ปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน เลิกท่องจำความรู้มุ่งสู่การฝึกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

การเรียนรู้ที่ครูสอนให้เด็กเลิกท่องจำและฝึกการแก้ปัญหาด้วยตนเอง

Share on

 2,878 

การเรียนรู้ที่ครูสอนให้เด็กเลิกท่องจำและฝึกการแก้ปัญหาด้วยตนเอง

การเรียนในแบบที่เด็ก ๆ คุ้นเคยมักมาจาก ‘การท่องจำ’ ในสิ่งที่ครูสอน เพื่อใช้ทำการบ้านหรือสอบให้ผ่าน หากถามถึงความเข้าใจเนื้อหาหรือรายละเอียดต่าง ๆ จากการเรียนกลับพบว่า พวกเขาแค่จำคำตอบได้แต่ไม่เคยเข้าใจถึงสิ่งที่ตนเองตั้งใจท่องมาโดยตลอด

ด้วยเหตุนี้ จึงนำมาสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยเริ่มเน้นให้นักเรียนเกิด ‘การจดจำและเข้าใจ’ จากสิ่งที่เรียนรู้ เปิดโอกาสให้เด็กฝึกการคิด วิเคราะห์และทดลองแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นจำเป็นต้องเริ่มปรับจากการเรียนการสอนในห้องเรียนให้ทันสมัยก่อนเป็นอย่างแรก

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณหรือทรัพยากรจำนวนมากจึงสามารถเริ่มได้ทันที และควรเริ่มจากการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach: WSA) ผ่านรูปแบบหรือวิธีการที่เหมาะสมต่อนักเรียนทุกคน พร้อมได้รับความร่วมมือจากบุคลากรในโรงเรียนตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงครูผู้สอนอย่างจริงจัง

ความกล้าแสดงออกของเด็ก คือ ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลง

“หลังจากการเข้าไปทำงานร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายจึงพบความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนของนักเรียน คือ เรื่องความกล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าอภิปรายให้ความเห็นและแสดงเหตุผลของตัวเอง”

ถูกกล่าวโดย รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน

ดังนั้น เรื่องนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการเข้าไปเปลี่ยนแปลงคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนในเครือข่ายได้ถึง 60 โรงเรียนนั้น โดยมีกลไกการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบซึ่งส่งผลดีต่อนักเรียน และได้รับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในส่วนที่ได้ทำงานร่วมกับทางสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กลไกการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ

การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach: WSA) คือการเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพทางการเรียนรู้จากทุกองค์ประกอบของโรงเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียน ครู บุคลากรในโรงเรียน รวมถึงผู้ปกครองเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการพัฒนา โดยมีสถาบันการศึกษาต้นแบบคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ

ปัจจัยสร้างสรรค์ต่อการพัฒนานี้แบ่งออกเป็น 6 ปัจจัย ได้แก่ การรู้ศักยภาพนักเรียนแต่ละคนจากครู, การให้นักเรียนได้ประเมินผลการเรียนด้วยตัวเอง, การเรียนรู้ตามวัยระดับพัฒนาการ, การดูแลและแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของนักเรียนแต่ละคน, การเรียนการสอนที่เปลี่ยนหลักคิด และความร่วมมือของทุกคนในโรงเรียน โดยปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการจัดการสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน

รวมทั้งการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ควบคู่กับการพัฒนาโรงเรียนคือ ‘การศึกษาชั้นเรียน’ หรือ ‘Lesson Study’ และ ‘การเรียนการสอนแบบเปิด’ หรือ ‘Open Approach’ อย่างต่อเนื่องตามวงจรรายสัปดาห์ โดยเริ่มบูรณาการรายวิชาต่าง ๆ ผ่านความถนัดของครูต่างวิชาก่อน เพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลายและช่วยทำให้ครูทุกคนเข้าถึง ‘นักเรียนได้อย่างเป็นองค์รวม’ จากนั้นแบ่งครูทุกวิชาตามระดับชั้นต่าง ๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มช่วงชั้นที่ 1 ประกอบด้วยครูชั้น ป.1-ป.3, กลุ่มช่วงชั้นที่ 2 ประกอบด้วยครูชั้น ป.4-ป.6 และกลุ่มช่วงชั้นที่ 3 ประกอบด้วยครูชั้น ม.1-ม. 3

ยกตัวอย่างวิชาคณิตศาสตร์ ช่วงระยะแรกของการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) ครูในกลุ่มจะร่วมกันเขียนแผนบูรณาการผ่านโจทย์ทางคณิตศาสตร์ และให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองได้จากการเรียนการสอนแบบเปิด (Open Approach) ในระยะที่สอง โดยมีครูของกลุ่มการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study Team) ร่วมสอน สังเกตและจดบันทึก จนระยะสุดท้ายจึงทำสรุปผลการดำเนินงานรายสัปดาห์จากครูแต่ละช่วงชั้นร่วมกับครูทั้งโรงเรียน

ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู

การศึกษาชั้นเรียน หรือ Lesson Study คือ หลักการพัฒนาวิชาชีพครูผ่านการปรับปรุงการสอนด้วยตัวของครูเอง (Teacher-Led Instructional Improvement) และอาจทำหน้าที่เป็นเหมือน ‘ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ’ (Professional Learning Community: PLC) โดยเปลี่ยนให้ครูทำงานร่วมกับกลุ่มของตนเองเพื่อร่วมวางแผนการสอน แล้วถอดบทเรียนให้เกิดแนวทางการสอนแบบใหม่ โดยใช้วิธีการเรียนการสอนแบบเปิด ทำให้เกิดการสอนแบบยืดหยุ่นและเกิดการแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียน

ทั้งนี้ ครูผู้สอนควรคาดการณ์แนวคิดของนักเรียนให้ได้ก่อนเพื่อเตรียมโจทย์หรือปัญหาดี ๆ ไปใช้ในห้องเรียน รวมถึงการพัฒนาวิธีการสอนของตัวเองสม่ำเสมอ เพื่อทำให้เกิดความน่าสนใจและเป็นช่วยปรับปรุงการศึกษาอย่างเป็นระบบ​จนเกิดความสำเร็จได้ในโรงเรียน

จนนำมาซึ่งการพัฒนาวิธีการสอนของครู และกระบวนการเรียนรู้ของเด็กในชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น และสามารถนำไปปรับใช้ได้กับโรงเรียนทุกขนาดและทุกระดับ อีกทั้งช่วยลดความแตกต่างของนักเรียนในเมืองและพื้นที่ห่างไกลอย่างเห็นได้ชัด

การเปิดโอกาสทางการเรียนรู้ด้วยคำถามปลายเปิด

การเรียนการสอนแบบเปิด หรือ Open Approach เป็นกระบวนการเรียนรู้จากคำถามปลายเปิดของครูสู่คำตอบที่นักเรียนค้นพบด้วยตนเอง และถูกนำมาใช้ควบคู่กับ Lesson study จนเปลี่ยนจากครูผู้สอนไม่ได้ถ่ายทอดตัวอย่างหรือความรู้ไปสู่นักเรียน แล้วสั่งการบ้านเพียงอย่างเดียว แต่ครูจะให้เด็กมีโอกาสได้ลองแก้ไขปัญหาด้วยตนเองก่อน โดยห้ามบอกหรืออธิบายเนื้อหาแบบเดิม และเลือกใช้คำถามปลายเปิดแทนบรรยายหรือถ่ายทอดความรู้ออกไปแบบตรง ๆ โดยสามารถเรียงลำดับขั้นตอนการเรียนการสอนออกเป็น 4 ข้อ ได้แก่

  1. การนำเสนอสถานการณ์ปัญหาปลายเปิด โดยครูควรหาคำถามที่มีความใกล้ชิดกับสิ่งรอบตัวนักเรียนมาใช้ในห้องเรียน
  2. การเรียนรู้ด้วยตัวเองของนักเรียน ผ่านการหาวิธีแก้ไขโจทย์หรือปัญหาด้วยตนเอง
  3. การอภิปรายทั้งชั้นเรียน โดยครูจะเป็นผู้สังเกตแนวความคิดของเด็กจากวิธีการที่พวกเขาใช้ในการแก้ปัญหา
  4. การสรุปโดยเชื่อมโยงแนวคิดของนักเรียนซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการสอนและวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนจึงสามารถยืดหยุ่นได้

การที่นักเรียนสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้นั้นช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มากขึ้น จนเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองและพร้อมจะแก้ปัญหาที่ยังไม่รู้จักได้ในอนาคต เช่น การแก้โจทย์ทรงกระบอกที่มีฝาปิดหัวท้าย โดยการตัดอย่างไรให้กลายเป็นแผ่นเดียวได้ เมื่อแก้ปัญหาได้แล้วจะทำให้เด็กเข้าใจถึงเรื่องพื้นที่ผิว ปริมาตร ความสัมพันธ์ระหว่างสองมิติและสามมิติ รวมทั้งเรื่องศิลปะหัตถกรรม ฯลฯ

การเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อการจดจำอย่างเข้าใจ

การพัฒนาทิศทางการศึกษาที่ยั่งยืน ควรเริ่มจากการทำให้ครูเปิดใจสอนเด็กด้วยวิธีแบบใหม่และเชื่อมั่นในการสอนว่า การเรียนรู้ที่ดีคือไม่ใช่แค่นำความรู้มาบอกเด็ก แต่เด็กควรได้เรียนรู้ด้วยตัวเองเพื่อการจดจำอย่างเข้าใจ
ผลลัพธ์ที่เห็นถึงความสำเร็จได้ชัดเกิดขึ้นที่จังหวัดศรีสะเกษ นั่นคือโรงเรียนบ้านโนนแสนคำหนองศาลาศรีสะอาด และโรงเรียนบ้านรุงสมบูรณ์ ซึ่งแต่ละที่ใช้เวลาในการดำเนินการและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับความเอาจริงเอาจังของโรงเรียน

