเรียนนำร่อง 50 โรงเรียนนี้ ทีมงานจากโครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนได้เข้าไปจัดกิจกรรมให้ครูแต่ละโรงเรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ และสังเกตสภาพการเรียนรู้จริงของนักเรียนด้วย 

 ดร.จิตติมา เจือไทย ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า แนวคิดสำคัญในการดำเนินงานคือ ไม่ต้องการดึงครูออกมาจากพื้นที่ เพราะการเดินทางออกมาแต่ละครั้งย่อมสร้างความไม่สะดวกให้กับคุณครู จนอาจส่งผลกระทบไปถึงการเรียนการสอนของนักเรียน ดังนั้น คณาจารย์ ทีมโค้ชในพื้นที่ และนายตำรวจนิเทศ ตชด. จึงเป็นผู้เข้าไปจัดกิจกรรมพัฒนาสมรรถนะครูในโรงเรียน ตชด. เอง เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนตามเป้าหมายที่ครู นักเรียน และชุมชนได้ร่วมกันสะท้อนความต้องการ เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์ ในแง่ของการพัฒนาสมรรถนะของครู ตชด. ในการจัดการเรียนรู้เพื่อศิษย์แล้ว ยังทำให้ทีมงานของโครงการได้เข้าใจบริบท สภาพปัญหา และข้อจำกัดของโรงเรียน ตชด. จนนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาและช่วยเหลือในมิติอื่น ๆ ที่ได้พบเห็นจากสภาพจริง

“ความต้องการในการพัฒนาผู้เรียนในโรงเรียนนำร่อง 50 แห่ง ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 ต้องการให้พัฒนาทักษะภาษาไทยและการอ่านออกเขียนได้  เพราะโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเกือบทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตแนวชายแดน นักเรียนจำนวนมากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก ทำให้มีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้จำนวนมาก โดยหลังจากการจัดกิจกรรมพัฒนาสมรรถนะครู เพื่อให้ครูไปจัดกระบวนการเรียนรู้สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน พบว่า ในหลายโรงเรียนสามารถเห็นผลความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน”

ดร.จิตติมากล่าว

แก้ปัญหาการเรียนภาษา ด้วยโมเดลอ่านออกเขียนได้

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตะโกปิดทอง และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง  จ.ราชบุรี เป็นกลุ่มโรงเรียนนำร่องที่มีผลสำเร็จออกมาให้เห็น เด็ก ๆ สามารถอ่านออกเขียนได้เพิ่มมากขึ้น ผ่านกิจกรรมพัฒนาทักษะภาษาไทย ที่สามารถปรับใช้กับวิชาอื่น ๆ ได้ด้วย ​​ 

ดร.นิตยา เรืองมาก รองคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ซึ่งทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า ทีมคณาจารย์ได้เข้าไปหาแนวทางจัดกิจกรรม เริ่มต้นจากการเข้าไปคุย สำรวจความต้องการ และทำการวิเคราะห์แบบ SWOT ทั้งกลุ่มโรงเรียนและศิษย์เก่าว่า อยากให้พัฒนาอะไรมากที่สุด ซึ่งสองกลุ่มพูดตรงกันว่าอยากให้พัฒนาการอ่านออกเขียนได้ เพราะเด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์

จากนั้นทางคณาจารย์จึงได้ร่วมกันวางแผนและออกแบบการจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้เพื่อการอ่านออกเขียนได้ ให้กับครู ตชด. ในโรงเรียน ตชด.ตะโกปิดทอง 12 คน และโรงเรียน ตชด.บ้านถ้ำหิน อีก 14 คน โดยใช้ “โมเดลการอ่านออกเขียนได้”ของ อ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ เริ่มต้นจากจัดการทดสอบนักเรียนทั้งการอ่านออกเสียง การเขียนตามคำบอกและดูผลการทดสอบ เพื่อนำมาออกแบบวิธีการสอนที่เหมาะสม ในแต่ละคาบจะต้องทำอะไร และใช้อุปกรณ์ใดประกอบบ้าง ซึ่งกสศ.จะอุดหนุนในส่วนของอุปกรณ์ที่ต้องใช้

ตลอดการจัดกิจกรรม คุณครูจะได้พัฒนาศักยภาพการสอนทุกรูปแบบ เช่น การยืนหน้าชั้นเรียน การทำสื่อให้เกิดความน่าสนใจ แม้แต่วิธีการเขียนกระดานของคุณครูให้เด็กสามารถเขียนตามได้ง่าย ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้ในวิชาภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ได้ด้วย ​

