EDICRA ยกเครื่องพัฒนาการศึกษา ‘ปัญหา’ กลายเป็นทางออก

กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้เด็กลงมือทำด้วยตนเอง จะช่วยพัฒนาการศึกษาได้ทั้งระบบ

Share on

 1,382 

“เราไม่ได้ต้องการโรงเรียนเพิ่มขึ้น แต่เราต้องการโรงเรียนที่มีคุณภาพมากขึ้น เครื่องมือนี้จะเน้นทำให้เด็กมีคุณภาพ”

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสรีบุตร  ประธานมูลนิธิโรงเรียน สตาร์ฟิชคันทรีโฮม

การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศให้มีมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน เป็นมิติสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มุ่งเน้นมาตลอด กสศ.มีโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศให้สามารถพัฒนาตนเองได้ทั้งระบบ ไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากส่วนกลาง ด้วยความรู้และทักษะการเตรียมพร้อมเด็กในศตวรรษที่ 21 บนพื้นที่เป้าหมาย 288 โรงเรียน ครอบคลุม 35 จังหวัดทุกภูมิภาคของประเทศไทย

หนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อนโครงการ TSQP คือมูลนิธิโรงเรียน สตาร์ฟิชคันทรีโฮม ซึ่งทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้นำคือ ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสรีบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียน สตาร์ฟิชคันทรีโฮม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนแบบ Project Based Learning (PBL) ใช้ปัญหาเป็นฐานเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ให้เด็ก ทำให้การเรียนการสอนแตกต่างไปจากเดิม ที่เป็นการนั่งฟังเนื้อหาจากครูเพียงอย่างเดียว

ปัจจุบันมูลนิธินี้ได้มาทำงานร่วมกับ กสศ. เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนขนาดกลางกว่า 60 โรงเรียน ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ลำพูน และ สมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางมูลนิธิทำงานอยู่แล้ว โดยเป็นการต่อยอดเผยแพร่สิ่งที่ทำอยู่แล้วออกไปและช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนอื่น ๆ พร้อมทั้งมี Starfish Labz ซึ่งเป็น Online Learning Platform สำหรับครูที่เข้ามาอยู่ในโครงการได้เข้าถึงเครื่องมือ ซึ่งจะเน้นไปที่การพัฒนาทักษะเด็กในยุคปัจจุบัน ผ่านเทคโนโลยีทางการศึกษา​

พัฒนาการศึกษาผ่านกระบวนการ EDICRA
‘Explore – Define – Investigate – Create – Reflect – Act’

การสอนแบบ Project Based Learning ของทางมูลนิธิ มีหัวใจสำคัญคือกระบวนการที่เรียกว่า EDICRA ซึ่งเป็นกระบวนการเพื่อให้นักเรียนแก้ปัญหาที่ได้รับได้สำเร็จด้วยตนเอง ตอบสนองต่อจุดประสงค์ของการเรียนแบบ Project Based Learning คือให้เด็กสามารถเชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียน เข้ากับชีวิตจริงของตนเอง และสามารถผลิตชิ้นงานหรือโครงการออกมาด้วยตนเอง ตามโจทย์ “ปัญหา” ที่มีครูเป็นผู้ริเริ่มให้ หรือโจทย์ที่เด็กต้องการเองก็ได้ และเป็นที่ปรึกษาตลอดกระบวนการ แต่จะไม่ใช่การสอนเด็กทีละขั้นตอนว่าเขาควรทำอะไรบ้าง เพื่อฝึกให้เขาคิดเป็น ทำเป็น

มาจาก Explore (การสำรวจปัญหา) Define (การระบุปัญหาว่าสิ่งที่เขาจะทำคืออะไร) Investigate (การเจาะลึกแก้ปัญหา ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดรูปแบบ หรืออื่น ๆ) ตามด้วย​ Create (การสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา) และ Reflect (การสะท้อนความคิด ว่าผลลัพธ์ออกมาดีหรือยัง) และ Act (การสร้างความแตกต่างจากนวัตกรรม แก้ปัญหาที่ตัวเองค้นพบให้กับผู้อื่น) ซึ่งกระบวนการสุดท้ายเด็กจะเผยแพร่วิธีการไปยังชุมชนตัวเอง ​ทั้งชุมชนในโรงเรียนนอกโรงเรียน เพื่อให้ความรู้ที่เขาได้รับ และสิ่งที่เขาค้นพบไม่หยุดอยู่แค่ในห้องเรียน

ปรับใช้เทคโนโลยี จนได้วิธีการเรียนแบบใหม่

ดร.นรรธพร อธิบายว่า ก่อนหน้านี้มูลนิธิโรงเรียน สตาร์ฟิชคันทรีโฮม ได้ทำงานอยู่ในโรงเรียนบ้านปลาดาวซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน อยู่ใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เน้นการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน มีนวัตกรรมเรื่องการอ่านออกเขียนได้ และกิจกรรมที่เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเขาจากปัญหาที่เจอ เพื่อใช้เป็นพื้นฐานสำหรับวิธีคิดแก้ปัญหาในอนาคต ซึ่งใช้กระบวนการสอนแบบ EDICRA ให้เด็ก ๆ ได้คิดปัญหาจริง ลงมือแก้ปัญหาด้วยกระบวนการที่เป็นรูปธรรม เห็นพัฒนาการของเด็ก ๆ ได้ชัดเจน 

