“CAR model” กับการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มคุณภาพการสอนในโรงเรียน

เพราะโรงเรียนที่ดี ต้องพัฒนานักเรียนและบุคลากรอยู่เสมอ เพื่อความสุขความสำเร็จในโรงเรียน

Share on

 2,054 

เพราะโรงเรียนที่ดี ต้องพัฒนานักเรียนและบุคลากรอยู่เสมอ
เพื่อความสุขความสำเร็จในโรงเรียน
“โรงเรียนต้องมีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ทั้งการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ และความปลอดภัยของเด็ก ฉะนั้น การเรียนการสอนเป็นหัวใจ แต่หัวใจจะเต้นดี ทำงานได้ดีหรือไม่ อยู่ที่การบริหารจัดการโรงเรียน” –

ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการ TSQP

อะไรสำคัญกว่ากัน ระหว่าง “การบริหารจัดการโรงเรียน” กับ “วิธีการสอนนักเรียน”?

เราอาจเห็นโรงเรียนไทยจำนวนมากพุ่งเป้าไปที่การบริหารจัดการโรงเรียนให้มีงบประมาณเพียงพอ มีจำนวนบุคลากรสอดคล้องกับจำนวนนักเรียน มีโครงสร้างการทำงานที่ดี เพื่อสะท้อนคุณภาพของโรงเรียน แม้ว่าโรงเรียนจะตั้งใจทำงานส่วนบริหารจัดการ เพื่อให้ผลดีสุดท้ายเกิดขึ้นกับนักเรียน แต่ถ้าโรงเรียนไม่ลงมาทำงานอย่างจริงจังในการปรับเปลี่ยนวิธีการสอนไปด้วย สุดท้ายนักเรียนก็จะหลุดออกจากห้องเรียน โดยเฉพาะนักเรียนในพื้นที่จังหวัดห่างไกล 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงจัดตั้ง “โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teachers & School Quality Program : TSQP)” หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง” สำหรับโรงเรียนทุกพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 2 ของโครงการแล้ว ปีนี้โครงการขยายขอบเขตมาทำงานในจังหวัดสุพรรณบุรี ละได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ในการทำหน้าที่พี่เลี้ยง สร้างรูปแบบกระบวนการเรียนรู้ และลงพื้นที่ติดตามกระบวนการของโรงเรียนกลุ่มตัวอย่าง 6 แห่ง ในจังหวัดสุพรรณบุรี

ถอดรหัส CAR กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนา

ในช่วงแรกของโครงการ อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีได้นำรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ แบบ “CAR model” ไปถ่ายทอดให้แก่โรงเรียนในโครงการ TSQP  และมีอาจารย์จากมรภ.กาญฯ ที่คอยเป็น “โค้ช” หรือพี่เลี้ยงเสริมหนุนให้ผู้บริหารและครูในการใช้ CAR model กับนักเรียนของตนเอง

 ผศ.ดร.ภูชิต ภูชำนิ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี กล่าวถึง CAR model ว่า โมเดลนี้มีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ 1) Cooperative Learning คือ การจัดการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนสร้างการเรียนรู้ด้วยการทำงานแบบกลุ่ม 2) Active Learning คือ การจัดการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนสร้างการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำงาน และ 3) Reflective Learning คือ การจัดการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนสร้างการเรียนรู้ด้วยการสะท้อนความคิดของตนเอง ครูจะต้องเตรียมการสอนแบบละเอียดขึ้น จัดทำแผนการสอนในรูปแบบห้องเรียนอัจฉริยะ (Smart Classroom) 6 ขั้นตอน ได้แก่ การสร้างข้อตกลงร่วม การกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ การทำกิจกรรม CAR การนำเสนอสิ่งที่ได้เรียนรู้ การประเมินพฤติกรรม และติดตามพฤติกรรมหลังเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียนได้คิด ลงมือทำ สามารถนำเสนอได้ รู้จักทบทวน และทำบันทึกสะท้อนความคิดของตนเอง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่ได้พัฒนาแค่นักเรียน แต่ยังพัฒนาตัวผู้สอนในทุก ๆ คาบ และทำให้การสอนเป็นระบบมากขึ้นกว่าเดิม