“ตรงนี้ช่วยครูได้มากเพราะเข้าใจว่าครู ตชด. จำนวนมากไม่ได้จบครูมาโดยตรง เราจึงเข้าไปช่วยพัฒนาการสอนให้ดีขึ้นได้ สร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น บางทีเกิดปัญหาเมื่อไปนิเทศก็ช่วยแก้ปัญหาจากของจริง ซึ่งสุดท้ายก็สามารถเกิดผลการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เด็กอ่านออกเขียนได้ กล้าพูดมากขึ้น จากแต่ก่อนพูดไม่ชัด ไม่กล้าพูดเพราะกลัวโดนเพื่อนล้อ จนได้ฝึกแล้วทำให้เกิดการพัฒนา ครูเองได้รับการพัฒนาไปพร้อมกันด้วย”​

ดร.นิตยา กล่าว

พัฒนารูปแบบการสอน โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน

อีกกิจกรรมที่เห็นผลความสำเร็จชัดเจน คือ การพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านคำชมภู จังหวัดบึงกาฬ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยเวียงงาม จังหวัดอุดรธานี  การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษได้เน้นการเรียนรู้แบบประยุกต์เข้ากับ Farm School หรือใช้โรงเรียนเป็นฐาน ออกแบบการเรียนการสอนจากสิ่งที่โรงเรียนมี โดยใช้กระบวนการไปจัดกิจกรรมพัฒนาครูที่โรงเรียนในแต่ละด้าน รวมทั้งการผลิตสื่อการสอน ปรับวิธีการสอน การเขียนแผนการสอน เน้นไปที่การใช้แหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนและชุมชน และการประเมินผลผู้เรียน

ดร.ปุณรัตน์ พิพิธกุล คณบดีคณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า จากการสำรวจ 10 โรงเรียนที่รับผิดชอบ ทางโครงการตัดสินใจจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษ 2 โรงเรียน และอีก 8 โรงเรียนเน้นพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน

การจัดกิจกรรม 3 วัน เริ่มจากสอนโฟนิคส์ (Phonics) หรือการฝึกออกเสียงให้คุณครู มีงานวิจัยระบุว่า โรงเรียนที่ใช้วิธีนี้สอนนักเรียนจะได้ผลมากกว่าโรงเรียนที่ไม่ได้ใช้ถึง 3 เท่า จากนั้นจึงมาต่อที่การสอนภาษาอังกฤษโดยบูรณาการกับ Farm School ใช้สิ่งรอบตัวมาเป็นบทเรียนและกิจกรรม ให้นักเรียนคุ้นเคยและกล้าใช้ภาษาอังกฤษ เช่น เล่าความรู้สึก ปิดตาทายกลิ่นผลไม้ เมื่อนักเรียนจำคำศัพท์ได้ ก็ขยับไปเป็นวลีและประโยค โดยประยุกต์ใช้เกม เช่น การทำแผนที่โรงเรียน​​ นักเรียนจะได้ทักษะการบอกทิศทาง และการอธิบายรายละเอียดเป็นภาษาอังกฤษ

สิ่งที่สำคัญกว่ากระบวนการทั้งหมด คือการสร้างความมั่นใจให้คุณครู อย่ากลัวภาษาอังกฤษ เมื่อครูมีความมั่นใจในการสอน ทั้งหมดก็จะสะท้อนไปที่นักเรียน นักเรียนจะไม่กลัวภาษาอังกฤษ แม้ว่าจะจำคำศัพท์ไม่ได้ หรือออกเสียงตัวอักษรบางตัวไม่ได้ แต่เขากล้าที่จะลองมากขึ้น  กล้าเล่นเกมไม่กลัวที่จะผิด กล้าผสมคำ จนพวกเขาคุ้นชินกับภาษาอังกฤษ และใช้ภาษาได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ 

จากตัวอย่างกระบวนการสอนใน 4 โรงเรียนข้างต้นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาทักษะการสอนและเพิ่มกระบวนการดี ๆ ให้กับครูอย่างเป็นระบบ เป็นพื้นฐานสำคัญมากในการพัฒนาโรงเรียน ตชด. แม้ว่าครูที่มาจากหลายหลายอาชีพอาจต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ 0 แต่จะไม่มีครูคนไหนหลงทาง หรือสูญเสียความมั่นใจในการสอน ครูทุกคนจะมีความสุข สนุกไปกับเด็ก สามารถค้นหาสื่อดี ๆ มาสอนเด็กเพิ่มได้ง่ายขึ้น และแน่นอนว่า กสศ. ตั้งเป้าขยายผลกิจกรรมพัฒนาทักษะครูไปให้ได้ไกลกว่า 50 โรงเรียนต้นแบบนี้ เพื่อให้เกิดความรู้ ความสนุก และความเสมอภาคทางการศึกษาทั่วทั้งประเทศ

 1,870 

Writer

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า