รร.บ้านสวนอุดมวิทยา กับกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ วิเคราะห์ สร้างสรรค์ ประเมินตนเองเป็น

เมื่อการเติมทักษะให้นักเรียน สำคัญกว่าความรู้ในตำรารูปแบบเดิม ๆ

Share on

 1,596 

ปรับเปลี่ยน และพัฒนาการศึกษา ด้วยเครื่องมือ OECD แบบโรงเรียนบ้านสวนอุดมวิทยา

“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเราจะเห็นเด็กกล้าแสดงออก เวลาเขาพรีเซนต์งานของตัวเอง เขาจะมีความกล้าขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เพราะเขาวางแผน แก้ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ มาด้วยตัวเอง สิ่งที่สำคัญคือเขาจะมองเห็นตัวเอง และยอมรับคนอื่นด้วย”

ครูน้อย สมพร วิชัยประเสริฐ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านสวนอุดมวิทยา จ.ชลบุรี

การศึกษายุคปัจจุบันจำเป็นต้อง ‘ปรับตัว’ นั่นคือการพัฒนาตามกระแสเทคโนโลยี กระแสอาชีพใหม่ ๆ และความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ของโลก ซึ่งการปรับตัวทางการศึกษาครั้งสำคัญของหลายประเทศ เน้นไปที่การเพิ่มทักษะที่จำเป็นให้เด็ก ได้แก่ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) ซึ่งสอดแทรกอยู่ในวิชาเรียนปกติ

คำถามสำคัญสำหรับประเทศไทยคือ การเรียนรูปแบบไหนที่จะสามารถขยายกรอบความคิดของเด็กได้ ไม่ใช่แค่ให้เด็กท่องจำ?

รูปแบบการเรียนรู้ที่นิยมใช้กันทั่วโลกคือ “การเรียนรู้แบบกระบวนการ” ที่เปลี่ยนผู้เรียนจากผู้รับข้อมูลโดยการฟัง จด และอ่าน ให้กลายเป็นผู้ลงมือทำ เกิด active learning ซึ่ง OECD นำกระบวนการนี้เข้ามาปรับใช้ในประเทศไทย กระบวนการนี้นอกจากจะทำให้คะแนนของเด็กสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ยังทำให้เด็กมีทักษะที่จำเป็นติดตัวไปตลอดชีวิตด้วย

การเรียนรู้แบบ OECD คืออะไร

การเรียนรู้แบบกระบวนการนี้ มีผู้ริเริ่มคือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายในโครงการมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก โดยเป็นการสร้างเครื่องมือเชิงกระบวนการ เพื่อการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางการศึกษา กระบวนการนี้เน้นให้เด็กใช้ชีวิตอย่างฉลาด เพิ่มความสามารถของนักเรียนเพื่อเลือกอาชีพในอนาคตได้มากขึ้น ทำให้เด็กสามารถฝันได้กว้างไกลขึ้น ไม่ถูกจำกัดอยู่แค่กรอบเดิม ๆ 

เครื่องมือเชิงกระบวนการของ OECD มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะการคิดวิเคราะห์ การสร้างสรรค์ผลงาน และการทำงานร่วมกับคน

ผ่านการทำงาน 6 ขั้นตอนคือ

  1. ประเมินทักษะการคิดก่อนเริ่มเรียน (Pre-test)
  2. สร้างแรงจูงใจในการเรียน เช่น พานักเรียนไปสำรวจชุมชนแวดล้อมก่อนเริ่มเรียน
  3. วางแผนการเรียนรู้ โดยครูจะรวมเนื้อหาจากหลักสูตร และสิ่งที่เด็กสนใจเข้าด้วยกัน
  4. จัดการเรียนรู้ ให้เด็กลงมือปฏิบัติ และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง รวมถึงนำเสนอชิ้นงานที่ตนเองทำเสร็จเรียบร้อย
  5. ให้นักเรียนประเมินตนเอง และครูให้ Feedback กลับไป
  6. ทบทวนกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตั้งคำถาม และ Reflect กันระหว่างครูและนักเรียน เพื่อพัฒนากระบวนการสอนถัดไป และเพื่อให้นักเรียนนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด

ปัจจุบันมีโรงเรียนในประเทศไทยหลายโรงเรียนนำกระบวนการนี้ไปใช้จริงแล้ว ซึ่งผลที่ออกมาคือประสิทธิภาพการเรียนการสอนดีขึ้น ครูเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนเป็นผู้จัดกระบวนการ และนักเรียนเห็นประโยชน์ของการศึกษามากขึ้น 

โรงเรียนบ้านสวนอุดมวิทยา: ตัวอย่างการจัดกระบวนการ OECD ที่ประสบความสำเร็จ

โรงเรียนบ้านสวนอุดมวิทยา จ.ชลบุรี เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ใช้กระบวนการจาก OECD เพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษา สิ่งที่เกิดขึ้นคือนักเรียนโรงเรียนนี้สามารถสอบวัดผลได้คะแนนสูง เรียกว่ามีพัฒนาการของระดับคะแนนสูงกว่านักเรียนหลายโรงเรียนทั่วโลกที่ใช้กระบวนการเดียวกัน เป็นที่สนใจของครูจากต่างประเทศ ครูหลายคนเดินทางมาเพื่อศึกษาวิธีการจัดการเรียนการเรียนสอนของโรงเรียนนี้โดยเฉพาะ ว่าทำอย่างไรให้ศักยภาพของนักเรียนก้าวกระโดดได้มากกว่าที่อื่น

“ครูน้อย” หรือครูสมพร วิชัยประเสริฐ ครูชำนาญการพิเศษ วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้น ม. 2 เป็นผู้นำกระบวนการนี้เข้ามาใช้ในห้องเรียนโรงเรียนบ้านสวนอุดมวิทยา ครูน้อยเริ่มอบรมกับทาง OECD ในช่วงปี 2559 เพื่อเรียนรู้เทคนิคการสอนแบบกระบวนการ แล้วจึงนำกระบวนการนี้เข้ามาถ่ายทอดในโรงเรียน โดยเริ่มใช้กระบวนการสอนแบบ OECD กับนักเรียนชั้น ม.2 ก่อน ในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เสริมเข้าไปจากอยู่ในหลักสูตรปกติ นักเรียนจะได้องค์ความรู้ผ่านการลงมือทำ ห้องเรียนนั้นจะมีทั้งความรู้และความสนุก 

ตัวอย่างของกระบวนการในห้องเรียนชั้น ม.2 เช่น เมื่อถึงบทเรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกก็จะไม่ใช่การเน้นท่องจำชนิดของเปลือกโลก ท่องจำปฏิกิริยา แต่จะให้รู้จักใช้ทักษะคิดวิเคราะห์ด้วยการให้เด็กทำภูเขาไฟจำลอง ให้เด็กเห็นภาพ เรียนรู้จากวัตถุเสมือนจริง

“เริ่มตั้งแต่เราจะให้เด็กวางแผนว่าจะทำภูเขาไฟยังไง วัสดุที่จะนำมาทำคืออะไร ให้เขาคิดเอง เราเป็นแค่คนให้คำแนะนำ เขาก็จะต้องไปแบ่งหน้าที่รับผิดชอบภายในกลุ่ม คนนี้เอากาวมา คนนี้เอากระดาษมา เราก็แค่เตรียมของให้เขา ดังนั้นผลงานที่ออกมาก็จะมีหลากหลายบางกลุ่มเป็นเปเปอร์มาร์เช่ บางกลุ่มเป็นดินน้ำมันเก่า ๆ ที่ไม่ใช้แล้ว แล้วเราก็เอา STEM (แนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) มาใช้อย่างปริมาตรของสารว่าจะใช้ขวดแบรนด์ หรือขวดยาคูลท์ ก็จะต้องต้องหาปริมาตรของขวดก่อนทดลองปฏิกิริยาทางเคมีที่บางกลุ่มก็ใช้ผงฟู อีโน น้ำอัดลม”

