มิติของพัฒนาการศึกษา ผ่านการพัฒนา “พื้นที่” โรงเรียนไทย

พื้นที่ท้องถิ่นสำคัญอย่างไร ทำไมการศึกษาไทยต้องให้ความสนใจสิ่งนี้

Share on

 1,631 

มิติของพัฒนาการศึกษา ผ่านการพัฒนา “พื้นที่” โรงเรียนไทย

“การสอนไม่ใช่สอนแต่วิชาการ แต่เป็นการบ่มเพาะทางปัญญา โลกข้างหน้าไม่ใช่โลกที่ให้ทางวิชาการอย่างเดียว ไปโรงเรียนจะต้องได้อย่างอื่นด้วย นอกจากความรู้”

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร กล่าว

คุณคิดว่าต้นทุนทางการศึกษาของเด็กคนหนึ่งมีอะไรบ้าง?

การศึกษาปัจจุบันทำให้เด็กและครอบครัวต้องจ่ายด้วยราคาที่มากกว่าเงิน เช่น เวลา และคุณภาพชีวิต หลักสูตรของโรงเรียนพรากเวลาของเด็ก ๆ ที่จะได้ทำกิจกรรมร่วมกับที่บ้าน เด็กหลายคนต้องเผื่อเวลาเดินทางไป – กลับโรงเรียนหลายชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากครอบครัวเลือกให้เรียนโรงเรียนไกลบ้านเพื่อเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ที่มีคุณภาพกว่า ซึ่งบางครอบครัวมีรถรับส่ง แต่สำหรับอีกหลายครอบครัว เด็กต้องเดินทางไปกลับด้วยตนเอง มีค่าใช้จ่ายมากมายเกิดขึ้น คำว่า “เรียนฟรี” จึงไม่ได้ฟรีอย่างที่คิด

แล้วเราจะทำอย่างไรให้การศึกษาไม่ต้องจ่ายด้วยราคาแสนแพง?

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ก่อตั้งโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการศึกษาที่ไม่ตอบสนองต่อชีวิตของเด็ก โดยผลักดันให้ระบบการผลิตครูเป็นเนื้อเดียวกับชุมชน จึงเป็นเหตุผลที่ กสศ. ให้ทุนแก่นักเรียนชั้น ม.ปลาย เพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในพื้นที่ของตนเอง แล้วกลับมาเป็นครูประจำโรงเรียนท้องถิ่น

ปีที่ผ่านมา กสศ. ได้จัดปาฐกถา ทำไมเราจึงต้องให้โอกาสเด็กยากจนมาเรียนครูกลับไปพัฒนาท้องถิ่น ในการประชุมเชิงปฏิบัติการสถาบันผลิตและพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่น ปีที่ 2 ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มาให้แนวความคิดเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเอาไว้หลายแง่มุม สามารถสรุปได้เป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

หัวใจของการพัฒนาการศึกษา คือจิตวิญญาณความเป็นครู

ดร.กฤษณพงศ์เล็งเห็นความสำคัญของคุณภาพชีวิตของเด็ก และเห็นว่าการสอนที่ดีสามารถเติมเต็มส่วนนี้ได้

“การสอนไม่ใช่สอนแต่วิชาการ แต่เป็นการบ่มเพาะทางปัญญา โลกข้างหน้าไม่ใช่โลกที่ให้ทางวิชาการอย่างเดียว ไปโรงเรียนจะต้องได้อย่างอื่นด้วย นอกจากความรู้ เช่น เด็กระดับประถมใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่มากกว่าอยู่กับครู ทำอย่างไรให้การศึกษากลับไปหาครอบครัวได้มากกว่านี้”

การผลิตครูในปัจจุบัน หลักสูตรต่าง ๆ ค่อนข้างเน้นการเป็น ‘นักเทคนิคทางการศึกษา’ ใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อทำให้การสอนเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น ครูได้ความรู้ที่เป็นสูตรสำเร็จเพื่อนำไปถ่ายทอดแก่นักเรียน แต่สิ่งที่เติมได้ไม่เต็มที่คือจิตวิญญาณความเป็นครู  ในปัจจุบันคนที่เป็นครูมีน้อย ดังนั้นอาจจะต้องแยกวิทยาลัยครู ที่เน้นการสร้างตัวตนของครู ออกจากคณะศึกษาศาสตร์ คุรุศาสตร์ที่ผลิตนักเทคนิคทางการศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรพิจารณาต่อในอนาคต

