เทคนิค “ปรับโรงเรียน-เปลี่ยนครู-ปฏิรูปการเรียนรู้” รับมือยุคออนไลน์

มุมมองของนักการศึกษาต่อปัญหาที่เกิดจาก COVID-19 และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จากงานเสวนา กสศ. ร่วมกับ The101

Share on

 703 

เทคนิค “ปรับโรงเรียน-เปลี่ยนครู-ปฏิรูปการเรียนรู้” รับมือยุคออนไลน์
“การเรียนออนไลน์ไม่ได้จะมาแทนออฟไลน์ แต่จะเป็นการสอนที่ไปด้วยกัน การเรียนรู้เป็นเรื่องของทุกคน จึงต้องเรียนได้ทุกที่ ทุกโอกาส”

อ.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์  

จะทำอย่างไรให้นักเรียนเรียนออนไลน์อย่างมีความสุข และได้ผล เหมือนอยู่ในห้องเรียนจริง? 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ  The 101 ชวนทุกคนมาฟังคำแนะนำจากนักการศึกษา อาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดการเรียนการสอนในช่วงที่ครูและนักเรียนต้องอยู่ห่างไกลกัน

ช่วงต้นปี 2564 เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤต COVID-19 เป็นรอบที่ 2 โรงเรียนต้องกลับมาจัดการสอนแบบออนไลน์อีกครั้ง ซึ่งจากปัญหาที่เจอในช่วงวิกฤตรอบแรก หลายโรงเรียนยังขาดทรัพยากร และความพร้อมในการสอนออนไลน์ จึงตัดสินใจทิ้งโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กไป ด้วยเหตุผลนี้ กสศ. และ  The 101 จึงร่วมกันจัดงานเสวนาออนไลน์ผ่าน Facebook ในหัวข้อ “ปรับโรงเรียน-เปลี่ยนครู-ปฏิรูปการเรียนรู้” โดยมีนักการศึกษา อาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางรับมือผลกระทบจากวิกฤต

แก้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” และ “ลงมือทำ” มากกว่าการบรรยาย

อ.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ได้เปิดประเด็นปัญหาการศึกษาของไทยในภาพกว้างขึ้นมา 3 ประเด็น ปัญหาแรกคือ

1. ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เดิมคนทั่วไปไม่ค่อยรู้ปัญหานี้ จนเกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้เราเห็นความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น เช่น การเข้าถึงเทคโนโลยี อุปกรณ์ออนไลน์ ไปจนถึงอนาคตที่ปัญหาเศรษฐกิจอาจทำให้หลายคนต้องหลุดจากระบบการศึกษา

2. การขาดปฏิสัมพันธ์ผู้เรียนผู้สอน เนื่องจากครูและนักเรียนไม่ได้พบปะกัน

3. การออกแบบการเรียนให้เหมาะสมกับผู้เรียน ซึ่งปัจจุบันยังไม่เป็นเช่นนั้น

อ.เดชรัตกล่าวว่า ปัจจุบันการเรียนออนไลน์ที่ถูกพูดถึง ยังเป็นแง่มุมของการยืนสอนหน้าชั้นเหมือนในห้องเรียนปกติ แต่จริง ๆ แล้วยังมีรูปแบบอื่นให้ครูเลือกใช้อีกมาก ทั้งการให้ดูสารคดีธรรมชาติ การสร้างประสบการณ์ผ่านเกมออนไลน์ โพลออนไลน์ เราจะทำยังไงให้เด็กสนใจและดูแบบเรียนที่ไม่ใช่แค่การสอนแบบหน้าห้อง คำตอบคือควรมี “ปฏิสัมพันธ์” ระหว่างครูนักเรียนร่วมด้วย และการเรียนออนไลน์ไม่ได้จะมาแทนออฟไลน์ แต่จะเป็นการสอนที่ไปด้วยกัน การเรียนรู้เป็นเรื่องของทุกคน จึงต้องเรียนได้ทุกที่ ทุกโอกาส