สำหรับการทำงานร่วมกับ กสศ. ดร.นรรธพรระบุว่า ทางโครงการจะมีทั้ง Online และ Offline Coaching คือตลอดโครงการจะมีการส่งโค้ชไปอบรมให้ที่โรงเรียน ต่อเทอม 4 ครั้ง ซึ่งถือว่าเยอะมาก​ แต่อีกด้านก็จะมีพื้นที่ออนไลน์ให้สำหรับเวลาครูสะดวกก็จะเข้าไปหาความรู้เพิ่มเติมได้ตลอดเวลา

EDICRA ในห้องเรียนจริง

สำหรับขั้นตอนการใช้กระบวนการ EDICRA อย่างละเอียด เห็นได้จากชั้นเรียนในโรงเรียนบ้านปลาดาว (Starfish Labz) วิชาโครงงานของนักเรียนชั้นประถม ครูจะให้คิดเลือกหัวข้อที่อยากทำ นักเรียนบางคนคิดเรื่องปัญหาส่วนตัว ปัญหาชุมชน บางคนคิดแก้ปัญหาเรื่องยุง บางคนคิดแก้ปัญหาดับกลิ่นที่เกิดขึ้นในชุมชน จากนั้นนักเรียนก็จะเข้าไปหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยมีครูเป็นผู้ช่วยแนะนำ บางคนคิดออกมาเป็นเครื่องลดน้ำมันกระเด็นที่เอาไปใช้จริงได้ในชุมชน ทั้งหมดจะเป็นการ​ออกแบบที่ครอบคลุมทุกองค์ประกอบของโรงเรียน ทั้งผู้นำชุมชน การวัดผล บรรยากาศการเรียนรู้ เทคโนโลยี รูปแบบและฐานบริหารจัดการโรงเรียน เพราะการปรับเปลี่ยนแค่รูปแบบการสอนในห้องเรียนไม่เพียงพอต่อการสร้างความยั่งยืน แต่ต้องพัฒนาหลายองค์ประกอบร่วมด้วยถึงจะเปลี่ยนได้

“เป้าหมายคือ เมื่อเราเข้าไปช่วยจัดกระบวนการแนะนำ กระบวนการก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งในห้องเรียน วิธีการเรียนในห้องเรียน จะสอดคล้องกับระบบโรงเรียนมากขึ้น เป็น Active Learning มากขึ้น และช่วยพัฒนาทักษะเด็กมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าหากลงมือทำก็จะเห็นผลความเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่เทอมแรก ที่เด็กจะมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งครูหลายคนที่เข้ามาโครงการเขาก็อยากเปลี่ยนอยู่แล้ว ด้วยความตระหนักว่า เราสอนแบบเดิมไม่ได้ เพราะไม่ตอบโจทย์ในศตวรรษที่ 21 เขาอยากจะเปลี่ยน แต่เขาอาจกำลังจะหาเครื่องมือ วิธีการที่มาช่วย ซึ่งเครื่องมือของสตาร์ฟิช ก็จะมาเติมเต็มตรงนี้” 

รูปแบบการสอนด้วยกระบวนการ EDICRA ในโรงเรียนบ้านปลาดาวได้รับความสนใจอย่างมาก โรงเรียนต่าง ๆ มาขอดูงาน ทำให้ทางมูลนิธิตัดสินใจต่อยอดจากกิจกรรมเล็ก ๆ เป็นโครงการ Starfish Maker Partnership เพื่อพัฒนาการสอนในห้องเรียนของครู พัฒนาอาชีพครู ปัจจุบันมูลนิธิทำงานกับครูจากโรงเรียนต่าง ๆ กว่า 62 โรงเรียน

“สุดท้ายจะเป็นการตอบโจทย์แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะนวัตกรรมที่เราเอาเข้าไปสอน เป็นนวัตกรรมที่ให้ครูเขาปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน เพิ่มคุณภาพห้องเรียน ซึ่งทำได้ไม่ต้องพึ่งงบประมาณ แต่เป็นวิธีการเปลี่ยนความคิดจากทรัพยากรมีอยู่ เป็นการเพิ่มคุณภาพในห้องเรียน ไม่ว่าโรงเรียนจะอยู่ห่างไกลแค่ไหนก็ใช้ได้จึงมองว่าเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ​เพราะเราไม่ได้ต้องการโรงเรียนเพิ่มขึ้น แต่เราต้องการโรงเรียนที่มีคุณภาพมากขึ้น เครื่องมือนี้จะเน้นทำให้เด็กมีคุณภาพ”

ดร.นรรธพรกล่าว

 1,383 

Writer

4 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า