ครูน้อยกล่าว

ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ ก็จะมีวิธีการสอนที่เน้นปฏิบัติ เช่น ให้นักเรียนลงไปวัดความสูงของเสาธง และวัตถุอื่น ๆ เทียบกัน ให้เด็กได้ลองใช้เครื่องมือในการปฏิบัติจริง ๆ นักเรียนก็จะสนใจ และรู้สึกว่าตนเองนำสิ่งที่เรียนมาใช้ได้จริง

เทคโนโลยีกับกระบวนการ OECD

ก่อนที่นักเรียนจะลงมือทำกิจกรรมได้ นักเรียนต้องมีคุณสมบัตินึงคือความสงสัยและการค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเอง เพราะเมื่อนักเรียนเข้าใจสาเหตุของกระบวนการ นักเรียนจะรู้สึกสนุกขึ้น ครูน้อยจึงเพิ่มขั้นตอนของกระบวนการคือ “การค้นคว้า” ครูน้อยเล่าว่าสอนให้นักเรียนค้นหาข้อมูลใช้ไอแพดจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อย่างในกระบวนการสอนเรื่องภูเขาไฟ ก็ให้นักเรียนค้นหาว่าภูเขาไฟเกิดได้อย่างไร และจะทำการจำลองออกมาอย่างไร ซึ่งต้องให้เด็กหาข้อมูลและคิดออกมาว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ 

ครูน้อยกล่าวว่าการสอนรูปแบบนี้ครูจะต้องเหนื่อยกว่าการสอนปกติ ครูจะต้องสังเกตทุกกระบวนการที่เด็กทำ ตั้งแต่เริ่มค้นคว้าข้อมูล การสร้างผลงานของตนเอง ครูต้องกระตุ้นให้เด็กคิด ต้องคอยตัดสินหาข้อสรุปเวลาเด็กคิดต่างกัน และเกิดข้อถกเถียง ครูต้องให้เหตุผลที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนด้วย

การประเมินผลรูปแบบใหม่ ที่ให้ตนเองตัดสิน

สำหรับรูปแบบการให้คะแนนตามกระบวนการของ OECD จะใช้รูปแบบการประเมินตัวเอง และ ประเมินแบบกลุ่ม ทำให้เด็กได้รู้จักการประเมินตัวเองในระดับต่าง ๆ และรู้จักปรับปรุงตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนคือ เมื่อนักเรียนทำกิจกรรมเสร็จเรียบร้อยก็จะให้ประเมินตัวเองเป็นแบบกราฟใยแมงมุม ให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่ ตั้งแต่ 1-5 ในหัวข้อที่กำหนดคือ ความรับผิดชอบ ความสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ หรือให้นักเรียนเลือกกันเองว่าจะประเมินหัวข้อใดบ้าง

ส่วนเรื่องที่นักเรียนได้คะแนนการทดสอบเกินค่านัยยะสำคัญของ OECD นั้น ครูน้อยเห็นว่า ให้ข้อสรุปยากว่าเป็นเพราะอะไร แต่สาเหตุหนึ่งอาจมาจากทักษะคิดวิเคราะห์ที่สูงขึ้น ครูน้อยสอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่แค่สอนในตำราอย่างเดียว ให้รู้จักค้นคว้าด้วยตัวเอง ตอนที่นักเรียนทำการทดสอบก็จะเป็นเหมือนข้อสอบที่ไม่ใช่ข้อสอบ เช่น ถามว่าทำไมคนชราจึงเชื่องช้ากว่าวัยกลางคน ให้ตอบแบบบรรยาย คำตอบที่ได้จากนักเรียนจะเป็น มีอายุมาก มีโรคภัย ซึ่งจะมีบางประเด็นที่ครูน้อยไม่คิดว่านักเรียนจะนึกถึงด้วย อย่างเรื่องกระดูกคนแก่เสื่อมสภาพ นักเรียนมีมุมมองลึกขึ้น และมีความตั้งใจมากขึ้น

