โอกาสของการส่งต่อความรู้กลับสู่ถิ่นกำเนิด ‘ครู’

เมื่อแรงบันดาลใจเป็นสิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ และโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นสิ่งต่อเติมความฝันแก่ครูรุ่นใหม่

Share on

 1,012 

เมื่อแรงบันดาลใจเป็นสิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ และโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นสิ่งต่อเติมความฝันแก่ครูรุ่นใหม่

ภาพฝันการเป็น ‘ครู’ ในวัยเยาว์ของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งกำลังใกล้สู่ความจริงขึ้นทุกครั้ง “เมื่อปีการศึกษาใหม่เริ่มขึ้น ก็จะเป็นเวลาของการนับถอยหลังสู่วันที่จะได้เป็นครูจริงๆ แล้ว” จากคำกล่าวของจิตลดา คำมา หรือ ‘น้องทิพย์’ หนึ่งในนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่ ‘โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ซึ่งเปรียบเสมือนแสงนำทางไปสู่ปลายทางคือการเป็นครู 

โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อผลิตครูรุ่นใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนในชุมชนจากพื้นที่ห่างไกล และเป็นทุนที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้นักเรียนจากครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี กิจกรรมโดดเด่น มีความมุ่งมั่นและเข้าใจลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นตัวเองเป็นอย่างดี ที่สำคัญคือมีจิตวิญญาณความเป็นครูได้เข้าเรียนคณะครุศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ จนจบปริญญาตรี

‘ครู’ ผู้สร้างแรงบันดาลใจในการเรียน

แรงบันดาลใจให้อยากเรียนครูจากคำบอกเล่าของน้องทิพย์  “ส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกผูกพันกับวิชาการเรียนรู้ต่าง ๆ จากครูที่สอนหนูมาตั้งแต่เด็ก ได้ใกล้ชิดกับครูและทำให้หนูได้เห็นอะไรหลาย ๆ อย่าง จึงคิดว่าถ้าโตขึ้นได้ทำงานก็หวังว่าจะได้ทำงานแบบนี้คือการเป็น ‘ครู’ เช่นกัน”

ด้วยความอยากเป็นครูของน้องทิพย์ ทำให้เธอตั้งใจเรียนโดยยึดถือความคิดว่า ‘ผลการเรียนที่ดีจะทำให้โอกาสที่จะทำตามฝันให้สำเร็จยิ่งเปิดกว้างขึ้น’ ทำให้เธอได้เกรดเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3.5-3.7 มาตั้งแต่ชั้นประถมถึงวันที่จบ ม.ปลาย รวมถึงความพยายามเข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่างของโรงเรียนมาโดยตลอด อย่างการเป็นตัวแทนไปแข่งขันด้านวิชาการ จนกระทั่งเธอได้มาพบกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นในวันที่เรียนจบ และเธอบอกว่า

“โครงการนี้ตอบโจทย์ในทุกสิ่งที่คิดไว้ ทั้งการเป็นครูและความฝันว่าอยากกลับมาพัฒนาบ้านของเรา”

ทำให้สิ่งนี้เปรียบเสมือนคำตอบของภาพฝันที่เธอเคยวาดไว้ 

น้องทิพย์ยังเล่าถึงความตั้งใจตั้งแต่เด็กให้ฟังอีกว่า

“ช่วงที่เรียน ป.1 ถึง ป.6 หนูมีครูที่ให้โอกาสเราทำกิจกรรมนอกห้องเรียนหลายอย่าง ครูพาเราออกไปทัศนศึกษาสถานที่ต่างๆ ให้เราเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน พาเราไปทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ทำให้หนูเห็นความสำคัญของชุมชนของเรา มันเป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่ในหนังสือเรียน ซึ่งหนูคิดว่าวันที่ได้เป็นครู ก็อยากให้นักเรียนได้มีกิจกรรมเสริมนอกห้องเรียน ได้เรียนรู้ท้องถิ่นเพื่อมาแลกเปลี่ยนกันว่าเราควรพัฒนาอะไรบ้างเพื่อยกระดับชุมชน ให้เด็กนักเรียนทุกคนคือส่วนหนึ่งของการพัฒนา หนูเชื่อว่าโรงเรียนกับชุมชนต้องเชื่อมโยงถึงกัน” 

‘ครู’ ผู้เป็นสื่อกลางระหว่างโรงเรียนและชุมชน

น้องทิพย์เล่าว่า เธอเติบโตมาในอำเภอหนองหินซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเลย ทั้งสวนหินผางาม น้ำตกเพียงดิน หรือภูป่าเปาะ ที่รู้จักกันในชื่อ ‘ฟูจิเมืองเลย’ และสิ่งนี้ได้หล่อหลอมให้เธอรู้สึกผูกพันและหวงแหนพื้นที่บ้านเกิด พร้อมเชื่อว่าความสนใจในด้านการท่องเที่ยวกับการเดินหน้าสู่การเป็นครูสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้

