“โครงงานฐานวิจัย” สร้างความเสมอภาคในห้องเรียน ไม่ทิ้งใครไว้หลังห้อง

การเรียนรู้ที่เสมอภาคและไม่ทิ้งใครไว้หลังห้อง

Share on

 2,385 

การเรียนรู้ที่เสมอภาคและไม่ทิ้งใครไว้หลังห้อง

เพราะเด็กเหล่านี้เป็น ‘เด็กหลังห้อง’ กลายเป็นคำเรียกและเปรียบเทียบกลุ่มนักเรียนในชั้นเรียนอย่างชัดเจน โดยที่ผ่านมาครูจำนวนไม่น้อยเลือกที่เอาใจใส่นักเรียนที่ตั้งใจเรียนก่อน แล้วละเลยไม่สนใจเด็กดื้อไว้ข้างหลังห้องแทน แต่ความจริงเด็กทุกคนมีศักยภาพและสามารถหล่อหลอมเพื่อเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าของสังคมได้

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่เมืองหรือพื้นที่ชนบทห่างไกล แต่เกิดขึ้นได้แม้ในโรงเรียนเดียวกันหรือแม้กระทั่งภายในห้องเรียนเดียวกัน หากครูเองยังไม่ได้ให้ความสำคัญในการสอนเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม

ในขณะเดียวกัน ครูอาจต้องรับภาระเรื่องขนาดของชั้นเรียนที่ใหญ่เกินความดูแลของครูด้วยเช่นกัน จึงเป็นเรื่องยากในการจัดการเรียนรู้ได้ตรงประเด็นและเข้าใจทุกคน ทำให้ครูหลายท่านเลือกใช้การสอนให้ ‘ท่องจำ’ จากบทเรียนซึ่งอาจเป็นวิธีการสอนที่ทั่วถึงเด็กได้มากที่สุด แต่ผลลัพธ์คือสิ่งนี้อาจบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเชิงวิเคราะห์ และขาดความมั่นใจในการตั้งคำถามตนเองสงสัยด้วยเช่นกัน

เพราะฉะนั้น การสร้างความเสมอภาคในห้องเรียนควรให้ครูเริ่มสอดส่องและเอาใจใส่แต่ละคน แล้วค้นหาวิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับชั้นเรียนและนักเรียนแต่ละคน เพราะครูไม่สามารถใช้วิธีสอนทุกคนในแบบเดียวกันได้ทั้งหมด

เปลี่ยนแนวคิดเด็กหลังห้องด้วย ‘โครงงานฐานวิจัย’

การเรียนรู้ที่เน้นให้เด็กเข้าใจบทเรียนผ่านกระบวนการปฏิบัติหรือทำกิจกรรมร่วมกันสามารถ ‘เปลี่ยนแปลงเด็กหลังห้องให้กลับมาสนใจการเรียนอีกครั้ง’ ซึ่งเห็นได้ชัดจากตัวอย่างความสำเร็จของโรงเรียนบ้านปากบาง จ.สตูล ที่นำรูปแบบการเรียนการสอนแบบ ‘โครงงานฐานวิจัย’ เข้ามาเป็นตัวช่วยในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

และเด็กหลังห้องคนนั้นคือ ‘น้องมูฮัมหมัด นักเรียนชั้น ป.5’ ที่เคยถูกมองว่า เป็นเด็กเกเร ชอบแกล้งเพื่อน ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ส่งการบ้าน ไม่ส่งงานตามที่ได้รับมอบหมาย จนทำให้เพื่อน ๆ ไม่ยอมรับ หลายครั้งก็ไม่มีใครอยากให้เข้ามาร่วมทำงานกลุ่มด้วยกัน  แต่ทุกวันนี้น้องมูฮัมหมัดได้รู้จักการทดลองและลงมือปฏิบัติเพื่อหาคำตอบได้ด้วยตนเอง ไปจนถึงการกล้าคิด กล้าตอบคำถาม และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำชั้นเรียนที่เพื่อน ๆ ให้การยอมรับ 

สะท้อนให้เห็นว่า การเรียนการสอนแบบโครงงานฐานวิจัย หรือ Project-based Learning  นั้นช่วยให้เด็กสามารถแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ และรู้จักตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตนเอง โดยครูเป็นผู้กระตุ้นความสนใจและค้นหาทักษะจากนักเรียนทุกคนในชั้นเรียน

กระบวนการตั้งคำถามเพื่อทักษะการเรียนรู้ที่เข้าใจได้จริง

“เทคนิคเริ่มแรกของครู คือการตั้งคำถามให้เด็กได้ลองตอบก่อน จากนั้นฝึกให้ตั้งคำถามในสิ่งที่อยากถาม”

คำบอกเล่าจากครูวรรณิศา สามารถ หรือ ครูประจำชั้นป.5ของน้องมูฮัมหมัด และครูยังเชื่ออีกว่า กระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยดึงศักยภาพของเด็กได้ดีอาจมาจากการไปเรียนรู้จากสถานที่จริง และเปิดโอกาสให้เด็กได้ตั้งคำถามในสิ่งที่อยากรู้หรือสนใจทันทีเมื่อมีโอกาส