ปัญหาบริบทพื้นที่ต่อการศึกษาไทย

“การศึกษาสำคัญเกินไปที่จะปล่อยไว้ในมือของนักการศึกษา การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นไปไม่ได้ที่เราเรียนอะไรเพียง 3-4 ปีแล้วจะได้ใช้สิ่งนั้นไปอีก 70 ปี ดังนั้นการศึกษาในความหมายกว้าง คือการพัฒนาคน ต้องมีมิติอื่นในการให้ความรู้ ตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งจะต้องมองว่าขณะนี้เป้าของโลกมีเป้าการศึกษาอะไรบ้าง ดังนั้นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย  ควรมองเป้าการศึกษาในการสร้างคนใน 10 ปีข้างหน้าว่าโลกจะไปถึงไหน เชื่อมกับบริบทของไทย บริบทของพื้นที่ ครูที่จะไปทำงาน ต้องเข้าใจบริบทของพื้นที่”

ปัญหาการศึกษาสำคัญคือเรื่องการสอนโดยไม่เข้าใจบริบททางพื้นที่ แม้ว่าครูบางคนเต็มใจเดินทางไปเป็นครูในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ที่ตนเองคุ้นเคยหรือมีข้อมูลมาก่อน แต่ทำงานที่นั่นได้เพียง 3-4 ปีก็ตัดสินใจย้ายไปสอนที่อื่น เนื่องจากปัญหาการนิเทศก์ (แนะนำ) การสอนในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ครูไม่สามารถทำงานในพื้นที่นั้นได้อย่างมีคุณภาพ ปัญหาที่เป็นผลตามมาจึงเป็นการขาดแคลนครูที่สอนในโรงเรียนห่างไกล ต้นทุนของนักเรียนจึงเพิ่มขึ้นอีกเพราะต้องเดินทางแสวงหาการศึกษาที่ดี

ดร.กฤษณพงศ์ระบุถึงกลุ่มปัญหาดังกล่าวนี้ว่า แม้ว่าไทยจะมีการศึกษาฟรีขั้นพื้นฐาน แต่เป็นการเข้าถึงการศึกษาที่ไม่ฟรีอย่างแท้จริง เช่น ค่าเดินทางของเด็ก เด็กบางคนมาโรงเรียนด้วยการเดิน การขี่จักรยาน แต่เด็กบางคนต้องนั่งรถเมล์ ขี่จักรยานยนต์ มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น การที่จะมาถึงโรงเรียนเพื่อเรียนฟรีจึงไม่ฟรี แต่สิ่งนี้คือ “ต้นทุนทางการศึกษา” ซึ่งการเข้าถึงการศึกษาที่ฟรีแต่ไม่ฟรีแท้จริงนั้นเป็นปัญหาของคนจำนวนหนึ่ง  ซึ่ง กสศ. กำลังลงมือแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะกับเด็กประมาณ 1.6 ล้านคน ที่เป็นเด็กยากจนพิเศษ เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงการศึกษาได้เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ

เพิ่มคุณภาพการศึกษา เพิ่มสัมฤทธิผลทางการเรียน

สิ่งสำคัญที่บุคลากรทางการศึกษาต้องแก้ไขคือ การพัฒนาสัมฤทธิผลทางการศึกษาของนักเรียนทุกระดับ ทุกฐานะ เพราะการเข้าถึงการศึกษาได้ทั่วถึงและเท่าเทียม ไม่ได้ประกันความสำเร็จ แม้ว่าทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาได้ แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะเรียนได้ดีและสามารถนำสิ่งที่เรียนไปประยุกต์ใช้ได้ 

การพัฒนาระบบการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มสัมฤทธิผลทางการศึกษา สิ่งที่ควรปรับคือสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน การจัดสรรทรัพยากร เช่น ครู ตำราเรียน เทคโนโลยีอำนวยการสอน ของแต่ละโรงเรียนในท้องถิ่น ให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน ไม่ให้โรงเรียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพที่ต่างกันมากอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตรงนี้ส่วนกลางจะต้องเข้ามาสนับสนุนในด้านงบประมาณมากขึ้น 

สำหรับการจัดการทรัพยากรครูให้เพียงพอ หากยังเพิ่มจำนวนครูไม่ได้ ดร.กฤษณพงศ์มองว่า สามารถควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กและบริหารจัดการเป็นคลัสเตอร์ได้ เหมือนอย่างที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทำอยู่ โดยให้เด็กเรียนโรงเรียนหนึ่งในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ส่วนวันอังคาร พฤหัสบดีก็เรียนอีกโรงเรียนหนึ่ง นักเรียนจะได้เรียนครบทุกวิชา โดยใช้ทรัพยากรของแต่ละโรงเรียนเข้ามาเกื้อหนุนกัน ซึ่งเรื่องนี้แก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องใช้เงิน ใช้แค่การบริหารอย่างเป็นระบบเท่านั้น  

การจัดการทรัพยากรอีกวิธีหนึ่งคือ การใช้ระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) มาช่วยสอนนักเรียน ดร.กฤษณพงศ์ ระบุว่า เราสามารถใช้ระบบการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ โดยเริ่มจากการแก้ไขกฎหมายให้สถาบันและบุคลากรกศน. สามารถสอนนักเรียนในระบบปกติได้ นับครูของ กศน. รวมถึงสถาบันการศึกษาทางเลือกทุกรูปแบบ ทุกสังกัดเป็นครูของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ใช่แบ่งครูแบบจำกัดว่าคนนี้เป็นครูของโรงเรียน ครูของสพฐ. หรือครูอาชีวะ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงระบบจัดการบุคลากรก็ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณเพิ่มมากนัก แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่ต้องใช้ความกล้าพอสมควร 

เปลี่ยนทิศทางการศึกษาไทย ด้วยการเปลี่ยนค่านิยม

สำหรับการควบรวมการศึกษาแบบปกติกับการศึกษาทางเลือก มีปัญหาที่ต้องเผชิญคือค่านิยมเดิม ๆ กรอบความคิดของคนรุ่นเก่าที่เห็นว่าการศึกษาสายสามัญเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ดังนั้นการปรับที่ครอบครัวจึงสำคัญไม่แพ้กัน 

“อย่างการศึกษาอาชีวะ ก็มีค่านิยม คนไม่เรียนอาชีวะ คนไปเรียนสายสามัญ แนวคิดนี้ต้องได้รับการทบทวนว่าอาชีวะเป็นสิ่งที่ให้ไว้สำหรับการศึกษา ควรจัดการศึกษาเพื่อความพร้อมของชีวิต  ความพร้อมสำหรับงานอย่างเหมาะกัน ให้ลูกทำงานเป็น เราต้องอย่าตำหนิเด็กไทย ต้องตำหนิพ่อแม่ วันนี้เด็กมีความเปราะบางมาก ดังนั้นต้องเอาการศึกษากลับไปหาครอบครัวด้วย” 

การนำการศึกษากลับไปหาครอบครัว คือการชี้ให้ครอบครัวเห็นความสำคัญของการศึกษาหลากหลายรูปแบบ ที่ไม่จำกัดอยู่แค่สายสามัญ เมื่อครอบครัวรู้จักและเข้าใจเส้นทางการศึกษาที่มีอยู่มากมาย ก็มีโอกาสสนับสนุนเด็กให้เลือกเดินตามเส้นทางที่เหมาะสมกับตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีกว่าการเลือกเรียนสายสามัญโดยไม่รู้จักหลักสูตร และศักยภาพของตนเองอย่างเพียงพอ 