แบ่งปันประสบการณ์จริงของห้องเรียนออนไลน์ ครูรับมืออย่างไร

งานเสวนาครั้งนี้มีคุณครูให้ความสนใจแบ่งปันประสบการณ์ของตนเองหลายท่าน เช่น 

อ.ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสังคมศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ได้กล่าวถึงแผนรับมือของโรงเรียนกำเนิดวิทย์คือ การลดจำนวนคนที่จะมาเรียนให้น้อยที่สุด เพื่อจำกัดและลดความเสี่ยงการติดเชื้อ และพยายามทำให้การเรียนไปอยู่ในออนไลน์ ซึ่งจะเริ่มในสัปดาห์ถัดไป ทางโรงเรียนได้เตรียมแผนการรับมือไว้หลายแผน เพื่อให้ครูและนักเรียนสามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างไม่มีสะดุด แต่โจทย์ที่ยากที่สุดคือ ครูจะทำตามแผนได้มากน้อยแค่ไหน 

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราต้องกลับมาทบทวนว่าการเรียนรู้คืออะไร ถ้าเราตอบคำถามนี้ไม่ได้ หรือตอบได้ไม่ดีพอจะรับมือสถานการณ์ไม่ได้ เช่นหากบอกว่า การเรียนรู้คือการเรียนในห้องเรียน ก็จะไปไหนไม่ได้ แต่ถ้าคำตอบเปลี่ยนเป็นสิ่งอื่น ๆ หลายอย่างก็จะนำไปสู่การปรับรูปแบบได้มากมาย  นอกจากนี้ อุปสรรคใหญ่ของการปรับตัว เราต้องคิดว่าจำเป็นไหมที่ต้องมีครูอยู่ในการเรียนรู้ของนักเรียน   และอะไรที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องมีครู หรือครูจะอยู่ในบทบาทไหน”

เวลาพูดว่า “โลกหลัง COVID-19” เราต้องรู้ก่อนว่าคือเมื่อไหร่ หากเป็นอีก 2 ปีข้างหน้า ระหว่างนี้จะจัดการเรียนการสอนอย่างไร มีแผนแบบไหนบ้าง เราไม่สามารถบอกได้ว่าโมเดลไหนดีที่สุด ไม่มีใครรู้จักนักเรียนได้ดีที่สุดเท่ากับอาจารย์ผู้สอน แต่ก็ต้องคุยกับนักเรียนและผู้ปกครองซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งการจัดทำรูปแบบการสอนออนไลน์ ไม่เคยมีใครลองของใหม่ขนาดนี้ถ้าพูดว่าทำไม่ได้ก็จบเท่านั้นแต่ถ้าบอกว่าทำได้ก็จะมีโอกาสที่รออยู่ ซึ่งในภาพใหญ่ไม่ใช่แค่ครูที่จะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ แต่ต้องมองไปถึงผู้กำหนดนโยบายที่ต้องมีความยืดหยุ่น ไปจนถึงมหาวิทยาลัยที่สอนและผลิตครู ที่จะต้องปรับตัวก่อนคนอื่น”

ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย อีกหนึ่งบุคลากรทางการศึกษาที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ กล่าวว่า โรงเรียนประสบปัญหาเรื่องความพร้อมในการสอนออนไลน์ เด็กเรียนออนไลน์ได้แค่บางส่วน เรียนออนแอร์ หรือเรียนผ่านทีวีได้บางส่วน บางส่วนต้องเรียนออฟไลน์เพราะไม่มีอุปกรณ์ สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้บริหารและครูในโรงเรียนได้พูดคุยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพที่ดีที่สุด  ทำอย่างไรให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายและปฏิบัติจริงให้ได้การเรียนรู้ดีที่สุด  สำหรับกลุ่ม ม.ปลาย ส่วนใหญ่เรียนออนไลน์ได้ อีกกลุ่มเข้าไม่ถึงออนไลน์ก็ต้องเรียนจาก DLTV ส่วนอีกด้านยังมีช่องทางการเรียนรู้ที่เรียนจากชุมชน เรียนจากปราชญ์ชาวบ้าน ให้เขาไปหาความรู้ด้วยตัวเอง

สำหรับการเรียนรู้แบบให้เด็กดูทีวีโดยไม่สามารถซักถามหรือมีใครอธิบาย ตรงนี้เป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะในพื้นที่บางบ้านมีข้อจำกัด ผู้ปกครองไม่มีเวลา ไม่มีความสามารถในการสอน ซึ่งผอ.ศุภโชคเห็นว่าตรงนี้เป็นโอกาสทองที่จะคิดค้นนวัตกรรมมาให้เด็กได้ใช้ ครูจะเลือกเนื้อหาไหน วิธีไหน ในการสอนออนไลน์ให้เกิดประสิทธิภาพ ในอนาคตถ้ามีการปลดล็อก หรือผ่อนคลายให้มาเรียนในโรงเรียนได้ เราก็จะได้เห็นครูปล่อยของ สามารถสร้างรูปแบบการเรียนการสอนได้มากขึ้น และมีอิสระที่จะคิดด้วยตนเอง

