ห้องเรียน “ภูเก็ต” กับโมเดลการเรียนรู้จากของในท้องถิ่น

ขยะ ขนม และทะเล สร้างการเรียนรู้ที่ดีได้อย่างไร ทำไมถึงสอดแทรกได้ในทุกรายวิชา

Share on

 1,309 

 ห้องเรียน “ภูเก็ต” กับโมเดลการเรียนรู้จากของในท้องถิ่น
คุณคิดว่าห้องเรียนที่อยู่ใกล้ทะเลดีอย่างไร? 

นอกจากบรรยากาศดี มีพื้นที่ท่องเที่ยวแล้ว คุณครูยังสามารถจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้จากชายหาดได้ด้วย “เรื่องเล่าจากทะเล”

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ในการดำเนินงานโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teachers & School Quality Program : TSQP) หรือเรียกย่อๆ ว่า “โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง” รุ่นที่ 2 ในจังหวัดภูเก็ต พร้อมกับหลากหลายโรงเรียนตามภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย ซึ่งโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ก็จะมีรายละเอียดการเรียนการสอนในปลีกย่อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความโดดเด่นของพื้นที่นั้น ๆ สำหรับพื้นที่ภาคใต้ จึงมี “ทะเล” เป็นส่วนสำคัญ ความเป็นเมืองภูเก็ตมีผู้คนหนาแน่น ทำให้มี “ขยะ” ตามท้องที่จำนวนมาก และที่ภูเก็ตก็มี “ขนม” ขึ้นชื่อ นั่นคือขนมตูโบ้ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่นักเรียนในท้องถิ่นคุ้นเคยกันดี สิ่งเหล่านี้จึงกลายมาเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ชั้นดีของเด็ก ๆ

สิ่งที่เราจะมาติดตามด้วยกันในโครงการนี้คือ กระบวนการที่โครงการ TSQP และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตทำมีลักษณะอย่างไร ใช้ประโยชน์อะไรจากสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นบ้าง แตกต่างจากโรงเรียนในพื้นที่อื่นมากน้อยแค่ไหน และผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนและคุณครูเป็นอย่างไร 

ถอดรหัส PLC สร้างวิธีการเรียนรู้

ดร.ศิริวรรณ ฉัตรมณีรุ่งเจริญ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต อธิบายถึงลักษณะกระบวนการว่า โครงการ TSQP ใช้รูปแบบการพัฒนาวิชาชีพครูทั้งระบบโรงเรียนเพื่อการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะผ่านรูปแบบชุมชนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพ (PLC) โดยครูจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ในห้องเรียน เปลี่ยนนักเรียนจากผู้ฟังและผู้จด เป็นผู้ลงมือทำ มหาวิทยาลัยจะทำงานร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายในการวิเคราะห์ความต้องการและบริบทการเรียนรู้ของโรงเรียน โดยนำกระบวนการประเมินผลเชิงพัฒนา (Development Evaluation: DE) มาใช้เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียน (Core Learning Outcome) ร่วมกันระหว่างครูและผู้บริหารโรงเรียน จากนั้นจะให้ผู้บริหารโรงเรียนนำแนวทางเหล่านี้ไปพัฒนาครูในโรงเรียนของตนเอง โดยมี “ครูแกนนำ” เป็นทีมโค้ชช่วยพัฒนาโรงเรียนจากกระบวนการ PLC ภายในโรงเรียน ทีมโค้ชและผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ศึกษานิเทศก์ ครูที่มีความเชี่ยวชาญ จะเข้าไปสังเกตการสอน โดยมีแบบบันทึกการสังเกตห้องเรียน (Class Observation Form) ซึ่งระบุข้อมูลตั้งแต่ช่วงนำบทเรียน ช่วงเนื้อหาและกิจกรรม ช่วงปิด การเรียนการสอนตลอดทั้งคาบเรียน ว่าครูจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเชิงรุก (Active Learning) ในรูปแบบใด ลักษณะของกิจกรรมที่เน้นให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดขั้นสูง มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนนักเรียน ครู และผู้อื่น การใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ และ/หรือโครงงานเป็นฐาน นักเรียนสามารถสร้างสรรค์โครงงานได้หรือไม่ และตัวครูเองสามารถออกแบบบทเรียนและกิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีได้หรือไม่ 

