ครูรัก(ษ์)ถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาพื้นที่ห่างไกล

ตามหา ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ อุดช่องโหว่ทางการศึกษา ด้วยการพาครูกลับบ้าน

Share on

 1,125 

ตามหา ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’อุดช่องโหว่ทางการศึกษา ด้วยการพาครูกลับบ้าน

เมื่อ ‘เมืองหลวง’ เป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ ศูนย์กลางการปกครอง ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และศูนย์กลางความเจริญต่าง ๆ ทุกอย่างวิ่งตรงเข้าสู่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ แม้แต่คนรุ่นใหม่ต่างก็ดาหน้ากันเดินทางไปหาโอกาสในเมืองหลวง แต่ประเทศไทยมีพื้นที่อีกมากที่รอการพัฒนาอยู่ จะทำอย่างไรให้บุคลากรที่มีคุณภาพกระจายกันไปพัฒนาส่วนต่าง ๆ ของประเทศได้

ครูรัก(ษ์)ถิ่นจึงก่อกำเนิดขึ้นมาด้วยแนวคิดที่จะผลิตบุคลากรครูที่มีคุณภาพเพื่อกลับไปพัฒนาการศึกษาในพื้นที่บ้านเกิดและได้อยู่ใกล้ชิดครอบครัว

ต้นแบบสถาบันของการผลิตครูสู่ชนบทแห่งแรกในประเทศไทย คือ “วิทยาลัยหมู่บ้านจอมบึง” ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2497 ด้วยเป้าหมายเพื่อรับเด็กซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์และมีเจตคติที่ดีมาบ่มเพาะเป็นครูและให้กลับไปสอนในพื้นที่ชนบททั่วประเทศ

แนวคิดดังกล่าวมีที่มาจากประเทศตุรกี ที่ใช้วิธีการคัดเลือกเด็กชนบทที่ด้อยโอกาส แต่มีความสามารถ เรียนเก่ง เป็นเด็กดี มาเรียนในหลักสูตรครู เมื่อเรียนจบแล้วก็กลับไปบรรจุอยู่ในพื้นที่ที่ได้ทุนมาเรียน ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนกลับไปทำงานใกล้บ้าน ในขณะที่อาชีพอื่น ๆ ต้องละทิ้งบ้านเกิด เพราะพยายามแย่งกันเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง

ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดี มรภ.หมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี เล่าย้อนประวัติของวิทยาลัยหมู่บ้านจอมบึงว่า ในช่วงแรกทางวิทยาลัยจะรับเด็กที่จบ ป.7 มาเรียน 5 ปี จบไปได้วุฒิ ปวส.ต้น และไปเป็นครูอยู่ในชนบท เป็นอย่างนี้เรื่อยมาจน พ.ศ. 2515 จึงได้ปรับมาเป็นวิทยาลัยครู ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ‘สถาบันราชภัฏ’ และ ‘มหาวิทยาลัยราชภัฏ’ ในที่สุด

หน้าที่ของ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ แต่ต้องพัฒนาชุมชนควบคู่กันไป

ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดี มรภ.หมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี

“ตอนนี้คนที่เรียนรุ่นแรกๆ ไปบรรจุในโรงเรียนชนบท หลายคนเป็นครูใหญ่ ผู้อำนวยการ ส่วนใหญ่เกษียณกันหมดแล้ว ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของสถาบัน ครูที่จบไปจะสามารถทำได้ทุกเรื่อง แม้แต่การออกแบบสร้างอาคาร สร้างส้วม ซึ่งทักษะเหล่านี้อาจจะเหมาะกับยุคสมัย 60 ปีที่แล้ว
แต่ปัจจุบันทักษะตรงนี้อาจต้องปรับเปลี่ยนไปบ้าง คือต้องสามารถทำได้ ทั้ง “ไฮทัช” และ “ไฮเทค” หมายความว่าต้องทำเรื่องที่ปฏิบัติได้ด้วยมือ เช่น ปลูกผัก ทำงานทั่วไป และ ต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีได้ด้วย รู้เรื่องเครื่องมือการสอน การหาความรู้ การพัฒนาชุมชน”

ลักษณะของครูบ้านนอกจะต่างจากครูในเมือง เพราะครูบ้านนอกมักมีชีวิตเกี่ยวพันกับชุมชนชนบทอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้ โรงเรียนเป็นที่พึ่งพาอาศัยให้ชุมชน ในขณะเดียวกัน ชุมชนก็เป็นผู้สนับสนุนโรงเรียนเช่นกัน

การเป็นครูบ้านนอกจึงไม่ได้มีแค่งานสอนหนังสืออย่างเดียว เมื่อถึงเวลาหมู่บ้านมีงานเทศกาลครูก็ต้องไปช่วย ชุมชนมีอะไรก็ต้องเข้าไปดูแล ไปพัฒนาความเป็นอยู่ให้ชาวบ้าน สิ่งนี้เป็นเสมือนจิตวิญญาณของครู

ปัจจุบันมรภ.หมู่บ้านจอมบึงมีพันธกิจที่เข้ามาร่วมเป็นหนึ่งใน 11 สถาบันการศึกษาที่จะผลิต ครูรัก(ษ์)ถิ่น ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งมีเป้าหมายที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยการทำให้พื้นที่ห่างไกลมีครูคุณภาพเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ

ทำหนึ่งได้ถึงสาม! ให้โอกาสเด็กยากไร้ ให้ครูได้กลับบ้าน ให้มาตรฐานการศึกษาทุกที่ดีเสมอกัน