โลกดิจิทัลกับอนาคตของการศึกษา

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ ดร.กฤษณพงศ์ให้ความสำคัญคือความเหลื่อมล้ำในสังคมปัจจุบัน สถานการณ์โลกในตอนนี้ได้เพิ่มระยะของช่องว่างระหว่างฐานะ ปัญหาเศรษฐกิจทำให้มีคนยากจนเพิ่มสูงขึ้น ความยากจนนี้แผ่ไปเป็นวงกว้างขึ้น ทำให้เด็กหลายคนในครอบครัวยากจนต้องหลุดจากระบบการศึกษา ความยากจนทำให้คนขาดโอกาสฝึกฝนทั้งทางปัญญา ทักษะและพฤติกรรม และปัญหาของความยากจนคือทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้เต็มรูปแบบ โรค COVID-19 ทำให้การศึกษาในโรงเรียนปรับไปเป็นออนไลน์มากขึ้น ครูสอนผ่านโปรแกรมออนไลน์ หรือให้นักเรียนเรียนผ่านสื่อการสอนออนไลน์ แต่คนไทยหลายส่วนยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต บางพื้นที่มีอินเทอร์เน็ตบริการแต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพ ความเร็วไม่เสถียร จึงไม่สามารถมีการเรียนการสอนทางอินเตอร์เน็ตได้ ประเด็นนี้ต้องอาศัยการพัฒนาท้องถิ่นให้มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตบริการอย่างทั่วถึง และมีอุปกรณ์รองรับความต้องการของนักเรียน

นอกจากนี้ สื่อการสอนเทคโนโลยี หรือแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ก็ไม่ได้แปลว่าจะเชื่อถือได้ทั้งหมด วิจารณญาณในการใช้อินเทอร์เน็ตก็เป็นเรื่องสำคัญที่ระบบการศึกษาควรสอน นักเรียนควรรู้จักศีลธรรมและจริยธรรมสำหรับการใช้สื่อดิจิตอล เพราะสังคมเทคโนโลยีถือเป็นสังคมใหญ่เหมือนโลกอีกใบของเรา หลักในการอยู่ร่วมกันอย่างดีจึงสำคัญ ครอบครัว ครู ร่วมกับคนในท้องถิ่นควรตระหนักถึงประเด็นนี้และหาแนวทางปลูกฝังเด็ก ๆ ต่อไป

“ในอนาคตเราจะอยู่ในบรรยากาศดิจิตอล มนุษย์จะห่างกันมากขึ้น สัมผัสของมนุษย์ความเห็นอกเห็นใจน้อยลง ความเห็นแก่ตัวมากขึ้น เราเห็นความน่าเกลียดความมืดมนของมนุษย์ ผ่านถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังในโซเชียลมีเดีย ด้านมืดของมนุษย์จะโผล่ขึ้น เพราะเขียนได้เต็มที่ ไม่รู้ว่าตัวจริงเป็นใคร ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในยุคนี้นอกจากการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นแล้ว จะต้องฉลาดรู้ คือใช้ให้เป็น รู้เท่าทันมัน ซึ่งโรงเรียนจะต้องสอนศีลธรรมและจริยธรรมในโลกดิจิทัล ว่าคืออะไร โลกเปลี่ยนอยู่กับมัน อย่าไปกลัวมัน ปัญหาเดิมก็มี ปัญหาใหม่ก็ดี มันท้าทาย ทำอย่างไรให้การศึกษาออกไปหาเด็กให้ได้”

ที่ปรึกษากสศ. กล่าว

สำหรับปัญหาในมิติต่าง ๆ ข้างต้น กสศ.กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาผ่านโครงการต่าง ๆ ร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเท่านั้น ซึ่งการทำงานเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะต้องอาศัยความร่วมมือจากท้องถิ่น เพราะการศึกษาที่ดีเริ่มต้นจากที่บ้าน เมื่อคนในท้องถิ่นเข้าใจจุดประสงค์ของโครงการ ก็จะให้ความร่วมมือกับโครงการ โครงการจึงสามารถพัฒนาศักยภาพเด็กและพัฒนาคุณภาพโรงเรียนไปได้พร้อมกัน 

 1,632 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า