OECD การสอนแบบคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา สร้างสรรค์อนาคต

เพราะทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ เป็นหัวใจสำคัญที่จะต่อยอดการเรียนรู้ของเด็กทุกคน

Share on

 1,895 

“ความสำคัญอยู่ที่การสอนให้เขารู้จักคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่แค่ท่องจำในชั้นเรียนเท่านั้น”-  อุทิศ จ๊ะปิน อาจารย์ประจำชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านสามขา ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง

การพัฒนาทักษะของนักเรียน โดยเฉพาะทักษะการคิดวิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่หน่วยงานการศึกษาปัจจุบันให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะเมื่อนักเรียนมีทักษะนี้ นักเรียนจะสามารถนำความรู้ที่ได้ในห้องเรียนไปใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด ประเทศไทยจึงเกิดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก

การทำงานของโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ เป็นการร่วมมือกับแต่ละโรงเรียน พัฒนาระบบการเรียนการสอนด้วยการอบรมครู โดยผู้เชี่ยวชาญจาก OECD ร่วมกับการฝึกใช้เครื่องมือส่งเสริมและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ โดยหลังจากการอบรม ครูจะใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ High Functioning Classroom จากกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เน้นให้ผู้เรียนเข้าหาองค์ความรู้ พัฒนาทักษะผู้เรียนผ่านการฝึกปฎิบัติและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง

หลักสูตรโดย OECD ทำให้กระบวนการสอนเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไร

โรงเรียนบ้านสามขา ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เป็นอีกหนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์สำหรับห้องเรียน โดยทางโรงเรียนได้ส่งครูเข้าร่วมอบรมการสอนรูปแบบใหม่ และเริ่มลงมือสร้างห้องเรียนที่นักเรียนจะ active ขึ้นกว่าเดิม

ครูตู่ – อุทิศ จ๊ะปิน อาจารย์ประจำชั้น ป.6 เล่าให้ฟังว่า เริ่มต้นไปอบรมการสอนรูปแบบใหม่ของ OECD เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว โดยเขาจะสอนให้เราว่า ทำอย่างไรให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสะท้อนออกมาผ่านโปรเจ็กต์ที่ช่วยพัฒนาเติมเต็มศักยภาพ ให้เด็กสามารถคิดนอกกรอบ ไม่ใช่คิดแบบเดิม ๆ แต่ต้องรู้ว่าถ้าทำแบบนี้จะเกิดอะไร ต่อไปจะเกิดอะไรบ้าง ต้องสอนให้เขารู้จักคิดเป็นขั้นตอน

ครูตู่เข้าอบรมหลักสูตรนี้เพราะเห็นความสำคัญของการคิดวิเคราะห์ที่มีต่อการเรียนรู้ของเด็ก โดยครูตู่เล่าเพิ่มเติมว่า ในสังคมปัจจุบันการสอนให้เด็กรู้จักหาทางออก รู้จักแก้ปัญหาเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาถือเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นต้องสอนให้เด็กรู้จักวิธีคิด การสอนของเราก็จะสอดแทรกไปในทุกวิชาเรียนเพราะเป็นครูประจำชั้นสอนหลายวิชา มีการแทรก STEM ศึกษาเข้าไปด้วย เช่น สอนเรื่องทำขนม ก็จะสอนเชื่อมไปถึงการสีข้าวว่าถ้าข้าวเปลือกจำนวนนี้มาสีแล้วจะได้ข้าวสารเท่าไหร่ ทุกอย่างต้องสอดแทรกการเรียนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ให้ได้

นักเรียนเก่งขึ้น เรียนรู้สนุกขึ้นด้วยวิธีการจาก OECD

ครูตู่และครูคนอื่น ๆ ในโรงเรียนบ้านสามขา นำรูปแบบวิธีการสอนที่ได้จากการอบรมมาปรับใช้กับนักเรียนของตนเอง เริ่มต้นจากการใช้เครื่องมือที่เป็นที่รู้จักอย่างแผนภูมิความคิด (Mind Mapping) เอามาทำให้เด็กเห็นประโยชน์ และใช้สร้าง Framework หรือกรอบวิธีการคิดของตนเองได้

