“ความรัก” ทำให้ไม่มีเด็กหลังห้อง

ห้องเรียนนี้ไม่มีเด็กหลังห้อง: ห้องเรียนแห่งความเสมอภาค ที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Share on

 1,070 

ห้องเรียนนี้ไม่มีเด็กหลังห้อง:
 ห้องเรียนแห่งความเสมอภาคที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

           เมื่อได้ยินคำว่า “เด็กหลังห้อง” หลายคนอาจจะนึกถึงภาพของกลุ่มเด็กเกเรที่ไม่ตั้งใจเรียนเมื่อเทียบกับ “เด็กหน้าห้อง” แต่ในห้องเรียนเล็กๆ ของโรงเรียนชุมชนวัดควนมีด อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ครูแอ๊ะหรือครูกมลลักษณ์ นนทะสรของเด็กๆ ชั้นอนุบาล 3 ได้สร้างห้องเรียนแห่งความเท่าเทียมที่ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างเด็กหน้าห้องกับเด็กหลังห้อง ห้องเรียนแห่งนี้ไม่ได้มีกระดานดำเป็นจุดศูนย์กลาง เพราะเด็กๆ ทุกคนถือเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้

            ก่อนหน้านี้ ครูแอ๊ะเคยจัดการเรียนการสอนเช่นเดียวกับครูคนอื่นๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ครูแอ๊ะกลับพบว่าการจัดการเรียนการสอนรูปแบบเดิมไม่ได้เหมาะสำหรับเด็กทุกคนในห้อง  เพราะแม้จะมีเด็กที่เข้าใจเนื้อหาที่เรียนและสามารถทำตามที่ครูสอนได้ แต่ยังมีเด็กบางส่วนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพียงเพราะเขาต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้มากกว่าเพื่อน กระทั่งวันหนึ่ง ครูแอ๊ะเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่ เพราะการปล่อยให้เด็กบางส่วนต้องอยู่รั้งท้ายเป็นสิ่งที่ขัดกับจิตวิญญาณครู เธอจึงตระหนักได้ว่าอย่างน้อยที่สุด เด็กทุกคนควรจะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ในห้องเรียน แม้จะได้มากได้น้อยต่างกันไป

การใช้หลักจิตวิทยาควบคู่กับแนวคิดจิตศึกษา

           ครูแอ๊ะเริ่มประยุกต์ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อยซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกอบกับความรักและหวังดีต่อเด็กๆ เป็นทุนเดิมจึงทำให้ห้องเรียนอนุบาล 3 แตกต่างจากห้องเรียนอื่น โดยปกติแล้วครูทั่วไปมักจะเน้นบทบาทในฐานะผู้สอนเป็นหลัก แต่วิธีการของครูแอ๊ะอาศัยจิตวิทยาที่เน้นผู้เรียนในฐานะหัวใจสำคัญของการเรียนรู้


           นอกเหนือจากหลักจิตวิทยาดังกล่าว ครูแอ๊ะยังอาศัยแนวคิดจิตศึกษาซึ่งเป็นการเน้นกระบวนการพัฒนาทั้งด้านการศึกษาควบคู่กับความฉลาดทางด้านอารมณ์ (EQ) และด้านจิตวิญญาณ (SQ) เพราะผู้เรียนจะสามารถเรียนอย่างเต็มประสิทธิภาพได้เมื่อมีสภาพจิตใจที่เตรียมพร้อม คงไม่มีเด็กคนไหนสนใจฟังสิ่งที่ครูสอนหากเขากำลังพะวงถึงเรื่องราวนอกห้องเรียนอยู่

การจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มสมาธิก่อนเข้าเรียน

            ครูแอ๊ะจะเริ่มต้นคาบเรียนด้วยการจัดกิจกรรมผ่อนคลายด้วยการให้เด็กๆ ร้องเพลง ฟังเพลงบรรเลงหรือเพลงที่ชวนให้ซาบซึ้งถึงพระคุณของผู้ให้กำเนิดอย่างเพลงค่าน้ำนม ฟังนิทานอย่างลูกหมูสามตัวพร้อมกับเล่าเหตุการณ์ที่เกิดในเรื่อง ไปจนถึงกิจกรรมตามวิถีชาวพุทธอย่างการนั่งสมาธิและกำหนดลมหายใจเข้าออก

           แต่ละกิจกรรมใช้เวลาไม่เกิน 10 นาทีเพื่อให้เด็กๆ สามารถจดจ่อกับกิจกรรมได้ เมื่อกิจกรรมเสร็จสิ้น เด็กๆ จะมีสมาธิและให้ความสนใจกับคาบเรียนได้ดียิ่งขึ้น การเริ่มต้นคาบเรียนด้วยกิจกรรมจนเป็นกิจวัตรยังทำให้เด็กๆ คุ้นชินกับการเตรียมความพร้อมด้วยวิธีดังกล่าว