สร้างการเรียนรู้ผ่านการลงมือจัดการขยะ

โรงเรียนตัวอย่างในจังหวัดภูเก็ต จำนวน   3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดกู้กู โรงเรียนวัดเก็ตโฮ่ และโรงเรียนบ้านกะหลิม ทั้งหมดเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่สะท้อนการพัฒนาตนเองทั้งระบบ (Whole School Approach) ของโรงเรียนทั้งด้านการบริหารจัดการโรงเรียน และด้านการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะการเรียนรู้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น

โรงเรียนแรกคือ โรงเรียนวัดกู้กู นายชรินทร์ ชังอินทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดกู้กู กล่าวว่า โรงเรียนวัดกู้กูเปิดสอนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนนักเรียน 329 คน ข้าราชการครูและบุคลากร จำนวน 17 คน โรงเรียนได้กำหนดเป้าหมายให้นักเรียนสามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นำไปสู่การตัดสินใจและเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริงได้ เพื่อมุ่งสู่การเป็น “สถานศึกษาแห่งความสุข” 

คณะครูโรงเรียนวัดกู้กูได้จัดกิจกรรม “บริษัทเพิ่มมูลค่าขยะ” โดยการออกแบบหน่วยการเรียนรู้เกี่ยวกับ “ขยะ” เนื่องจากโรงเรียนมีบริบทเป็นชุมชนเมือง และด้วยความเป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงเกิดปัญหาเรื่องขยะค่อนข้างมาก จึงตัดสินใจนำเรื่องนี้มาสอนนักเรียน ทางโรงเรียนแบ่งเนื้อหาตามระดับชั้น และจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะต้นแบบ พร้อมกับศูนย์พัฒนาศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนกิ่งแก้วซอย 1 เพื่อให้นักเรียนเห็นกระบวนการจัดการขยะจริง ซึ่งสังเกตได้ว่าแต่ละหน่วยการเรียนรู้มีเนื้อหาซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ เพื่อฝึกทักษะการคิดและการลงมือทำแบบเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทั้งหมดยังสอดคล้องกับชีวิตประจำวันของนักเรียน

ชั้นเรียนที่เปิดให้สำรวจ เป็นแผนการจัดการเรียนรู้เรื่อง “การนำเสนอข้อมูลการซื้อขายขยะ”  ในรายวิชาคณิตศาสตร์ ระดับชั้น ป.5-6 โดยมีครูผู้สอนเป็น Model Teacher และมีครูที่เป็น Buddy ร่วมสังเกตชั้นเรียนด้วย 1 คน สาระสำคัญคือการศึกษาสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะ ผ่านวิธีจัดการขยะของศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน 

ภายในห้องเรียนนี้ นักเรียนชั้น ป.5 และ ป.6 ได้ร่วมกันสืบค้นข้อมูล เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ระบุประเด็นปัญหาที่สนใจ นำข้อมูลที่รวบรวมได้มาหาวิธีจัดการขยะในโรงเรียน ออกแบบการแก้ปัญหา โดยประยุกต์ใช้ความรู้ในการคัดแยกขยะจากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน การสร้างบริษัทเพิ่มมูลค่าขยะ จัดทำกระบวนการคัดแยก ซื้อขายขยะ บันทึกการซื้อขาย เพิ่มมูลค่าของขยะ สร้างอาชีพที่สร้างรายได้แก่ชุมชน การนำข้อมูลจากสมุดบันทึกการซื้อขายมาดำเนินการจัดทำข้อมูลทางสถิติ โดยให้นักเรียนแปลงข้อมูลจากรูปแบบหนึ่งให้เป็นรูปแบบอื่น ๆ เช่น แผนภูมิ กราฟ เพื่อนำเสนอ วิเคราะห์ เปรียบเทียบ และลงข้อสรุปจากข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับบริษัทเพิ่มมูลค่าขยะ แล้วพยากรณ์แนวโน้มผลการดำเนินงานบริษัทเพิ่มมูลค่าขยะจากแผนภูมิที่สร้างขึ้น

ครูผู้สอนจะเป็นผู้นำบทเรียน สร้างความสนุกตลอดระยะเวลาเรียนรู้ มีการให้ธงต่างสี ซึ่งมีคะแนนแตกต่างกัน เมื่อเด็ก ๆ มีส่วนร่วมในการตอบคำถาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครู และเพื่อนๆ ในชั้นเรียน มีการแบ่งหน้าที่ ความรับผิดชอบระหว่างกันในกลุ่ม ซึ่งเห็นถึงความพร้อมของครูผู้สอน ที่มีความพร้อมในการเตรียมการสอนที่ดี มีการละลายพฤติกรรมเด็กก่อนเรียน สร้างความตื่นตัว และการมีส่วนร่วม นักเรียนจึงเรียนด้วยความสุข มีเสียงหัวเราะ ตั้งใจตอบคำถาม สามารถวิเคราะห์โจทย์ข้อมูล ออกแบบการจัดทำแผนภูมิ กราฟ และสามารถออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียนได้ 