คำถามคือ “แล้วใครล่ะจะมาเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นต่อไป?” ทางมหาวิทยาลัยได้จัดทีมลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์เด็ก ครู และผู้ปกครองในชุมชน จากนั้นจะจัดค่ายและเชิญเด็กมาเข้าร่วมเพื่อคอยสังเกตพฤติกรรมให้มั่นใจว่า เด็กที่ได้รับเลือกเป็น ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ จะมีเจตคติที่ดีต่อการเป็นครูชนบท และมีจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างแท้จริง

“การเข้าค่าย 5 วันเปรียบเสมือนการจัดสถานการณ์จำลองให้เด็กแสดงถึงความพร้อมที่จะมาเป็นครูในอนาคต ทั้งเรื่องการเสียสละ การมีทัศนคติที่ดีต่อตัวเองและชุมชน ​เพียงแค่การสัมภาษณ์อาจไม่สามารถมองเห็นได้ แต่กิจกรรมเข้าค่ายจะทำให้เห็นได้ชัดขึ้น ในขณะที่เด็กก็ได้รู้ตัวเองด้วยเช่นกันว่าชอบจริงๆ หรือไม่ บางคนมาเข้าค่ายแล้วรู้ตัวว่าไม่เหมาะสมก็ขอถอนตัวไป เปิดโอกาสให้เด็กได้พิจารณาตัวเองและให้ครูได้พิจารณาตัวเด็กด้วย”

สิ่งสำคัญคือความพร้อมจะไปเป็นครูในชนบทตามถิ่นทุรกันดาร ที่ผ่านมา หลายพื้นที่มีครูเก่ง แต่อยู่ในพื้นที่ได้ไม่นานก็ต้องย้ายไปที่อื่น การที่จะมีครูที่มุ่งมั่นจะไปอยู่ในพื้นที่ลำบากโดยไม่ย้ายไปไหนก็เป็นเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นในทุกที่เท่ากัน และจะเป็นการดีหากครูอยู่ในพื้นที่กันดารได้โดยสมัครใจมิใช่ถูกบังคับ และยังเป็นพื้นที่บ้านของครูเองด้วย

ความพิเศษของครูชนบทคือการมีทักษะมากกว่าเพียงความรู้วิชาการ จะต้องมีทักษะวิชาชีพ เทคโนโลยี ต้องเป็นผู้นำชุมชนได้ มีจิตใจที่อยากช่วยเหลือชาวบ้าน มีส่วนร่วมในการพัฒนาในชุมชน  ไม่ว่าจะเป็นหญิงชายก็ต้องสามารถทำงานช่างไม้ ช่างเชื่อม ช่างปูน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการสอบวัดทักษะฝีมือแรงงานอีกด้วย

หลักสูตรครูของที่นี่จะเริ่มต้นจากเป็นผู้สังเกตการณ์ในชั้นปีที่หนึ่ง ต่อมาปีสอง เป็นผู้ช่วยครู ปีสามจะเป็นครูสอนร่วม และชั้นปีสี่ที่จะได้สอนแบบเต็มตัว

ส่วนในช่วงระหว่างเรียนก็จะมีกิจกรรมฝึกความมีจิตอาสา เพราะเขาได้รับทุน ได้โอกาสมากกว่าคนอื่น โดยจะมีกิจกรรมตั้งแต่ด้านศิลปวัฒนธรรม ไปจนถึงด้านกีฬา อาทิ จอมบึงมาราธอน ที่เด็กสามารถมีส่วนร่วมอำนวยความสะดวกหรือออกพื้นที่ไปช่วยวัดระยะทางได้

อีกทั้งกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ พัฒนาชุมชนหรือโรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ บ้างสร้างสนามกีฬา บ้างทาสีอาคารเรียนในชนบท ซึ่งล้วนแต่ฝึกให้เขาเป็นคนที่เสียสละทำงานเพื่อชุมชนซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในวันที่เขาไปเป็นครูอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันนี้ ครูชนบทจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กับชุมชน และยังต้องมีทักษะช่างสิบหมู่เพื่อแก้ปัญหาในทุกสถานการณ์ แต่ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว เราอาจลองตั้งคำถามเพิ่มขึ้นว่า จะดีกว่าไหม? ถ้าหากครูได้มีเวลาเต็มที่กับการสอนนักเรียน และให้ผู้เชี่ยวชาญกว่าในด้านอื่นๆ ได้ทำหน้าที่ของเขา เพราะการบังคับให้ครูต้องเป็น ‘มากกว่าครู’ อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ครูเก่ง ๆ ไม่อยากเป็นครูชนบท หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณภาพการเรียนการสอนนั้นต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จะดีกว่าไหม? หากรัฐให้ความสนใจและใส่ใจการพัฒนาพื้นที่ห่างไกลให้มีน้ำไหล ไฟสว่าง เดินทางสะดวก อย่างที่นายกรัฐมนตรีเมื่อ 50-60 ที่แล้วลั่นวาจาไว้ ไม่ต้องมีห้างสรรพสินค้าใหญ่โต ขอแค่มีสถานพยาบาลมาตรฐาน มีไฟสว่างให้ใช้ มีน้ำประปาสะอาดและบ้านพักปลอดภัย เข้าถึงเข้าใกล้สิ่งพื้นฐานจำเป็นเราคงได้เห็นครูกลับบ้านมากขึ้น

 1,126 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า