“จากการทำงานร่วมกับโรงเรียนเครือข่าย TSQP จำนวน 60 โรงเรียน ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายส่วน เริ่มตั้งแต่การทำงานของครูที่จากเดิมเป็นการทำงานแบบแยกส่วนกัน เปลี่ยนมาทำงานร่วมกันไม่ใช่ต่างคนต่างสอนชั้นเรียนของตัวเองอีกต่อไป และเกิดการทำงานร่วมกันทั้งโรงเรียนโดยออกแบบและจัดการเรียนรู้ให้เน้นการคิดแก้ปัญหา ซึ่งสุดท้ายผลลัพธ์ที่เกิดกับนักเรียนคือทำให้พวกเขากล้าคิดและกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น”

รศ.ดร.ไมตรี กล่าว

นักเรียนทุกคนควรได้เรียนอย่างเท่าเทียมกัน
เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

การใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาเป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนการสอนช่วยทำให้เกิดมุมมองระหว่างครูและนักเรียนในแบบใหม่

“อย่างในชั้นเรียนที่มีเด็กพิเศษวิชาอื่นเขาอาจคิดไม่ได้แต่สมมติวิชาคณิตศาสตร์กลับคิดได้ เด็กก็ภูมิใจอยากมาโรงเรียนแล้วยังมีแบบนี้อีกนับไม่ถ้วน แต่ถามว่ายากไหม ต้องบอกว่ายาก แต่ถ้าทำได้ก็จะทำให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกัน การศึกษาทั่วโลกเขาเป็นแบบนี้กันแล้ว การจะให้เด็กท่องจำจะล้าสมัยแล้ว​ สิ่งสำคัญคือรูปแบบการเรียนนี้จะทำให้นักเรียนได้เรียนอย่างทั่วถึงและเท่ากันเทียมกัน”

“หากทำได้ก็จะเป็นการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในชนบท หรือพื้นที่ห่างไกลกันดารซึ่งจากตัวอย่างที่ทำมามีโรงเรียนหลายแห่งในพื้นที่ห่างไกลที่พัฒนาจากระดับหลัง ๆ มาสู่ระดับต้นได้แล้ว ​อย่างไรก็ตาม การลงทุนเรื่องเวลา ต้องทำงานต่อเนื่องถึงจะประสบความสำเร็จ แต่ที่ผ่านมาเราไปลงทุนกับเรื่องอื่นเสียมากกว่า”

เริ่มต้นขยายเครือข่ายการทำงานเพื่อพัฒนาการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น

โดยปีแรกจะเน้นให้แต่ละโรงเรียนได้เห็นถึงการทำงานเชิงเครือข่ายร่วมกัน โดยมีกลุ่มแรกเป็นโรงเรียนที่เริ่มต้นพัฒนามาตั้งแต่ปี 2552 กลุ่มที่สองเริ่มตั้งแต่ปี 2557 และกลุ่มที่สามซึ่งเข้าร่วมใหม่จำนวน 37 โรงเรียน ซึ่งแต่ละกลุ่มสามารถทำงานได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ และได้ตั้งมาตรการสำหรับการทำงานขึ้นทั้งหมด 5 อย่าง ได้แก่

  1. การกำหนดเป้าหมายของโรงเรียน
  2. การพัฒนาครูและผู้บริหารด้วยกระบวนการชุมชน
  3. การจัดระบบสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่มีคุณภาพ (Info)
  4. การพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียน
  5. การสร้างเครือข่ายการดำเนินการร่วมกัน

จากกลุ่มโรงเรียนที่เพิ่งเข้าร่วมใหม่ทั้ง 37 โรงเรียนนั้นมีโอกาสได้เข้าไปช่วยวางระบบการใช้นวัตกรรม Lesson Study รวมทั้งเปิดให้เรียนรู้จากโรงเรียนรุ่นพี่ที่ซึ่งเปิดชั้นเรียนไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ยังทำได้เพียงแค่ประมาณ 93% และกำลังเร่งทำต่อให้เสร็จครบ 100 % ​​

สำหรับปีที่สองทางเครือข่ายจะขยายการบูรณาการจากรายวิชาเดิมที่เป็นเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ไปสู่วิชาอื่น ๆ ให้ได้มากขึ้น เช่น ศิลปะและสังคม โดยครูแต่ละท่านจะเข้ามาบูรณาการวิชาเหล่านี้และมีครูผู้สอนวิชานั้นโดยตรงเป็นครูหลักในการถ่ายทอดความรู้

 2,879 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า