เรียนรู้จาก “ตูโบ้” ขนมท้องถิ่น

อีกหนึ่งโรงเรียนที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้จากของดีในท้องถิ่นคือ โรงเรียนวัดเก็ตโฮ่ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นางขวัญใจ อินฤทธิ์พงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเก็ตโฮ่ กล่าวว่า โรงเรียนเปิดสอนระดับชั้นอนุบาล ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนนักเรียน 170 คน มีข้าราชการครูและบุคลากร จำนวน 13 คน ปัจจุบันกำลังจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ โดยใช้กิจกรรมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกหน่วยการเรียนรู้ “ตูโบ้…ของหรอยในทู” ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และการเขียนของนักเรียน ผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพ 

“ตูโบ้” เป็นขนมหวานโบราณพื้นเมืองภูเก็ต สมัยก่อนจะได้กินปีละครั้งในช่วงหลังเทศกาลกินเจ มีลักษณะคล้ายแกงบวดรวมมิตรที่นำมันเทศ เผือก ถั่วแดง และแผ่นแป้งมันสำปะหลังมาต้มกับกะทิใส่น้ำตาลทราย คณะครูได้ร่วมกันใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ แบบบูรณาการ “ตูโบ้ ของหรอยในทู” ที่เน้น Active Learning ใช้ในห้องเรียนได้จริง ปัจจุบันแผนการเรียนรู้เรื่องตูโบ้อยู่ในรายวิชาหลักของโรงเรียน เช่น สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ การงานอาชีพและคณิตศาสตร์ 

สำหรับชั้นเรียนตัวอย่างของแผน “ขนมตูโบ้ ของหรอยในทู” เป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับชั้น ป.4-6 จำนวน 25 คน โดยแบ่งนักเรียนเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน ให้นักเรียนชม VTR โรงเรียนของหนูนิด ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับส่วนผสมในขนมตูโบ้ และการระบุหมู่อาหารของส่วนผสมชนิดต่าง ๆ ในขนม และในช่วงเริ่มต้นการสอน ครูใช้เพลงประกอบการเล่นกิจกรรมกะหล่ำปลี เป็นการทบทวนความรู้จากคาบเรียนก่อนหน้าและดึงดูดความสนใจของนักเรียน ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลดี 

ส่วนภายในคาบเรียน ครูจะแจกใบกิจกรรมบันทึกผลการทดสอบสารอาหาร และให้แผนผังสรุปความรู้ เรื่องการทดสอบสารอาหารประเภทต่าง ๆ โดยครูได้จัดเตรียมอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เพื่อการทดสอบ และวัตถุดิบที่เป็นส่วนผสมของขนมตูโบ้ และมีขนมตูโบ้ที่ทำเป็นขนมแล้วให้เด็กได้ชิม เพื่อวิเคราะห์ส่วนผสมต่าง ๆ ด้วย นักเรียนทุกคนจะต้องแก้ปัญหาด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ทำ flowchart เพื่อแยกสารประกอบต่าง ๆ เมื่อทดสอบแล้วก็จะให้ออกแบบตารางสมมุติฐานการทดลอง สรุป และนำเสนอผลของการทดลองนี้ 

ในฝั่งของครูผู้สอนนั้นเตรียมการสอนมาเป็นอย่างดี สามารถนำเทคโนโลยี เทคนิควิธีการสอนมาปรับใช้ได้อย่างดี มีการละลายพฤติกรรมเด็กก่อนเรียน ความคล่องตัว การอธิบาย สร้างการตื่นตัว และการมีส่วนร่วมที่ดี ส่วนผู้เรียน มีส่วนร่วม มีความตั้งใจ มีการทวงถามคะแนนของกลุ่ม สัมผัสได้ถึงความสนุกสนาน มีการโต้ตอบยกมือตอบคำถาม มีส่วนร่วมตลอดคาบเรียน และสามารถวิเคราะห์โจทย์ข้อมูล ออกแบบการจัดทำแผนภูมิ กราฟ และสามารถออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียนได้ และสามารถโต้แย้งผลการทดสอบที่ไม่ตรงกับเพื่อนได้ 

