เรียนอย่างสร้างสรรค์ คิดเป็น เน้นความสุข กับพอล คอลลาร์ด (Paul Collard)

ทำความรู้จักพอล คอลลาร์ด ผู้ก่อตั้ง CCE (Creativity, Culture and Education (CCE)) พร้อมวิธีการเรียนอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข

Share on

 966 

“การเรียนรู้ที่ดี คือการมีสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดีในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เกิดขึ้นเมื่ออยู่บนฐานของความจริง ไม่ใช่หลักการที่จับต้องไม่ได้ต้องมีอารมณ์ร่วมอยู่ในนั้น และจะเกิดขึ้นเมื่อถูกขับเคลื่อนโดยการตั้งคำถามและการสร้างประสบการณ์ชีวิต”

พอล คอลลาร์ด (Paul Collard) ผู้ก่อตั้ง Creativity,
Culture and Education (CCE)

การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่ดี ควรเริ่มจากการพัฒนา “ความคิดสร้างสรรค์” ของเด็ก แต่การศึกษาไทยยังขาดการฝึกความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนทุกระดับ แม้ว่าเราจะพัฒนาเรื่องระบบการบริหาร คุณภาพวิชาการให้ดีขึ้นเท่าใด แต่ถ้าเด็กไม่ได้เรียนรู้ด้วยความสนุกและฝึกความคิดตัวเองให้กว้างไกลขึ้น แน่นอนว่าห้องเรียนนั้นคงขาดสีสัน เพชรเม็ดงามที่อยู่ในห้องเรียนนั้นก็อาจจะส่องประกายน้อยลงเรื่อย ๆ 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้รับความร่วมมือจาก พอล คอลลาร์ด (Paul Collard) ผู้ก่อตั้งองค์กร Creativity,Culture and Education (CCE) ที่มุ่งพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนทั้งในประเทศอังกฤษ และประเทศอื่นทั่วโลก เข้ามาช่วยวางแผนวิธีการฝึกความคิดสร้างสรรค์ในห้องเรียน ซึ่งคำถามสำคัญที่จะมาเจาะลึกไปด้วยกันคือ CCE หยิบความคิดสร้างสรรค์มาแก้โจทย์ในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กในรูปแบบใดบ้าง ทำไมเขาถึงเห็น “โอกาส” ในประเทศไทย รวมไปถึงเปลี่ยนวิกฤติ COVID-19 เป็นโอกาสทางการศึกษาได้อย่างไร

จุดเริ่มต้นการทำงานในประเทศไทย

พอลร่วมงานกับรัฐบาลอังกฤษภายใต้โครงการ Creative Partnerships ซึ่งเป็นหนึ่งใน ‘อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์’ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งไม่ใช่แค่ในอังกฤษเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่เขาสนใจร่วมงานด้วย เพราะมี กสศ. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีแนวคิดเดียวกับ CCE คือการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กที่มีฐานะยากจนให้ดีขึ้น 

ข้อมูลทางสถิติชี้ชัดว่าเด็กยากจนมีผลการเรียนต่ำ และงานวิจัยของ CCE พบว่าพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กยากจนก็ไม่ดีด้วยเช่นกัน CCE จึงมุ่งปรับพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กให้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ ไม่ว่าเด็กในห้องเรียนจะมีฐานะแบบใดก็ตาม

นอกจากความยากจน ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ‘ระบบการศึกษา’ ที่ต้องเหมาะกับชีวิตและสภาพแวดล้อมของเด็ก หลักสูตรการศึกษาควรจัดลำดับความสำคัญของวิชาเรียน ให้เหมาะกับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ควรถอดแบบการศึกษามาจากประเทศอื่น ๆ เพียงเพราะเห็นว่าเป็นระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จที่สุด เพราะระบบการศึกษาของประเทศอื่น ก็ประสบความสำเร็จเฉพาะกับประเทศนั้น ๆ ไม่ได้หมายความว่าจะดีสำหรับทุกประเทศ

หัวใจสำคัญในการทำงานของ CCE

ทำอย่างไรให้เกิด “ระบบการศึกษา” ที่เหมาะกับเด็ก?