นวัตกรรมการเรียนรู้ 

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ กสศ. คือมุ่งสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ มีความเหลื่อมล้ำหลายมิติ สำหรับสถานการณ์ COVID-19 นี้ ทำให้กสศ.เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น กสศ. ทำงานหนักมากขึ้นในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือนำร่องโครงการต่าง ๆ แต่ละโครงการที่ดำเนินงานไปแล้วต้องแก้ไขปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง เช่น โครงการ TSQP 290 โรงเรียนต้องปรับตัวอย่างไร และยังมีโครงการการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ที่ต้องให้ความช่วยเหลือมากกว่าปกติจึงต้องมาคิดว่าจะพัฒนาอย่างไรในสถานการณ์นี้

“จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศบรูไน  เขามีระบบโฮมเลิร์นนิ่งแพ็คเกจให้ผู้ปกครองกับเด็กร่วมกันทำงานที่บ้าน รวมทั้งมีการเตรียมพร้อมจัดสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับการเปิดเทอม ทั้งการจัดที่นั่งนักเรียน การก้าวเข้าโรงเรียน แบ่งครูออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มนึงทำงาน 2 สัปดาห์ที่โรงเรียน และหยุด 2 สัปดาห์เพื่อไปลงพื้นออนไซต์ ช่วยเหลือให้คำปรึกษาเด็กในพื้นที่ ซึ่งสุดท้าย กสศ.ก็ต้องมาวิเคราะห์ย้อนกลับไปสู่เบื้องต้นคือ ไม่ต้องวิ่งตามเทคโนโลยี แต่ต้องเน้นไปที่การเรียนรู้”

ดร.อุดมกล่าว

เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Lukkid และ ผู้แปลหนังสือ “designing your life” กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการศึกษาต้องเริ่มจากการลงไปดูบริบทของปัญหาที่แตกต่างกันว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งเราอาจจะติดกับรูปแบบเดิมว่าต้องเป็นการสอนในห้อง ดังนั้นต้องเริ่มตั้งคำถามใหม่เพื่อที่จะช่วยช่วยให้ได้ลองอะไรใหม่ ๆ และไม่มีใครรู้ว่าผลที่ได้จะเป็นอย่างไร ต้องลองลงมือทำอย่างเดียว  ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมกันลองและเรียนรู้ แต่ไม่ใช่ลองแบบมั่ว ๆ ส่วนแนวคิดเรื่องการใช้เทคโนโลยี ค่อนข้างคล้ายกับ ดร.อุดม คือ เราไม่ต้องวิ่งตามเทคโนโลยีไปทุกก้าว

“การใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยการเรียนรู้ช่วยนั้น แต่บางครั้งเทคโนโลยีก็ไม่ได้สำคัญไปทุกสถานการณ์ บางทีระบบ manual ก็อาจตอบโจทย์ได้ดีกว่า  เราไม่ได้มีสูตรเดียวที่ตอบโจทย์ทุกในสถานการณ์ โอกาสที่เราได้ลองจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเราควรมีการสร้าง community เพื่อให้ครูได้คุยกันว่าเจอปัญหาอะไรแก้ไขอย่างไร ให้แต่ละคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน”

งานเสวนาครั้งนี้ได้เพิ่มมุมมองใหม่ ๆ ให้กับบุคลากรการศึกษาค่อนข้างมาก ทำให้ครูหลายโรงเรียนสามารถตกผลึกได้ว่าควรจะเริ่มต้นแก้ปัญหา หรือพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนของตนเองอย่างไร ซึ่งกสศ. ไม่ได้มีสูตรตายตัวให้ทุกโรงเรียนทำไปด้วยกัน แต่ครูจะต้องเลือกเครื่องมือและวิธีการปรับเปลี่ยนด้วยตนเอง  และที่สำคัญคือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานแบบในครั้งนี้ ควรจะจัดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปัญหาการศึกษาไม่ได้มีเพียงเท่านี้ และในอนาคตอาจเกิดเรื่องที่ไม่คาดฝัน ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมมือกันสร้างการศึกษาที่ดีและมีความสุขให้นักเรียนไทยต่อไป 

 704 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า