           ทว่ากฎข้อหนึ่งที่เด็กๆ ต้องปฏิบัติตามคือเมื่อใดก็ตามที่เพื่อนหรือครูกำลังพูดอยู่ พวกเขาจะต้องรับหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดีและไม่พูดแทรก หากต้องการซักถาม พวกเขาต้องยกมือขึ้นก่อนเพื่อเป็นสัญญาณให้กับผู้พูด 

            กิจกรรมทั้งหมดจะไม่สามารถเป็นรูปเป็นร่างได้ หากขาดความทุ่มเทที่จะลงมือปฏิบัติจนกว่าจะสัมฤทธิ์ผล แม้ครูแอ๊ะจะสลับบทบาทจาก “ครูผู้นำ” กลายเป็น “ครูผู้ตาม” แต่เธอกลับค้นพบสิ่งที่ยิ่งใหญ่คือการมองเห็นศักยภาพที่เด็กแต่ละคนมีต่างกันไป

           ความมุ่งมั่นของครูแอ๊ะไม่ต่างจากจุดมุ่งหมายของ “โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง หรือ TSQP (Teachers & School Quality Program)” ที่พัฒนาขึ้นโดยกสศ. โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ทุกห้องเรียนเต็มไปด้วยความเสมอภาค เพราะเชื่อว่าเด็กทุกคนต่างมีศักยภาพในตนเอง

ผลลัพธ์ที่ได้จากการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน

           ครูแอ๊ะเล่าถึงเด็กคนหนึ่งซึ่งมีภาพลักษณ์ตามแบบฉบับของเด็กเกเร เขาไม่ชอบอยู่กับที่และมักหยอกล้อกับเพื่อนอยู่บ่อยครั้ง เพราะเขาเป็นโรคสมาธิสั้น ห้องเรียนรูปแบบใหม่เปิดโอกาสให้ครูแอ๊ะเป็นฝ่ายรับฟัง เธอมักพูดคุยและคอยให้กำลังใจเขาเสมอ ไม่ว่าจะด้วยการโอบกอดหรือการกล่าวชื่นชมซึ่งทำให้เขาเกิดความมั่นใจในตนเอง กระทั่งเขาเปิดใจและเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ครูแอ๊ะฟังอยู่เสมอ ผู้เป็นแม่จึงไม่ต้องเป็นกังวลและคอยถามไถ่พฤติกรรมของลูกเหมือนอย่างเคย

           ส่วนเด็กอีกคนที่แม้จะเป็นออทิสติก ชอบเล่นซนและไม่สนใจการเรียนเท่าที่ควร ปัจจุบันเขากลายเป็นคนกล้าคิดกล้าแสดงออก เพราะครูแอ๊ะตั้งใจฟังในสิ่งที่เขาจะพูด เขาเริ่มเคารพตนเองเมื่อเห็นว่าความคิดเห็นของตนเองไม่ได้ถูกมองข้ามอีกต่อไป

หัวใจของครูผู้รักศิษย์อย่างไม่ลำเอียง

           “ด้วยความเป็นครู ไม่ว่าเด็กจะเป็นอย่างไร พร้อมหรือไม่พร้อมที่จะเรียน เราต้องให้โอกาสเขา พี่มีเด็กในห้อง 23 คน ไม่ว่าใครจะเป็นอย่างไร พี่รักทุกคนนะ พี่พร้อมที่จะเคี่ยวเข็ญให้เขาขึ้นชั้นประถมศึกษา เขียนและอ่านหนังสือได้ในระดับปฐมวัย บางวันอาจจะเหนื่อยหน่อย แต่พี่มีความสุข เมื่อเด็กๆ ทำได้ พี่คิดแค่ว่าเขาจะต้องได้ข้อคิดกลับไป พี่รักพวกเขาทุกคน ตอนนี้ไม่มีเด็กหลังห้องแล้วนะ เพราะทุกคนเป็นคนเก่งในแบบของตนเอง”

           “แม้จะเข้าโครงการนี้มาได้เพียง 3 เดือน แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นกลับทำให้พี่ภูมิใจมาก อย่างวันหยุดที่ต้องไปอบรม แม้จะเหนื่อย แต่พอเห็นเด็กๆ ทำได้ พี่ก็หายเหนื่อย”

ครูแอ๊ะเล่าให้ฟังอย่างภูมิใจ

           เราได้เห็นถึงความสำเร็จที่เป็นผลมาจากความทุ่มเทอย่างไม่ย่อท้อของครูผู้มีหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา ความหวังของครูแอ๊ะไม่ใช่การผลักดันให้ลูกศิษย์เป็นเลิศในด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังมุ่งหวังที่จะเห็นลูกศิษย์สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ห้องเรียนของครูแอ๊ะจึงเต็มไปด้วยความเสมอภาคและไม่มีการแบ่งแยกระหว่างเด็กหน้าห้องกับเด็กหลังห้องอีกต่อไป

 1,071 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า