ทั้งนี้ ครูจึงพาเด็ก ๆ ออกไปสัมผัสประสบการณ์จากพื้นที่ชุมชนใกล้โรงเรียน

“เราต้องออกไปหาภูมิปัญญาชาวบ้านโดยตรง เช่น พาไปดูการทำผ้าบาติกย้อมสีธรรมชาติ ส่วนใหญ่แล้วเมื่อถามนักเรียนว่าการทำผ้าบาติกเขามักใช้อะไรบ้าง เด็กก็จะตอบแค่ใช้ผ้าและสี พอเด็กเห็นว่าสีที่ใช้เป็นสีสังเคราะห์เขาก็จะถามต่อว่า แล้วใช้สีจากธรรมชาติได้ไหม เช่น อัญชัน ขมิ้น จากที่บ้านมาย้อมได้หรือไม่ ต่อมาเราก็พาไปดูกรรมวิธีการผลิตสีจากธรรมชาติ เช่น สีจากดิน จากเปลือกไม้ เด็กก็เริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมต้องนำไปต้มก่อน  ต้องต้มนานไหม เขาสงสัยอะไรเขาก็ถามออกมา” 

วิธีการนี้ทำให้ถึงการเรียนรู้แล้วรู้จักตั้งคำถามที่สงสัยเพื่อเข้าใจเรื่องที่เรียนให้มากขึ้น เกิดการเชื่อมโยงข้อมูล และกล้าถามทันทีถ้ามีโอกาส หากนำมาประยุกต์ใช้สำหรับวิชาในห้องเรียน ‘การทดลอง’ มักจะตอบโจทย์ที่สุด เพราะช่วยให้เด็กเข้าใจทุกขั้นตอนและรู้จักสังเกตการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งค้นหาคำตอบจากแหล่งเรียนรู้ที่สนใจได้ด้วยตนเอง

การทดลองเพื่อค้นหา ‘คำตอบที่ไม่ได้มีแค่ข้อเดียว’

โอกาสที่ดีของการเรียนแบบโครงงานฐานวิจัยคือการสอนให้นักเรียนรู้จักเริ่ม ‘ตั้งคำถาม’ และทำการ ‘ทดลอง’ เพื่อค้นหา ‘คำตอบ’ ด้วยตนเอง ซึ่งคำตอบไม่จำเป็นต้องมีเพียงข้อเดียวอาจเป็นชุดคำตอบที่หลากหลายได้เช่นกัน เพราะไม่มีคำตอบใดที่ผิด มีเพียงสิ่งที่สามารถทำแล้วเห็นผลลัพธ์ได้จริง โดยมีครูเป็นผู้สังเกตและดูแลนักเรียนอยู่ตลอด

ครูประจำชั้นของด.ช.มูฮัมหมัด มองว่า ‘การเรียนหลักสูตรนี้ไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เพราะครูมองเห็นศักยภาพของเด็กและดึงให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงานกลุ่มและกิจกรรม เห็นได้ชัดจากมูฮัมหมัดที่เคยเป็นเด็กหลังห้องที่ถูกเพื่อนลืม กลายเป็นคนที่เพื่อน ๆ ต่างเรียกร้องให้มาร่วมกลุ่มด้วย เพราะเขามีความเป็นผู้นำในการแสดงความเห็น และมีศักยภาพในการลงมือปฏิบัติโครงงานทดลองต่างๆ

อีกส่วนสำคัญที่คุณครูจะต้องทำคือ ‘การลงสังเกตนักเรียนอย่างใกล้ชิด’ เพื่อเข้าใจตัวตนของเด็ก ทำให้ครูเชื่อว่า ส่วนหนึ่งที่มูฮัมหมัดชอบแกล้งเพื่อนและไม่สนใจการเรียน อาจมาจากเรื่องความอบอุ่นในครอบครัวที่ต้องอยู่กับตาเพียงสองคน บางครั้งเมื่อคุณตาต้องออกไปทำงานมูฮัมหมัดก็ต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง

บูรณาการความรู้ผ่านประสบการณ์ของเด็ก

‘จิตตปัญญา’  เป็นกระบวนการที่ครูเลือกใช้เพื่อช่วยก่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งแต่ละครั้งเด็กจะได้สัมผัสคุณค่าของสิ่งรอบตัว ผ่านกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมด 3 ลักษณะคือ การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening), การพิจารณาไตร่ตรอง (Contemplation) และการทำสมาธิ (Meditation) ผนวกกับเรื่องคุณธรรมจากเรื่องเล่าหรือบทเพลงที่ครูหยิบยกมา เพื่อก่อให้เกิดความหลากหลายทางความคิดมากขึ้น 