“เราภูมิใจกับเด็กของเราว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เราอยากให้เด็กของเราได้ในสิ่งที่ดี ซึ่งกิจกรรมนี้ครูต้องพร้อม ต้องเตรียมตัว เตรียมสื่อ ต้องเหนื่อยกว่าเดิม ต้องทั้งกระตุ้น หว่านล้อม ใช้คำพูดที่เหมาะสม วัยรุ่นเขาไม่ชอบใช้ภาษาที่รุนแรงเราก็ต้องมีเทคนิค จะพูดยังไงให้เขาร่วมมือ เราต้องพูดภาษาเขา ไม่ใช่ครูโบราณที่คอยสั่งให้เขาทำนู่นทำนี่ เราต้องฟังความคิดเขาให้มาก“

ครูน้อยกล่าว

ไม่ใช่แค่คะแนนสูงขึ้น แต่ได้ทักษะติดตัวไปตลอดชีวิต

สิ่งที่นักเรียนได้จากการจัดกระบวนการสอนแบบ OECD นอกจากนักเรียนจะมีผลคะแนนด้านวิชาการที่สูงขึ้น นักเรียนยังได้รับการปลูกฝังทักษะการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการริเริ่มสร้างผลงานด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูน้อยเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่สุด เพราะถ้านักเรียนมีทักษะเหล่านี้ติดตัว ก็จะสามารถเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ได้ดีขึ้น เวลารับข้อมูลมาจากแหล่งต่าง ๆ ก็จะใช้ความคิด คัดกรองสิ่งที่ได้รับ ก่อนจะตัดสินใจเชื่อและลงมือทำ

อีกทักษะหนึ่งที่นักเรียนได้รับ คือวิธีการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพราะการทำงานให้ประสบความสำเร็จไม่ได้อาศัยเพียงความรู้ แต่ต้องรู้จักวิธีการประสานงาน การแบ่งภาระหน้าที่กับผู้อื่นในกลุ่มเดียวกัน กระบวนการนี้จะสร้างความรับผิดชอบให้นักเรียนนำไปใช้เวลาที่ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นในอนาคต 

“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เราจะเห็นเด็กกล้าแสดงออก เวลาเขาพรีเซนต์งานของตัวเอง เขาจะมีความกล้าขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เพราะเขาวางแผน แก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ มาด้วยตัวเอง สิ่งที่สำคัญมองเห็นตัวเอง และยอมรับคนอื่นด้วย เพราะการวัดผลเป็นแบบ rubics (แนวทางการวัดผลตัวเองและผู้อื่น) ไม่ใช่การวัดแบบแนวข้อสอบ ซึ่งจะมีประเด็นอื่นทั้งเรื่องการทำงานเป็นกลุ่ม ความเสียสละ ความสามัคคี ซึ่งเด็กเราปกติไม่เก่งมาก เป็นเด็กปานกลางค่อนมาทางอ่อน การได้คะแนนตรงนี้ไปช่วยทำให้คะแนนเขาดีขึ้น” 

แม้ว่าตอนนี้ทางโรงเรียนจะยังไม่สามารถสอนแบบนี้ได้ทั้งหมดทุกเนื้อหา เพราะยังมีหลักสูตรปกติที่เป็นหลัก ตรงนี้เป็นกิจกรรมเสริมซึ่งดูว่าเนื้อหาไหนจะสอดแทรกตัวกระบวนการเข้าไปได้ แต่ในอนาคตก็จะนำกระบวนการตรงนี้ไปใช้กับเนื้อหาที่หลากหลายขึ้น ใช้กับรายวิชาอื่น ๆ และนักเรียนระดับชั้นอื่นด้วย 

ปัจจุบันกระบวนการ OECD ได้ถูกขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ทั่วภูมิภาค และทั่วประเทศ ซึ่งเราจะเห็นความสำเร็จของโครงการนี้อยู่เรื่อย ๆ ผ่านการนำเสนอผลงานของนักเรียน เช่น งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน การประกวดโครงงาน หรืองานอื่น ๆ ที่จัดแสดงผลงานของนักเรียน งานเหล่านี้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี โดยผลงานตรงนี้ล้วนมาจาก “กระบวนการ” ที่นักเรียนเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงาน และมีครูเป็นผู้แนะนำ ไม่ใช่ผู้สอนแบบเดิม ๆ อีกต่อไป

 1,597 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า