เรียนรู้จาก “ทะเล” อย่างไรให้ได้ผลดี

โรงเรียนตัวอย่างโรงเรียนสุดท้ายคือ “โรงเรียนบ้านกะหลิม” อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายสุรวุฒิ เอี่ยวสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกะหลิม กล่าวว่า โรงเรียนเปิดสอนระดับชั้นอนุบาล ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนนักเรียน 108 คน ข้าราชการครูและบุคลากร จำนวน 13 คน โรงเรียนได้ร่วมประชุมการประเมินเพื่อการพัฒนา (DE) เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ หาปัญหาและได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ พร้อมทั้งต่อยอดให้เกิด School Vision และ Creative Student โดยกำหนดวิสัยทัศน์ของโรงเรียนบ้านกะหลิม ว่า ภายในปี พ.ศ. 2561–พ.ศ. 2565 โรงเรียนบ้านกะหลิมมุ่งยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้เป็นคนดี เก่ง และมีความสุข ครูมีความรู้ความสามารถ ภายใต้การบริหารการจัดการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สื่อทันสมัย ก้าวไกล สู่สากล ชุมชนมีส่วนร่วม ในรูปแบบ “ALPHA Model To Quality School” พร้อมทั้งพัฒนาผู้เรียนให้มีการเรียนรู้ฐานสมรรถนะและทักษะในศตวรรษที่ 21 

หน่วยการเรียนรู้ฐานสมรรถนะโรงเรียนบ้านกะหลิมมีชื่อว่า “Idea -Sea” ซึ่งมาจาก SEA+ Idea = I-SEA เป็นหน่วยบูรณาการการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ระดับชั้น ป.4-6 รายวิชาภาษาไทย วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ศิลปะ คณิตศาสตร์ และสังคม ในคาบกิจกรรมคุณธรรมและคาบแนะแนว ทางโรงเรียนได้นำนักเรียนลงสำรวจพื้นที่ในท้องทะเลหน้าโรงเรียน เรียนรู้ธรรมชาติ ความเป็นทะเลของท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์ มีนักเรียนบางส่วนที่สามารถดำน้ำได้ ก็จะรับหน้าที่สำรวจท้องทะเล ส่วนนักเรียนที่ว่ายน้ำไม่แข็ง ก็จะสำรวจริมฝั่งทะเลแทน

ทางโรงเรียนได้นำเสนอ I-SEA BOOLLET ในห้องเรียนชั้น ป.4-6 วิชาภาษาไทย ใช้เวลาในการจัดการเรียนรู้ 2 ชั่วโมง จุดประสงค์คือมุ่งพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียน การฟัง การพูด การใช้ภาษาไทย และการศึกษาวรรณคดี วรรณกรรม โดยครูจะจัดกิจกรรมบูรณาการทักษะทางภาษา แล้วให้นักเรียนได้ใช้จินตนาการถ่ายทอดโดยการเขียน ซึ่งการสอนรูปแบบนี้สามารถบูรณาการได้หลากหลายกลุ่มสาระ ช่วยให้เกิดความเพลิดเพลิน เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

เมื่อเริ่มต้นคาบเรียน ครูได้เปิดประเด็นคำถามว่า นักเรียนเคยได้ยินตำนานของจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างไร ให้นักเรียนแต่ละคนช่วยกันเล่า และร่วมกันสรุปเรื่องราวที่ทุกคนเล่ามา ซึ่งครูได้เปลี่ยนวิธีการนำเสนอจากการเขียนธรรมดา เป็นการนำเสนอเรื่องเล่าจากทะเลลงไปในกระดาษฟลิปชาร์ท มีอุปกรณ์สีเพื่อใช้ในการระบาย เพื่อให้เรื่องที่เล่ามีความน่าสนใจ วิธีนี้ดึงดูดความสนใจของเด็กได้ดี ช่วยเพิ่มมุมมองทั้งของนักเรียนและครูให้กว้างขึ้น ไม่ถูกจำกัดแค่ในกรอบวิชาการ

สำหรับการเรียนรู้ที่ดึงเอาจุดเด่นหรือสิ่งที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น มาใช้บูรณาการในวิชาต่าง ๆ 3 โรงเรียนนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสามารถทำได้จริง หากผู้บริหารและครูมีความตั้งใจ มีทิศทางการดำเนินงานที่ดี และมีทีมโค้ชที่คอยช่วยสนับสนุน ทาง กสศ. และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเชื่อว่าทุกโรงเรียนจะมีการสอนที่สนุก โดดเด่น และมีคุณภาพในแบบของตัวเองได้อย่างแน่นอน 

 1,310 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า