นอกจากนี้ยังมีการทำ ‘Brain gym’ หรือกิจกรรมบริหารสมอง ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการของหลักคิด โดยอยู่ในรูปแบบของ สะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics Education: STEM Education)  เพื่อส่งเสริมเด็กให้รู้จักบูรณาการความรู้ระหว่างวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยใช้กิจกรรมหรือการทดลองโครงงานเข้ามาเชื่อมโยงและแก้ปัญหา จนพัฒนาไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่ใช้ในชีวิตได้จริง

บทเรียนหลังการเรียนรู้และทดลองจริง

เมื่อการทดลองสิ้นสุดลงครูจะให้นักเรียน ‘ถอดบทเรียนหลังการทดลอง’ (After Action Review: AAR) เพื่อทบทวนกระบวนการทำงานต่าง ๆ พร้อมค้นหาความสำเร็จและปัญหาที่เกิดขึ้น โดยทุกคนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นว่าได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง ฝึกเล่าและแลกเปลี่ยนให้เพื่อนฟังผ่านประสบการณ์ของตนเอง รวมทั้งมีการบันทึกข้อมูลที่แลกเปลี่ยนทุกครั้งเพื่อใช้เป็นแนวทางในการทดลองครั้งต่อไป

ทั้งนี้ กระบวนการคิดที่เปลี่ยนไปของนักเรียนยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนวิชาอื่นๆ ด้วย ถ้าหากนักเรียนคนใดไม่เข้าใจในเนื้อหาการสอนของครู เด็กก็จะกล้าตั้งคำถามมากกว่ากการปล่อยให้ผ่านเลยไปเหมือนก่อน และทำให้เด็กได้เข้าใจถึงบทเรียนนั้นได้มากขึ้น

เปลี่ยนบทลงโทษเป็นการทำความเข้าใจ

‘การเปิดใจและยอมรับในความแตกต่าง’ ของเด็กทุกคน เป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ครูควรหยุดการลงโทษนักเรียนไม่ว่าจะกรณีใด ๆ แล้วใช้การพูดคุยเพื่อหาที่มาและเหตุผลร่วมกัน โดยอาศัยความรักและความเข้าใจกันให้มากยิ่งขึ้น และสิ่งนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มูฮัมหมัดมีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนในชั้นเรียน จนกลายส่วนหนึ่งของกลุ่มทำงานได้มากขึ้น

แม้วันนี้มูฮัมหมัดที่เรียนอยู่ในชั้นป.6 เสมือนพ้นจากอ้อมอกครูวรรณิศาไปแล้ว แต่ครูก็ยังคงเฝ้ามองผลผลิตของเธออย่างใกล้ชิดและเห็นพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อน รวมไปถึงการเล่าเรียนในวิชาหลักอื่น ๆ อย่างมีสมาธิและความรับผิดชอบมากขึ้น จึงสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการคิดที่ได้ติดตัวมูฮัมหมัดไปแล้ว ไม่ว่าจะเรียนต่อไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาหรือเลือกที่จะไปประกอบอาชีพ เด็กชายคนนี้สามารถดูแลตัวเองได้อย่างแท้จริง

ทั้งหมดนี้ถือเป็นอีกหนี่งตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการปรับรูปแบบการเรียนการสอนโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในภาคีเครือข่ายในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP)  ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่สองเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดกลาง ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 733 โรงเรียนใน 42 จังหวัด

เมื่อความถนัดต่างกันทำให้เราได้เรียนรู้กันมากขึ้น

เพราะเด็กแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเก่งหรือสนใจในเรื่องเดียวกันทั้งหมด โดยเฉพาะในพื้นที่แห่งการเรียนรู้ย่อมมีความหลากหลายทางความสามารถอยู่แล้ว ดังนั้นโรงเรียนควรเป็นอีกพื้นที่สำหรับการแสดงศักยภาพของนักเรียนได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ถูกจำกัดว่าเด็กคนหนึ่งต้องถนัดทุกวิชา แต่เด็กทุกคนควรมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ผ่านเรื่องราวที่ตนเองสนใจหรือทำได้ดีในชั้นเรียนจนกระทั่งระดับโรงเรียน ทั้งนี้คุณครูถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องรู้จักและเข้าใจนักเรียนได้อย่างแท้จริง

“หลักสูตรนี้ยังได้สะท้อนอีกว่าเด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนกัน เด็กบางคนเก่งวิชาการ แต่เด็กที่ไม่เก่งวิชาการบางคนก็จะมีศักยภาพและประสบการณ์ในสิ่งที่เด็กเก่งวิชาการไม่ถนัด อย่างมูฮัมหมัดในวันนี้ ครูเห็นแววตาที่มุ่งมั่นของเขา เขาเรียนอย่างมีความสุขกับการที่ได้คิดริเริ่มด้วยตัวของเขาเอง เขาอยู่กับเพื่อนๆ ได้ เป็นที่ยอมรับของเพื่อน” จากคำบอกเล่าของครูวรรณิศา สามารถ

 2,386 

Writer

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Most Popular

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า