CCE ให้ความสำคัญกับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี (great learning) ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เหมาะกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น อยู่บนฐานของความจริง ไม่ใช่หลักการที่จับต้องไม่ได้ (abstract concept) นักเรียนต้องเกิดอารมณ์ร่วมในการเรียนรู้ การสร้างอารมณ์ร่วมนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อครูเลิกใช้วิธีการสอนแบบบรรยายหน้าชั้นเรียน แล้วปรับกระบวนการสอนใหม่ตามแบบการเรียนรู้ที่ดี ผลที่ได้คือเด็ก ๆ มีส่วนร่วมในห้องเรียนมากขึ้น ขาดเรียนน้อยลง พัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้ดีขึ้น นั่นเป็นเพราะเด็กสนุกกับการเรียนมากขึ้น อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเด็กนักเรียนกับครูก็ดีขึ้นด้วย 

จากประสบการณ์การสังเกตห้องเรียน และการทำงานด้านการศึกษาเป็นเวลานาน พอลพบว่าการที่เด็กจะมีความคิดสร้างสรรค์ได้นั้น พวกเขาต้องมี 5 ลักษณะนิสัยพื้นฐานคือ อยากรู้อยากเห็น (inquisitive) มีความอดทน (persistent) มีจินตนาการ (imaginative) มีวินัย (disciplined) และการมีส่วนร่วม (collaborative) ซึ่งลักษณะนิสัยเหล่านี้จะเกิดขึ้นผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีนั่นเอง

บทสนทนาที่มีคุณภาพ

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เด็กพัฒนา 5 ลักษณะนิสัยพื้นฐานเพื่อความสร้างสรรค์ได้ คือบทสนทนาที่มีคุณภาพ โดยใช้ภาษาทางอ้อม การวิจัยชี้ว่า ภาษาที่ผู้ใหญ่ใช้สื่อสารกับเด็ก แบ่งออกเป็น ภาษาทางตรง (administrative language) กับภาษาทางอ้อม (discursive language) ภาษาทางอ้อมจะมีความซับซ้อนและคลุมเครือมากกว่า กระตุ้นให้เด็กเกิดการค้นหา เช่น เมื่อเห็นแสงแดดที่ตกกระทบผ่านใบไม้ลงบนพื้นดิน ผู้ปกครองหลายคนถามเด็กว่าเด็กรู้สึกอย่างไร สีแบบนี้เรียกว่าสีอะไร แต่ปัญหาคือผู้ปกครองที่มีฐานะยากจนเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์มักไม่มีเวลาที่จะสื่อสารเพื่อกระตุ้นความคิดของเด็ก และนั่นคือการลดคุณภาพการสื่อสารผ่านภาษา แล้วยกส่วนนี้ให้กลายเป็นหน้าที่ของครู ครูจะต้องสร้างประสบการณ์การคิด การค้นหาผ่านภาษาซับซ้อน เพื่อให้เด็กสามารถสืบค้นคำตอบด้วยตนเองได้ ไม่ใช่การบอกข้อมูลกับเด็กทั้งหมดเพื่อให้เด็กจดจำ เพราะนั่นไม่ได้ช่วยพัฒนาความคิดของเด็ก

ความหลากหลายของการเรียนรู้ และวินัยในห้องเรียน

CCE ของพอลตั้งคำถามกับระบบการศึกษาส่วนใหญ่ที่มีแนวคิดแคบ (narrow concept) คือให้ความรู้เยอะ ๆ แก่เด็ก แล้วออกข้อสอบเพื่อวัดว่าสามารถจำสิ่งที่ครูสอนได้หรือไม่ จริง ๆ แล้วสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ เด็กควรได้เรียนรู้หลากหลายรูปแบบ ต้องการการเพิ่มความท้าทายในทุก ๆ วัน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. เคยกล่าวไว้ว่า ประเทศไทยเองก็ติดอยู่กับปัญหาแนวคิดแคบแบบนี้ จริง ๆ เราต้องรู้ก่อนว่ายังมีรูปแบบการศึกษาอีกเป็นร้อย ๆ ยิ่งครูใช้รูปแบบการสอนได้หลากหลายเท่าไร การสอนก็จะดีขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนที่ดีมีหลายรูปแบบมาก แต่ครูส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้รูปแบบเหล่านั้นอย่างเพียงพอ งานของเราจึงต้องพยายามทำให้ครูได้รับโอกาสเหล่านี้มากขึ้น