“แนวการสอนรูปแบบจาก OECD ถือว่าเป็นวิธีการการเรียนการสอนที่ประสบความสำเร็จ เพราะจากเดิม ยกตัวอย่าง​ Mind Mapping แรก ๆ เราก็จะเห็นเด็กเขียนมาแต่ละหัวข้อคนละสั้น ๆ ซ้ำ ๆกัน แต่พอเรียนไปนาน ๆ เราสอนให้เขารู้จักคิด ไม่ใช่สอนว่าต้องไปทำอย่างนี้ แต่สอนว่าทำอย่างนี้ได้ไหม ลองให้เขาคิดเพิ่มหลัง ๆ เด็กจะเขียนแยกออกมาได้ยาวขึ้นละเอียดขึ้นกว้างขึ้น ซึ่งความสำคัญอยู่ที่การสอนให้เขารู้จักคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่แค่ท่องจำในชั้นเรียนเท่านั้น”

น้องทิว-ธีรศักดิ์ มะโนคำ นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนบ้านสามขา เล่าให้ฟังถึงกิจกรรมการเรียนการสอน ที่ถูกออกแบบมาในรูปของกิจกรรม Mind Mapping เริ่มจากการตั้งโจทย์ขึ้นมา 1 อย่าง เป็นโจทย์อะไรก็ได้ใกล้ตัว เช่น การทำขนม ในแผนภูมินั้นก็จะแตกออกไปเป็นรายละเอียดแต่ละหัวข้อ เช่น วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ วิธีการทำแบบแตกย่อยเป็นขั้นตอน และคุณค่าทางโภชนาการที่จะได้รับ

“แต่ละหัวข้อที่แตกย่อยออกมาก็จะเขียนกันด้วยคนละสี มีรูปประกอบเพื่อให้เกิดการแยกแยะ จดจำ เข้าใจง่าย วิธีนี้จะช่วยให้เราฝึกคิดหาคำตอบ ว่าจะต้องทำอะไรอย่างเป็นขั้นตอน ไม่ใช่อ่านจากตำราเพียงอย่างเดียว​ครูก็จะมาคอยให้คำแนะนำสอบถามว่า ทำไมต้องทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ดีไหม ทำอย่างนี้ดีกว่าไหม​โดยรวมก็จะสนุกกว่าการเรียนหนังสือแบบปกติ ที่สำคัญยังจำได้ง่ายกว่าและเอาไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า”

น้องทิวกล่าวถึงรายละเอียด

ไม่ใช่แค่คิด แต่เป็นก้าวแรกสู่การลงมือทำจริง

เครื่องมือแผนภูมิความคิดนั้นไม่ได้ถูกปรับใช้แค่เฉพาะในห้องเรียนแบบของน้องทิวเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้กับกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนในด้านอื่น ๆ เช่น กิจกรรมของน้องโอ๊ต-จิรายุ จันทร์นา นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนบ้านสามขา น้องโอ๊ตเล่าถึงกิจกรรมการทำฝายกั้นน้ำนอกสถานที่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะลงมือสร้างฝายจริง คุณครูให้เริ่มขั้นตอนแรกโดยการทำ Mind Mapping ให้นักเรียนแต่ละคนคิดว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร ศึกษาว่าฝายมีกี่ชนิด ฝายแต่ละชนิดทำจากวัสดุอะไร เช่น ไม้ หิน ฯลฯ เราควรจะเลือกทำจากวัสดุอะไร ด้วยวิธีอะไร ทำแล้วจะเกิดประโยชน์อะไร โดยสิ่งที่ตนเองและเพื่อนแต่ละคนเขียนก็จะไม่เหมือนกัน มีคุณครูคอยมาแนะนำให้คำปรึกษา เมื่อนักเรียนทำความรู้จักฝายผ่านการทำ Mind Mapping เรียบร้อยแล้วจึงพาไปลงมือปฏิบัติจริง ทำให้ในการสร้างฝายจริงนั้น ครูและนักเรียนสามารถสร้างสำเร็จอย่างรวดเร็ว และทุกคนก็ได้รับความรู้เต็มที่ด้วย

ความมุ่งหวังสำหรับก้าวต่อไปของโครงการ OECD คือการขยายผลรูปแบบการสอนนี้ไปสู่โรงเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศ นอกจากเครื่องมือที่ทาง OECD แนะนำไปในเบื้องต้น ทางโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการก็ควรจะพัฒนาเครื่องมือชนิดอื่น ๆ เพื่อใช้ในห้องเรียน ให้เข้ากับความต้องการของนักเรียนในโรงเรียน หรือในพื้นที่นั้น ๆ และปรับเครื่องมือเหล่านี้เข้ากับกิจกรรม เพื่อฝึกการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 

 1,896 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า