ทิศทางของ CAR กับการศึกษาไทย

โครงการ TSQP และมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้มาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อให้พร้อมนำโมเดลนี้ไปใช้กับโรงเรียนในแต่ละท้องถิ่นอย่างเร็วที่สุด แต่ถึงแม้ทางฝั่งโครงการจะพร้อมเพียงใด การพัฒนารูปแบบการสอนก็คงเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษา

ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ กล่าวว่า เขตพื้นที่การศึกษามีหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาของโรงเรียน และถ้าเขตพื้นที่การศึกษาให้ใจกับโครงการ TSQP จะทำให้โครงการเข้ามาสนับสนุนครู สนับสนุนการทำงานทั้งระบบของโรงเรียน ให้มีความสามารถที่จะพัฒนาโรงเรียนของตนเองได้อย่างมีคุณภาพและมีความต่อเนื่องทั้งในมิติของปัญญาและมิติของการช่วยเหลือ ทางโครงการจึงมาติดตามดูว่าโรงเรียนทำให้เด็กนักเรียนมีสุขภาพกาย สุขภาพใจดีอย่างไร และเรียนหนังสือประสบความสำเร็จ ตามความสามารถของแต่ละคนและมีความเก่งในตัวของเขาอย่างไร โดยไม่แข่งขันกัน ส่งเสริมให้เด็กมีความพยายามอย่างเต็มตามศักยภาพของเขาเอง 

กระบวนการทำงานของโครงการฯ จึงทำหน้าที่มาช่วยผู้บริหาร และครู เพื่อการพัฒนาทั้งโรงเรียน โดยจะไม่ตัดสินว่าทำดีหรือไม่ดี หรือที่ผ่านมาโรงเรียนมีข้อผิดพลาดอะไร แต่จะคอยสังเกตว่าโรงเรียนมีวิธีทำอย่างไร ได้รับการสนับสนุนจากชุมชน พ่อ แม่ ผู้ปกครองอย่างไร เพื่อการพัฒนาเด็กทุกคนให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข 

ผศ.ดร.เลขา กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นนี้ว่า

“คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ทำงานบนฐานทุนที่น่าสนใจคือ การเชื่อมโยงโครงการกองทุนการศึกษา บูรณาการกับโครงการ TSQP เนื่องจากมีเป้าหมายในการพัฒนาตนเองมาบูรณาการผสมผสานการดำเนินงานไปด้วยกัน ซึ่งเป็นรูปแบบที่น่าสนใจมาก โดยเป้าหมายหลักของโครงการ TSQP คือ โรงเรียนพัฒนาตนเอง คิดเอง ตัดสินใจเอง ลงมือทำเอง ตามบริบทความเหมาะสมของโรงเรียน และมีโค้ชจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน เมื่อจบโครงการแล้วการพัฒนาของโรงเรียนยังต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องต่อไป ถือเป็นมาตรการสำคัญของโครงการ มาตรการที่สอง โรงเรียนต้องมีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ทั้งการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ และความปลอดภัยของเด็ก ฉะนั้น การเรียนการสอนเป็นหัวใจ แต่หัวใจจะเต้นดี ทำงานได้ดีหรือไม่ อยู่ที่การบริหารจัดการโรงเรียน ซึ่งการเรียนการสอนจะมีครูเป็นเจ้าภาพหลัก ผู้อำนวยการเป็นผู้สนับสนุน แต่การบริหารจัดการทั้งโรงเรียน เพื่อให้เด็กทุกคนใน โรงเรียนมีโอกาสเท่าเทียมกัน บทบาทสำคัญคือการบริหารจัดการของผู้อำนวยการ มีการพัฒนาด้วยกลวิธีอะไร     ที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นการพัฒนาทั้งโรงเรียน” 