หลักการร่วมของความหลากหลายของห้องเรียนคือ “การมีวินัยในตัวเอง” สิ่งที่ครูจำเป็นต้องทำคือ การพัฒนาระเบียบวินัยในตัวเองให้เด็ก เด็กแต่ละคนต้องการเรียนในสิ่งที่อยากเรียน บางคนเก่ง บางคนอาจจะไม่ค่อยเก่ง ในคาบเรียนเดียวกันพวกเขาก็อาจได้รับความรู้ที่แตกต่างกันไป พวกเขาจึงต้องมีวินัยในตัวเองเพื่อที่จะซึมซับและเข้าใจถึงเนื้อหาในห้องเรียนที่พวกเขาต้องการ ซึ่งนั่นถือเป็นทักษะที่เด็กจำเป็นต้องพัฒนา การมีวินัยในตัวเองจะทำให้เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ในสิ่งที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างมีความสุข ซึ่ง “ความสุข” เองก็ถือเป็นจุดแข็งของการศึกษาไทยมาเนิ่นนาน 

การใช้ CCE เพื่อรับมือสถานการณ์ COVID-19

การระบาดของ COVID-19 ทำให้หลาย ๆ โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนเป็นเวลานาน ครูส่วนใหญ่ต้องสอนออนไลน์ ซึ่งการสอนแบบนี้มันเลวร้ายมาก ครูเพียงแค่โพสต์ชีทเนื้อหาและให้เด็กๆ ดาวน์โหลดมาอ่าน แล้วทำใบงานเท่านั้น

สิ่งที่ CCE ทำส่วนหนึ่งคือ “การทำงานร่วมกับครู” แนะนำวิธีการสอนออนไลน์ โดยเน้นความสัมพันธ์ของเด็กกับครู เพราะนี่คือกุญแจสำคัญของความสำเร็จในการเรียนรู้ แต่คำถามคือ ครูจะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับเด็กไว้ได้อย่างไร 

CCE ยกตัวอย่าง “ประเทศนอร์เวย์” การสอนออนไลน์ของนอร์เวย์มีประสิทธิภาพมาก ครูใหญ่กล่าวว่า ครูทุกคนต้องมีโทรศัพท์สำหรับสอนออนไลน์แบบตัวต่อตัวเป็นเวลา 10 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในการสอนแต่ละครั้งครูควรถามเด็ก ๆ ว่าพวกเขาทำอะไรอยู่ และชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง

การสอนแบบนี้จะทำให้เด็ก ๆ รู้ว่าความสัมพันธ์กับครู กับโรงเรียนยังคงเหมือนเดิม และยังรู้สึกใกล้ชิดกับโรงเรียนอยู่ เด็กนักเรียนทุกคนทำงานทุกชิ้นตามที่ครูสั่งไป เพราะความสัมพันธ์ยังเหนียวแน่น พื้นที่การเรียนรู้ออนไลน์จึงต้องผ่านการคิดอย่างรอบคอบ เพื่อรวมองค์ประกอบทั้งหมดที่จะทำให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จเข้าไว้ด้วยกัน

การระบาดครั้งใหญ่นี้ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเป็นอยู่ของนักเรียน เมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดปกติ เด็ก ๆ กลับไปเรียน แต่บางคนอาจไม่ได้มีสภาพจิตใจที่ดี พวกเขาไม่ใช่เด็กคนเดิมที่ผ่านการล็อคดาวน์มา แต่พวกเขาเป็นเด็กที่แตกต่างออกไปเพราะมีความสุขน้อยลงและทำลายพลังขีดความสามารถของเด็ก ดังนั้นครูต้องสร้างพื้นที่ให้เด็ก ๆ มีพลังมากขึ้น อนุญาตให้พวกเขาออกแบบการเรียนด้วยตัวเอง กลไกเหล่านี้มีไว้เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าสามารถควบคุมชีวิตตัวเองและจัดการกับความเป็นอยู่ของตัวเองได้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้อีกครั้ง

ภาพของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในห้องเรียนไทยหลังจากนี้ ทั้งพอลและหน่วยงานการศึกษาของไทยเห็นว่าน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กระบวนการแบบนี้จะทำให้นักเรียนสนุกขึ้น คิดเป็น ทำเป็นมากขึ้น ส่วนการวัดผลการศึกษาของเด็กก็ควรเปลี่ยนรูปแบบระเบียบวิธีตามมา ซึ่งเราควรให้น้ำหนักกับเรื่องการพัฒนาความสามารถทางการเรียนรู้ของเด็กมากกว่า แล้วค่อยหาข้อสรุปกันว่าจะวัดมันด้วยวิธีการอย่างไร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะทำให้นักเรียนมีพื้นฐานการเรียนรู้ที่แข็งแกร่ง เมื่อเจอส่งที่ท้าทายขึ้นในอนาคต เขาก็จะสามารถคิด สร้างสรรค์ ลงมือทำ ได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

 967 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า