เพราะเธอคิดว่าการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญของการสร้างอาชีพในชุมชน เมื่อคนในชุมชนมีอาชีพที่ดี ก็จะเป็นต้นแบบที่ดีให้เด็กๆ อยากเจริญรอยตาม โดยมีครูเป็นผู้ถ่ายทอดสำนึกของความ ‘รักษ์ถิ่น’ ออกไปและไม่จำกัดเฉพาะแค่เด็กนักเรียนตัวเล็กๆ เท่านั้น แต่เธอมองว่าการดูแลรักษาและช่วยกันพัฒนาท้องถิ่นให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปคือหน้าที่ของทุกคนในชุมชน  และครูเป็นเพียงสื่อกลางระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เพื่อให้เด็กได้รับการสนับสนุนให้มีกิจกรรมร่วมกับชุมชนตั้งแต่เล็ก ๆ อย่างที่เธอเคยได้รับโอกาสจากครูเมื่อครั้งยังเรียนชั้นประถม

การรู้จักแบ่งปันความรู้นั้นสำคัญต่อทุกการเรียนรู้

ทั้งนี้ น้องทิพย์ไม่ลืมที่จะขอบคุณอาจารย์ทุกคนผู้เป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญ ในการพิจารณา คัดเลือกและให้โอกาสเธอได้รับทุนนี้ รวมถึงขอบคุณตัวเองที่ตัดสินใจเลือกสมัครเข้าโครงการในวันนั้น จากนี้ไปเธอตั้งเป้าหมายและมุ่งมั่นว่า เธอจะเป็นครูที่ไม่ได้มีหน้าที่แค่สอนหนังสือ แต่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาท้องถิ่นให้ไปได้ไกลยิ่งขึ้น โดยที่ทุกคนมีส่วนร่วมแม้แต่เด็ก ๆ เองก็ต้องมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนด้วยเช่นกัน

ความสำคัญอย่างหนึ่งที่ติดตัวเธอมาตั้งแต่เด็กคือการชอบสอนหรือแบ่งปันความรู้ที่ตนเองเข้าใจ เพราะนอกจากช่วยเหลือผู้อื่นแล้วยังทำให้เราได้ทบทวนและเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นอยู่ตลอด ถ้าเพื่อนไม่เข้าใจบทเรียนหรือมีข้อสงสัยมาถามเธอก็พร้อมอธิบายอยู่เสมอไม่ว่าจะวิชาไหน โดยเฉพาะวิชาที่ชอบอย่างสุขศึกษาและสังคมศึกษา เพราะมองว่าเนื้อหาในวิชาเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรรู้ และอนาคตเธอยังอยากต่อยอดการเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ ถึงแม้จะได้เป็นครูแล้วก็ตาม และตั้งเป้าหมายจะเรียนต่อวิชาเฉพาะทางอย่างวิชาเชิงจิตวิทยาหรือแนวสังคมสงเคราะห์ เพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาปรับใช้กับชุมชนของเธอได้ 

ถึงแม้ว่าจะมีความตั้งใจเต็มเปี่ยม ในก้าวแรกยังมีอุปสรรคบางอย่างทำให้เธอเริ่มหวั่นใจแต่ยังคงไม่ถอดใจเพราะคิดว่า

“การสอบเข้าครูนั้นยากมาก ต้องเตรียมตัวหลายอย่างจนตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะได้เรียน เหมือนจะเป็นได้แค่ฝันไป แต่หนูก็ยังพยายามดูก่อนด้วยการตั้งใจอ่านหนังสือทุกวัน ทยอยอ่านหลังทำการบ้านเสร็จและก่อนนอน คิดว่าทำไปเรื่อย ๆ จะได้ไม่เป็นการกดดันตัวเองแล้วไปตามฝัน จนกระทั่งได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น”

และเป็นบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามและการแบ่งปันความรู้ที่เธอทำมาโดยตลอดจนถึงตอนนี้

สุดท้ายแล้ว เมื่อเธอถูกถามว่า ‘คิดว่าตัวเองจะเป็นครูแบบไหน’ น้องทิพย์จึงตอบว่า เธอจะเป็นครูที่พร้อมเรียนรู้ปรับปรุงตัวเองและสามารถปรับตัวเข้าหาเด็ก ๆ ได้ เพราะสิ่งที่เธออยากมอบให้ลูกศิษย์มากที่สุดไม่ใช่ความรู้ หรือความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการ แต่คือ ‘แรงบันดาลใจในการเรียน’ และการมองเห็นอาชีพหรืองานที่อยากทำในอนาคต นั่นเพราะทิพย์เชื่อว่าหากเด็กๆ ‘มีเป้าหมายในการเรียน’ พวกเขาจะมีแรงผลักดันที่อยากเรียนหนังสือให้ดี และมีวุฒิการศึกษาสูงๆ ซึ่งสิ่งที่เธอคิดจะเป็นจริงได้ก็ต้องอาศัยต้นแบบที่ดีจากคนในชุมชนนั่นเอง

 1,013 

Writer

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า