โมเดลใช้ได้จริง พัฒนาต่อได้ระยะยาว

โรงเรียนกลุ่มตัวอย่างทั้ง 6 แห่งที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีเข้าไปดำเนินการร่วมกับ TSQP ประกอบด้วย  โรงเรียนวัดคอกช้าง โรงเรียนบ้านละว้าวังควาย โรงเรียนบ้านพุน้ำร้อน โรงเรียนบ้านกล้วย โรงเรียนบ้านวังยาว และโรงเรียนบ้านทุ่งมะกอก ทั้งหมดเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทุกโรงเรียนมุ่งหวังจะพัฒนาตนเองทั้งระบบ (Whole School Approach) ให้นักเรียนเกิดผลการเรียนรู้ที่ดี บุคลากรทำงานในระบบการจัดการที่ดี เป้าหมายใหญ่ที่สุดคือ ทำให้ทุกคนในโรงเรียนมีความสุข

นายสมชาย ลิ้มประจันทร์ รองผู้อำนวยการ สพป.สุพรรณบุรี เขต 3 กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของ สพป.สุพรรณบุรี เขต 3 โรงเรียนในสังกัดที่เข้าร่วมโครงการ TSQP กับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี  ล้วนเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ ทั้งด้านการบริหารจัดการโรงเรียน และด้านการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะการเรียนรู้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น มีกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ถือเป็นโรงเรียนชั้นนำของเขต และเป็นโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ดังนั้น การที่โรงเรียนในสังกัดทั้ง 6 แห่ง เข้าร่วมโครงการของ กสศ. จึงเป็นความหวังของ สพป.สุพรรณบุรี เขต 3 คณะครู และนักเรียน ว่าจะสามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ TSQP นักเรียน คุณครู และทีมงานจะประสบความสำเร็จร่วมกัน 

ในช่วงที่ผ่านมา โรงเรียนกลุ่มตัวอย่างทั้ง 6 แห่งเริ่มปรับใช้ CAR model แล้ว ลักษณะการดำเนินงานใกล้เคียงกันคือ ทุกโรงเรียนจะเพิ่มโอกาสให้นักเรียนได้ร่วมกันทำงานเป็นกลุ่มมากขึ้น ให้นักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ร่วมกันหาความรู้ ตามแบบ Cooperative Learning เมื่อนักเรียนมีองค์ความรู้ที่ได้จากการค้นหาด้วยตนเองและแลกเปลี่ยนกับเพื่อนแล้ว ครูก็จะให้นักเรียนสร้างผลงานของตนเอง ตามแบบ Active Learning และ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ประเมินตนเอง ว่าจากกระบวนการที่ผ่านมาได้รับความรู้มากน้อยแค่ไหน ผลงานที่ตนเองสร้างขึ้นมาเป็นที่น่าพึงพอใจหรือไม่ ตามแบบ Reflective Learning

ส่วนผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพึงพอใจ นักเรียนมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ครูและทีมงานมีขวัญกำลังใจเพิ่มขึ้น อยากจะพัฒนาศักยภาพของทั้งตัวเองและนักเรียนต่อไป หลังจากนี้ทาง สพป.สุพรรณบุรี เขต 3 พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง และนายสมชายได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จะขอเป็นกำลังใจให้ผู้บริหาร ครู นักเรียน ในโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างทุกคน รวมถึงโค้ชจากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ที่มาเป็นพี่เลี้ยงให้แก่โรงเรียนด้วยเหตุผลสำคัญที่ทางโครงการ และพื้นที่จังหวัด เลือกโรงเรียนที่มีคุณภาพดีเพื่อเข้าร่วมโครงการ TSQP เป็นลำดับต้น ๆ นั้น เป็นเพราะทางโครงการเห็นว่า โรงเรียนคุณภาพดีที่มีความพร้อม จะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับมาให้กับโรงเรียนอื่น ๆ และเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่น ๆ เข้ามาเรียนรู้จากห้องเรียนจริงได้ โดยเฉพาะการใช้ CAR model ที่ครูต้องอาศัยการฝึกฝน อาศัยประสบการณ์ในการเตรียมการสอน  และต้องมีกลวิธีในการทำความรู้จักนักเรียนของตนเอง ผ่านการทำงานและการสะท้อนตนเองของเด็ก โครงการ TSQP และมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีมั่นใจว่าโรงเรียนตัวอย่างทั้ง 6 แห่งนี้ จะช่วยขยายผลความสำเร็จไปสู่โรงเรียนอื่น ๆ ได้อย่างแน่นอน

 2,055 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า